“แทนที่จะเขียนข่าวว่าผมแพ้สปรินต์ ทำไมคุณไม่นึกบ้างหละว่าวันนี้ไกรเปิลเป็นผู้ชนะ เขาเป็นสปรินเตอร์ที่เก่งมากนะ” — มาร์ค คาเวนดิช ให้สัมภาษณ์หลัง ตูร์เดอฟรองซ์ 2015 สเตจ 5
* * *
ฮีโร่มีอยู่ในทุกเกมการแข่งขัน แม้แต่ในวงการจักรยาน ฮีโร่คือนักปั่นที่เราพูดถึงตลอดเวลาไม่ว่าเขาจะชนะหรือแพ้ก็ตาม มารค์ คาเวนดิชยอดสปรินเตอร์แห่งยุคสมัยจาก Etixx-Quickstep คือหนึ่งในฮีโร่ที่ทุกคนชื่นชม ด้วยผลงานแชมป์สเตจในตูร์ร่วม 26 สเตจ — สถิติที่นักปั่นในเปโลตองปัจจุบันทำได้แค่ฝันถึง
The man in the shadow
ปีนี้อังเดร ไกรเปิล เอซสปรินเตอร์จากทีม Lotto-Soudal คว้าแชมป์สเตจในตูร์เดอฟรองซ์ 4 สเตจ มากที่สุดที่เขาเคยทำได้ และมากกว่าสปรินเตอร์ทุกๆ คนในตูร์ปีนี้ สถิติที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ในตูร์ปีนี้มีสเตจที่น่าจะจบด้วยการสปรินต์จริงๆ เพียง 5 สเตจ แต่ไกรเปิลคนเดียวเก็บไป 4 (อีกหนึ่งสเตจเป็นของคาเวนดิช) นั่นหมายความว่าอัตราการชนะของเขาคือ 4 ใน 5 จากจำนวนสเตจที่เขาสามารถชนะได้
แต่ไม่ว่าไกรเปิลจะชนะด้วยวิธีไหน สิ่งแรกที่สื่อนึกถึงไม่ใช่ฝีมือของไกรเปิลแต่กลายเป็นว่าคาเวนดิช / คิทเทล แพ้ยังไงอยู่ร่ำไป ชัยชนะของเขายังคงอยู่ใต้เงาของคาเวนดิชอยู่เสมอ ตั้งแต่ที่ทั้งคู่เคยอยู่ร่วมทีม HTC-Highroad ด้วยกัน
ไกรเปิลอาจจะไม่ได้ชนะเยอะ และชนะรวดเหมือนทั้งคู่ แต่เขาเป็นสปรินเตอร์และนักปั่นคนเดียวในเปโลตองที่คว้าแชมป์สเตจในตูร์ได้ทุกปี ปีละอย่างน้อย 1 สเตจ ชัยชนะทั้งหมดในอาชีพของเขานับรวมกันแล้วได้ 122 ชัยชนะ ซึ่งก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสปรินเตอร์ชื่อดังคนอื่นสักเท่าไรนัก แต่อะไรทำให้เขาไม่เป็นที่จับตามองเหมือนเอริค ซาเบล, มาริโอ ชิปโปลินี, อเลซานโดร เพทัคคี, มาร์ค คาเวนดิช และ King of Sprint คนล่าสุด — มาร์เซล คิทเทล?
อาจจะเป็นเพราะว่าเขาชนะแชมป์รายการเล็กมากกว่ารายการใหญ่ (คาเวนดิชเคยพูดว่า ไกรเปิลก็เป็นแค่ “A winner of shit, small race”) แปลอย่างหยาบๆ ให้ตรงอารมณ์ที่คาเวนดิชพูดก็คือ “ไกรเปิลเป็นแค่แชมป์สนามกระจอกๆ” (ed note: OMG!) แต่เมื่อดูสถิติแล้วไม่ใช่อย่างที่คาเวนดิชพูด เมื่อเขาเคยชนะ Giro 3 สเตจ, Vuelta 4 สเตจ และ Tour 10สเตจ สนาม “กระจอก” ที่เหลือก็เป็นระดับ Tour Down Under (16 สเตจ), Eneco Tour (6 สเตจ) Tour of Turkey (6 สเตจ) — รายการแรกและรายการที่สองเป็นสนามแข่งระดับดิวิชัน 1 UCI WorldTour
แก่แต่เก๋า
ใช่ว่าไกรเปิลไม่มีคู่แข่งในตูร์ปีนี้ ถึงแม้คิทเทลจะป่วยมาลงไม่ได้ แต่เขาก็ยังต้องเจอนักปั่นอย่างคาเวนดิช และปีเตอร์ ซากานที่เร็วขึ้นทุกปีๆ ไกรเปิลจัดว่าเป็นสปรินเตอร์แถวหน้าที่อายุมากที่สุด (33 ปี) เทียบกับ คาเวนดิช (30 ปี), คิทเทล (28 ปี), ซากาน (25 ปี), เดเกนโคลบ์ (26 ปี) และอเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (28 ปี)
สำหรับสปรินเตอร์ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีแรงระเบิดพลังน้อยลง แม้แต่ไกรเปิลก็หลบหนีความจริงข้อนี้ไม่ได้ แต่การที่อายุมากขึ้นก็หมายความว่าประสบการณ์ก็มากับอายุด้วย ถ้าเราสังเกตการสปรินต์ของเขาในปีนี้ จะเห็นว่าไกรเปิลมีจังหวะการออกตัวดีกว่าคู่แข่งทุกคนในทุกสเตจที่เขาชนะ ถึงแม้ว่าตำแหน่งในการเปิดสปรินต์จะไม่สมบูรณ์แบบนัก (คริสทอฟตำแหน่งดีสุดในการสปรินต์สเตจสุดท้าย แต่เปิดเกมเร็วกว่า)
เมื่อรวมกับเส้นทางในตูร์ปีนี้ที่สเตจสปรินต์ค่อนข้างซับซ้อนและยาก เช่นสเตจ 2 ที่กลุ่มตัวเต็งเหลือไม่ถึงยี่สิบคน สเตจ 5 ที่กลุ่มสุดท้ายเหลือแค่ 50 คน และสเตจอื่นๆ ที่เส้นชัยอยู่กลางเมือง มีเนินขึ้นลง และมีโค้งหลายโค้งในช่วงกิโลเมตรสุดท้าย ชัดเจนเลเวลของการแข่งนั้นไม่หมูเหมือนสนามดิวิชัน 1 ทั่วๆ ไป
ไกรเปิลโชว์ความเหนือจากประสบการณ์การแข่งขันหลายปี เชี่ยวชาญในการอ่านไลน์ กะจังหวะสปรินต์และใช้งานเพื่อนร่วมทีมในจังหวะลีดเอาท์ โค้ชของไกรเปิล — มาร์ค เซอร์เจนท์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในสเตจที่เส้นทางยากตัดตัวกลุ่มตัวเต็งได้เยอะ ไกรเปิลมักจะเป็นสปรินเตอร์ไม่กี่คนที่หลุดรอดมาสปรินต์หน้าเส้นชัยได้ทุกๆ ปี เซอร์เจนท์ยังบอกอีกว่าไกรเปิลมีจิตใจที่เด็ดขาดมากขึ้นในปีนี้ ซึ่งช่วยในการกะจังหวะออกตัว เพราะแต่ก่อนถึงเขาจะเร็วกว่าคู่แข่ง แต่ timing ของเขามักไม่สมบูรณ์ทำให้เปิดสปรินต์ได้ขาดๆ เกินๆ เสมอ

สปรินเตอร์ที่ทีมรัก
อีกหนึ่งจุดแข็งของไกรเปิลที่หลายคนอาจจะไม่สังเกตคือเพื่อนร่วมทีมที่ทำหน้าที่ลีดเอาท์ให้เขาเป็นชุดเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2012 ที่มีเกร็ก เฮ็นเดอร์สัน, ลาร์ส แบ็ค, อดัม แฮนเซ็น, และมาร์เซล ซีเบิร์ก ทำให้ขบวนลีดเอาท์ของ Lotto-Soudal เป็นชุดที่ประสบการณ์เยอะไม่แพ้ลีดเอาท์ทีมไหนๆ ในเปโลตองตอนนี้
ถามว่าพึ่งพาได้แค่ไหน? เกร็ก เฮ็นเดอร์สันที่ล้มจนกระดูกซี่โครงหักในสเตจ 3 ตูร์ปีนี้ ช่วยไกรเปิลลีดเอาท์จนชนะทั้งสเตจ 2 และสเตจ 5 ก่อนที่จะถอนตัวไปในสเตจ 7 ถ้าเพื่อนร่วมทีมไม่มั่นใจว่าคุณจะชนะได้ เขาจะยอมออกแรงในขณะที่บาดเจ็บจนจะถอนตัวไปก่อนก็ได้เพื่อชัยชนะของคุณหรือเปล่า? นั่นคือระดับความผูกพันธ์ของเพื่อนร่วมทีม Lotto-Soudal ที่เราไม่ค่อยได้เห็นในทีมอื่นๆ

ในบทสัมภาษณ์กับ Letour.fr เซอร์เจนท์โค้ชของทีมยังบอกต่อว่า “ไกรเปิลไม่ได้ถือตัวว่าเขาจะต้องเป็นผู้นำตลอดเวลาในรายการใหญ่ ถ้าไม่ใช่สเตจทางราบเขาก็มาช่วยเพื่อนขนน้ำ ส่งอาหาร เพราะยังไงเขาก็ไม่มีลุ้นแชมป์อยู่แล้ว ไกรเปิลชอบแนะนำน้องๆ ในทีมรุ่นใหม่ถึงเทคนิค เคล็ดลับต่างๆ ที่จะช่วยให้ทำผลงานการปั่นได้ดีขึ้น แชมป์เปี้ยนหลายคนไม่ชอบบอกความลับพวกนี้เพราะเขาคิดว่าเดี๋ยวเด็กใหม่ก็จะได้ดีกว่าเขาในที่สุด แต่ไกรเปิลบอกว่าไม่ชอบแนวคิดคับแคบแบบนี้ ทุกคนควรมีสิทธิประสบความสำเร็จเหมือนๆ กัน”
จากการคว้าชัยในสเตจสุดท้ายกลางกรุงปารีสที่ถนน ฌองเซลิเซ่ เส้นชัยอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาสปรินเตอร์ในยุคศรรตวรรษที่ 21 ซึ่งขึ้นชื่อว่าถ้าไม่เก๋าจริงก็ชนะไม่ได้ เชื่อว่าต่อจากนี้คงไม่มีใคร (รวมถึง DT ด้วย!) จัดไกรเปิลเป็นสปรินเตอร์ “เกรด B” หรือม้ารองอีกต่อไป เพราะในตูร์เดอฟรองซ์ปีนี้ ไกรเปิลได้พิสูจน์ตัวเองอย่างสมศักดิ์ศรีแล้วว่าเขาคือสปรินเตอร์แถวหน้าของวงการครับ

ดราม่าสนุกๆ: รอยร้าวระหว่างไกรเปิลและคาเวนดิชนั้นมีมานานมากแล้วครับ ในปี 2010 ที่ทั้งคู่ยังอยู่ทีมเดียวกัน สตาฟประจำทีม HTC-Highroad เคยบอกคาเวนดิชว่า “ไกรเปิลอาจจะลงทีมตูร์กับคุณนะ” คาเวนดิชตอบอย่างไม่คิด: “ถ้าผมลงแข่งรายการนี้ ไม่มีวันที่ไกรเปิลจะได้มาลงแข่งทีมเดียวกับผม” (“There’s no chance he’s coming to a bike race that I’m in”) และไกรเปิลก็สวนได้ร้อนแรงไม่แพ้กันว่า “ถ้าผมฟอร์มแย่ ผมก็ยังปั่นได้เร็วกว่าเขาอีก!” (“Me on bad form is still better than him”)
* * *