ศรัทธาของนักปั่นและตำนานของทีม

“มันเป็นเกียรติมากที่ผมจะได้มานำทีมแทนเขา เพราะนิบาลีเป็นแชมป์ที่ทุกคนเคารพ”

“ผมจะไม่ทำให้ทีมผิดหวัง”

เมื่อคืนได้อ่านสัมภาษณ์ของมิเคล แลนด้า ที่ปีหน้าจะย้ายไปอยู่กับทีม Bahrain-McLaren ไปแทนที่วินเชนโซ นิบาลีที่ย้ายออกไปอยู่ Trek-Segafredo ครับ เป็นสัมภาษณ์ที่ไม่ยาวนัก แต่ก็ทำให้ได้นึกถึงสิ่งที่เรียกว่า Team Legacy หรือผลงานที่สร้างความเป็นตัวตน เป็นตำนานให้กับทีม จากที่แลนด้าพูดดว่า เขาดีใจที่จะได้ไปสืบทอดตำแหน่งและตำนานของนิบาลี

ระหว่างที่นิบาลีอยู่กับ Bahrain-Merida ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ เป็นทีมใหม่ที่พอจะใช้คำว่ามีตำนานก็อาจจะดูแปลกๆ เพราะไม่ใช่ทีมเก่าแก่อย่าง Movistar หรือ Quickstep หรือแม้กระทั่ง Ineos ที่ปีหน้าจะอายุครบ 10 ปีพอดี ในขณะที่ Bahrain-Merida (ปัจจุบัน Bahrain-McLaren) มีอายุแค่ 3 ปีเท่านั้น แต่ระหว่างที่นิบาลีอยู่กับทีมก็สร้างพลผลงานชิ้นใหญ่ได้ถึง 3 ครั้งในระยะเวลาแค่สองปี นั่นคือแชมป์ Giro d’Lombardia (2017) และ Milan-San Remo (2018) และได้โพเดี้ยม Giro d’Italia ทั้งในปี 2017 และ 2019 เป็นผลงานที่เยี่ยมมากสำหรับทีมใหม่แบบนี้

ที่ฉุกคิดเรื่องนี้เพราะปกติแล้วเราไม่ค่อยจะนึกถึง legacy ของแต่ละทีมเท่าไร เพราะทีมจักรยานนั้นอย่างที่เรารู้มีการยุบทีมบ่อย สร้างทีมใหม่ก็บ่อย (เหมือนในกรณีของ Bahrain-Merida) และใช้ชื่อทีมตามชื่อสปอนเซอร์ ทำให้อัตลักษณ์ของทีมถูกลดทอนตลอดเวลา และยากที่แฟนๆ จักรยานจะมีทีมโปรดในใจ ปักหลักเชียร์เหมือนในกีฬาอื่นๆ อย่างบาสเก็ตบอล หรือสโมสรฟุตบอลต่างๆ กลายเป็นว่าเราเลือกตามตัวนักกีฬาแทนตัวทีมเสียมากกว่า

แม้แต่ทีมที่อยู่มาสิบปีและบอกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดในโลกอย่าง INEOS การที่ทีมเปลี่ยนชื่อจาก Sky มาเป็น INEOS นั้นก็ขาดความต่อเนื่องในภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ของทีมแล้ว ถึงแม้แก่นข้างในจะยังเป็นทีมงานและนักปั่นตัวหลักชุดเดิมเกือบทั้งหมด

ทีมที่มีความมั่นคงในระดับดิวิชัน 1 นั้นมีไม่เยอะครับ หลักๆ ก็คือ Quickstep, INEOS (Sky), Movistar, Lotto-Soudal, Mitchelton-Scott, FDJ, AG2R และ Jumbo-Visma ความมั่นคงตรงนี้ช่วยให้ทีมสามารถพัฒนานักปั่นในสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินและไม่ต้องคอยปรับตัวอยู่ตลอด เช่นเพราะสปอนเซอร์หายต้องยุบทีม ต้องหาทีมใหม่ ต้องปรับเข้ากับเพื่อนร่วมทีมและอุปกรณ์ใหม่ ซึ่งเป็นภาระที่ดึงเวลาและพลังงานนักปั่นไปจากการฝึกซ้อมทำผลงานให้ได้ตามเป้า สังเกตว่านักปั่นที่ย้ายทีมมักจะผลงานตกอยู่ระยะหนึ่ง หรือแม้แต่ทีมที่ฟอร์มใหม่ก็ต้องใช้เวลาพอประมาณถึงจะเริ่มปรับจูนนักปั่นให้เข้าที่

แต่การเข้ามาของสปอนเซอร์รายใหญ่ใจกว้างอย่างเศรษฐีน้ำมันหลายๆ รายก็พอจะเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะทำให้หลายๆ ทีมนอกเหนือจากที่เรากล่าวถึงข้างบนมีความมั่นคงในระยะยาวมากขึ้น และเป็นฐานที่มั่นให้นักปั่นสามารถพัฒนาตัวเองในทีมได้อย่างเต็มที่ แม้แต่นักปั่นมากพรสวรรค์อย่างคริส ฟรูมเองก็เคยบอกว่าถ้าเขาไม่ได้สภาพแวดล้อมแบบที่ทีม Sky มอบให้เขา ช่วยเขาพัฒนา ลบจุดอ่อน เสริมจุดแข็งต่อเนื่องกันหลายปี เขาก็คงไม่มาถึงจุดนี้

ตลอดชีวิตการเป็นนักปั่นอาชีพของเขา เริ่มตั้งแต่ปี 2009 เขาย้ายมาแล้ว 6 ทีม อยู่แค่ทีมละ 2 ฤดูกาลเท่านั้น ด้วยวัย 30 ปี ตอนนี้เขามาถึงจุดที่สามารถต่อรองเป็นหัวหน้าทีมใน Tour de France เพียงผู้เดียวได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ความมั่นคงที่ทีมสปอนเซอร์หนาอย่าง Bahrain-McLaren (และ Richard Mille) มอบให้ก็อาจจะทำให้เขาพัฒนาผลงานได้ดีขึ้นด้วยก็เป็นได้? (ถ้าเขาไม่คิดจะย้ายทีมอีกน่ะนะ)

แน่นอนว่าแลนด้าก็มีจุดอ่อนตรงที่เขาเป็นนักปั่นแบบ pure climber ซึ่งจะเสียเปรียบในการแข่งจับเวลาในแกรนด์ทัวร์ แต่เขาก็ทิ้งท้ายในสัมภาษณ์ไว้ว่า:

“ถ้าจะบอกว่าผมปั่นไทม์ไทรอัลไม่ดี? ผมขอชี้ไปที่คนๆ หนึ่งครับ – ริชาร์ด คาราพาซ ถ้าเขาที่เป็น climber ยังชนะ Giro d’Italia ได้ มันก็แปลว่านักไต่เขาอย่างพวกเราก็ต้องศรัทธาในความสามารถตัวเอง”

คือในหนึ่งชีวิตนักปั่นหนึ่งคน เขาจะสามารถชนะแกรนด์ทัวร์ได้สักกี่ครั้ง มีหลายคนที่เป็นนักปั่นระดับตัวเต็งของทีม แต่จนถึงวันที่ต้องรีไทร์แล้วก็ยังไม่สามารถชนะแกรนด์ทัวร์ได้เลยสักครั้งเดียว และจริงๆ นักปั่นแบบนี้คือตัวเต็งส่วนใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน – ทิบอต์ พินอท์, โรมัน บาเดต์, ราฟาล ไมย์ก้า, อิลเนอร์ ซาคาริน ทั้งหมดนี้เป็นนักไต่เขาระดับโลกที่ทำได้อย่างมากที่สุดก็คือขึ้นโพเดียม แต่ไม่ชนะ กลับกันนักปั่นอย่างคริส ฟรูม, ไนโร คินทานา, วินเชนโซ นิบาลี ที่สารถคว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ใช่คน​ “ปกติ”

ในงาน Bangkok Bank CycleFest เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้คุยกับคุณอิวาน บาสโซ แชมป์ Giro d’Italia ผมถามเขาว่า ระหว่างแข่งที่รู้ชัดว่าตัวเองไม่น่าจะชนะได้ เขาเคยคิดจะถอดใจไม่แข่งทำเวลาต่อไหม สิ่งที่เขาตอบก็คือ

“ไม่มีทางเด็ดขาด ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะแพ้ จนกว่าเราจะเข้าเส้นชัยในวันสุดท้ายของการแข่งขัน”​

ความเชื่อมั่นนี้ก็คงเป็นศรัทธาที่ทำให้นักปั่นระดับแชมป์เปียนต่างไปจากนักกีฬาคนอื่นๆ และมันคงเป็นความศรัทธาที่แลนด้าพูดถึงนั่นเองครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!