แวะชม Bangkok Bank Cyclefest 2018 งานจักรยานดีๆ ที่ไม่ควรพลาด

“จารย์ก๊อง เสาร์อาทิตย์นี้มีโปรแกรมไปไหนมั้ยครับ?”

เรื่องทั้งหมดก็เริ่มจากตรงนี้ครับ หลังจากได้ข้อความจากหัวเรือใหญ่ของ DT ผมก็ได้เคลียร์วันอาทิตย์สำหรับไป สยาม คันทรี่ คลับ พัทยา เพื่อไปงาน Bangkok Bank CycleFest ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่สองแล้ว

งานนี้เป็นการร่วมกันระหว่าง IMG และ ธนาคารกรุงเทพที่จัดงานจักรยานอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา ให้ทุกๆคนเข้าร่วมได้ ภายใต้แนวคิด “Ride for All” เป็นงานจักรยานที่ เปิดให้คนรักจักรยานทุกรุ่นทุกวัย ทั้งชาย หญิง เด็กเล็ก และคนสูงอายุ ได้มีโอกาสมาปั่นร่วมกัน ทั้งในเชิงแข่งขันและสนุกสนาน ในพื้นที่ๆ ปลอดภัย สะดวกสบายกในบรรยากาศสนุกสนานแบบ fun weekend

คำว่า Ride For All นี้ไม่ใช่แค่รองรับนักปั่นทุกรูปแบบ แต่สนามที่เปิดให้ลงกันนั้นก็หลากหลาย ทั้งจักรยานเสือภูเขา เสือหมอบ และไทม์ไทรอัล ไม่บ่อยที่เราจะได้เห็นงานเดียวที่เปิดให้จักรยานหลากหลายประเภทได้แข่งขันกันในอีเวนท์เดียวแบบนี้

ผมว่างานนี้ที่จัดในลักษณะลูป แบบเริ่มและจบในสถานที่เดียวกัน (Siam Country Club พัทยา) มีความน่าสนใจและสะดวกกับผู้มาร่วมไม่น้อยครับ แต่กลับเป็นรูปแบบที่คนจัดงานปั่นไม่ค่อยจะจัดกัน โพสต์นี้เราเลยอยากไปคุยกับทั้งนักปั่น แขกรับเชิญอย่างคุณแอนดี้ ชเล็ค อดีตแชมป์ Tour de France และผู้จัดงานว่าสนามแข่งแบบลูปนี้มันมีข้อดีตรงไหนบ้าง และบรรยากาศงานวันนี้จะเป็นยังไงบ้าง สำหรับคนที่อาจจะสนใจ แต่ยังไม่ได้มาร่วม หรืออยากจะมาในครั้งต่อๆ ไปครับ

 

เดินชมรอบงาน Bangkok Bank CycleFest

ช่วงเช้าหลังจากผมถึงที่งาน ไปลงทะเบียนสื่อเรียบร้อยก็ทันเวลากับการปล่อยตัวรุ่น Sprint พอดี ในการปล่อยตัวแต่ละรุ่น จะมีการบรีฟรายละเอียดก่อนปล่อยตัว ซึ่งคุณชิน จาก Nich Cycling จะเป็นผู้รับหน้าที่ตรงส่วนนี้ หลังจากปล่อยตัวไปผมจึงได้ไปเดินเล่นในงาน ซึ่งก็ดูคึกคักตามสไตล์งานจักรยานที่ทุกคนดูมีความสุขกับการได้ปั่นจักรยาน ได้มากับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว

งานในวันอาทิตย์มีทั้งหมด 4 รุ่น คือ Sprint, Off-road, Fun Ride, และ Team TT แต่การมางานในวันนี้หลักๆจริงแล้วคือ เราจะมาคุยกับคุณแอนดี้ ชเล็ค แขกรับเชิญพิเศษของงาน ที่เรารู้จักกันในฐานะอดีตแชมป์ Tour de France และ คุณ Greg แม่งานจากทาง IMG กันครับ แต่ก่อนจะไปคุยถามเรื่องมุมมองต่อวงการจักรยาน เราก็แว้บไปเก็บบรรยากาศและพูดคุยกับผู้ร่วมงานกันก่อน

เท่าที่เดินเซอร์เวย์ดูรอบงาน งานมีการแบ่งเป็นสัดส่วนที่เป็นระเบียบ มีพื้นที่ส่วนกลางที่เรียกว่า Village จะประกอบไปด้วย ร้านค้าต่างๆ ร้านอาหาร chill zone ที่เป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้พักผ่อน ระหว่างรอแข่งหรือแข่งเสร็จแล้วมานั่งพัก มี stretch zone ที่มีบริการยืดกล้ามเนื้อหลังจากแข่งเสร็จ และส่วนของ VIP Lounge ที่มีอาหารเครื่องดื่มบริการตลอดสำหรับคนที่ลงทะเบียนสมัครแบบ VIP เอาไว้

พื้นที่ส่วน Village ให้นักปั่นมาใช้เวลาระหว่างรอหรือหลังแข่งรุ่นแรกที่แข่งจบสำหรับวันอาทิตย์คือ Sprint ซึ่งหลังจากแข่งจบเราก็มีโอกาสได้พูดคุยกับสองสาวนักปั่นจากทีม BG Cycling นั่นคือ คุณกิ๊ฟท์และมิ้ม ถึงความรู้สึกกับการเข้าร่วมรายการนี้ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ซึ่งทั้งสองคนบอกว่างานจัดได้น่าพอใจ แต่บางส่วนของเส้นทางอาจต้องมีการปรับปรุง อย่างตรงจุดกลับตัวมีความแคบมากเกินไป จริงๆ น่าจะให้นักปั่นที่ค่อนข้างจริงจังกับผลการแข่งขันได้ลองทดสอบสนามก่อนการแข่งจริง แต่ทั้งสองมีความคิดในเรื่องการจัดงานแบบเป็นลูปแตกต่างกัน

คุณกิ๊ฟและคุณมิ้มจากทีม BG แชมป์ประเภทหญิงปีนี้!

กิ๊ฟท์ให้ความเห็นว่า ชอบเส้นทางแบบ A ไป B มากกว่า ถนัดกับการแข่งขันแบบนั้นมากกว่า ส่วนมิ้มนั้นแตกต่างกัน เพราะชอบการแข่งขันแบบลูปมากกว่า ทั้งสองคนออกความเห็นว่าอยู่ที่การฝึกซ้อมและความถนัดของแต่ละคนด้วย แต่การแข่งแบบลูปนี้สามารถคำนวณการใช้แรงและเข้าใจสนามได้มากกว่า เพราะหลังจากผ่านรอบแรกไปแล้วก็เข้าใจสนามได้แล้วว่า จุดไหนจะสามารถทำอะไรได้บ้าง และ จะเดินเกมได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในครั้งนี้ กิ๊ฟท์ก็ได้แชมป์ และมิ้มก็ได้อันดับสองของรุ่น Sprint รวมถึงรุ่น Classic ที่แข่งไปก่อนในวันเสาร์ด้วยผลงานเดียวกันคือจบ 1–2 ทั้งคู่

 

คุยกับแชมป์ Tour de France

ไม่บ่อยที่เราจะได้คุยกับแชมป์ Tour de France อย่างแอนดี้ ชเล็ค ก่อนหน้านี้เราได้คุยสอบถามความรู้สึกนักแข่งไปแล้ว ลองมาดูมุมมองของอดีตนักปั่นจักรยานระดับโลกต่อบรรยากาศแวดวงจักรยานในไทยกันบ้างครับ

DT: สวัสดีครับแอนดี้ บรรยากาศงานวันนี้เป็นยังไงบ้างครับ? 
Andy: ผมว่างานครั้งนี้เป็นงานที่จัดได้ดี ทุกอย่างได้ถูกจัดอย่างเป็นระเบียบ จากการที่ผมไปงานมาหลายๆประเทศ ผมยืนยันได้ว่างานนี้คืออยู่ในระดับเฟิร์สคลาส ทั้งองค์ประกอบต่างๆ ภายในงาน การจัดวางพื้นที่ รวมถึงเส้นทางปั่นด้วย แต่งานก็ยังสามารถพัฒนาไปได้อีก อย่างที่คุณเห็นว่าอย่างสุดสัปดาห์ที่สกายเลน มีคนไปปั่นเยอะกว่าที่มางานที่นี่ ซึ่งก็ต้องพยายามดึงคนมางานที่นี่ให้มากขึ้นนะ

DT: แล้วทำไมถึงคุณตอบรับที่จะมางานในปีนี้ครับ
Andy: ที่จริงแล้วทางงานติดต่อผมมาตั้งแต่ปีที่แล้วครับ แต่ว่าด้วยแพลนและตารางงานต่างๆ ทำให้ผมไม่สามารถมาได้ ครั้งนี้ผู้จัดได้ติดต่อมาอีกครั้งผมจึงตัดสินใจมา เพราะจากที่ผมเคยมาประเทศไทยครั้งก่อน ผมประทับใจสถานที่และผู้คนที่นี่ที่ให้การต้อนรับผม และผมรู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมกับงานครั้งนี้ครับ

DT: แล้วคุณเคยเจองานจักรยานที่จัดแบบนี้ในประเทศอื่นไหมครับ ที่คุณเคยเจอหรือมีส่วนร่วมมาในยุโรปหรือในลักเซมเบิร์ก แล้วคิดว่างานนี้ จะพัฒนาไปได้ยังไงอีกครับ?
Andy: เคยครับ ในยุโรปก็มีหลายงาน หรือในลักเซมเบิร์กก็มีงาน Schleck Gran Fondo แต่ทั้งหมดกจะเป็นงานวันเดียว แต่จะเป็นงานแข่งที่จริงจังมากกว่า แต่ก็จะมีแบ่งประเภทลงไป

ส่วนการพัฒนาก็อย่างที่ผมบอกไปว่างานนี้ค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะปรับเรื่องเส้นทางให้เดินทางเดียวเพื่อเสริมเรื่องความปลอดภัย และก็อาจจะมีประเภทสำหรับเด็กเพิ่มขึ้นมา อย่างรายการสำหรับเด็กเล็กที่ให้แข่งหรือขี่กับเด็กด้วยกันเอง ซึ่งผมว่ามันจะทำให้เป็นการพัฒนาไปอีกขั้น

DT: หมายความว่าให้พัฒนาจากเด็กขึ้นมาเลย เพื่อเสริมสร้างความสนใจในกีฬาจักรยานตั้งแต่ยังเด็ก
Andy: ถูกต้องครับ เพราะเด็กเป็นก้าวแรก ถ้าเราสามารถชักจูงให้เขาเข้าสู่กีฬานี้ได้ตั้งแต่ยังเด็ก ให้เค้าคุ้นเคยกับกีฬาซึ่งมันจะพัฒนาให้เค้าก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาได้ ถ้าคุณลองดูจากรุ่นอายุ 30–40 ก็ไม่แข่งในรายการแข่งขันแล้ว ซึ่งถ้าคุณลองให้เด็กแข่งตั้งแต่แรกมันจะพัฒนาทั้งหมดไปด้วยกัน เหมือนอย่างกีฬาอื่นๆ อย่างเช่นฟุตบอลก็เริ่มกันตั้งแต่เด็กๆ อย่างในยุโรปเราก็มีรายการสำหรับเด็กเต็มไปหมด

รายการ Bangkok Bank Cycle Fest ปีนี้เปิดโอกาสให้นักปั่นเด็กๆ ได้ลงสนามด้วย

DT: แสดงว่าในยุโรปนี่เริ่มแข่งกันตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ระดับที่เริ่มมีรายการสำหรับลงแข่งนี่ประมาณอายุเท่าไหร่ครับ
Andy: รายการแข่งจะเริ่มราวๆ 10–12 ปีครับ แต่ว่าก่อนนั้นก็มีรายการที่ไม่ได้แข่งเป็นทางการ อย่างในลักเซมเบิร์กมีโรงเรียนสอนขี่จักรยานกันตั้งแต่ 3 ขวบครับ สอนการควบคุมต่างๆ หรืออย่างในประเทศจีนก็มีการแข่ง balance bike สำหรับเด็ก ซึ่งมันก็เป็นการส่งเสริมแบบหนึ่งครับ

DT: ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเบื้องต้นที่จะมาพัฒนาความสามารถในการขี่จักรยานได้
Andy: ใช่ครับ อย่างเวลาที่ผมขี่เป็นกลุ่ม จะเห็นได้ว่าหลายๆคนมีความสามารถไม่เท่ากัน หลายๆคนความสามารถจะต่ำกว่าทั้งๆที่ร่างกายดีมากๆ นั่นคือเพราะคุณเริ่มขี่ช้า เพราะเรื่องการควบคุมรถ การเข้าโค้ง ทักษะต่างๆจะพัฒนาขึ้นมาได้จากตั้งแต่ตอนคุณยังเด็ก

DT: แล้วอย่างรายการนี้คุณคิดว่าถ้าเพิ่มรุ่นสำหรับเด็กขึ้นมา ต้องปรับเปลี่ยนอะไรไหม เส้นทางจะยากเกินไปไหมครับ
Andy: ผมว่าอาจจะต้องปรับนิดหน่อย เส้นทางไม่ยากเกินไป แค่อาจจะต้องลองปรับระยะทางให้สั้นให้เหมาะสมกับวัยของเค้าแค่นั้นครับ

DT: แล้วโดยภาพรวมของงานละครับ เมื่อวานเห็นคุณแอนดี้ได้ลองปั่นด้วยแล้ว 
Andy: งานดีมากๆแล้วครับ ผมได้ลองเส้นทาง off-road ด้วยเมื่อวันศุกร์ ซึ่งดีมากๆที่มีรุ่นนี้ขึ้นมาด้วย เส้นทางก็ไม่ยากเกินไป ซึ่งทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ ไม่ได้มีเส้นทางลงเขายากๆ เป็นเส้นทางน่าสนใจมากๆ ไม่ได้จำกัดแค่ต้องใช้เสือภูเขา คุณใช้ gravel bike หรือ cross bike ก็ไปในเส้นทางนี้ได้

เส้นทาง off-road ในงานปีนี้

DT: แปลว่าดีแล้วที่มีรุ่นนี้เพิ่มขึ้นมาใช่ไหมครับ เส้นทางและองค์ประกอบ
Andy: ใช่ครับ และผู้จัดควรเก็บรุ่นนี้เอาไว้นะ อย่างที่คุณน่าจะรู้ว่าตอนนี้การแข่ง gravel ในอเมริกา หรือ cx กับ mtb ในยุโรป ซึ่งถ้าคุณจะพัฒนากีฬานี้ก็ต้องให้มีครบทุกประเภทเอาไว้ครับ อย่างบ่ายวันนี้ก็มี Team TimeTrial ซึ่งน่าสนใจมากๆผมรอดูอยู่ พวกเค้าน่าจะไปกันเร็วมากๆกับเส้นทางนี้

DT: ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนที่คุณแข่งคุณค่อนข้างถนัดกับรายการ team time trial
Andy: ใช่ ผมชอบรายการ Team Time Trial นะ มันเป็นประเภทแข่งขันนึงที่ผมชอบในการแข่งจักรยาน มันต่างจากการแข่งทุกอย่างแบบสิ้นเชิง ไม่มีการสปรินท์ ไม่ได้ไต่เขา แต่ยากที่สุดในการแข่งขันจักรยาน

มันไม่ใช่แค่คุณคนเดียวแต่มันเป็นทั้งทีม ถ้าคุณแข็งแรงที่สุดคุณก็ต้องดูแลคนที่อ่อนที่สุดในทีมด้วย ถ้าคุณเป็นคนที่อ่อนที่สุดคุณก็ต้องถูกดูแลจากทั้งทีม ซึ่งทีมที่ชนะส่วนใหญ่แล้วจะรวมทั้งทีมไปด้วยกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งมันยากมากๆ คุณรู้ไหมว่ารายการในวันนี้ทีมนึงมีกี่คน?

DT: ทีมละ 5 ครับ
Andy: โอเค ทีมละ 5 คน กุญแจสำคัญคือ ไม่ใช่ว่าคุณไปได้เร็วที่สุดนะ แต่มันคือการที่คุณไปได้นานที่สุด ไม่ใช่การไปเดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า แต่ต้องคงความเร็วไปคงที่ให้นานๆ ต้องไปเหมือนขบวนรถไฟ ซึ่งมันน่าสนใจเพราะวันนี้มันมีเส้นทางขึ้นและลงเขา เส้นทางของวันนี้คนที่แข็งแรงที่สุดต้องพยายามควบคุมจังหวะให้มากที่สุด คนที่อ่อนที่สุดต้องพยายามไปกับทีมให้นานที่สุด ยังไงแล้วคุณก็ต้องวนช่วยกัน แต่ระยะเวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน

การแข่งประเภททีมไทม์ไทรอัล หรือจับเวลาแบบทีม เป็นรุ่นที่มีนักปั่นสนใจลงแข่งกันอย่างคับคั่ง เพราะเป็นการแข่งที่ทดสอบความสามัคคีของทีมอย่างแท้จริง

DT: แบบนี้ทีมไหนที่มากับ power meter จะได้เปรียบคนอื่นไหมในการแข่งประเภทนี้
Andy: แน่นอนมันช่วย เพราะคุณสามารถควบคุมได้อย่างแน่นอน อย่างรายการนี้ถ้าทางราบคุณใช้แรง 350 วัตต์ ขึ้นทางเนิน คุณใช้ 350 วัตต์ ปลายเส้นคุณใช้ 350 วัตต์ คุณชนะแล้ว ถ้าอีกทีมใช้ 350–500–150 นั่นคือสิ่งที่ power meter ช่วยคุณให้คงกำลังไว้ได้ ไม่ใช่ควบคุมทั้งหมดด้วยความเร็ว แต่ควบคุมด้วยพลังงานที่ใช้

DT: แต่ในตอนนี้มีข่าวที่มีกระแสเรียกร้องให้แบน power meter ในรายการแข่งขัน UCI คุณมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง?
Andy: ถ้าให้ผมพูด power meter มันควบคุมร่างกายคุณ ถ้าคุณทำตามมันได้ทุกอย่างก็จบ แต่การแข่งขันจักรยานมันน่าสนใจกว่านั้นตรงที่มันเป็นกีฬาที่คุณต้องตอบสนองทุกอย่างอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนความคิดต่อการแข่งทันที ซึ่ง power meter มันดึงส่วนนั้นออกไปจากการแข่งขันจักรยาน

ซึ่งผมคิดว่ามันดีนะถ้าแบนจากการแข่งขัน แค่การแข่งขันนะ เพื่อให้นักแข่งได้ฟังร่างกายมากขึ้น ใช้ความคิด ความรู้สึกมากขึ้น มันจะเป็นความท้าทายใหม่ๆในกีฬานี้อีกครั้ง ไม่ใช่ว่าตาม power meter หรือตามโค้ช ด้วยสัตย์จริงผมค่อนข้างเห็นด้วยนะถึงผมจะคิดว่าเทคโนโลยีต้องมาก่อนแต่ผมไม่เห็นด้วยกับการแบนวิทยุสื่อสาร

ส่วนแบน power meter นี่ผมว่ามันก็ถึงเวลาแล้วล่ะ การแข่งมันควรเป็นไปด้วยสัญชาตญาณ สมมตินักแข่งคนนึงรู้ว่าตัวเองใช้ 450 วัตต์ได้สองนาที แล้วทุกอย่างจบ ซึ่งนั่นมันทำให้คุณคำนวณไว้ก่อนได้แค่ทำตามแพลนเอาไว้ แต่การแข่งขันมันก็ควรเป็นการแข่งขัน สู้กันด้วยตัวคุณเอง มีความเป็นนักสู้มากขึ้น

DT: วกกลับมาที่เรื่องการแข่งขันวันนี้กันครับที่มันเป็นลูป ซึ่งต่างจากสนามแข่งจักรยานถนนที่จัดกันทั่วโลก คุณแอนดี้มองว่ายังไงครับ? 
Andy: รูปแบบการแข่งขันแบบเป็นเส้นทางปิดแบบนี้วนเป็นลูป ผมว่ามันจะมีความนิยมมากขึ้นนะ การแข่งแบบนี้สามารถควบคุมทุกอย่างได้ง่ายขึ้น การแข่งขันในสนามแบบนี้มันสนุก มันง่ายสำหรับทุกคน ผู้ชม ผู้จัด นักแข่ง การแข่งแบบนี้มันดีตรงที่คุณไม่ต้องเริ่มจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง

คุณลองคิดว่าถ้าเราเริ่มที่นี่แล้วไปจบที่ตัวเมืองพัทยาสิ สัมภาระคุณอยู่ที่นี่ ตัวคุณไปจบอีกที่นึง หรือไปจัดแบบเส้นทางปิดที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วคนมาดูก็ไม่มี แบบนี้มันก็ไม่เมคเซนส์เท่าไหร่ ด้วยมุมมองจากคนจัดงาน ทุกอย่างมันไม่ง่ายนะ คนที่ไม่เคยจัดคิดว่ามันง่ายที่จะขอเส้นทางแบบ A ไป B ไป C

ในระยะยาวงานแข่งแบบสเตจมันจะลดลง ผมว่างานแบบสนามปิดนับเป็นรอบนี่จะเยอะขึ้น อย่างผมเคยไปงานที่ปักกิ่ง คุณต้องเอาของทั้งหมดของคุณใส่รถไปก่อนเพื่อที่ของจะไปอยู่ที่เส้นชัย แต่คุณออกตัวจุดนึงไปก่อน แล้วพอถึงเส้นชันคุณก็ขึ้นรถกลับมา แล้วคุณเองคิดว่างานในครั้งนี้เป็นยังไงล่ะ

DT: ผมคิดว่างานแบบนี้มันดีสำหรับมือสมัครเล่น หรือคนที่เพิ่งเริ่มจะเข้าสู่การแข่งขัน สามารถมาที่เดียวแล้วจบได้เลยไม่ต้องวุ่นวายไปจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง แต่ผมมีคุยกับคนที่มาร่วมงานบางคนก็บอกชอบแบบ A ไป B มากกว่า
Andy: นั่นเพราะเค้าไม่ใช่ผู้จัดไง รายการนี้มันเป็นรายการใหญ่สำหรับทุกคนที่มาร่วมได้ ครอบครัว คนทั่วไป ทุกคนมาแข่งขันได้มาร่วมได้ ขับรถมาได้ ไม่ใช่ต้องปั่นจากกรุงเทพไปภูเก็ตหรืออะไรอย่างนั้น รายการเล็กที่สามารถมีส่วนร่วมได้ทุกคนมันดีในรูปแบบนี้เลย ซึ่งผมเองว่างานนี้มันดีด้วยตัวมันเองอยู่แล้วในทุกๆอย่างครับ

DT: ต้องขอบคุณสำหรับเวลานะครับ เข้าใจว่าตารางงานของคุณค่อนข้างแน่นและมีงานอื่นด้วย ผมจะไม่รบกวนเวลาเพิ่มแล้วครับ
Andy: ยินดีมากๆครับ ต้องขอบคุณเช่นกัน

 

คุยกับเจ้าของงาน!

คนต่อไปที่เราได้คุยก็คือคุณเกร็ก ตัวตั้งตัวตีผู้จัดงาน Bangkok Bank Cycle Fest ครับ เราอยากรู้ว่าในมุมมองขององค์กรใหญ่ระดับโลกอย่าง IMG ที่มีประสบการณ์การจัดอีเวนท์ขนาดใหญ่ทั่วโลกเขามองเรื่องแวดวงจักรยาน และสนามแข่งในบ้านเราเป็นยังไงบ้าง

DT: สวัสดีครับ คุณคิดว่าการมีส่วนร่วมกับจักรยานในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง มันดีแล้วรึยังหรือว่าจะพัฒนายังไงได้บ้าง
Greg: ผมว่าในประเทศไทยมันแข็งแรงมากในภูมิภาคนี้นะ ด้วยคุณภาพ ด้วยจำนวนผู้คน แม้มันจะขึ้นๆลงๆไปบ้างแต่ก็ถือว่าเป็นประเทศที่การมีส่วนร่วมแข็งแรงมากประเทศหนึ่งของภูมิภาคนี้

DT: แล้วปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่คุณจัดงานนี้ ทำไมคุณถึงให้เวลากับการจัดงานที่เป็นงานแข่งจักรยาน
Greg: สำหรับพวกเรา เพราะความแข็งแรงของแวดวงจักรยานในประเทศไทยเป็นตลาดที่ดีมาก และก็เป็นงานที่ยังสามารถโตได้อีกหรือสามารถชักชวนคนจากประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ให้มาร่วมได้ ให้ระบุก็คือ หนึ่งเพราะความแข็งแรงของตลาดจักรยานในประเทศนี้ และสองเราสามารถจัดงานที่สามารถเป็นคอร์สและปิดถนนได้ ซึ่งมันเป็นตลาดที่ถูกต้อง

DT: แต่มันก็ยังมีกีฬาอื่นๆ อย่างวิ่ง หรือไตรกีฬา ทำไมถึงยังพุ่งมาจับจักรยานก่อนครับ?
Greg: ตลาดไตรกีฬามันเต็มแล้ว มันมีรายการให้ลงเยอะแยะ วิ่งก็เหมือนกัน จักรยานก็มีแต่เราเห็นโอกาสที่จะสามารถทำตลาดตรงนี้ได้ การแข่งในสนามปิดที่เราสามารถให้ความปลอดภัยได้ มันอาจจะเป็นตลาดเฉพาะตัวแต่เราเห็นโอกาสที่จะเติบโตได้กับรายการแบบนี้ ทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมหรือเพิ่มระยะการแข่งขัน

DT: ซึ่งรายการนี้เป็นแบบลูป ทำไมคุณถึงคิดจะจัดแบบนี้ ไม่เป็นจากจุด A ไปจุด B
Greg: อันดับแรกเลยคือ เรามองเรื่องความปลอดภัย และเราไม่อยากรบกวนชุมชนรอบข้างมากเกินไป เราจึงเลือกที่จะทำในสนามปิดแต่เราก็ใช้วิธีเพิ่มรุ่นการแข่งขัน เพิ่มประเภท ที่จะให้ผู้เข่าร่วมสามารถเลือกรายการที่ตัวเองต้องการได้ และการใช้สนามปิดยังสามารถควบคุมอะไรได้มากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุให้เราเลือกจัดแบบเป็นลูป

DT: แล้วปีหน้าล่ะครับ ยังจะมีงานนี้อยู่หรือไม่เผื่อคนที่พลาดในปีนี้ มันจะมีอะไรเพิ่มอีกหรือไม่
Greg: แน่นอน เราหวังว่าจะได้จัดต่อไปนะ เราคิดว่าหลักๆคือการเพิ่มระยะแข่งขันในปีหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อย เรื่องการจัดการพื้นที่ต่างๆ ให้สะดวกสบายมากขึ้นสำหรับครอบครัว หรือ ผู้เข้าร่วม ซึ่งเราเห็นจุดที่สามารถปรับปรุงได้ แต่หลักๆคือการเพิ่มระยะที่ยาวขึ้นอีก

DT: ตอนนี้ยาวสุดคือ 60 กิโลใช่ไหมครับ แล้วที่แพลนไว้ว่าจะยาวขึ้นนี่ประมาณเท่าไหร่ครับ
Greg: หวังว่าจะประมาณ 80–100 แต่ว่าต้องเพิ่มระยะออกไปนอกลูป คือยังใช้เส้นทางในลูปแต่เพิ่มระยะทางออกไปด้านนอกอีกส่วนหนึ่งแล้วกลับเข้ามาในลูปใหม่ นั่นคือที่เราตั้งใจเอาไว้

DT: แล้วคุณเจอปัญหาอะไรไหมกับงานนี้ ข้อดีข้อเสียที่พบ
Greg: มันเป็นความท้าทายของเรานะ ที่จะชักชวนคนจากในกรุงเทพให้ออกมาที่งานนี้เพราะคุณต้องขับรถออกมาที่นี่ เราจึงพยายามจัดการกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อชักชวนคนให้ออกมาที่งานนี้ให้ได้ เราจึงจัดให้มีพื้นที่ chill area, stretch zone เพื่อให้อะไรมากกว่ามาเพื่อปั่นเฉยๆ มันต้องมีองค์ประกอบอะไรอย่างอื่นเพื่อให้คนสนใจที่จะมางานนี้มากกว่าแค่มาปั่นเฉยๆ

DT: ผมได้คุยกับ Andy เมื่อซักครู่นี้ เค้าแนะนำว่า ควรเพิ่มรุ่นสำหรับเด็กขึ้นมา คุณมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง
Greg: มันเป็นไปได้นะที่จะมีรุ่นสำหรับเด็ก เพราะยังไงแล้วเด็กๆก็ต้องมากับผู้ปกครองอยู่แล้ว แต่ว่าการที่เราเอาเด็กไว้กับรุ่น fun ride เพื่อให้เด็กได้ลงมีส่วนร่วมด้วย มันดีอยู่แล้วที่จะให้เด็กลงปั่น แต่ว่ามันก็ดีกว่าที่จะให้เด็กลงไปพร้อมกับผู้ปกครอง โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย เพราะถ้าเด็กปั่นไปพร้อมๆกับผู้ใหญ่ยังไงก็ปลอดภัยกว่าที่จะให้เด็กปั่น แล้วผู้ใหญ่ได้แค่ยืนดูเด็กๆปั่นผ่านไปมา

DT: และมันก็ยังมีความเป็นกิจกรรมสำหรับครอบครัวด้วย
Greg: ถูกต้องเลยครับ นั่นคือที่เราพยายามทำ เราต้องการให้มีกิจกรรมอย่างเพียงพอสำหรับทุกๆคน เราจึงมีงานสองวัน สำหรับการแข่งขัน รวมทั้งกิจกรรมสำหรับครอบครัวที่ใครๆก็มาร่วมได้ เรามีทั้ง 60 กิโล 30 กิโล หรืออย่าง fun ride เพื่อให้คนที่มีความสนใจในแบบต่างๆกันสามารถมามีส่วนร่วมได้ในงานเดียว คุณอาจจะแข่งรุ่น 60 กิโลวันนึง แล้วอีกวันมาปั่น fun ride กับเด็กๆของคุณก็ได้ มันต้องเป็นงานสำหรับทุกๆคน
Fun ride ระยะทาง 12 กิโลเมตร ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้แม้แต่เด็กๆ

DT: แล้วคุณมองมันเป็นเรื่องยากไหม ที่จะจัดการกับงานใหญ่ขนาดนี้ เพราะมันมีเป็นงานที่มีสองวันแล้วมีจัดหลายรุ่นด้วย
Greg: ใช่มันยาก แต่ผมมองว่ามันเป็นความท้าทายนะ แต่ว่าการที่เราแบ่งเป็นหลายๆรุ่นนั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำเพื่อครอบคลุม นักปั่นหลายๆประเภท มันง่ายกว่าถ้าจะจัดงานวันเดียวแล้วปั่นเป็นคาราวาน แต่ว่ามันไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะวงจักรยานในเมืองไทยมันมีหลากหลายอายุ หลากหลายประเภทความสนใจ นั่นคือที่เราต้องการทำกับงานนี้ที่จะแบ่งให้เป็นหลายๆรุ่น นั่นสำคัญกว่าสำหรับเรา

DT: แล้วคุณมีแผนอะไรไหม จากการที่คุณบอกว่าคุณจะเพิ่มระยะทาง จะเปลี่ยนรายละเอียดของแต่ละรุ่นที่มีอยู่หรือว่าเปิดเพิ่มขึ้นมาใหม่เลยครับ?
Greg: เพิ่มขึ้นมาใหม่เลย อย่างที่เราบอกว่าเราทำงานนี้เพื่อให้เป็นสำหรับทุกๆคน สมมติว่าคุณปั่นบ่อย อยากปั่นเยอะกว่าแต่แฟนของคุณปั่นน้อยกว่า ก็สามารถลงคนละรุ่นกันได้ แต่ก็ยังมางานเดียวกันได้ ไม่ใช่แค่คุณมาแล้วก็ปั่นของคุณไปคนเดียว ซึ่งมันดีกว่าที่ทุกคนจะมีส่วนร่วม และในประเทศไทยคนปั่นก็มีทุกระดับตั้งแต่มือใหม่สมัครเล่น จนถึงคนที่ปั่นแบบจริงจัง แต่ในประเทศนี้คุณปั่นออกต่างจังหวัดได้ยาก ซึ่งในงานนี้คุณก็ได้มาปั่นในภูมิประเทศที่สวยงามและปลอดภัย จะดูได้ง่ายๆอย่างที่สกายเลน คุณปั่นตามความสามารถของคุณ คุณแข็งแรงจะปั่นหลายๆรอบก็ได้ คุณเพิ่งเริ่มปั่นคุณก็ปั่นรอบเดียวได้

DT: ผมมองว่ารายการนี้คุณดึงส่วนดีของการปั่นในต่างจังหวะที่มีวิวสวยงาม รวมกับการปั่นเป็นรอบและปลอดภัยอย่างในสกายเลน เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้มันเป็นจุดดึงดูดสินะครับ
Greg: ใช่ครับ ในพื้นที่ที่สวยงามแบบนี้ และสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม แต่ว่าคุณสามารถปั่นเป็นรอบได้แต่เหมือนได้ปั่นออกไปต่างจังหวัด รวมทั้งพื้นที่จัดงานก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯนัก การรวมทุกๆองค์ประกอบอย่างเรื่อง ความปลอดภัย สถานที่จัดงานไม่ไกล ความหลายหลายของรายการ เมื่อรวมเข้าไว้ด้วยกันจึงเป็นเรื่องที่เราตั้งใจเอาไว้

DT: แล้วอย่างนี้ในปีนี้คนเข้าร่วมเยอะกว่าปีที่แล้วไหมครับ
Greg: เยอะกว่าครับ น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เมื่อปีที่แล้วเรามีคนเข้าร่วมประมาณ 2,400 คน ปีนี้มีคนเข้าร่วมประมาณ 2,900 คน

DT: แล้วคุณมีความคาดหวังกับปีหน้าอย่างไรบ้างครับ
Greg: ก็ยังอยากให้เติบโตด้วยอัตรานี้นะครับ นั่นจึงทำให้เราคิดจะเพิ่มรุ่น เพื่อจะดึงคนเข้ามามากขึ้น และเราจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมแต่ละรุ่น เราจึงคิดจะเพิ่มรุ่นแทน ด้วยเรื่องของความปลอดภัย เราจึงไม่อยากให้จำนวนคนของแต่ละรุ่นมีจำนวนมากเกินไปเราเพิ่มจำนวนคนแต่ละรุ่นได้แต่เราไม่ทำ ความปลอดภัยของนักปั่นสำคัญกว่า เราคุยกันแล้วระหว่าง IMG และ ธนาคารกรุงเทพ ว่าเราจะให้ความสำคัญกับนักปั่น เราจึงไม่มีเงินรางวัลในรายการนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันเพื่อช่วงชิงเงินรางวัลนั้น เพราะเมื่อมีเงินรางวัลขึ้นมานักปั่นจะเปลี่ยนความคิดกับการปั่นนั้นทันที ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น

DT: แบบนี้คุณก็สามารถโฆษณาได้ด้วยว่า รายการนี้เน้นทางเรื่องความปลอดภัยต่อตัวนักปั่นทุกๆคน
Greg: ใช่ครับ นั่นคือข้อความหลักที่เราพยายามจะสื่อให้ทุกๆคนได้รับรู้ การใช้ถนนปิด มีมาร์แชลอยู่ทั่วสนาม รถพยาบาลที่พร้อม ทุกๆอย่างเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก

DT: แล้ว IMG จะมีงานอื่นๆเพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่ หรือว่าจะยังคงไว้แค่งานนี้ก่อนครับ
Greg: ณ เวลานี้ ยังจะมีแค่งานนี้ก่อนครับ เราต้องทำทุกอย่างให้เหมาะสมและเรื่องของความปลอดภัยด้วย ตอนนี้เราจึงเอาไว้แค่งานนี้ก่อน ทั้งเรื่องเส้นทาง สถานที่จัดงานต่างๆ มันหายากครับที่เราจะสามารถควบคุมให้ได้เหมือนงานนี้

DT: แล้วผลตอบรับของงานนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ
Greg: เป็นไปทางบวกครับ ถือได้ว่าเป็นเรื่องดี ทั้งจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ คนชอบเส้นทาง ชอบทุกๆอย่างในงาน และนั่นเป็นสิ่งตัดสินว่างานที่คุณทำมันดีแล้วหรือยัง ความแข็งแรงของแบรนด์ที่สร้างขึ้นก็ต้องเริ่มจากตรงนี้ครับ

DT: ต้องขอบคุณสำหรับเวลาในวันนี้ครับ ผมหวังว่าจะได้มาเข้าร่วมในปีหน้าครับ เราอาจจะได้เจอกันอีกครับ
Greg: ขอบคุณครับ หวังว่าเราจะได้พบกัน คุณต้องลงรายการ 4 รอบนะ ไม่เอาแค่ 2 ต้อง 4 เท่านั้น (หัวเราะ)

 

คุยกับน้องมินต์ Brand Ambassador งานนี้

ในระหว่างที่ผมเตรียมตัวกลับกรุงเทพฯนั้นก็ยังได้เจอกับน้องมิ้นท์ หนึ่งในแบรนด์แอมบาสเดอร์ของรายการนี้ จึงได้โอกาสพูดคุยกันเล็กน้อยว่างานเป็นอย่างไรบ้าง มีความคิดเห็นอย่างไร น้องมิ้นท์ได้บอกว่า

งานมีความเป็นมืออาชีพสูงมาก เพราะส่วนตัวน้องเองคือการมาทำงาน ทุกอย่างถูกบรีฟมาอย่างดี ว่าต้องทำอะไรบ้าง เวลาไหน ซึ่งในส่วนของแบรนด์ แอมฯนั้น ก็ต้องทำงานตามกำหนดเวลาที่ถูกวางมาเช่นกัน ซึ่งการจัดการเป็นไปตามแผนทุกอย่าง เรื่องเวลาปล่อยตัวแต่ละรุ่นก็เป็นไปตามกำหนดเวลา ไม่มีการเลท รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในงานก็มีอย่างครบครัน

น้องมิ้นท์ยังบอกอีกทีเทียบราคากับค่าสมัครที่ผู้เข้าร่วมต้องจ่ายแล้ว เทียบกับงานที่น้องเคยเข้าร่วมมา ถือว่ารายการนี้คุ้มค่า

การได้คุยกับคนที่มีส่วนร่วมกับงานนี้หลายๆคน ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่างกัน ทั้งมุมมองผู้ร่วมงาน มุมมองผู้จัด และ มุมมองของนักปั่นที่มีประสบการณ์โชกโชนในระดับโลก

ทุกคนต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมกับงานงานเดียวกัน ไม่มีใครผิดใครถูก ทุกคนมองด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างแตกต่างกัน ซึ่งต่างก็เป็นเสียงสะท้อนต่อวงการจักรยานในบ้านเราได้เป็นอย่างดี แม้งานในประเทศเราจะมีหลากหลายทั้งงาน อบต. งานแข่งแบบจริงจัง งานใจเกินร้อย ทุกงานล้วนแต่ส่งเสริมกิจกรรมจักรยานให้ดีขึ้นไปได้ หากมีการจัดการอย่างเป็นระบบและส่งเสริมซึ่งกันและกันครับ

* * *

By ศิลวัต ช่างเรียน

ก๊อง - ดีไซเนอร์ ผู้สนใจจักรยาน,การทำอาหารและเชื่อว่างานเขียนจะเพิ่มความสนใจในมุมอื่นของวงการจักรยานให้คนอ่านได้

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *