เอาชนะตัวเองคนเมื่อวาน: Audax 200 BRM Ayutthaya

ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ผมงานยุ่งมากจนไม่มีเวลาปั่นจักรยานเท่าไหร่นัก แถมยังสนุกกับการกินซะเพลิน จนน้ำหนักขึ้นพรวด ไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจในการปั่นจักรยาน เพราะไม่มีงานแข่ง ไม่มีอะไรชวนให้อยากซ้อม เวลาเป็นแบบนี้ ถึงจุดหนึ่งมันก็เริ่มเบื่อ ก็ต้องหาทางกระตุ้นตัวเองล่ะครับ ซึ่งถ้าจะไปหางานแข่ง แถวบางกอกนี่ก็มีงานน้อยเหลือเกิน มีน้องมาชวนไปบางงาน ปั่นแข่ง 20 กิโล โถ่ นั่นมันปั่นเล่นแล้วมั้ง (ถ้าพวก Criterium ก็ว่าไปอย่าง แต่อันนั้นผมก็คงตายก่อนครับ แพ้ขาแรง) คิดไปคิดมา ก็เจองานน่าสน นั่นคืองานปั่น Audax Randonneurs ในประเทศไทยนั่นเอง

Audax Randonneurs คืออะไร?

ปูพื้นก่อนนะครับว่า Audax Randonneurs คืออะไร แต่ก่อนอื่น มันอ่านว่า ออ-แดก-แรน-โดน-เนอร์ (ดูปากน้องนัชชานะคะ) ซึ่งจะเรียกว่า แข่ง ก็ลำบากนะครับ แต่มันเหมือนกับ แรลลี่จักรยานทางไกล ตามที่ผู้จัดว่าไว้ เพราะไม่ได้มีพิธีเปิด ไม่ได้มีเหรียญรางวัลตามลำดับ แต่เป็นการขี่ไปเพื่อไปรับตราประทับตามจุดที่กำหนดในเวลาที่จำกัด และเข้าเส้นชัยก่อนหมดเวลา ซึ่งถ้าไปจุดประทับตราไม่ทัน หรือหลงแล้วไม่ได้ไปประทับตรา ถึงจะปั่นทำระยะได้มากกว่าระยะที่กำหนดไว้ ก็ถือว่าสอบตกนะครับ อ้าว แล้วมีหลงเหรอ ใช่ครับ ก็มันเป็นการปั่นแบบแรลลี่ ไม่มีการบอกเส้นทาง มีแผนที่ให้ดู มี Que Sheet ให้อ่าน เราต้องศึกษาเอง และจำทางเอง ยุคนี้มี GPS Navigator ช่วยนำทาง ก็สะดวกหน่อยครับ

จริงๆ ผมเองก็เห็นโปรเจคต์นี้แต่แรกล่ะครับ สนใจจะลงหลายทีล่ะ แต่ก็ไม่ได้จังหวะลงซะที อาจจะเป็นเพราะความกลัวในใจก็ได้เลยหาเรื่องอ้างไปเรื่อย แต่งานนี้คงต้องลงล่ะครับ เพราะว่าจะปล่อยไปแบบนี้เรื่อยๆ ผมกับจักรยานคงห่างกันกว่าเดิม เลยตัดสินใจ สมัครงาน Audax 200 อยุธยา นี่ล่ะครับ

Audax 200 review-12
Photo Credit: Pornpoj Nantajeeworawat

ปัญหาของคนไม่เคยปั่นไกล

เพื่องานนี้ ผมเองก็รู้ตัวว่าต้องฝึกร่างกายให้ดี เพราะไม่เพียงแต่ 200 กิโลเมตรคือระยะที่ผมไม่เคยปั่นมาก่อน (งานไกลที่สุดของผมคือ Tour de Farm ปี 2013 ที่ 105 กิโลเมตรนั่นล่ะครับ ลงรุ่น A ดีที่ยังทันเวลาตัดเหรียญ) แต่น้ำหนักที่เพิ่มจากเดิมมา 4 กิโลกรัม เป็นตัวถ่วงชั้นดี แถมสภาพร่างกายที่มัวแต่ยุ่งกับการทำงานนั่งโต๊ะ ทำให้ความฟิตหาย ตั้งแต่ปีใหม่มาจึงพยายามรีดน้ำหนักและเรียกความฟิต แต่แค่ปั่นจักรยานอย่างเดียวคงไม่พอล่ะครับ เลยต้องเร่งความเร็วด้วยการเพิ่มกล้ามเนื้อด้วย จึงต้องเล่นท่าสารพัด ทั้ง Lunge พร้อมยกเวท วิดพื้น Plank, Bicycle Crunches, Mountain Cimbers, Burpees รวมไปถึง Squat โดยยกเวทไปด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างกล้ามเนื้อส่วนอื่น เช่นแขนและไหล่เพื่อการควบคุมจักรยาน และเสริมความแข็งแรงของแกนร่างกาย (Core) เพื่อให้ทนกับการก้มปั่นได้นานขึ้นครับ และสัปดาห์ก่อนงานก็ได้ไปปั่นซ้อมเล่นๆ กับแอดมินคูนและน้องวี ทีมงาน Ducking Tiger กันนี่ล่ะครับ ก็พอไปไหว คิดว่าน่าจะลุยไหวล่ะ

แต่ก็มีปัญหาอยู่เมื่อ 1. ผมไม่มี GPS ติดจักรยาน 2. ไฟล์ GPX ที่เขาอัพแผนที่มาให้ ก็ใช้กับพวกแอพที่ผมมีไม่ได้ หรือใช้ได้ก็ต้องเสียเงิน งก เลยไม่เอาครับ กะนั่งศึกษาแผนที่เอง แต่ เวลาก็มีไม่พอ เพราะติดงาน จะแข่งอยู่แล้วยังไม่ได้ศึกษา คืนวันศุกร์ก็ดันมีนัดมีตติ้งกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ เมากลับบ้าน วันเสาร์ตื่นมายังเบลอๆ ก็ต้องรีบปั่นงานเขียนส่ง จนมีเวลานิดเดียวในการหาโปรแกรมใช้ สุดท้ายได้แอพ Maps.Me ที่อัพแผนที่ลงไปได้ ถึงจะไม่มีระบบนำทาง แต่อย่างน้อยผมก็เช็คได้ล่ะว่าอยู่ไหนแล้ว ยังดีครับ สุดท้าย ได้นอนสี่ชั่วโมงก่อนตื่นตีห้าเพื่อไปเตรียมตัวที่จุดสตาร์ต ที่ สำนักงานใหญ่ TOT ที่ถือว่าสะดวกมากครับ ตอนเช้ารถไม่ติดด้วย มีที่จอดพอ กว้างขวาง สบายเลย

Audax 200 review-1
ก่อนออกตัว หน้ายังไม่ตื่นดี

สตาร์ทล่ะนะ

พอถึงงาน ด้วยความประหม่า ค้นนั่น หานี่ เลยเกือบไม่ทันเวลาปล่อยตัว ของก็แพ็คไปเต็มที่ เสบียงทั้งเจลทั้งกล้วยอบแห้ง ยางในสำรอง 3 เส้น (กลัวจัด) สูบลม แบตเสริมมือถือ (ปัญหาของนักปั่นยุคไอทีครับ แบตไม่พอ) และที่สำคัญสุดคือ ครีมกันแดดครับ นักปั่นสายบูติก ยอมโดนดรอปดีกว่าผิวเสียครับ แหม่ เพราะเสียเวลากับการหาของ ทำให้พอไปลงทะเบียนรับบัตรประทับตรา และ Cue Sheet ก็ใกล้จะได้เวลาปล่อยตัวตอน 7 โมงเช้าล่ะ แต่เอ๊ะ เขาไม่มีตั้งขบวนอะไร ไม่มีพิธี เอ้อ สบายๆ ดีครับ ปล่อยตัววววว แล้วก็ทยอยกันออก ใครรอเพื่อนก็รอไป แปลกดีครับ ไม่ชิน แต่ก็คิดว่านี่แหละ Audax มีหน้าที่แค่เก็บจุดเช็คให้หมดและกลับมาภายในเวลา 13 ชั่วโมง

ตอนเช้าอากาศดีมากครับ เราปั่นกันเรียงแนวยาวไปเป็นแถวที่เส้นโลคอล เพลินมาก บางกลุ่มก็เริ่มเร่งความเร็ว ก็ดูสนุกดี ใครตามกันได้ก็ตามไป จนไปวนรถเข้าเลียบคลองเปรม แถว Workpoint อีกที ซึ่งขบวนก็ปั่นตรงไป จนไปถึงจุดที่ถนนกำลังก่อสร้างอยู่ ขรุขระและเต็มไปด้วยหินกรวด ความเร็วก็ลดกันลงทันทีครับ แต่ผมเห็นทีมๆ นึง ปั่นพุ่งออกไป เลยอาศัยความกล้า เชิญวิญญาณแคนเชลลาราเข้าสิง ปั่นพุ่งตามออกไปแซงไปหลายคนเลย (ส่วนนึงเพราะผมคิดว่าถนนแบบนี้ยิ่งช้ายิ่งติดกรวดล้มง่าย) พอพ้นเขตขรุขระ ข้างหลังแทบไม่มีคน ผมก็ไล่ตามทีมต่อไป จนออกถนนใหญ่ ตัดขวาวิ่งขึ้นทางยกระดับที่ทำไว้ให้เลี้ยวขวาไปถนนใหญ่อีกเส้นโดยเฉพาะ ซึ่งก็ตงิดใจเล็กๆ ว่าทำไมมีเส้นทางเสี่ยงแบบนี้ด้วย จนลงถนน ไม่เห็นทีมข้างหน้า ผมก็ปั่นต่อไป แต่แวะปั๊มเพื่อเข้าห้องน้ำหน่อย แต่พอไม่เห็นมีคนตาม ซึ่งนักปั่นระดับผมไม่มีทางทำเวลาทิ้งคนข้างหลังได้ขนาดนั้นแน่นอน ก็เริ่มหวั่นล่ะครับ หยิบมือถือออกมาตรวจแผนที่ เชียตตตตตตตตตตต ผิดทาง รีบปั่นกลับไปเลยครับ จะให้ปั่นกลับไปจุดที่ผิดเลยก็ไม่ไหว เลยพยายามหาทางย้อนกลับไปจุดที่ใกล้สุด จริงๆ ถ้าจะปั่นต่อไปแล้วเลี้ยวซ้าย ผมก็ไปถึงจุดเช็คได้เหมือนกัน แต่คิดว่ามันไม่ใช่ เหมือนมันระยะทางมันจะสั้นไป ไม่แฟร์ ขอย้อนไปดีกว่า ถึงจะไม่ถึงจุดแรกสุดที่หลงก็เถอะ

มานึกอีกที ทีมที่ผมตามหลังตอนนั้น อาจจะเป็นนักปั่นท้องถิ่นมาซ้อมของเขาก็ได้ เพราะ Audax ไม่มีเบอร์ ไม่มีป้าย ไม่มีอะไรติดตัวนี่ครับ ถ่อ

Audax 200 review-7

Checkpoint 1: จัดหนักไปนิดส์

พอย้อนกลับทางหลักได้ ก็เจอทีมที่ปั่นเรียงกัน เลยไปขออาศัยด้วยการเข้าไปถามความชัวร์ เพราะไม่มี GPS กลายเป็นทีม Axman มากันเป็นกลุ่มเลย ซักหน่อยทีมก็หยุดพักถ่ายรูป ผมเลยขอตัวไปต่อ ไปเจออีกทีมมากันเยอะมาก ปั่นเร็วมาก เลยขอเกาะทำเวลาอีก (คนหรือปลิง) ซึ่งซัดกันเกือบ 40 ไปจนถึงจุดเช็คแรกที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ผมไม่รู้กระทั่งว่าต้องโชว์ไมล์ หรือมือถือเพื่อเช็คระยะทางด้วย แต่ก็ไม่มีปัญหาครับ ถึงจะหลง แต่ผมแถมระยะให้ได้ 10 กว่ากิโลเมตร เลยได้ตราประทับแบบไร้ปัญหา เจอนักปั่นหลายท่าน พักกินอาหาร ดื่มน้ำ ได้คุยกับคนที่เอารถพับมาลุยคนเดียว งานนี้บอกตรงๆ ว่ามาด้วยใจกันจริงๆ ครับ

พักซักหน่อย ก็ปั่นต่อไปจุดที่สอง เทศบาลผักไห่ ซึ่งไปได้ซักหน่อย ประมาณกิโลเมตรที่ 70 ก็ต้องขอพักซื้อ Sport Drink กับขนมปังที่ร้านข้างทางหน่อย ไม่งั้นลำบากครับ แรงเริ่มหมด ก็ได้เสวนากับนักปั่นทีมคลอง 3 อีกด้วย ปั่นต่อไปอีกนิด เจอเซเว่นก็ขอแวะซื้อมะม่วงอบแห้ง ติดไว้กินให้พลังงานตอนปั่นต่อ ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ถูกครับ เพราะไปผักไห่นี่สองข้างทางเงียบมาก มีแต่นา ปั่นไปก็ดูนกกระยาง (มั้ง ผมไม่โปร) ดูทุ่งนาเขียวๆ ไปเพลินๆ นึกถึงสมัยเด็กที่ขอนแก่นเลย แดดเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ ทางก็เปลี่ยน ปั่นแซงกันไปมา หมกล้อกันบ้าง จนถึงทางที่ต้องเลี้ยวขวา ดีที่มีคนช่วยเตือน ไม่งั้นผมปั่นเลยล่ะครับ แต่จังหวะนั้น ตะคริวเริ่มกินปลายนิ้วเท้าซ้ายผมล่ะ แต่ก็ฝืนปั่นไปเรื่อย ไม่อยากยอม (ไม่รู้จะกลับไง) ตรงจุดเลี้ยวก็มีร้านค้าชาวบ้านเล็กๆ พอให้ซื้อน้ำเพิ่มได้ ไม่งั้นแย่แน่ครับ นี่ก็คงเป็นหนึ่งในการ พึ่งตัวเอง ของ Audax ต้องกะให้ดีครับ เพราะจะรอน้ำที่จุดเช็คอย่างเดียวคงไม่ไหว ต้องประเมินตัวเองด้วยว่าไหวมั้ย

Audax 200 review-10
ระหว่างทาง / Photo Credit Pornpoj Nantajeeworawat

Checkpoint 2: ยังไหวน่า

พอเข้าจุดเช็คที่สองที่ผักไห่ สภาพก็เริ่มโรยล่ะครับ ดีที่มีน้ำ มีมะม่วงให้บริการ กล้วยก็มี บางคนก็กิน บางคนก็นอนพักเอาแรง อย่างที่บอกครับ บริหารเวลาตัวเองได้ก็พอ ผมเองไปคนเดียว เลยไม่อยากอยู่นาน ออกปั่นต่อดีกว่า แต่ไม่รู้เลยว่า นรกรออยู่ตรงหน้า

ช่วงผักไห่ ไปอยุธยา คือนรกของแท้ครับ พระอาทิตย์อยู่บนหัวพอดี สองข้างทางไม่มีอะไรเลย มีแต่นากับนากับนา บ้านคนยังไม่มี ร้านค้าก็ไม่มี น้ำมีแค่ที่เตรียมมาจากจุดเช็คสองนั่นล่ะครับ ถึงระยะจะไม่ไกลมาก แต่ด้วยความร้อน และแรงลมตี (ซัดมาแบบไม่ยั้งครับ เห็นธงริมถนนปลิวแล้วเพลีย) เล่นเอาแทบสติหลุด คนมาเป็นทีมก็พอปั่นเร็วได้ มาคนเดียวนี่จะขอไปหมกเขายังไม่ไหวครับ หมดสภาพ นี่สินะ การเตรียมตัวมาไม่ดี

เดชะบุญที่ระหว่างทางมีร้านค้าอยู่ ผมเลยจอดยัดขนมปังอีก เพราะไม่อยากนั่งกินข้าวเลยให้เสียเวลาและกลัวจะย่อยไม่ทัน เจ้าของร้านก็ใจดีมากครับ ใครอยากเติมน้ำแข็งก็จัดได้เลย ไม่คิดเงิน แถมบอกว่าดีใจที่มีนักปั่นมา ไม่ใช่แค่ของขายได้ แต่ยังได้เจอคนเยอะๆ อีกด้วย ชอบใจที่ได้ต้อนรับทุกคนครับ ผมเองก็รู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นล่ะ ก่อนที่จะออกไปลุยต่อ เจอแดดเจอลมเหมือนกัน แต่รู้สึกฮึดได้ดีกว่าเดิม นอกจากแม่ค้าข้างทางแล้ว เหล่าชาวบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ ตามทางหลายคนก็ใจดีกับนักปั่นครับ ยิ้มให้กำลังใจ เด็กๆ ก็ออกมาโบกมือเชียร์ ก็อดโบกมือกลับให้ไม่ได้ ใครจะรู้ครับว่าพวกเราอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กน้อยเหล่านี้ต่อไปด้วยก็ได้ รวมไปถึงกลุ่มชาวบ้านบางพื้นที่ เช่นแถวผักไห่ที่อุตส่าห์เอากรวยออกมาเตือนว่ามีเนินหลังเต่า แถมมายืนช่วยโบกอีก เป็นน้ำใจเล็กๆ ที่เราไม่ลืมครับ

ก่อนเข้าอยุธยา ก็เจอกลุ่มปั่นอีกกลุ่ม เลยเกาะไปด้วย ซึ่งก็วนรอบตัวเมือง ซึ่งวันนั้นรถออกจะเยอะเพราะเด็กมีสอบกับ ก็เสียวหน่อย แถมโดนรถเลี้ยวตัดหน้ากันด้วย แต่ก็ถึงจุดเช็คที่สามได้โดยสวัสดิภาพ ซึ่งเป็นที่ทำการสายตรวจจักรยานของจังหวัดอยุธยาครับ เก๋มาก มีกล้วย มีวุ้นให้บริการ แถมมีน้องนักเรียนที่เล่นขิมหาเงินส่งตัวเองเรียนมาเล่นขิมให้ฟังอีก พี่ๆ ก็ช่วยกันคนละเล็กละน้อยครับ พี่ๆ ตำรวจก็บริการดีมาก ต้องขอบคุณทุกท่านจริงๆ ผมอยู่ที่จุดนี้นานหน่อย เพราะนั่งเล่นเกมด้วย กลัวเก็บไอเทมไม่ทัน อีเวนต์หมด ซึ่งก็เก็บได้ทันเวลาครับ (นี่มาทำอะไรครับ)

Audax 200 review-8
Photo Credit: Pornpoj Nantajeeworawat

Checkpoint 3-4: ปั่นไกลอย่าประมาท

จากจุดเช็คที่สาม ไปจุดที่สี่ที่วัดพยาญาติ ระยะทางแค่ 25 กิโลเมตร แต่ก็คล้ายๆ กับช่วงผักไห่ครับ โล่งๆ ไม่มีอะไรอีกแล้ว มีแต่ความร้อน ดีที่ลมไม่แรงมาก ก็กัดฟันปั่นไปเรื่อยๆ ตามคนนู้นคนนี้ โดนแซงบ้าง แซงคืนได้บ้าง จนไปถึงวัดพยาญาติ ได้นอนพักที่สนามหญ้าหน่อย กับมีก๋วยเตี๋ยวอร่อยๆ ไว้ให้บริการ ที่จุดนี้ผมมีปัญหาหน่อยคือ ตอนพัก ผมดันทำซองเงินกับบัตรตกไว้ที่จุดเช็ค พอกินก๋วยเตี๋ยวเสร็จ กะจะซดกาแฟเอาคาเฟอีนกับน้ำตาลหน่อย พอจะจ่ายเงิน อ้าว เงินไปไหน หาไม่เจอ เลยบอกว่า “ใครเอากาแฟเย็นแทนผมก่อนมั้ยครับ ผมหากระเป๋าตังค์ไม่เจอ” ลุงเจ้าของร้านก็บอก ไม่เป็นไร ไม่คิดเงิน พี่นักปั่นอีกคนก็บอกว่าจะออกเงินให้แทน สุดท้ายผมก็ได้ดื่มกาแฟฟรีๆ ขอบใจน้ำใจของทั้งสองท่านจริงๆ ครับ ยังดีที่พี่ผู้หญิงที่ปั่นเสือภูเขา Giant เก็บซองเงินผมได้ แล้วเอาไปฝากไว้ที่จุดเช็คพอยต์ ไม่งั้นผมลำบากล่ะครับ ขอบคุณทุกท่านครับ

ก่อนออกก็แวะเติมน้ำหน่อย จุดนี้มีน้ำดื่มผสมอุทัยทิพย์สุดชื่นใจให้บริการด้วย เลยยัดเต็มขวดเลย หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากปั่นออกจากเมืองไป เพื่อเลี้ยวเข้าถนนเลียบคลองเปรม แล้วตรงยาววววววว เลยครับ ระหว่างทางก็มีช่วงชุมชนบ้าง อย่างน้อยก็โล่งใจว่าพอมีที่พักล่ะ ตอนนั้นจะ 5 โมงเย็นแล้ว ก็กะว่าอยากจะเข้าก่อน 6 โมงเย็น เลยพยายามปั่น แต่เจอช่วงตัดกำลังคือถนนขรุขระขากลับนั่นล่ะครับ จริงๆ มันต้องมีแค่ขากลับ แต่เพราะผมหลง เลยได้ลิ้มรสสองรอบเลย แถมรอบนี้ มีคนใจดีครับ กลัวฝุ่นเยอะ เลยเอารถน้ำมาราดให้ (สงสัยเทศบาลนั่นล่ะ) จากถนนกรวด เลยกลายเป็นถนนโคลนพร้อมกรวดเลยครับ นี่มันถนน ปารีส-รูเบซ์ ชัดๆ (ในหัวตัวเอง) ทุกคนก็ลดความเร็ว แต่ด้วยความที่มีแคนเชลลาราเป็นฮีโร่ เลยปั่นออกไปเลยครับ ช่างหัวโคลนมัน ในสมองก็ “ข้าคือสปาร์ตาคัส ข้าไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น” วนไปมา กลายเป็นว่าช่วงถนนขรุขระช่วยให้ผมเร่งทำเวลาได้เยอะมาก แซงได้หลายคน (ก่อนจะมาโดนแซงคืนตอนเข้าทางเรียบ) จักรยานเฟรมอลูนี่มันสะเทือนดีจริงๆ ครับ สะใจแต่เล่นเอาปวดมือเลย

Audax 200 review-4
ที่เส้นชัยเมื่อปั่นเสร็จ กับแฟนเว็บ Ducking Tiger

 

ช่วงทางโลคอลขากลับก่อนถึงเส้นชัย นักปั่นเริ่มรวมตัวกันได้อีกที ก็ปั่นเรียงกันยาวๆ อีกรอบ ระหว่างทางก็มีคนมาทักว่าเป็นทีมงานของ Ducking Tiger เหรอ ก็ดีใจที่มีคนตามเว็บนะครับ ปลื้ม (แถมได้ถ่ายรูปร่วมกันอีกด้วย ถ้าได้อ่านตอนนี้ก็แสดงตัวด้วยก็ได้นะครับ) ขบวนก็ปั่นกันแบบมิตรภาพ ค่อยๆ เข้าเส้นชัยที่ TOT อีกครั้ง ซึ่งก็ไม่มีคนมาคอยเฮอะไรหรอกครับ แต่ละคนก็แค่ปั่นไปแล้วก็รับตราประทับให้ครบ แล้วส่งบัตรประทับตราไปเพื่อรับรองผล สั่งเหรียญได้ (ผมก็สั่งสิ) ซื้อเสื้อที่ระลึกได้ (ก็เสียเงินสิ) แล้วก็ค่อยมานั่งพักกันชิลๆ ผมเข้าตอน 6 โมง 20 โดยประมาณ ก็ถือว่าไม่เลวครับ ทำตามเป้าไม่ได้ แต่ก็คิดว่าดีกว่าที่คิดไว้เมื่อไปเจอสถานการณ์จริงๆ เพราะหลงทางด้วยจนระยะรวมเป็น 215 กิโลเมตร แถมหลายช่วงก็ไม่ได้เตรียมพร้อมให้ดี

audax nut
รถเคลือบโคลนหลังปั่นเสร็จ
Audax 200 review-3
ปั่นมาก็เพื่อสิ่งนี้ล่ะครับ ตราประทับครบทุกจุด
Audax 200 review-6
จบงานก็ใส่เจ้าตัวนี้ได้อย่างน่าภูมิใจล่ะ

จบงาน ถามว่ารู้สึกอย่างไร มันก็ปลื้มกว่าที่คิดไว้มากนะครับ แต่ก็ไม่ถึงขนาดดีใจน้ำตาไหล อาจจะเพราะช่วงท้ายมันเบาลงด้วย ถ้าก่อนเส้นชัยเป็นแบบช่วงผักไห่ล่ะก็คงมีน้ำตาครับ แต่มันเป็นความปลื้มที่เราเก็บลึกๆ มันไม่ได้มีการฉลองลำดับอะไร แต่เรารู้ตัวว่า เราชนะตัวเองได้แล้ว เอาชนะความกลัว เอาชนะความเหนื่อย เอาชนะความลำบาก เราผ่านสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อน เมื่อเทียบกับตัวผมเองเมื่อสามปีก่อนก่อนที่จะกลับมาปั่นจักรยาน ก็ถือว่ามาไกลมาก ผมเองยังไม่คิดว่าจะมาได้ขนาดนี้ จนรู้สึกว่าชัยชนะที่สำคัญที่สุด คือเอาชนะตัวเองคนเมื่อวานนี้นั่นเอง ว่าแล้วก็เก็บของกลับบ้าน แวะหาข้าวกิน กลับบ้านเปิดเบียร์ ฉลองให้กับตัวเองเงียบๆ

แล้ว… ก็เปิดดูรายละเอียดงานต่อไปรุ่น 300 กิโลเมตร…

ขอบคุณรูปประกอบสวยๆ จากช่างภาพเพจ Audax Randonneurs Thailand ครับ 

♦ ♦ ♦

By ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

นัท - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น ชอบปั่นจักรยาน ฟังเพลง อ่านหนังสือ และเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ มีผลงานหนังสือกับสำนักพิมพ์แซลมอนมา 3 เล่มแล้วจ้า

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *