รีวิว: Axman Aiolos SL3

จั่วหัวขึ้นชื่อ Axman มาแล้วอาจจะงงกันว่ามันคือจักรยานอะไร ยี่ห้อนี้เป็นใครมาจากไหน ทำไมไม่เคยได้ยิน? ไม่ต้องแปลกใจครับ ผมและพี่แมวทองก็งงเหมือนกันว่านี่มันรถอะไรเนี่ย จำได้ว่าปี 2015 ที่ผ่านมาตอนไปงาน Taiwan Bike Show เราเจอบูทแบรนด์นี้ซึ่งใหญ่มากๆ มาโชว์สินค้ากันแบบเต็มที่ นอกจากจะเป็นผู้ผลิตจักรยานแล้ว Axman ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยาน Storck และ Boardman ด้วย…ยังเห็นน้ามาร์คัส สตอร์กไปร่วมงานเปิดตัวดีลเลอร์อยู่เลย

ความสัมพันธ์เริ่มลึกลับซับซ้อน และยิ่งเป็นที่น่าสงสัย แอดมินเลยไปสืบเรื่องราวของบริษัทนี้มานิดนึงครับ ก่อนหน้าที่จะทำแบรนด์จักรยานของตัวเอง Axman เป็นโรงงานใหญ่ที่รับออกแบบ ประกอบ และผลิตจักรยานและคอมโพเนนท์ทั้งจากคาร์บอนไฟเบอร์และอลูมิเนียมมากมายหลายอย่างเป็นเวลาร่วมสามสิบปีแล้ว และเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพงาน ทั้งงานออกแบบจักรยานประสิทธิภาพสูงให้แบรนด์อื่นๆ รวมถึงจักรยานแบรนด์ของ Axman เองด้วยที่เพิ่งจะเริ่มทำตลาดมาไม่กี่ปีนี้

ล่าสุด Axman เป็นผู้สนับสนุนทีมชาติจักรยานถนนหญิงของไต้หวัน และมีผลงานมาหลายสนาม

Axman Typhoon boot-1
จากบูท Axman ในงาน Taiwan Cycle Show 2015

ถึงจะทำจักรยานประสิทธิภาพสูงมานานแล้วแต่จักรยานของ Axman เองก็ถือว่าเป็นแบรนด์ที่เพิ่งตั้งไข่ ยังไม่เป็นที่รู้จัก ยังขาดการตลาดและมาร์เก็ตติ้งระดับโลกแบบที่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่เราเห็นในโปรทัวร์ทำกัน

แต่คำโฆษณาไม่ได้การันตีว่ามันจะเป็นจักรยานที่ดี Axman รู้ดีว่าทางบริษัทยังขาดเรื่องการตลาด แต่เขาก็บอก DT อย่างชัดเจนว่า “รถเราไม่แพ้ใคร” 4 ปีก่อน (2012) Axman ผลิตเสือหมอบแบบ completed bike ในรหัส R22 ซึ่งเป็นต้นแบบของเฟรม Aiolos ที่เราจะรีวิวกันวันนี้ ทำน้ำหนักได้ 4.53kg โดยไม่ใช้อะไหล่คัสต้อมที่ไม่มีขายในตลาด ทำรถ Sub 5kg ได้ก่อนหลายแบรนด์ดังที่โฆษณารถไต่เขาน้ำหนักเบาไม่กีปีที่ผ่านมานี้เสียด้วยและผลงานชิ้นนี้ทำให้แบรนด์ได้รับรางวัล d&i awards จากคณะกรรมการงาน Taipei Cycle Show ด้วย

เราได้จักรยาน Axman มาเทสต์สองคัน คือ Axman Aiolos SL3 เฟรมไต่เขาน้ำหนักโคตรเบา และ Axman Typhoon S5 เสือหมอบแอโรลู่ลมตัวท็อปของแบรนด์ โพสต์นี้จะเป็น Aiolos ก่อนแล้วตอนหน้าเราจะมาดู Typhoon กันครับ

(หมายเหตุ: Aiolos SL3 เป็นรุ่นเดโม่ ซึ่งตัวที่ขายจริงจะเป็นรุ่น Sl5 — สติฟกว่า และน้ำหนักเบากว่า)

Axman Aiolos SL5 Studio-1

Design

ถึงจะเป็นเฟรมแนวไต่เขา แต่รูปลักษณ์ภายนอกของ Aiolos SL3 จะต่างไปจากรถไต่เขาร่วมสมัยที่เน้นทำรูปทรงท่อป้านๆ ขนาดใหญ่ ท่อ Aiolos จะออกแนวกลมมนเป็นส่วนมากไม่มีสันคมดูสบายตาดี น้ำหนักเฟรมไซส์ 48 อยู่ที่ 750g และตะเกียบหนักเพียง 250g เท่านั้น เฟรมมีให้เลือก 6 ไซส์ตั้งแต่ 45cm — 60cm

Axman Aiolos SL3-18

เฟรมเดินสายเบรคซ่อนในตัวถัง แต่สายเกียร์ใช้วิธีร้อยทะลุท่อคอหน้า ออกมาด้านนอกขนานไปกับท่อล่าง ถึงจะไม่ซ่อนสายแต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเข้าเกียร์ได้นุ่มนวลกว่า (ถ้าเป็นเกียร์จักรกล) เพราะเป็นการเดินสายแบบตรง ไม่มีการคดงอในเฟรม

สับจานหน้าเป็นแบบแคลมป์รัดมีข้อดีในการอ่อนตัวให้ปรับตั้งกับชุดใบจานแบบอสมมาตร ส่วนหลักอานใช้ขนาด 27.2mm

Axman Aiolos SL3-3

แน่นอนด้วยดีไซน์แบบนี้ ไม่ใช่เฟรมที่แคร์เรื่องแอร์โรไดนามิก แต่เน้นไปที่การบังคับควบคุม ความสติฟในการตอบสนองแรงกด และความสบายเป็นหลัก

เช่นเดียวกับจักรยาน Sarto ที่รีวิวไปก่อนหน้า แบรนด์โรงงานพวกนี้มักจะมีเทคโนโลยีและ know-how ต่างๆ ที่เป็นจุดแข็งของแบรนด์และช่วยเรื่องประสิทธิภาพด้วย Aiolos SL3/ Sl5 ซึ่งเป็นโมเดลเรือธงของ Axman ก็มีกระบวนการผลิตที่เหนือกว่าคู่แข่งหลายจุด

ระบบส่งกำลังแบบชิ้นเดียว

ห้องกระโหลกของเฟรม Aiolos จะไม่เหมือนยี่ห้ออื่นๆ ตรงที่ขึ้นรูปกระโหลก ท่อนั่ง และเชนสเตย์มาเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด เป็นดีไซน์ที่ Axman เชื่อว่าจะช่วยให้ส่งถ่ายกำลังในการปั่นได้ดีที่สุด

ซีทสเตย์แบบตัน

ท่อซีทสเตย์ของเฟรมคาร์บอนแทบทั้งหมดในตลาดเป็นแบบกลวง แต่ของ Aiolos เป็นท่อตัน ซึ่งเขาบอกว่าสติฟกว่าและช่วยเรื่องการยึดก้ามเบรคหลัง เวลากดบีบเบรคแล้วตัวก้ามเบรคยึดมั่นคงกว่าเดิมจากโครงสร้างแบบตัน

1:1 PVC Inner Mold Shaping

Ailos SL5 review

การผลิตเฟรมคาร์บอนส่วนใหญ่ หลังจากช่างเทคนิควางเรียงแผ่นคาร์บอนเสร็จแล้ว (layup schedule) เขาจะแทรกถุงลม (bladder) ไว้ด้านในแม่แบบระหว่างการอบ เมื่อแม่แบบได้รับความร้อนระหว่างอลบ ถุงลมจะขยายตัวจนคาร์บอนในแม่แบบด้านในขยายออกมารับกับแม่แบบด้านนอก ถึงกระบวนนี้จะเป็นวิธีการมาตรฐานในการผลิตเฟรมคาร์บอนไฟเบอร์แต่มีจุดอ่อนตรงที่เป็นการยากที่จะให้ถุงลมเป่งดันคาร์บอนด้วยแรงดันเท่าๆ กันทุกส่วน โดยเฉพาะจุดที่มีการโค้งเว้าของเฟรมเยอะ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดฟองอากาศภายในเฟรม หรือได้เฟรมที่มีโครงสร้างไม่สมูท หรือมีวัสดุส่วนเกินที่ไม่ต้องการ

Axman แก้ปัญหานี้ด้วยการขึ้นรูปเฟรมโดยใช้แม่พิมพ์ด้านนอกและในที่มีอัตราส่วนเท่ากัน และใช้วิธีดูดอากาศออกแทนการใช้ถุงลม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงดันไม่เท่ากันและได้เฟรมที่มีความหนาแน่นของชั้นคาร์บอนสูง ไม่มีฟองอากาศส่วนเกิน ได้เฟรมที่น้ำหนักเบา แต่ก็เป็นกระบวนการผลิตเฟรมที่ราคาสูงมาก จึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน จะมีก็แค่เฟรมไฮเอนด์ไม่กี่แบรนด์ที่ใช้วิธีนี้Axman Aiolos SL3-1

Review

Aiolos SL3 ที่เราทดสอบกันเป็นรุ่นทดลอง ซึ่งรุ่นที่ขายจริงคือ Aiolos SL5 ที่สเป็คสติฟกว่าและเบากว่า รถที่เราเทสต์ใช้ล้อ Zipp 303 และยาง Continental Sprinter ชุดเกียร์ Ultegra , ขาจาน Easton EC90 คาร์บอน, ชุดสเต็มแฮนด์และหลักอานของ Syntace และเบาะ Tune Speed Needle น้ำหนักทั้งคันรวมบันไดอยู่ที่ 6 กิโลต้นๆ

ฟิต 

Screen Shot 2559-03-25 at 1.25.40 PM

องศาเฟรม Aiolos ออกมาทางรถแข่งอย่างชัดเจน ดูจากตาราง geometry จะเห็นว่าเป็นเฟรมที่ท่อคอต่ำมาก องศาท่อคอชัน และมีช่วง reach ยาวใช้ได้ (เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมรถเทสต์เราใสแหวนรองคอเยอะจัง) อัตราส่วนระหว่าง stack:reach อยู่ที่ 1.265 ซึ่ง ก้มและเหยียดโหดกว่า Venge ViAS และ Trek Emonda H2 ที่อัตราส่วนจะเป็น 1:3 ขึ้นไป

เช่นนั้นแล้ว จะขี่รถคันนี้ให้ได้คุ้มประสิทธิภาพ ผู้ใช้ก็ควรจะเป็นคนที่มีความยืดหยุ่น ก้มได้ลึกระดับหนึ่ง ไม่งั้นแล้วถ้าต้องใช้แหวนรองคอสูงหลายๆ ชั้นก็ผิดจุดประสงค์การใช้งานครับ รองแหวนสูงก็เสียความสติฟด้านหน้ารถไปและการควบคุมก็จะไม่นิ่งมั่นคงมากด้วย

ท้ายสุดระยะฐานล้อ (wheelbase) จัดว่าสั้นกว่าเฟรมแข่งทั่วไป น่าจะถูกใจคนที่ชอบจักรยานที่คล่องตัว เข้าออกโค้งฉึบฉับทันใจดี

Axman Aiolos SL3-11

การตอบสนองแรง 5/5

ไม่รู้จะบรรยายอะไรได้มาก เพราะเป็นเฟรมที่สติฟไม่เป็นรองเฟรมไต่เขาตัวท็อปของค่ายอื่นเลย ประสิทธิภาพตรงนี้ชนเฟรมคู่แข่งที่ราคาสูงกว่าได้สบายมาก ท่อคอแน่นตึ้บ ห้องกระโหลกแน่น ถึงไซส์จะไม่ใหญ่มากแต่เป็นฟีลการตอบสนองแรงที่ว่องไว พุ่งติดเท้า ไม่มีจังหวะหน่วงเหมือนเสือหมอบแอโร สิ่งที่ชอบที่สุดคือการใช้งานเวลาขึ้นเนินชันหรือขึ้นเขาครับ เราลองเอา Aiolos ไปปีนขึ้นลานจอดรถตึกสูงหลายชั้น ตอบสนองแรงได้ไวทั้งจังหวะไล่ความเร็วและยกกระชากได้อรรถรสมาก

Axman Aiolos SL3-17
กระโหลกแน่น สติฟดีมากในขณะที่ยังรักษารูปลักษณ์ให้ไม่ใหญ่เทอะทะเหมือนเฟรมไต่เขาสมัยนี้

ความสบาย 4/5 

ความสบายเป็นอีกจุดที่ Aiolos ทำได้ดีระดับหนึ่ง ไม่ใช่รถที่สมูทนิ่มไปหมด จะมีอาการแข็งสะเทือนระดับหนึ่ง แต่เก็บฟีดแบ็คถนนชัดมากตามสไตล์รถแข่งที่เน้นความสติฟครับ ก็ไม่ถึงกับสั่นจนก้นระบม แต่ก็ไม่ได้นิ่มเหมือนพวกรถเอนดูรานซ์

การบังคับควบคุม 4.5/5

ส่วนเรื่อง handling หรือการบังคับควบคุม ก็มาพิมพ์เดียวกับเสือหมอบสไตล์รถแข่งคันอื่นๆ จุดศูนย์ถ่วงต่ำจากท่อคอเตี้ย บวกกับฐานล้อสั้นก็จะเป็นรถที่ให้ฟีลลงเขา เข้าโค้งแบบตอบสนองไวและเอาอยู่ ชี้รถไปทางไหนก็หันไปทางนั้นไม่ต้องบังคับขู่เข็นกันมาก ถ้าใครชอบฟีลลิ่ง handling แบบรถอิตาเลียนที่ให้ฟีลแน่นๆ นิ่งๆ อาจจะไม่ถูกใจนัก แต่สายซิ่งน่าจะถูกใจครับ

จุดเด่นที่ชัดมากอีกอย่างคือเบรคหลัง ที่ยึดอยู่กับซีทสเตย์ท่อตัน ทำให้ยึดก้ามเบรคได้มั่นคง ช่วยให้ก้ามเบรคทำงานได้เต็มที่โดยเฉพาะจังหวะที่เรารูดเบรคลงเขาหรือเนินชันๆ

Aiolos มีท่อคอที่ต่ำมากๆ ก่อนจะซื้อควรเช็ค geometry ดีๆ ครับ
Aiolos มีท่อคอที่ต่ำมากๆ ก่อนจะซื้อควรเช็ค geometry ดีๆ ครับ

ความสวยงาม

เฟรม SL3 ตัวนี้มากับสี black on black เฟรมเป็นสีดำด้านเปลือยคาร์บอน (ไม่ลงสีเซฟน้ำหนักเฟรมได้เป็นร้อยกรัม!) คาดกับตัวอักษรสีดำเงา โดยรวม Axman เก็บงานได้เนี้ยบดีครับทั้งด้านในและด้านนอกเฟรม เป็นเฟรมเรียบๆ ไม่มีดีไซน์สีสันหวือหวาอะไร

เฟรมไม่ได้ซ่อนสายเกียร์ซึ่งบางคนอาจจะไม่ชอบแต่การเดินสายแบบนี้ก็มีข้อดีคือดูแลง่ายและเปลี่ยนเกียร์ได้สมูทดี

Test Spec

Frameset: Axman Aiolos SL3
Groupset: Shimano Ultegra
Crank: Easton Carbon
Brake: Shimano Ultegra
Wheels: Zipp 303 Firecrest + Continental Srpinter
Cockpit: Syntace
Seatpost: Syntace
น้ำหนัก (รวมบันได): 6.5kg

 

ช่วงล่างของเฟรม Aiolos สติฟขนาดที่รู้สึกได้ว่าขาจานคาร์บอนของ Easton บิดระหว่างที่ยกสปรินต์!
ช่วงล่างของเฟรม Aiolos สติฟขนาดที่รู้สึกได้ว่าขาจานคาร์บอนของ Easton บิดระหว่างที่ยกสปรินต์!
ระยะฐานล้อสั้น ฟีลการคุมรถจะไวว่องๆ (nervous) นิดนึงสไตล์รถแข่ง
ระยะฐานล้อสั้น ฟีลการคุมรถจะไวว่องๆ (nervous) นิดนึงสไตล์รถแข่ง

 

สรุป

ถ้าว่ากันเรื่องประสิทธิภาพต่อราคาแล้ว Axman เป็นรถที่น่ากลัวมากแบรนด์หนึ่งในตลาดตอนนี้ครับ ด้วยความที่เป็นรถจากโรงงานผู้ผลิตเอง ออกแบบเอง บวกกับการที่บริษัททุ่มเงินไปกับการพัฒนาและวิจัยมากกว่าการโฆษณาก็ทำให้ได้จักรยานที่ประสิทธิภาพสูงจริงอย่างที่เขาโฆษณาไว้ในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งพอสมควร ว่ากันตรงๆ ถ้าอยากได้ประสิทธิภาพระดับนี้กับรถแบรนด์ใหญ่คุณอาจจะต้องจ่ายกว่าเกือบเท่าตัว

จุดเด่นคือช่วงล่างและช่วงหลังที่ตอบสนองแรงได้ทันใจ ถ่ายแรงได้ทุกเม็ดแบบหาเฟรมไหนเปรียบได้ยาก จะติดก็ตรงที่องศารถตั้งใจทำออกมาสำหรับนักแข่งโดยเฉพาะซึ่งผู้ที่สนใจก็ต้องยอมรับว่าจะขี่คันนี้ได้เต็มความสามารถก็ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงระดับหนึ่งครับ และเรื่องของการซับแรงกระเทือนที่ยังทำได้ไม่ 100% กับสีสันที่เรียบง่าย อาจจะไม่โดนใจทุกคน นอกจากเรื่องนี้แล้วก็แทบไม่มีอะไรให้ติครับ

โดยรวมแล้วเหมาะกับคนที่อยากจะได้จักรยานประสิทธิภาพดีมากๆ ในราคาที่สมเหตุสมผล

จุดแข็ง

  • สติฟ เบา ตอบสนองทันใจ
  • เทคโนโลยีการผลิตดีไม่แพ้แบรนด์ใหญ่
  • เก็บรายละเอียดงานได้เนี้ยบ
  • เฟรมเดินสายด้านนอก ดูแลรักษาง่าย (แต่อาจจะไม่สวยสำหรับบางคน)
  • ประสิทธิภาพต่อราคา คุ้มค่ามาก

 

จุดอ่อน

  • มีสีให้เลือกน้อย
  • ท่อคอต่ำมาก
  • ซับแรงสะเทือนได้ดีระดับหนึ่ง

 

9.5/10

ตัวแทนจำหน่าย: Savox Thailand
ราคา (frameset): 78,400 บาท
Website: http://www.asiasportsgear.com/
Facebook: Axman Thailand

* * *

SaveSaveSaveSave

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *