แนะนำนิตยสารจักรยาน

ผมโพสต์ไว้สองอาทิตย์ที่แล้วแล้วว่าจะเอานิตยสารจักรยานที่มีขายในบ้านเราและต่างประเทศบางเล่มมาลองแบ่งกันดู เผื่อใครสนใจอยากดูอะไรใหม่ๆ ครับ วันนี้เลยเอามาให้ดูกันห้าเล่ม บางเล่มหลายคนก็น่าจะรู้จักและเคยหยิบมาอ่านบ้างแล้ว บางเล่มอาจจะยังไม่เคยเห็น อาจจะไม่ได้เป็นนิตยสารเสือหมอบทั้งหมด แต่สำหรับคนรักจักรยานก็น่าลองอ่านดูทุกเล่มครับ

1. Crank

แครงก์เป็นนิตยสารจักรยานหน้าใหม่ พึ่งออกมาได้หนึ่งเล่มเมื่อเดือนที่แล้ว เนื้อหาจะเกี่ยวกับชีวิตของผู้คน สังคม และวัฒนธรรมการปั่นจักรยาน เนื้อหาในเล่มทำเป็นสองภาษา มีไทยและอังกฤษ หลังจากอ่านเล่มแรกทุกหน้าแล้วก็ต้องชื่นชมผู้จัดทำครับ ดูตั้งใจนำเสนอและมีเรื่องราวดีๆ ให้อ่านกันค่อนข้างแน่น เช่นในเล่มแรกมีสัมภาษณ์คุณ​ Ernesto Colnalgo ตอนที่แกมาเยือนประเทศไทย คุยกับลีโอ พุฒ ข่าวสารเรื่องจักรยานทั้งในและต่างประเทศ คุยกับนักปั่นหลากหลายพื้นเพ และมีแนะนำเส้นทางการปั่นในท้ายเล่ม ขายเล่มละ 90 หาซื้อได้ตามแผงหนังสือทั่วไปครับ

 

2. Cycling Plus

สำหรับเล่มนี้เป็นนิตยสารเสือหมอบโดยเฉพาะมาจากประเทศอังกฤษ แต่หาซื้อได้ในบ้านเรา เป็นนิตยสารที่มาตรฐานดีระดับหนึ่งทั้งด้านการนำเสนอและเนื้อหาครับ ข้อมูลอาจจะไม่ได้เจาะลึกเป็นพิเศษเหมือนในเว็บไซต์จักรยาน แต่ก็อ่านง่ายและเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มปั่นและอยากจะหาข้อมูลเพิ่มเติม มีทั้งรีวิวอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นล้อ เฟรม กรุปเซต เทรนเนอร์ เทคนิคการฝึกซ้อมและข่าวสารในวงการเสือหมอบ สนนราคาเล่มละประมาณห้าร้อยบาท หาซื้อได้ที่ร้านคิโนคุนิยะในสยามพารากอนและเอมโพเรียม ส่วนตัวแล้วผมว่าไม่คุ้มเท่าไร (แน่นอนว่าหนังสือนำเข้าราคาย่อมแพง) หลายๆ อย่างหาอ่านได้ในเว็บไซต์และเว็บบอร์ดในบ้านเราอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากลองดูอะไรใหม่ๆ ว่าในประเทศอื่นเขาเป็นยังไงก็ลองซื้อมาอ่านได้ถ้ารับราคาได้ครับ

รีวิวอุปกรณื
เทคนิคการดูแลรถ

 

3. Rouleur

ถ้าจะเปรียบนิตยสาร Cycling Plus ว่า “ซอฟท์คอร์” เพราะเนื้อหายังซอฟท์ๆ ไม่ได้เจาะลึกอะไรมาก สำหรับ Rouleur ก็คงต้องเป็นระดับ “ฮาร์ดคอร์”​ เพราะนี่คือนิตยสารเสือหมอบพันธ์ุแท้ เนื้อหาแน่นปึ้ก ทีมงานที่ผลิต Rouleur เป็นเจ้าของเดียวกับยี่ห้อ Rapha ผู้ผลิตเสื้อผ้าจักรยานชั้นนำ (ราคาแพง^^”) จากอังกฤษ เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีใจรักกีฬาแข่งขันเสือหมอบมากครับ เนื้อหาในเล่มไม่เน้นเรื่องอุปกรณ์เลย ไม่มีรีวิวอุปกรณ์ เทคนิคการปั่นอะไรพวกนั้น บทความส่วนใหญ่จะเป็นสารคดีเสียมากกว่า ที่คอลัมนิสต์ออกไปพูดคุยเก็บภาพ และถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ มีตั้งแต่ตามติดชีวิตเยาวชนที่กำลังจะเทิร์นโปรในจักรยานลู่

คอลัมนิสต์บางคนก็ไปใช้ชีวิตอยู่กับโปรทีมเล็กๆ เพื่อเขียนเกี่ยวกับชีวิตในสนามแข่ง บางคอลัมน์ก็เป็นความเรียงประวัติศาสตร์วงการจักรยาน ทั้งเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในวงการ ชีวิตของโปรหลายๆ คนที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศแล้วซื้อมาอ่านผมแนะนำให้ลองสักเล่มครับ ราคาประมาณห้าร้อยบาท แต่ว่าหนากว่านิตยสารอย่าง Cycling Plus มาก ภาพสวย กระดาษดี น่าเก็บ ผมเคยอ่านอยู่สองเล่มก็รู้สึกได้เลยว่ากีฬาเสือหมอบนี่มันลึกซึ้งกว่าที่เราคิด ความรู้เรายังเท่าหางอึ่งอยู่เลย ในยุโรปการแข่งจักรยานเสือหมอบมันเป็นวิถีชีวิต การที่ได้อ่านหนังสือเปิดหูเปิดตาแบบนี้ช่วยให้เราชื่นชมกีฬานี้มากขึ้นอีกหลายเท่า

 

4. Road Bike All Catalouge 2013

ดูจากทางยุโรปไปแล้วก็มาดูทางฝั่งญี่ปุ่นบ้าง ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่คลั่งไคล้เสือหมอบสุดๆ ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับแบรนด์จักรยานหลายยี่ห้อ และตามไสตล์ญี่ปุ่นเมื่อคลั่งไคล้อะไรแล้วก็จะสุดโต่งกับมัน หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกันครับ เป็นแคตาล๊อกจักรยานเสือหมอบและ Time Trial ของปี 2013 ซึ่งรวมทั้งหมด 151 แบรนด์ 1100 รุ่น เล่มนี้ผมซื้อมาเพราะอยากลองดูว่าข้อมูลจากทางฝั่งญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง จริงๆ แล้วมีนิตยสารเสือหมอบอีกสองสามหัว แต่ยืนเปิดๆ อ่านที่ร้านแล้วดูไม่น่าสนใจเท่าไร เลยเอาเล่มนี้มาลองครับ เพราะน่าจะเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ดี ในเล่มก็จะมีโมเดลจักรยานยี่ห้อต่างๆ รุ่นต่างๆ ให้เราดู มีข้อมูลจำพวก ใช้วัสดุอะไร ล้อขนาดไหน ราคาเท่าไร น้ำหนักเท่าไร ติดอุปกรณ์อะไรมาบ้าง ถือว่าละเอียดใช้ได้ มีหลายยี่ห้อที่เราไม่รู้ว่ามันมีอยู่บนโลกนี้ด้วย ก็น่าสนใจดี และมีเสือหมอบแบรนด์ญี่ปุ่นเองให้ดูด้วยครับ

ถามว่าคุ้มไหมกับราคา 700 บาท (ซื้อได้ที่คิโนคุนิยะ) ก็อาจจะไม่ค่อยคุ้ม ถ้าไม่ได้ใช้อ้างอิงอะไร

หนาปึ้ก…
ข้อมูลละเอียดยิบ

เฟรมแปลกๆ จากญี่ปุ่น

5. A DAY

A DAY ถือว่าเป็นหนึ่งในบรรดาสื่อที่ผลักดันให้คนไทยหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น ซึ่งพักใหญ่ๆ มานี้ก็แบ่งพื้นที่ในเล่มให้เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับจักรยานมากพอสมควร (A DAY ไม่ใช่นิตยสารจักรยานโดยเฉพาะนะครับ) ภาพลักษณ์ออกจะดูฮิปปี้ เน้นไปทางฟิกซ์เกียร์​ วินเทจสักหน่อย แต่เนื้อหาก็มีหลากหลาย ทั้งพูดคุยสัมภาษณ์กับคนรักจักรยาน ทีมจักรยานต่างๆ แนะนำหนังสือ ภาพยนตร์เกี่ยวกับจักรยาน แนะนำเส้นทางการปั่น ทิปและเทคนิคการปั่นสำหรับมือใหม่ อย่างเล่มล่าสุดก็มีประวัติ Eddaro Bianchi ให้อ่านกัน เล่มละ 80 บาท มีขายทั่วไปตามแผงหนังสือครับ

 

สรุป

หนังสือที่กำลังอ่านอยู่
หนังสือที่กำลังอ่านอยู่

หวังว่าข้อมูลจะมีประโยชน์บ้างสำหรับคนที่อยากหาสื่อเกี่ยวกับจักรยานมาเสพเพิ่มเติมจากการดูเว็บไซต์และดูแข่งขัน ผมไม่ได้ลงนิตยสารบางเล่มอย่าง Sport Street ของไทยเรา เพราะคิดว่าหลายคนน่าจะรู้จักอยู่แล้ว

นิตยสารบางเล่มที่ซื้อมาดูราคาค่อนข้างสูง ก่อนซื้อผมก็คิดอยู่ว่ามันจะคุ้มไหม แต่อีกใจก็ถือว่าซื้อความรู้ ได้เห็นได้อ่านอะไรที่มันนอกเหนือกรอบกะลาเดิมๆ ของเรา ก็ยินดีจ่าย บางเล่มก็ไม่คุ้มอย่างที่บอก แต่บางเล่มก็คุ้มเกินคุ้มเช่นนิตยสาร Rouleur การศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ยังมีหนังสือจักรยานอีกหลายเล่มที่ยังอ่านไม่จบไม่ ไว้อ่านแล้วจะเอามาแนะนำต่อๆ กันอีกทีในโอกาสหน้าครับ

 

Published
Categorized as Culture

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

5 comments

  1. Cycling Plus อ่านจาก ipad ได้ครับถูกกว่ากันมาก แนะนำอีกเล่มครับชื่อ Procycling ค่ายเดียวกับ Cycling Plus มีเรื่องราวของพวกโปรแล้วก็แข่งต่างๆ มีรีวิวรถที่ใช้ในโปรทัวร์ทุกเล่มครับ อ่านจาก Ipad ได้เหมือนกันครับ

  2. ขอบคุณมากครับ Pro Cycling ก็มีขายที่พารากอน แต่แพงเหลือเกินเล่มละเกือบห้าร้อยบาท

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *