หลังจากที่รีวิว Axman ตัวท็อปสุดของแบรนด์ในสายไต่เขาไปแล้ว (Aiolos SL5 – อ่านทีนี่ครับ) ซึ่งเราค่อนข้างประทับใจในประสิทธิภาพมากๆ คราวนี้มาดูเฟรมฝั่งแอโร่ของ Axman บ้างกับ Typhoon S5 กับค่าตัวเฟรมเซ็ตราคา 61,000 บาท
เฟรม Aiolos ที่เรารีวิวไปครั้งก่อนต้องเรียกว่าเป็นโมเดล “เรือธง” ของแบรนด์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตเฟรมคาร์บอนไฟเบอร์ระดับสูงหลายๆ อย่างที่ไม่มีในเฟรมรุ่นรองๆ ลงมา คำถามของเราก็คือแล้วเจ้า Typhoon S5 มันจะปั่นนิ่มสบายและตอบสนองแรงกดดีเหมือน Aiolos มั้ย?
Design
มาดูเรื่องการออกแบบเฟรมกันก่อน ถึงจะเป็นเฟรมสไตล์แอโรไดนามิก แต่ Axman ไม่ได้อ้างอิงเรื่องผลการทดสอบในอุโมงค์ลมหรืออธิบายเรื่องการดีไซน์รูปทรงท่อว่ามันลดแรงต้านลมยังไงได้บ้าง…ตอนที่เคยคุยกับสตาฟ Axman ปีก่อน เขาบอกว่าจักรยานเราไม่เน้นการโฆษณาสาธยายคุณสมบัติอะไรมากนัก อยากให้ลองไปปั่นดูเองมากกว่า…
ไม่เป็นไร…ถึง Axman ไม่บอกเราก็พอจะจับทางได้อยู่บ้างครับ รูปทรงท่อล่างออกมาแนวแอโรร่วมสมัยอยู่เหมือนกัน เป็นทรงหยดน้ำหัวตัด หรือที่เรียกว่า Truncated Airfoil ที่จักรยานแอโรเจนใหม่แทบทุกแบรนด์ใช้กัน เพราะให้สมดุลระหว่างความสติฟ น้ำหนัก และการปะทะลมข้างได้ดีกว่าท่อทรงหยดน้ำเพียวๆ แบบสมัยก่อน
ตะเกียบหน้า เป็นทรงแบน แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ลดแรงปะทะลม เช่นหลักอาน (กลม) ซีทสเตย์ (กลม) และที่น่าสงสัยที่สุดคือท่อคอ (headtube) ที่ใหญ่และหนามาก!
ตามหลักการออกแบบหมอบแอโร ส่วนที่จะประหยัดแรงปะทะลมได้ดีที่สุดคือบริเวณท่อคอ เพราะเป็นส่วนแรกที่ลมปะทะจักรยาน ถ้าสังเกตเสือหมอบแอโรทุกยี่ห้อในตลาด คุณจะเห็นว่าท่อคอมันบางเรียวมาก อย่างน้อยก็ไม่กว้างไปกว่าท่อล่างและท่อบอน แต่สำหรับเจ้า Typhoon S5 นี่ ท่อคออวบกว่าท่ออื่นๆ แบบนี้…
เมื่อเห็นแนวคิดการออกแบบเฟรมเช่นนี้แล้วก็เดาเอาว่า Axman คงไม่ได้เน้นเรื่องความลู่ลม 100% ในโจทย์การออกแบบ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าทำให้ท่อทุกส่วนเป็นทรงแอโรไปหมด เฟรมก็จะตอบสนองแรงได้ไม่ดีเท่าไรนักเมื่อเทียบกับรถที่ออกแบบมาสาย เบา/พุ่ง อย่าง Aiolos
คือมันก็สติฟนั่นหละครับ แต่อาจจะเสียแรงไปบ้าง ก็คาดว่า Axman คงยังอยากให้จุดที่รับแรงกดและส่งพลังนั้นตอบสนองแรงปั่นของเจ้าของรถได้ดีที่สุด เป็น compromise ที่เจ้าของน่าจะพอรับได้แลกกับท่อคอและกระโหลกขนาดหนาปึ้ก
เฟรมเดินสายซ่อนภายในตัวถัง แต่เบรคใช้แบบมาตรฐาน ยึดด้านหน้าตะเกียบและด้านหลังซีทสเตย์
ในส่วนของน้ำหนัก ต้องบอกว่าทำได้ดีเทียบเท่าเฟรมแอโรตัวท็อปในตลาด เพราะเฟรมหนักเพียง 990g (size 54cm) เท่านั้น และตะเกียบที่มาด้วยหนัก 360g เฟรมที่เราทดสอบไซส์ 52cm และลงสีแล้ว ลองชั่งแบบยังไม่ตัดซาง รวมน้ำหนักเฟรมและตะเกียบออกมาที่ 1,405g
Review
Typhoon S5 ที่เราทดสอบเป็นเฟรมเดโม่ แต่ประกอบใส่สเป็คมาดีพอสมควรครับ ชุดแต่ง แฮนด์ สเต็ม หลักอานเป็น Syntace คาร์บอน ล้อ Zipp 303 Firecrest ยาง Continental Sprinter และชุดขับเคลื่อน Shimano Ultegra Di2
ฟิต
ก่อนจะรีวิวเรามาดูเรื่องฟิตกันก่อนกับ geometry องศาและมิติต่างๆ ของเฟรมตัวนี้ ไซส์ที่มีให้เลือกมีน้อยสักหน่อย จาก 52-57cm แต่คาดว่าน่าจะตอบโจทย์การใช้งานของคนไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดครับ
ถึงไซส์จะเริ่มที่ 52cm แต่ระยะ stack/ reach นั้นไม่ได้สูงมาก ความยาวท่อนอนไซส์ 52cm นั้่นอยู่ที่ 52.5 cm ใกล้เคียงกับรถไซส์ XS ส่วนใหญ่ในตลาด คนที่สูงราวๆ 160-165cm น่าจะปั่นได้ไม่ยาก
พอมาดูระยะ stack กับ reach แล้วปรากฏว่า Typhoon S5 ไซส์ 52cm นั้นมี stack กับ reach เกือบจะเท่ากับ Aiolos SL5 ไซส์ 45cm! นั่นก็เพราะเฟรม Aiolos มันเป็นรถแข่งแบบ pure breed ของจริงที่ท่อคอต่ำมากและท่อนอนก็ยาวกว่าเสือหมอบทั่วไป
รวมๆ แล้ว Typhoon S5 เซ็ตให้ปั่นได้ไม่ยาก ไม่ก้มจนเกินไปและก็ไม่ยืดจนเกินไป อัตราส่วน Stack:Reach ออกมาที่ 1.29 ซึ่งก็ถือว่าเป็นมาตรฐานของเสือหมอบสายแข่งขันครับ ไม่ได้ก้มโหดมากแต่ก็ท่อคอไม่ได้สูงเป็นแนวเสือหมอบเอนดูรานซ์แน่นอน
การตอบสนองแรง 4/5
พอปั่นเฟรม Aiolos มาก่อนซึ่งเป็นเฟรมที่เน้นความพุ่งเป็นหลัก ก็ต้องลดความคาดหวังลงสักหน่อยสำหรับเฟรม Typhoon S5 เพราะด้วยน้ำหนักตัวที่มากกว่าร่วมร้อยกว่ากรัมและการออกแบบเฟรมสไตล์แอโร การตอบสนองแรงคงไม่ดีเท่า Aiolos อยู่แล้ว
เอาจริงๆ แล้วก็ไม่ผิดหวังครับ เราได้ลอง Typhoon S5 หลายรูปแบบ ทั้งทำความเร็วสูงบนทางราบ ปั่นสไตล์แช่ความเร็วแบบ Time Trial ปั่นขึ้นเนินเขาสั้นๆ ชันๆ รวมถึงปั่นขึ้นลานจอดรถบนตึกสูงเป็นสิบชั้น ก็เป็นไปตามคาดคือไม่ได้พุ่งเว่อร์แบบ Aiolos แต่บริเวณกระโหลกนั้นให้ฟีลแน่นตึ้บ ไม่เสียแรงเลย
เฟรมมีคารแรคเตอร์การถ่ายทอดแรงคล้ายๆ กับเฟรมแอโรรุ่นใหม่ในตลาด เรารู้สึกได้ถึงการให้ตัวเล็กน้อยบริเวณท่อล่าง ซึ่งเป็นธรรมดาของหมอบทรงแอโรครับ มันจะเป็นฟีลหน่วงเล็กๆ ที่ไม่รู้สึกตอบสนองแรงกดได้ “ทันทีทันใด” เหมือนเฟรมสายไต่เขา อันนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่จุดอ่อนซะทีเดียว เป็นธรรมชาติของรูปทรงเฟรมเสียมากกว่า เฟรมแอโรที่ดีถึงจะมีจุดหน่วงนิดๆ ตรงนี้แต่ห้องกระโหลกมักจะสติฟมากจนคุณไม่รู้สึกเสียแรงถีบบันได้หรือเสียเปรียบ พอปั่นจนชินแล้วก็จะไม่รู้สึกอะไรแล้วครับ
แต่จุดเด่นคงเป็นท่อคอที่แน่นปึ้กจริงๆ ก็พี่เล่นจัดท่อคอมาซะอวบขนาดนี้ถ้ามันย้วยคงน่าอาย ความตึ้บของท่อคอ ทั้งจังหวะยกสปรินต์ จังหวะการซิ่งลงเนินสาดโค้งทำได้น่าประทับใจและสร้างความมั่นใจในการทำความเร็วดีมากครับ จะเสียก็ตรงที่มันดูใหญ่ไปนิดนึง ดูไม่เข้ากับท่อแอโรส่วนอื่นๆ ของเฟรมเท่าไร แต่ก็เป็นแค่เรื่องหน้าตา ไม่ใช่เรื่องประสิทธิภาพ
เรื่องความไหลเราคงฟันธงอะไรไม่ได้เพราะไม่ได้มีอุโมงค์ลม ครั้นจะเทสต์ outdoor ก็หาความแม่นยำได้ยาก แต่ถ้าพูดกันตามฟีล ผมว่าคันนี้ก็ให้อารมณ์ไหลได้ดีเหมือนหมอบแอโรรุ่นใหม่ๆ ครับ แช่ความเร็วไหลดีกว่า Aiolos เล็กน้อย แต่ก็ยังพุ่งกระชากได้ทันใจเมื่อต้องการ
ความสบาย 4/5
ความสบายไม่ใช่จุดเด่นของ Typhoon S5 แต่ก็ไม่ใช่จุดอ่อนเหมือนกัน เรียกว่ากลางๆ ดีกว่า ด้วยหลักอาน 27.2mm กับซีทสเตย์แบบกลมเล็ก ช่วงหลังเฟรมลดความสะท้านของพื้นถนนได้ดีระดับหนึ่ง แต่บริเวณหน้ารถมีความกระด้างพอสมควร ซึ่งตรงนี้ถ้าใช้แฮนด์คาร์บอนและยางกว้าง 24-25mm ก็ช่วยเบามือไปได้เยอะครับ
องศารถที่ไม่ได้ก้มต่ำมากทำให้ปั่นในท่าจับดรอปได้นานไม่เมื่อยล้าสักเท่าไร
การบังคับควบคุม 4.5/5
Handling ใกล้เคียงกับรถแข่งทั่วๆ ไป มีความนิ่ง มั่นคง ช่วงหน้าของตัวรถก็มีความกระปรี้กระเปร่าไม่ดื้อโค้ง เข้าโค้งได้ว่องไวดี บาลานซ์จะอยู่ตรงกลางๆ ครับ ไม่ twitchy หน้าไว แต่ก็ไม่แน่นตึ้บในแบบรถอิตาเลียน ฟีลคล้ายๆ กับเฟรม Aiolos ครับ คนที่เพิ่งปั่นเฟรมนี้น่าจะคุ้นชินมือได้ไม่ยาก
ความสวยงาม
เช่นเดียวกับ Aiolos เฟรม Typhoon S5 ก็มาแบบเรียบๆ ครับ สีดำด้าน แต่ลวดลายเป็นสีดำหรือเทากลอส คาดกับสีแดงบริเวณโลโก้ท่อคอ ดูไกลๆ อาจจะไม่รู้ว่านี่คือเฟรมอะไร แต่ว่าเก็บรายละเอียดงานได้ดี สีเนี้ยบ ไม่มีอะไรให้ติครับ ส่วนจะชอบหรือไม่ชอบลวดลายหน้าตามันก็แล้วแต่รสนิยมดีกว่า
Frameset: Axman Typhoon S5
Groupset: Shimano Ultegra Di2
Crank: Rotor 3D+
Wheels: Zipp 303 Firecrest + Continental Sprinter
Cockpit: Syntace
Seatpost: Syntace
สรุป
โดยรวมแล้วเป็นเฟรมที่ชอบครับ Axman ยังคงจุดแข็งเรื่องราคา/ประสิทธิภาพได้ดีมากๆ ด้วยความที่เป็นรถจากโรงงานของตัวเอง เอาจริงๆ แล้วเสือหมอบ “แอโร” ที่น้ำหนักเฟรมแค่ 990g ในตลาดนี่มันจะมีแต่ตัวท็อปราคา 90k ปลายๆ หรือแตะแสนขึ้นไปทั้งนั้น
ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำหนักที่ทำได้ดี เรื่องประสิทธิภาพต่างๆ ทั้งการตอบสนองแรง การบังคับควบคุมและการซับแรงสะเทือนก็ทำได้ดีอยู่ในระดับเดียวกับเฟรมแอโรตัวท็อปอื่นๆ ที่เราเคยเทสต์กัน ในเรื่องประสิทธิภาพการใช้งาน มีข้อติน้อยมาก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Axman ไม่สามารถเคลมว่าเป็นหมอบแอโรได้เต็มตัวนัก เพราะเมื่อเทียบกับแบรนด์ระดับโลกที่มีการทุ่มทุนวิจัยเรื่องความลู่ลม จากการทดสอบในอุโมงค์ลมหรือส่งไปให้นิตยสารต่างๆ ทดสอบความลู่ลมเองอย่างเป็นกลาง Axman ก็ยังขาดข้อมูลตัวนี้มาเป็นตัวเลือกในการเปรียบเทียบให้ผู้ซื้ออยู่ ซึ่งตรงนี้แต่ละคนจะให้ความสำคัญแค่ไหนก็แล้วแต่จะคิดกันนะครับ
ผมมองว่า Typhoon S5 ไม่ใช่หมอบแอโรซะทีเดียว แต่เป็นเสือหมอบแข่งขัน “รอบด้าน” เสียมากกว่า จะเรียกว่า “กึ่งแอโร” ก็ได้มั้ง เพราะมีแค่ท่อล่าง (downtube) ที่ทำมาให้ลู่ลม มันยังขาดฟีเจอร์ความแอโรหลายๆอย่างในเสือหมอบแอโรแบบเต็มตัวของค่ายอื่น รูปทรงท่อต่างๆ ที่ออกแบบมาก็ดูจะตอบโจทย์ประสิทธิภาพด้านอื่นมากกว่าความลู่ลม แต่ผลที่ได้ก็คือเป็นจักรยานที่ดูแลง่าย เซ็ตอัปง่าย ไม่งอแงหรือไม่ต้องวุ่นวายกับอุปกรณ์เฉพาะทางอย่างเบรค center pull ซ่อนหลังตะเกียบ ที่ว่ากันตรงๆ ก็ยังเบรคได้ไม่ดีเท่าก้ามเบรคธรรมดาๆ ของ Shimano, Campy, Sram, EE ครับ
ความรอบด้านตรงนี้ก็รวมไปถึงเรื่องของราคาด้วย ราคาที่ไม่ได้สูงจนล้มแล้วพังแล้วไม่กล้าซื้อใหม่ทำให้มันเป็นเฟรมที่ประสิทธิภาพดีแต่ใช้งาน เอาไปแข่ง เอาไปลุยได้โดยไม่ต้องกังวลอะไรมากมายครับ
จุดแข็ง
- น้ำหนักดีมากสำหรับเฟรมสายแอโร
- ตอบสนองแรงดี กระโหลกสติฟ ท่อคอแน่น
- ดูแลรักษาง่าย ใช้อะไหล่มาตรฐาน
- ประสิทธิภาพต่อราคา
จุดอ่อน
- มีสีให้เลือกน้อย
- ยังซับแรงสะเทือนได้ไม่ดีนัก ช่วงหน้ารถสะท้านมือบ้าง
9/10
ตัวแทนจำหน่าย: Savox Thailand
ราคา (frameset): 61,000 บาท
Website: http://www.asiasportsgear.com/
Facebook: Axman Thailand
* * *