7 แนวคิดเพื่อการฝึกซ้อมที่ดียิ่งขึ้น – Part 2

ในโพสต์แนวคิดเพื่อการฝึกซ้อมตอนที่แล้ว (ใครยังไม่ได้อ่านเชิญทางนี้) เราพูดกันไปแล้ว 4 หัวข้อ คราวนี้มาต่อกันอีก 3 หัวข้อสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกันครับ

5. ความกระตือรือร้น

อะไรคือสิ่งที่ผู้ชนะมีและผู้แพ้ส่วนใหญ่ไม่มี? ไม่ต้องดูเฉพาะในวงการกีฬาก็ได้ครับ ในทุกๆ การแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือการศึกษา ผู้ที่ขึ้นถึงยอดปิรามิดคือคนที่กระตือรือร้นที่สุด ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาบอกว่า “ถ้าอยากรู้ว่ามนุษย์เงินเดือนคนไหนจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ให้ดูสิ่งที่เขาทำหลังสองทุ่ม”

สำหรับคนส่วนที่คิดว่าเวลางานคือเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น เป็นปกติที่หลังเลิกงานเขาก็จะทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงาน อาจจะเป็นการพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง ทานข้าว ให้เวลากับครอบครัว แต่คนที่มีความกระตือรือร้นแรงกล้า อยากจะชนะหรือทำตามเป้าหมายของเขา เชื่อว่าเป็นคล้ายกันทุกคน คือเขาใช้เวลาเท่าที่เขาทำได้ในการเดินตามฝัน จะเป็นการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ทดลองอะไรใหม่ๆ หรือแบ่งเวลามาฝึกซ้อมสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี เขายอมที่จะเหนื่อยกว่าคนอื่น ยอมไม่เล่น ไม่บันเทิง เพื่อผลักดันขีดความสามารถของตัวเองตลอดเวลา

Amgen Tour of California 2014 stage 2

ขอยกตัวอย่างแบรดลีย์ วิกกินส์ จากทีม Sky ที่หลายคนน่าจะรู้จักดี (ต้องขอโทษที่ตัวอย่างมีแต่นักปั่นจากทีมอังกฤษหรืออเมริกา เพราะข้อมูลส่วนใหญ่มีให้เราอ่านกันมาจากสื่อหรือทีมที่ใช้ภาษาอังกฤษเสียเป็นส่วนมากครับ) วิกกินส์คือความฝันของทีม Sky ที่ทีมหวังปั้นให้เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่คว้าแชมป์ Tour de France ภายใน 5 ปี (จากที่ทีมตั้ง) คิดดูดีๆ นะครับ เป้าหมายนี้ บางทีมตั้งมาเป็นสิบปีแล้วยังทำไม่ได้เลย วิกกินส์บอกว่า ปี 2012 เป็นโอกาสเดียวที่ผมจะได้แชมป์ Tour de France เพราะเส้นทางมันเหมาะกับความสามารถเขาที่สุด (มีสเตจ Time Trial ยาวหลายกิโลเมตรซึ่งเป็นทักษะที่เขาชำนาญ และไม่มีสเตจภูเขสูงชันที่เป็นจุดอ่อนของเขาเยอะเหมือนปีอื่นๆ )

เมื่อทีมรู้แล้วว่านี่คือโอกาสเดียวของเอซตัวเอง Sky จับวิกกินส์เข้าโปรแกรมฝึกซ้อมหนักอย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เขาต้องลดน้ำหนักตัวเองถึง 10 กิโลกรัม เพื่อให้ไต่เขาได้สูสีกับคู่แข่งคนอื่นที่น้ำหนักตัวผอมบาง หลังจากจบปี 2012 ที่เขาได้แชมป์ทั้ง Tour และเหรียญทองโอลิมปิก Time Trial เขาบอกว่ามันคือปีที่แย่ที่สุดในชีวิต เขาไม่ชอบการฝึกซ้อมเพื่อเป็นแชมป์ตูร์เลย แต่ก็เขาก็ต้องยอมซ้อมให้ถึง เพราะเขารู้ว่าชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสแบบนี้อีกแล้ว (ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะหลังจากได้แชมป์ตูร์ วิกกินส์ก็ดูจะเป็นคนละคนไปเลย ไม่โฟกัสกับการแข่งขันเหมือนในปี 2012 และแข่งไม่ค่อยจบ

เขาใช้เวลาหนึ่งปีเต็มเพื่อกลับมาเป็นนักปั่นที่น่าเกรงขามอีกครั้ง) นอกจากความกระตือรือร้นที่มากยิ่งกว่าคู่แข่งคนไหนๆ แล้ว วิกกินส์เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าความกระตือรือร้นเพื่อทำตามเป้าหมาย (ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายในชีวิต) และความขยันจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ถ้าเราอยากจะเก่งขึ้นครับ

Dr. Tucker สรุปข้อนี้ไว้สองประเด็น:

“1. Not everyone can win, but everyone can be better.”

ผู้ชนะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่เป็นคนที่เก่งขึ้นตลอดเวลา ถ้าคุณเก่งขึ้นกว่าเมื่อวาน กว่าเดือนก่อน กว่าปีที่แล้ว และไม่หยุดที่จะหาทางทำให้ตัวเองเก่งขึ้นไปอีก นั่นแหละคุณกำลังเดินบนทางของผู้ชนะ

2. “Complacency and satisfaction are the enemies of progress”

ความพอใจและความอิ่มอกอื่มใจคือศัตรูตัวฉกาจของความก้าวหน้า – ข้อนี้ออกจะโหดร้ายสักหน่อย ราวกับว่าถ้าเราพัฒนาตัวเองแล้ว หรือชนะไปทีละขั้นแล้ว จะหยุดเชยชมความสามารถกตัวเองบ้างไม่ได้เลยหรือ? ต้องเก่งขึ้นตลอดเวลาหรือ? แต่มันก็เป็นความจริงที่คนไม่อยากฟังครับ คนที่แกร่งกว่าคนอื่นมีความกระหายที่อยากจะเอาชนะหรือขึ้นเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา เมื่อไรที่ความกระหายนี้มันหายไป มันจะมีคนที่กระหายกว่าคุณอยู่แน่นอน

ว่าไปแล้วมันก็สะท้อนกับประเด็นที่เราพูดถึงใน part 1 การปรับตัว เปิดกว้าง กล้าแพ้กล้าชนะ หาคนช่วย และกำจัดตัวแปรที่ทำให้เราไม่ก้าวหน้า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ความไม่พอใจ” (discontent) ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เรามีความกระตือรือร้นในที่สุด

cycling principle (1 of 1)

 

6. ยืดหยุ่น

Tucker พูดถึงโครงสร้างของนักกีฬาและโค้ชได้น่าสนใจครับ เขาบอกว่า ระบบที่โค้ชเป็นคนสั่งอย่างเดียวและนักกีฬาเป็นคนทำตามคำสั่งอย่างเดียว ไม่ได้เรื่อง เพราะข้อมูลมันไหลแค่ทางเดียว (โค้ช -> นักกีฬา) แต่เมื่อไรที่ “ทีม” มีความยืดหยุ่น รับฟังฟีดแบคของกันและกัน นำความเห็นของแต่ละฝ่ายมาช่วยกันปรับปรุง รีดเค้นความสามารถ เมื่อนั้นเราจะได้นักกีฬาที่เก่งที่สุด

ขณะเดียวกัน มันก็หมายความว่านักกีฬา (หรือพวกเรา) ต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าแค่ฝึกซ้อมตามโปรแกรม ถ้าใครมีโค้ช หรือมีคนแนะนำการปั่น เราก็ไม่ควรจะรับฟังคำสั่งและทำตามอย่างเดียว ถ้าคุณพบว่าเราซ้อมได้ไม่ดี ไม่เห็นพัฒนาการ คุณต้องสังเกตตัวเองด้วยว่าเรามีปัญหาอะไร เหนื่อยเกินไปมั้ย? คอร์สนี้ยากเกินไปหรือเปล่า? หรือว่าง่ายเกินไปจนไม่เหนื่อย ไม่พัฒนาเลย

ฟังดูเป็นปัญหาที่เบสิคมาก แต่เชื่อไหมครับว่าเป็นปัญหาของนักกีฬาส่วนใหญ่ที่ไม่ถนัดเรื่องการสื่อสารความต้องการและปัญหาของตัวเองให้คนอื่นทราบ อาจจะเพราะอาย เพราะพูดไม่เก่ง กลัวโค้ช (ความสัมพันธ์ขาดความยืดหยุ่น) แต่มันทำให้เราแก้ปัญหาได้ช้าลงมาก เพราะคนที่ช่วยเราซ้อมเขาไม่มีทางรู้จักตัวเราได้ดีกว่าเราเอง แน่นอนว่านักกีฬาก็ต้องซื่อสัตย์กับปัญหาของตัวเองด้วย ไม่ใช่ปิดบังเพราะกลัวโค้ชต่อว่า

ความยืดหยุ่นตรงนี้ไม่ได้ใช้แค่กับโค้ชและนักกีฬาครับ แต่ใช้กับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมและเป้าหมายในการปั่นของคุณ ถ้าคุณต้องเสียเวลากับการปั่นมากจนความสัมพันธ์อื่นๆ เริ่มเสียไป (ติดปั่นติดแต่งรถจนไม่ดูแลแฟนนี่มีเยอะนะครับ ทำเป็นเล่นไป…) มันก็ไม่ใช่การปั่นที่ยั่งยืนครับ

Screen Shot 2556-08-07 at 11.19.55 AM

7. สมดุล

อะไรคือสมดุลในการฝึกซ้อมที่ดี? ทุกอย่างที่คุณทำเพื่อการเป้าหมายการปั่นมีความเสี่ยง การซ้อมเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเองก็เป็นความเสี่ยง ผมขอยกตัวอย่างกรณีของตัวเองค ผมซ้อมปั่นสัปดาห์ละ 6-7 ชั่วโมง เป้าหมายปีนี้มีอย่างเดียวคือปั่นในระยะทางเท่าเดิมด้วยเวลาที่ดีกว่าเดิม เป็นการแข่งกับตัวเองล้วนๆ และเพื่อนผมให้ตารางซ้อมที่ค่อนข้างละเอียด มีสเต็ปของมันชัดเจน สัปดาห์นึงจะซ้อมหนัก 3 ครั้งปั่นหนักปานกลางหรือเบา 2-3 ครั้งตามความสะดวก ผมเชื่อใจเพื่อนคนนี้เพราะเขาเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ถ้าทำตามตารางซ้อมของเขาจะเก่งขึ้นอย่างรวดเร็ว…

แต่ก็มีแทบทุกอาทิตย์ที่ผมอยากออกปั่นกลุ่มกับเพื่อน แน่นอนว่าในการปั่นกลุ่ม มันยากที่เราจะแทรกตารางซ้อมของเราลงไปด้วย ถ้าสมมติกลุ่มซิ่ง ปั่นเร็วเกินโควต้าขงเรา (และร่างกายเราก็อาจจะไม่พร้อมเพราะซ้อมหนักมาหลายวันแล้ว) คุณจะทำยังไง? คุณจะลองเสี่ยงปั่นเร็วไปด้วย เสี่ยง overtrain ไหม? หรือคิดว่ามันอยู่ในขอบเขตความเร็วที่ร่างกายเรารับได้? หรือบางทีติดงาน ไปซ้อมไม่ได้ ก็ต้องจัดสมดุลการซ้อม/การงาน ใหม่

ต้องหมั่นสำรวจเตัวเองว่าเราให้ความสำคัญกับเป้าหมายการปั่นขนาดไหน และเราจะหาความพอดีให้มันได้อย่างไร? เป็นเรื่องที่ต้องคิด และไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวเราเองครับ

♦♦♦

Published
Categorized as Mind Game

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *