GCN x DT: ฝึกเข้าโค้งแบบเนียนๆ

การเข้าโค้งด้วยความเร็วถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการปั่นและต้องอาศัยการฝึกฝนและน่าจะเป็นทักษะที่มือใหม่หลายคนละเลย หรือไม่มีคนสอนให้เข้าโค้งได้อย่างถูกต้องถ้าเราเข้าโค้งจนชำนาญแล้วนอกจากจะช่วยให้ปั่นได้ปลอดภัย ไม่ล้ม ไม่หลุดโค้ง ล้อไม่ล๊อก ยังทำให้ทำความเร็วได้ดีขึ้นอีก วันนี้มาดูวิดีโอสอนการเข้าโค้งตามหลักสูตร GCN จาก Danield Loyd และ Simon Richardson ครับ ((โพสต์นี้เป็นการแปลและแทรกข้อมูลตามที่ผมพอจะมีความรู้ ไม่ได้อวดอ้างฝีมือครับ คิดว่ามีประโยชน์ก็แบ่งปันตามสไตล์ DT เพราะงั้นใครมีประสบการณ์เยอะ เห็นว่าตรงไหนควรเพิ่มเติมแก้ไข ก็ลงคอมเม้นต์ได้เลย จะเป็นประโยชน์กับคนอื่นมากๆ ผมเห็นว่าการขี่จักรยานมันไม่ค่อยจะมีคนบอกคนสอน และไม่มีแหล่งความรู้ เลยอยากจะทำบทความแนว How-to บ่อยๆ อาศัยประสบการณ์บ้าง และอ้างอิงแหล่งความรู้ต่างประเทศบ้าง นั่นคือจุดประสงค์ครับ))

ก่อนเข้าโค้ง (Approaching)

สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก่อนการเข้าโค้งก็คือ คุณสามารถประคองความเร็วเพื่อเข้าและออกจากโค้งได้อย่างปลอดภัยด้วยความเร็วประมาณเท่าไร? ปัจจัยที่กำหนดความเร็วในการเข้าโค้งก็คือ

  • องศาโค้ง: โค้งยิ่งหักมาก รัศมีน้อย ความเร็วที่ใช้ก็ต้องต่ำลงตามไปด้วย สิ่งที่เป็นตัวบอกเราก่อนเข้าโค้งว่าโค้งหักมากหรือเปล่าก็คือ ปลายโค้ง ถ้าเรามองไม่เห็นปลายโค้ง แสดงว่าองศาหักมันค่อนข้างเยอะครับ ก็ต้องผ่อนความเร็วตามไปด้วย
  • ความกว้างของถนน: ยิ่งแคบก็ยิ่งต้องใช้ความเร็วต่ำลง ถ้าถนนกว้างคุณก็สามารถตัดเลือกไลน์โค้งได้ง่ายขึ้น ด้วยความเร็วที่มากขึ้นตามไปด้วย
  • ความลื่นของถนน: ยิ่งถนนลื่นเพราะเปียกน้ำ หรือขรุขระ ไม่เรียบก็หมายความว่าหน้ายางเราจะเกาะถนนได้แย่ลง ความเร็วย่อมตกลง

ดูเหมือนจะต้องสังเกตเยอะ แต่ปรกติเวลาเราปั่นเราก็มองไปข้างหน้าอยู่แล้ว มองไปข้างหน้า 25-50 เมตรก่อนเข้าโค้งแล้วเช็คสภาพถนนและโค้งให้เรียบร้อยเพื่อพิจารณาความเร็วที่เราพอจะใช้ได้ครับ

 

จังหวะเข้าโค้ง

เมื่อเรารู้แล้วว่าจะเข้าโค้งได้ด้วยความเร็วประมาณเท่าไร โจทย์ข้อสองคือทำยังไงจะรักษาความเร็วนั้นไว้ให้ได้ในจังหวะเข้า และออกจากโค้งครับ เทคนิคต่อไปนี้น่าจะพอช่วยให้เข้าโค้งได้มั่นใจและไม่ต้องชะลอความเร็วมากจนเกินไป

  • จับดรอป, งอแขน, ทิ้งน้ำหนักตัวไปข้างหน้าเบาะ – ทั้งสามอย่างนี้จะช่วยลดจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity) และถ่ายน้ำหนักตัวเราไปที่ล้อหน้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราหักเลี้ยวได้เร็วขึ้นและไม่เสียสมดุล
  • ลงน้ำหนักที่บันไดด้านนอก (หกนาฬิกาของบันได) ก็คือให้เหยียบบันไดด้านนอกลง ถ้าเลี้ยวซ้าย ก็เอาเท้าขวาลง เทคนิคนี้จะช่วยลดจุดศูนย์ถ่วงของจักรยานให้ต่ำลง และเข้าโค้งได้เสถียรขึ้น
  • ไลน์ที่เร็วที่สุดคือด้านในของโค้ง ถ้าถนนกว้างและโค้งรัศมีต่ำ ให้เข้าโค้งจากฝั่งนอก แล้วตัดโค้งไปยังจุดยอดโค้ง (Apex) แล้วออกทางฝั่งกว้าง วิธีนี้ช่วยให้เข้าโค้งได้ไว ปลอดภัย และเลือกออกโค้งได้หลายทาง ในกรณีที่โค้งไม่หักจนเกินไป (sweeping corner) พยายามเกาะด้านในของโค้งไปจนถึงทางออก จะเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด

Cornering 101f

  • มองไปข้างหน้า! ข้อนี้สำคัญที่สุด โดยปรกติแล้ว สายตาเราจับไปที่ไหน รถเรามันก็จะพุ่งไปตรงนั้น บางครั้งเวลาเราเข้าโค้งด้วยความเร็ว อาจจะเกิดอาการกลัวฉับพลัน สายตาจับไปนอกโค้งซึ่งอาจจะทำให้เราพุ่งไปนอกโค้งตามที่ตาเรามอง ต้องระวังให้ดี
  • ถ้าความเร็วตกระหว่างเข้าโค้ง ให้เบาเกียร์ต่ำลงสักนิดนึง เพื่อที่เวลาออกจากโค้งรอบขาจะได้ไม่ตกมากจนเกินไป และไม่เสียโมเมนตัมและแรงเหวี่ยงจากการเข้าโค้งครับ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเราต้องออกแรงโยกรถเพื่อเพิ่มความเร็วทุกครั้งที่ออกจากโค้ง มันก็จะเปลืองแรงและเหนื่อยไม่น้อย
  • พยายามอย่าแตะเบรคระหว่างที่อยู่ในโค้ง! นั่นก็เพราะว่าการเข้าโค้งจะส่งแรงกระทำและแรงกดต่อหน้ายางมากกว่าปรกติ ถ้าเราไปเพิ่มแรงเบรคเข้าไปอีก จะทำให้ล้อล๊อคและปัดจนล้มได้ครับ
  • อย่าเกร็ง การเข้าโค้งต้องอาศัยความมั่นใจซึ่งเกิดจากการฝึกฝนและประสบการณ์ถ้าเราเกร็งร่างกายจนเกินไป เราจะเอนตัวโค้งติดขัด เสียจังหวะอาจจะล้มได้ง่ายๆ ดูอย่างในทีวีที่โปรแข่งกันจะเห็นได้ชัดว่าคนไหนเข้าโค้งได้ดีหรือไม่ดีครับ ถ้าเกร็งมากน้ำหนักจะลงแฮนด์และหน้ามากเกินไปซึ่งอาจจะทำให้รถไถลได้ง่ายๆ

 

ศึกษาเพิ่มเติม

Thaimtb: ถามเรื่องเทคนิคการเข้าโค้ง **แนะนำให้อ่านครับ

Roadcycling UK: Technique: from bronze to gold in 2013 – part three (cornering).

Cyclingtips: Cornering Tips

แน่นอนว่าจะเข้าโค้งได้ดีก็ต้องฝึกฝนเยอะๆ ดูวิดีโอและอ่านตามอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้เก่ง แต่หลักการที่ทาง GCN แนะนำมาก็น่าจะเป็นประโยชน์ครับโดยเฉพาะกับคนที่พึ่งปั่น ลองเอาไปปรับและประยุกต์ใช้กันดู อย่าลืมถ้าต้องการฝึกหาที่ปลอดภัยที่รถไม่เยอะจะดีกว่าครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

5 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *