กว่าจะมาเป็น Human Ride: คุยกับพี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน

Human Ride หรือ “คนปั่นจักรยาน”​ วลีสั้นๆ ที่มีความหมายสุดแสนจะเรียบง่าย เป็นชื่อคอลัมน์ท้ายเล่มนิตยสาร A Day ที่ทีมงานถ่ายทอดเรื่องราวและแรงบันดาลใจในการปั่นจักรยานมากว่า 2 ปีเต็ม ตั้งแต่ A Day ตกหลุมรักจักรยาน เซคชัน Human Ride ท้ายเล่มก็เติบโตมาเป็นหนังสือรายไตรมาส และล่าสุดเป็นรายการทีวี “จักรยานบันดาลใจ” อะไรที่ทำให้นิตยสารที่มีอิทธิพลกับคนสมัยใหม่มากที่สุด หันมาให้ความสนใจกับการปั่น? Ducking Tiger อาสาไปหาคำตอบถึงงาน A Day Bike Fest

วันนี้เราจะมาคุยกับพี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร A Day ต้นตำรับ Human Ride ตัวจริงเสียงจริงครับ

 

An Interview with Zcongklod Bangyikhan

DT: ผมติดตาม A Day มาก็ร่วมสิบปี เห็นว่า A Day เริ่มมาจับด้านจักรยานได้สักพักนึงแล้วในคอลัมน์ Human Ride ท้ายเล่ม อยากถามพี่ก้องว่าทำไมทีมงาน A Day ถึงหันมาสนใจการปั่นจักรยานกันครับ?

พี่ก้อง: เป็นเรื่องบังเอิญครับ คือตอนช่วงสัก 2-3 ปีก่อนจักรยานมันบูมมาก ยุคนั้นเป็นยุคฟิกซ์เกียร์ จักรยานเป็นเหมือนแฟชัน เป็นไลฟสไตล์แบบนึง แต่ก็จะมีนักปั่นอีกแนวที่เป็นสายกรีนที่เขาเชื่อว่าจักรยานเป็นพาหนะของคนรักโลก สายกรีนอาจจะมีไม่เยอะในเมืองไทย แต่ในต่างประเทศเทรนด์นี้มันแรงมาก เราก็รู้สึกว่าเราอยากพูดเรื่องนี้

แต่ช่วงนั้นสื่อไทยก็พูดกันเยอะมากเลยนะ เรื่องจักรยานกับสิ่งแวดล้อม ทั้งสารคดี ทีวี นิตยสาร เราก็เลยรู้สึกว่าจะทำยังไงให้มันต่างดี เรื่องอย่างประวัติศาสตร์จักรยาน บ้านเราปั่นกันยังไงพวกนี้ ก็มีคนทำกันมาหมดแล้ว เราก็ไม่อยากทำซ้ำ ก็เลยกลับมาถามตัวเองว่าเราจะทำไปทำไม คำตอบคือเราอยากจะชวนคนอ่านมาปั่นจักรยาน เพราะเรารู้ว่าปั่นแล้วมันก็ดีกับตัวเอง ดีกับโลก ปัญหาของเราคือ ไอ้คนทำมันยังไม่ปั่นเลย! พวกเราคนเขียนไม่ได้ปั่นแล้วจะไปชวนคนอ่านมาปั่นได้ยังไง

แล้วเราจะเริ่มปั่นไปไหนยังไงดี? ปั่นเฉยๆ มันก็ไม่มีแรงบันดาลใจอะไร เลยคิดว่าปั่นไปหาคนใช้จักรยานดีกว่า เราออกตามหาคนใช้จักรยานรูปแบบต่างๆ ทั่วเมืองไทย ก็ปั่นไปหาพวกเค้า ทีนี้การจะสร้างแรงกระตุ้นให้คนอ่านได้มันก็ต้องปั่นไกลสักหน่อย เราก็เลยวางแผนปั่นรอบประเทศ 45 วัน เรามีคน 10 คนที่อยากเจออยู่ทั่วเมืองไทย เดินทางกันวัน 100 กิโล ปั่นบ้าง ขึ้นรถไฟรถทัวร์บ้าง พอได้ปั่นจริงๆ แล้วมันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย

Human Ride คือนิตยสารเกี่ยวกับมนุษย์และจักรยาน แต่ละเล่มจะมีธีมต่างกันออกไป เล่มแรกเป็นวิถีชีวิตของชาวดัทช์เมืองหลวงจักรยานโลก เล่มที่สองเป็นเรื่องราวของการแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์
Human Ride คือนิตยสารเกี่ยวกับมนุษย์และจักรยาน แต่ละเล่มจะมีธีมต่างกันออกไป เล่มแรก The Cycling Dutchman เป็นวิถีชีวิตของชาวดัทช์ในเมืองหลวงจักรยานโลก เล่มที่สอง 100th Edition of Tour de France เป็นเรื่องราวของการแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ และเล่มที่ 3 จะเป็นเรื่องการปั่นในเมืองจีน~
ทีมงาน Human Ride
ทีมงาน Human Ride

BikeFest5

DT: ตอนนั้นพี่ก้องยังไม่เคยปั่นจักรยานเลยใช่มั้ยครับ?

พี่ก้อง: ไม่เคยเลยครับ ก็ซื้อจักรยานยังซื้อผิดเลย ซื้อ Tokyo Bike ไปปั่นรอบประเทศ! ไม่รู้เลยว่ามันใช้ไม่ได้ พอเราได้ปั่นไกลขึ้น เจอผู้คนมากขึ้น เราก็ได้เรียนรู้ว่าจักรยานมันไม่ใช่แค่เรื่องแฟชัน แล้วก็ไม่ใช่เรื่องรักโลกอย่างเดียวด้วย ในขณะที่คนเมืองส่วนมากเรียกร้องให้มีไบค์เลน มีนู่นมีนี่สำหรับคนใช้จักรยาน แต่เราไปเจอคนต่างจังหวัดที่เขาไม่ต้องการอะไรเลย แล้วเขาปั่นจักรยานกันเยอะมาก เรารู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านเราเป็นเมืองจักรยานได้ มันไม่ใช่เรื่องการอำนวยความสะดวกให้นักปั่นสักหน่อย มันเป็นเรื่องความรักจักรยานต่างหาก

“พอเราได้ปั่นไกลขึ้น เจอผู้คนมากขึ้น เราก็ได้เรียนรู้ว่าจักรยานมันไม่ใช่แค่เรื่องแฟชัน แล้วก็ไม่ใช่เรื่องรักโลกอย่างเดียวด้วย”

พลังพวกนี้มันเจ๋ง ยิ่งเจอคนหลายประเภทเข้าเราก็ยิ่งประทับใจ บางคนเค้ามองจักรยานว่าเป็นเครื่องบรรเทาความเจ็บปวด บางคนแขนขาดข้างนึงเขาก็ตัดแฮนด์ทิ้งไปหนึ่งข้างแล้วก็ปั่นอย่างจริงจังเหมือนกับว่าเขาต้องการระบายอะไรออกมา ไปเจอหมอที่ไม่จ่ายยาให้คนไข้ แต่สั่งให้ไปปั่นจักรยานแทนก็มี ความหมายจักรยานในมุมมองของพวกเรามันกว้างขึ้น เราเลยอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวพวกนี้ให้คนอ่านได้รู้ครับ คนอ่านก็ชอบ ก็อยากปั่นกัน เราก็เลยต้องจัดเวิร์กช๊อปสอนมือใหม่ จัดทริปพาปั่น จนมาถึงงานจักรยาน A Day Bike Fest ครับ

DT: จากคอลัมน์เล็กๆ หลังเล่ม A Day มันเติบโตมาเป็นหนังสือ Human Ride ราย 4 เดือนได้ยังไงครับ?

พี่ก้อง: คือหลายๆ คนเขาก็เชียร์ให้ทำหนังสือจักรยานเลยนะ แต่พี่ไม่อยากทำคิดว่าทำไม่ได้หรอก คือวงการหนังสือเมืองไทยมันขึ้นอยู่กับสปอนเซอร์เยอะ และกลุ่มคนปั่นจักรยานมันก็แคบมาก แล้วที่มันสำคัญไปกว่านั้นก็คือกลุ่มเสือแต่ละเสือ เขาไม่อ่านข้ามแนวกัน! คนที่ปั่นเสือหมอบก็ไม่อ่านหนังสือฟิกซ์เกียร์ ทัวร์ริ่งกันสักเท่าไร เราก็เลยไม่รู้ว่าจะเกาะกลุ่มไหนดี เพราะถ้าไปอิงกลุ่มมันก็ยิ่งแคบเข้าไปอีกครับ เราเลยมันคงจะดีกว่าถ้าทำหนังสือจักรยานที่ทุกคนอ่านได้ คนที่ไม่ปั่นก็ยังอ่านได้

ก็เลยคิดว่าเราไม่พูดเรื่องจักรยานดีกว่า ไม่ต้องไปดูเรื่องรีวิวอุปกรณ์ แต่ไปจับเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจให้คนออกมาปั่น ก็เล่าเรื่องที่เราไปปั่นกันนี่หละครับ คนเห็นเขาก็คงอยากออกมาปั่นด้วยเหมือนกัน ส่วนนึงเราก็ดูจากกระแสตอบรับใน A Day เล่มปั่นรอบเมืองไทย และปั่นไปเที่ยวญี่ปุ่น เฮ้ย คนมันชอบ เหมือนเราเป็นตัวแทนไปปั่นแทนเค้า

ที่สำคัญคือต้องไปเมืองนอก! ต้องไปประเทศแปลกๆ ที่คนอ่านยังไม่เคยไปปั่นกัน เพื่อไม่ให้เนื้อหามันบางจนเกินไปเราเลยทำคอนเซปต์เหมือนนิตยสาร A Day แต่ละเล่มมันก็จะมีธีมของมัน อย่างเล่มแรกเราก็ไปเนเธอร์แลนด์ พูดเรื่องความเป็นดัทช์ ส่วนเล่มล่าสุดตูร์ เดอ ฟรองซ์ เราก็พูดทุกแง่มุมของสนามนี้ หาทางเล่าให้สนุกและใช้จักรยานเป็นตัวเดินเรื่อง

พอลองเทสต์ดู (จากกระแสเล่มแรก The Cycling Dutchman) ก็พบว่าคนชอบมาก แล้วประทับใจที่คนอ่านบอกว่าอ่านแล้วรู้จักชาวดัทช์เยอะขึ้น ชอบคอนเทนท์ เราก็รู้สึกว่ามันมาถูกทางแล้วนะที่ทำให้ทั้งคนที่ปั่นจริงจังและคนที่ไม่ปั่นมาสนใจได้ แต่มันก็ยากมากครับ เพราะก่อนไปต้องรีเสริช์เตรียมข้อมูลและการเดินทางกันเป็นเดือน กลับมาก็ต้องเขียนกันอีกเยอะเลย ทำทุกเดือนคงไม่ไหว เลยออกแค่ 4 เดือนครั้ง หรือปีละ 3 เล่มครับ

BikeFest3

BikeFest6
ไฮไลท์ของงาน A Day Bike Fest ก็คือจักรยานวินเทจจำนวนมากที่ทีมงานนำมาจัดแสดง คันนี้เป็น Tomassini แต่งสวยทีเดียวครับ

DT: เพราะฉะนั้นเลยออกมาเป็นเรื่องของคนและจักรยานใช่มั้ยครับ? เป็นที่มาของชื่อ ‘Human Ride’ หรือเปล่า?

พี่ก้อง: ชื่อ Human Ride เป็นชื่อโปรเจ็คตั้งแต่ทีแรกเลยครับ ตั้งขึ้นมาด้วยคอนเซปต์สองความหมายที่เราชอบที่ว่า “มนุษย์ขี่จักรยานได้”​ อย่างที่สองเราชอบความหมายอีกมุมนึงของมันที่ว่า “มนุษย์มีสิทธิที่จะขี่จักรยานได้” แปลว่า รถยนต์ก็ควรจะแบ่งทางให้เราบ้าง เราก็มีสิทธิที่จะปั่นจักรยานในเมืองได้

DT: ล่าสุด Human Ride ออกมาในรูปแบบรายการทีวีทางช่อง ThaiPBS ด้วย (รายการจักรยานบันดาลใจ ทุกวันอาทิตย์เวลา 22:05) มันมีความเป็นมายังไงครับ

พี่ก้อง: ก็มีคนเชียร์ให้ทำครับ เนื้อหาพวกนี้มันต่อยอดทำเป็นรายการทีวีได้เราก็เลยลองทำเสนอช่อง ThaiPBS ดู เสนอกันไปปีกว่า ก็ได้ทำรายการ เลยต้องมาคิดว่าจะพูดเรื่องอะไรดี? บ้านเราคนดังที่ปั่นจักรยานมันก็มีเยอะแล้ว ดาราก็มี นักแข่งก็มี แต่เรารู้สึกว่าเราอยากพูดเรื่องที่คนที่ไม่ปั่นจักรยานก็ดูแล้วอิน ดูแล้วเกิดแรงบันดาลใจ ได้พลัง ก็เลยพยายามเลือกคนที่ใช้จักรยานทำสิ่งที่มันยิ่งใหญ่มากๆ ดังนั้นพวกที่ปั่นเล่น ปั่นเที่ยว หรือปั่นแข่งเราก็ไม่เลือกมา

DT: มีอะไรอยากฝากคนที่ยังไม่ได้ปั่นจักรยาน แต่มีความสนใจที่จะเริ่มปั่น เขาควรจะเริ่มยังไงดีครับ?

พี่ก้อง: ผมฝาก 2 เรื่องนะครับ ส่วนแรกคือถ้าอยากจะปั่นเราก็ต้องหาเหตุผลในการปั่นให้เจอครับ บางคนก็ชวนเพื่อนมาปั่น แล้วเพื่อนเขาเลิกปั่นก็โกรธกัน หรือไปบอกเขาว่าไม่รักโลก ไม่แคร์เพื่อน มันก็ไม่ถูก คนเรามีเงื่อนไขในชีวิตต่างกัน บางคนไม่กล้า บางคนบ้านก็อยู่ในถนนที่ปั่นไม่สะดวก ก็ไม่เป็นไร เราต้องหาเหตุผลของเราให้เจอก่อน อาจจะเป็นปั่นกับเพื่อน ปั่นไปเที่ยว ปั่นกับแฟน ถ้าเจอเหตุผลที่เหมาะกับเราแล้ว ข้อเดียวก็พอที่จะทำให้เราออกมาลอง ผมเชื่อว่าถ้าได้ลองปั่นแล้วคุณจะพบว่าจินตนาการที่เราเคยมีในหัวว่า ปั่นจักรยานมันน่ากลัวนะ อันตรายรถเมล์จะเฉี่ยว พวกนี้มันจะหายไปเลยครับ

ส่วนที่สองก็คือเกี่ยวกับผู้ร่วมทาง คือมีคนชอบถามว่า กรุงเทพต้องการอะไรเพิ่มเติมที่จะทำให้มันเป็นเมืองจักรยาน? ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญมันไม่ใช่ไบค์เลน หรือไฟให้สัญญาณสำหรับคนปั่นหรอก สิ่งสำคัญคือคนบนถนนต้องเข้าใจจักรยานครับ ถ้าคนขับรถเข้าใจคนปั่น แบ่งทางให้กัน ไบค์เลนก็ไม่จำเป็น แบ่งๆ กันไป เมืองไทยถนนมันก็เป็นแบบนี้ จะสร้างไบค์เลนได้ยังไง ทำให้คนมีใจที่จะแบ่งปันทางให้จักรยานดีกว่า ซึ่งหลายๆ คนที่ขับรถพอได้มาปั่นจักรยานแล้วก็เปลี่ยนนิสัย ให้ทางจักรยานตลอดเลย ถ้าเราทำให้หลายๆ คนได้ปั่นจักรยานผมว่ามันก็จะเปลี่ยนทัศนคติได้ดีเลยนะ ถ้าคนปั่นจักรยานเป็นเจ้าของตึก เขาก็จะรู้ว่าการให้ยามดูแลจักรยานมันเป็นเรื่องสำคัญ

สุดท้ายอยากฝากกลุ่มนักปั่นครับ ขอพูดอย่างเป็นกลางเลยนะ นักปั่นอย่าคิดว่าเราเหนือกว่าคนอื่นเลยครับ จักรยานก็เป็นภาระอย่างหนึ่ง เราไม่ได้เหนือกว่าใครหรอก ทุกคนบนถนนก็มีสิทธิเท่ากันหมด ถ้าคุณจะขี่จักรยานบนถนนก็ต้องเคารพกฏกติกาบนถนน ถ้าอยู่บนทางเดิน เราก็ต้องให้เกียรติคนเดินเท้า หลายๆ ครั้งเราเห็นคนใช้จักรยานเรียกร้องเช่นเอาเข้าห้างสรรพสินค้าไม่ได้ ไปนั่นนู่นนี่ไม่ได้ ผมว่าจักรยานมันก็ไม่ได้เหมาะกับทุกที่ทุกสถานะ ก็ต้องเห็นใจผู้อื่นและเคารพสถานที่ด้วย เวลาปั่นบนถนนก็อย่าไปซอกแซกออกขวาบ่อย พยายามชิดซ้ายเอาไว้ ผมเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายเคารพกฏกติกา เราก็จะเป็นเมืองที่ปั่นจักรยานได้อย่างวิเศษเลยครับ

 

“มีคนชอบถามว่า กรุงเทพต้องการอะไรเพิ่มเติมที่จะทำให้มันเป็นเมืองจักรยาน? ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญมันไม่ใช่ไบค์เลน หรือไฟให้สัญญาณสำหรับคนปั่นหรอก สิ่งสำคัญคือคนบนถนนต้องเข้าใจจักรยานครับ ถ้าคนขับรถเข้าใจคนปั่น แบ่งทางให้กัน ไบค์เลนก็ไม่จำเป็น”

BikeFest4

BikeFest7

DT: คำถามสุดท้ายแล้วครับ ความสุขในการปั่นจักรยานของพี่ก้องคืออะไรครับ?

พี่ก้อง: ผมขอตอบสองเรื่อง เรื่องแรกเป็นความสุขที่เกิดขึ้นตอนปั่น เรารู้สึกว่ามันเป็อะไรที่พิเศษมากๆ มันทำให้เรามีสมาธิครับ ชีวิตเมืองยุคนี้ของพวกเราเดี๋ยวนี้ไม่เคยอยู่กับตัวเองเลย นั่งเฉยๆ เดี๋ยวก็หยิบมือถือมาดู เปิด instagram facebook หรือไม่ก็อยู่กับเพื่อนสนทนา คุยสัพเพเหระกันตลอด เราไม่เคยอยู่กับตัวเองจริงๆ เลยครับ แต่เวลาเราอยู่บนจักรยาน เราได้อยู่กับตัวเอง จะคุยกับใครก็ไม่ได้ หยิบมือถือก็ไม่ได้ ฟังเพลงก็ไม่ได้ ต้องใช้สมาธิ ยิ่งเวลาขี่ทางไกลเกิน 50 กิโลเมตร ยิ่งทำให้เราได้อยู่กับตัวเองนานขึ้น ซึ่งผมชอบโมเมนท์แบบนี้มาก ทำให้เราได้คิดสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง

เรื่องที่สองจักรยานทำให้เราได้เจอเพื่อนดีๆ อีกเยอะเลยครับ อย่างง่ายที่สุด เวลาขี่ไปตามถนนก็เจอคนทัก เดี๋ยวก็เข้ามาถามว่าอ้าวซื้อที่ไหน ยางนี้ใช้ดีมั้ย รถราคาเท่าไร พอเจอคนปั่นด้วยกันก็โบกมือทักทาย ก้มหัวให้กันเวลาปั่นสวนกัน ซึ่งจะว่าไปมันเหมือนสังคมไทยในอุดมคติเนอะ เหมือนสมัยก่อนที่เราทักทายกันตลอด ความสัมพันธ์แบบนี้มันหายไปจากเมืองไทยนานมากแล้ว เราหวาดระแวงกันตลอดเวลาว่าคนนี้จะมาดีหรือมาร้าย แต่พออยู่บนจักรยานทุกคนกลายเป็นเพื่อนกันไปหมดเลย มากไปกว่านั้น พอได้ทำกิจกรรมด้วยจักรยาน เช่นที่ไปปั่นกับน้องๆ มหาวิทยาลัย ผมว่าคนปั่นจักรยานเป็นคนดีนะ พอทำงานด้วยกันมันก็รู้สึกดีครับ ทุกคนก็ไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไร แค่มาทำเพราะอยากทำ ได้เจอเพื่อนดีๆ เกิดพลังบวกขึ้น เป็นสังคมที่น่ารักดีครับ

“ชีวิตเมืองยุคนี้ของพวกเราเดี๋ยวนี้ไม่เคยอยู่กับตัวเองเลย เดี๋ยวก็หยิบมือถือมาดู แต่เวลาเราอยู่บนจักรยาน เราได้อยู่กับตัวเอง จะคุยกับใครก็ไม่ได้ หยิบมือถือก็ไม่ได้ ฟังเพลงก็ไม่ได้ ต้องใช้สมาธิ”

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

4 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *