เมื่อผู้จัด Tour de France ถอนรายการจากตารางแข่ง World Tour

เมื่อค่ำวานนี้มีพาดหัวข่าวที่เชื่อว่าหลายคนเห็นแล้วคงงงๆ กันไม่น้อย

“ASO withdraws the Tour de France from 2017 WorldTour calendar” – Cyclingnews

“Tour de France pulled from WorldTour” – Velonews

แปลพาดหัวข่าวก็คือ ASO – เจ้าของสนามแข่งจักรยานที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Tour de France, Vuelta a Espana, Paris-Roubaix, Paris-Nice, Criterium du Dauphine และ Liege-Bastonge-Liege ประกาศถอนสนามแข่งของเขาทั้งหมดออกจากตารางแข่ง UCI WorldTour ในปี 2017

CWgMJfMWsAAnPkW

ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่! แต่อาจจะเข้าใจยากว่ามันจะมีผลกระทบยังไงกับวงการ นักแข่งและสนามาแข่งบ้าง อันดับแรกที่ต้องเข้าใจคือมันคือเรื่องการเมือง 100% ครับ

 

อะไรคือ UCI World Tour?

สำหรับท่านที่ไม่รู้การแข่งขันจักรยานถนนกฏแบ่งทีมออกเป็น 3 ดิวิชัน และสนามแข่งอีก 4 ระดับ ซึ่งควบคุมและปกครองโดยองค์กรสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ Union Cycliste Internationale (UCI)

ทีมดิวิชัน 1 หรือระดับสูงสุดเราเรียก UCI ProTeam มีทั้งหมด 18 ทีมและต้องผ่านการคัดเลือกพิจารณาจาก UCI
ทีมดิวิชัน 2 เราเรียก UCI Pro Continental มียี่สิบกว่าทีม
ทีมดิวิชัน 3 เราเรียก UCI Continental มีหลายร้อยทีมทั่วโลก

* ทุกทีมที่อยากลงแข่งในสนาม UCI ต้องจ่ายค่าไลเซนส์ราคาสูงให้กับ UCI ทุกๆ ปี (เดี๋ยวเราจะรู้ว่ามันสำคัญยังไงกับเรื่องนี้)

สนามแข่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับไล่จากต่ำไปสูงคือ UCI WorldTour, .HC, .1 และ .2

ทีมระดับดิวิชัน 1 ทุกทีมจะต้องลงแข่งสนามระดับ UCI WorldTour ซึ่งมีคะแนนสะสมมากที่สุด มีคนดูมากที่สุด เกียรติยศสูงสุด มีเงินรางวัลสูงสุด เป็นระบบ automatic invitation จากผู้จัดแข่งทุกคนที่มีงานแข่งตัวเองอยู่ในระดับ UCI WorldTour

Tour de France 2015 - stage 21

ทำไม ASO ถึงถอนงานแข่งของตัวเองจาก UCI WorldTour?

สนามแข่งของ ASO เกือบทั้งหมดอยู่ในะระดับ UCI WolrdTour หรือระดับสูงสุดครับ ASO คือบริษัทผู้จัดสนามแข่งจักรยานที่ว่ามานี้ แต่เป็นบริษัทที่ทรงพลังที่สุดในวงการจักรยานเพราะเขาเป็นเจ้าของสนามแข่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Tour de France และ Paris-Roubaix

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทาง UCI พยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันจักรยานเพื่อให้ระบบการแข่งขันทันสมัยขึ้นและมีประโยชน์ต่อนักปั่นและทีมมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ UCI นำเสนอก็เช่น

  • ลดระยะเวลาการแข่งต่อสนามลงเพื่อไม่ให้ตารางแข่งทับซ้อนกัน
  • ลดจำนวนนักปั่นในการแข่งขันลง ให้การแข่งขันมีความปลอดภัยมากขึ้น
  • ให้สปอนเซอร์ทีมต้องทำสัญญาสนับสนุนทีมขั้นต่ำ 3 ปี เพื่อให้ทีมมีความมั่นคง ไม่ต้องกลัวทีมยุบเพราะสปอนเซอร์ฉีกสัญญาถอนตัวกลางคัน
  • และสำคัญที่สุดคือแผนที่ UCI จะแจกไลเซนส์ให้ทีมแข่งครั้งละ 3 ปี (จากปกติ 1-2 ปีขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ UCI)

แน่นอนว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนเห็นด้วย โดยเฉพาะ ASO ที่ต่อต้านเรื่องนี้มาตลอด เพราะเขาเป็นฝ่าย (ที่คิดว่าตัวเอง) เสียประโยชน์เต็มๆ ทั้งเรื่องลดจำนวนวันแข่ง (ก็จะขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้น้อยลง เสียโอกาสในการหารายได้จากการให้เมืองผู้อยากเป็นโฮสต์งานแข่งมาประมูลกับเขา)

อีกเหตุผลของ ASO คือ บริษัทไม่ชอบ “ระบบปิด” ที่ทีมแข่งขันจะได้ไลเซนส์แข่งระดับสูงสุดต่อเนื่องเป็นเวลานานอย่างน้อย 3 ปี คล้ายๆ NBA กลับกัน ASO อยากให้ลีกเป็นระบบเปิดเหมือนลีกฟุตบอลยุโรปที่ทีมที่เก่งก็ได้รับการโปรโมตเลื่อนอันดับ เลื่อนดิวิชัน ส่วนทีมที่ไม่มีผลงานก็ตกดิวิชันไป

มันสำคัญกับ ASO ยังไง? สำคัญมากครับ เพราะทีมที่ได้ไลเซนส์ WorldTour คือทีมที่ต้องมาลงแข่งสนามระดับดิวิชัน 1 ถ้าเป็นทีมห่วยๆ ไม่มีผลงาน แต่ดันได้ไลเซนส์ระดับสูงสุดนานเลย มันก็มีโอกาสทำให้งานแข่งกร่อย สู้เอาสล็อตพวกนี้ไปเชิญทีมดิวิชัน 2, ทีมท้องถิ่นที่กำลังมาแรงมาแข่งดีกว่า

Tour de France 2015 stage 20 (3 of 9) 8.15.21 AM

ผลกระทบและอำนาจต่อรอง

เมื่อไม่อยู่ในตารางแข่ง WorldTour แล้วงานแข่งพวกนี้มันจะไปอยู่ที่ไหน? ASO ประกาศว่าเขาจะย้ายสนามแข่งของเขาไปลงในระดับ HC (ระดับรองจาก WorldTour) ซึ่งกฏของ UCI ระบุว่าต้องมีนักปั่นจากทีมระดับดิวิชัน 1 (ProTeam) อย่างน้อย 70% ของผู้เข้าแข่งชันทั้งหมด นั่นก็คือทีมระดับดิวิชัน 1 ที่เข้าแข่งงานอย่าง Tour de France ได้จะเหลือแค่ 13 ทีมจากทั้งหมดที่มี 18 ทีม อีก 7 ทีมที่เหลือขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ASO ซึ่งปกติ ASO มีสิทธิเชิญทีมรับเชิญ​ (Wildcard) แค่ 4 ทีมเท่านั้น

สนามแข่งระดับ HC ลดจำนวนทีมเข้าแข่งขันจากปกติ 22 ทีมต่อหนึ่งสนามใน UCI WorldTour เหลือแค่ 20 ทีมในระดับ HC ซึ่ง ASO เชื่อว่าจะปลอดภัยกับผู้เข้าแข่งขันมากกว่าด้วย

สนามแข่งของ ASO นี่คิดเป็นตัวเลขกลมๆ แล้วกินตาราง UCI WorldTour มากถึง 40% เลยทีเดียว

คุณอาจจะสงสัยว่าแล้วมันมีผลยังไง? ประเด็นหลักที่ ASO และ UCI กำลังต่อสู้แย่งชิงกันคือ “การควบคุม” ครับ ผลกระทบของการกระทำของ ASO คือ เขามีสิทธิเลือกทีมที่จะเข้าแข่งขันในสนามของเขามากกว่าเดิม เพราะไม่ต้องทำตามกฏ UCI WorldTour แล้ว การลดระดับสนามแข่งของ ASO นี่ก็ไม่ผิดกฏอะไรด้วย ผู้จัดมีสิทธิถอนสนามแข่งจากตารางแข่งระดับไหน เมื่อไรก็ได้

การกระทำนี้จะทำให้ UCI และทีมเดือดร้อนมาก เพราะ

  • ถ้าหากผู้จัดแข่งอื่นๆ อย่าง RCS (เจ้าของ Giro d’Italia) ทำตาม ASO บ้าง ไลเซนส์ดิวิชัน 1 ราคาแพงที่หลายๆ ทีมพยายามซื้อจะไม่มีความหมายเลย เพราะความสำคัญของไลเซนส์คือกฏที่ว่าทีมจะได้รับเชิญให้เข้าลงการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุด และดีที่สุด (ดีกับโปรไฟล์ทีม นักปั่น สปอนเซอร์) ถ้าสนามใหญ่ไม่อยู่ในตาราง WorldTour แล้วเราจะจ่ายค่าไลเซนส์ทำไมให้เปลืองเงิน?)
  • ทีมอาชีพจะพยายามเอาใจ ASO นั่นคือยอมไปแข่งสนามของ ASO ให้ครบทุกรายการ และพยายามพานักปั่นตัวดังของทีมไปด้วย เพื่อหวังว่าจะได้รับ “เชิญ” ให้ไปลงแข่ง Tour de France ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกทีมในทุกๆ ปี นั่นหมายความว่า ถ้าตารางแข่งมันชนกับงานของผู้จัดเจ้าอื่น ทีมจะเลือกมาแข่งงานของ ASO แทน! ปีๆ นึงมีตารางแข่งชนกันหลายงานครับ
  • ทีมระดับดิวิชัน 1 ที่ผลงานไม่ดี อยู่ท้ายตารางตลอด อาจจะเลือก “ลดดิวิชัน”​ ยอมไปเป็นหัวหมาในระดับ Pro Continental แทนที่จะเป็นหางเสือใน UCI WorldTour ซึ่งน่าจะมีโอกาสให้ ASO เชิญเข้าแข่งงานของเขามากกว่าเดิม

Tour de France 2015 - stage 21

สรุป

เมื่อคุณเป็นเจ้าของรายการแข่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการแล้ว มันก็ไม่ยากที่จะแข็งเมืองสู้กับผู้ปกครองอย่าง UCI ครับ หัวใจของดราม่าเรื่องนี้คือผลประโยชน์และอำนาจการควบคุม

จากการตัดสินใจครั้งนี้ ASO คือผู้ชนะ เพราะเขามีอำนาจต่อรองสูงที่สุด แต่คนอื่นเสียประโยชน์หมด ไม่ว่าจะเป็น UCI, ทีม, สปอนเซอร์ และนักปั่น เพราะมันทำให้ระบบการแข่งโกลาหลและลดมูลค่าไลเซนส์ทีมดิวิชัน 1 ลงแบบมหาศาล

แผนปฏิรูปวงการของ UCI จริงๆ เป็นเรื่องดีนะครับ ที่เขาอยากให้ทีมได้ไลเซนส์ทีละ 3 ปี เพราะมันจะทำให้ทีมมีความมั่นคงมากขึ่้น (สปอนเซอร์ต้องเซ็นสัญญาสนับสนุนยาวๆ) แต่ถ้างานแข่งที่ทุกทีมอยากลงไม่อยู่ในระดับ WorldTour ซึ่งทีมดิวิชัน 1 จะไม่ได้รับเชิญไปแข่งอัตโนมัติแล้ว ไลเซนส์ทีมก็แทบไม่มีความหมายเลย

การถอนตารางแข่งออกจาก WorldTour ของ ASO นี่เป็นท่าไม้ตายของ ASO เลยก็ว่าได้เพราะมัลดคุณค่าระบบการแข่งปัจจุบันจนแทบไม่มีความหมายสำหรับทีม และมันจะทำให้ระบบทีมและสปอนเซอร์ป่วนหนักกว่าเดิมอีก ถ้าสปอนเซอร์เห็นว่า อ้าวทีมไม่ได้รับเชิญอัตโนมัติให้ลงแข่งงานใหญ่แล้ว อย่างนี้เราจะสปอนเซอร์ทำไม ในเมื่อจะไม่มีใครเห็นโลโก้และรู้จักเรา ไม่ได้ออกทีวีไปทั่วโลก และอาจจะเลือกถอนสปอนเซอร์กันแบบดื้อๆ จนทีมยุบก็ได้

มหากาพย์ดราม่าการเมืองจักรยานเรื่องนี้จะเดินต่อไปยังไง คงต้องดูกันในปี 2017 (ปี 2016 ทุกอย่างยังรันเหมือนเดิมครับ”) ความขัดแย้งระหว่าง UCI และ ASO ไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ เขาไม่ลงรอยกันมานานแล้ว แต่นี่เป็นไพ่สุดท้าย เป็นการยื่นคำขาดของ ASO ที่ UCI ตอบโต้ได้ยากจริงๆ ครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *