6 จุดสำคัญของจักรยานที่ต้องเช็คก่อนออกปั่น

ทำไมต้องเช็คความปลอดภัยจักรยาน?

ถ้าคุณเป็นเหมือนผมและเพื่อนนักปั่นส่วนมาก เชื่อเลยว่าทุกวันที่จะออกปั่นก็คงอยากจะคว้าจักรยานออกไปปั่นกันเลย เราเชื่อว่าจักรยานเราคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะก็ปั่นกันแทบทุกวันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

แต่จักรยานเป็นยานพาหนะที่มีความละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะฉะนั้นก่อนปั่นแต่ละครั้งก็ควรเช็คสภาพรถกันสักนิดนึง เพื่อให้เราปั่นได้อย่างสบายใจและเตรียมการได้ล่วงหน้าว่ามีชิ้นส่วนไหนเสียหาย หรือจำเป็นต้องได้รับการดูแล อาการสึกหรอของอะไหล่เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะทำให้เกิดอุบัตเหตได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณต้องปั่นด้วยความเร็วสูงหรือไปปั่นในที่ ๆ จักรยานไม่ควรจะมีปัญหาเช่นการไต่เขา การลงเขา หรือการปั่นในเส้นทางที่อันตรายครับ แล้วต้องเช็คอะไรบ้าง?

1. เช็คเบรค

Why: เบรคคือชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดบนจักรยานเพราะมันคือวิธีเดียวที่คุณจะหยุดรถได้ หากเบรคไม่ทำงาน หรือทำงานผิดปกติก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ก่อนปั่นก็ลองหมุนล้อแล้วกำเบรคดูว่ามันทำงานผิดปกติมั้ย และระยะเบรคมันลดลงหรือเปล่า (ซึ่งอาจจะหมายถึงผ้าเบรคเริ่มสึก) ถ้าเบรคหมดสภาพก็ควรจะถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว

How: เช็คระดับความสึกของผ้าเบรคจากรอยบากที่เขาให้มาในผ้าเบรค ถ้าเนื้อผ้าเบรคยุบลงไปเป็นระนาบเดียวกับรอยบากแล้วก็ถึงเวลาต้องหาผ้าเบรคใหม่

อย่างที่สองคือต้องดูว่าเวลาเราหมุนล้อแล้วผ้าเบรคมันสีกับขอบล้อหรือเปล่า ถ้ามันถูกันแสดงว่าเบรคเราตั้งไม่ตรง ก็ขยับให้ตรงศูนย์และไม่ขูดกับขอบล้อ ไม่งั้นเวลาปั่นจะเหนื่อยฟรี! และผ้าเบรคก็จะสึกไวเกินเหตุด้วยครับ

 

2. เช็คลมยาง

Why: ก่อนออกปั่นทุกครั้งควรเช็คความดันลมยาง นั่นหมายความว่าคุณควรจะมีสูบลมประจำตัวติดบ้านไว้ครับ เดี๋ยวนี้มีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อหลายราคา พยายามเลือกสูบที่ฐานมั่นคงและหัวสูบลมดูแข็งแรงไม่สึกง่ายๆ เพราะเป็นของที่ต้องใช้ทุกวัน ยอมลงทุนซื้อสูบดีๆ สักหน่อยก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

ลมยางเป็นตัวกำหนด “ฟีล” การปั่นของเราได้มากที่สุด มีผลมากยิ่งกว่าประเภทล้อและเฟรมที่ใช้ เราควรใช้แรงดันลมยางให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว สภาพอากาศ และสภาพถนน  เราอาจจะเคยได้ยินว่าลมยางแข็งๆ ทำให้ปั่นเร็ว ก็ถือว่าจริง แต่เฉพาะกับทางที่เรียบสนิทเท่านั้น แรงกระเทือนจากการเติมลมแข็งเกินความจำเป็นจะทำให้บังคับรถได้ยาก เพราะยางไม่ให้ตัวเกาะพื้นถนน และจะเป็นอันตรายพอสมควรถ้าเราต้องลงเขาด้วยความเร็วสูงบนสภาพถนนที่ไม่ค่อยดีครับ

ขณะเดียวกันถ้าลมยางอ่อนเกินไป เราก็จะเหนื่อยเพราะต้องออกแรงปั่นมากจากการที่ยางให้ตัวมากเกินไป และเสี่ยงต่ออาการยางรั่วเพราะแรงกระแทก (pinch flat)

How: แรงดันลมยางที่เหมาะสมต้องดูปัจจัยหลายอย่าง จากน้ำหนักตัว สภาพอากาศ​ สภาพถนน และจุดประสงค์ในการใช้งาน ยากที่จะบอกว่าเท่าไรถึงพอดี แต่เราสามารถทดลองได้ครับ ให้เริ่มต้นที่ค่าปกติๆ ก่อน เช่นถ้าน้ำหนักตัวประมาณ 65 กิโลกรัม ก็อาจจะเริ่มที่แรงดันยางหน้า 100psi หลัง 105-110psi แล้วลองปั่นดูกับเส้นทางและสไตล์การปั่นเราว่าแข็งไปหรืออ่อนไป จากนั้นก็ลองปรับขึ้น หรือลง หาจุดสมดุลว่าที่ความดันระดับไหนยางจะเกาะถนนได้ดี ในขณะที่เราไม่รู้สึกว่าต้องออกแรงมากจนเกินไป

ท้ายสุดในวันที่ฝนตกก็ควรจะลดความดันลงสัก 10psi เพื่อให้ยางเกาะถนนได้ดีขึ้น

 

3. เช็คแกนปลดไว

Why: แกนปลดไว้ (Quick release skewers) คือสิ่งเดียวท่ียึดล้อขับกับตัวเฟรมจักรยาน ถ้ามันหลวมหรือมีโอกาสหลุดได้ ก็ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะฉะนั้น เราควรเช็คความแน่นของแกนปลดทุกครั้งก่อนออกปั่นครับ ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง โดยเฉพาะเวลาที่จะไปขึ้น-ลงเขา อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ​ แต่มีหลายคนแล้วที่แกนปลดหลวม แล้วล้อหลุดระหว่างปั่น! พาล้มบาดเจ็บทั้งคน ทั้งจักรยานก็เสียหายด้วย

How: เวลาเช็คความแน่นแกนปลด ให้ดูว่าแน่นระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่นเกินจนบีบเฟรมเสียหาย และไม่หลวมเกินจนรู้สึกไม่มั่นคงครับ ควรหลีกเลี่ยงแกนปลดแต่งที่มีน้ำหนักเบา โดยเฉพาะแกนปลดราคาถูกที่ไม่มีมาตรฐาน มีหลายกรณีที่แกนปลดถูกๆ พวกนี้หลุดหลวมกลางคันครับ จริงๆ แล้วแกนปลดที่แรงบีบดีที่สุด และใช้ได้ดีมากๆ คือแกนปลดที่มากับล้อคุณภาพ เช่นแกนปลดของ Shimano และ Campagnolo จะมีแรงบีบที่ดีระดับมาตรฐานวงการ มีรูปลักษณ์แกนปลดง่ายต่อการจับ น้ำหนักอาจจะมากสักนิดนึง แต่เรื่องความปลอดภัยแล้วหายห่วงได้แน่นอน

 

4. เช็คสภาพยาง

Why: ยางจักรยานเป็นส่วนที่สัมผัสกับพื้นผิวถนนโดยตรง และยางจักรยานไม่ใช่ยางที่แข็งแรง ทนทานมากเหมือนยางยานพาหนะอื่นๆ ถ้าเราดูแลเอาใจใส่มันสักหน่อยก็จะลดอัตราเสี่ยงยางรั่วกลางทาง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ของยางระหว่างปั่นได้ดีครับ

How: แต่ละสัปดาห์เราควรจะเช็คดูสภาพยางว่าสึกหรือยัง หรือว่ามีเม็ดกรวด หรือแก้วฝังอยู่ตามลายยางหรือเปล่า ถ้ามีก็ดึงมันออกมา กรวดที่ฝังอยู่ในยาง เมื่อบดทับไปเรื่อยๆ บนถนนก็มีสิทธิจะเจาะให้ยางรั่วได้ในที่สุด ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดยางบ้างเผื่อเคลียร์ฝุ่นบนหน้ายาง ช่วยให้หน้ายางเกาะถนนได้เต็มที่ ยางจักรยานมีอายุการใช้งานพอประมาณ​ ถ้ายางเริ่มแตกลายงา เริ่มเปื่อย ดอกยางหมด เริ่มไม่เกาะถนน ก็ควรเตรียมเปลี่ยนยางครับ ยางแต่ละเส้นจะใช้ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้งานบ่อยหรือเปล่าด้วย

ยางที่ราคาสูงสักหน่อยจะมีค่า TPI (Thread Per Inch) สูง ซึ่งจะช่วยให้ฟีลลิ่งการปั่นสมูท นุ่ม ลื่นและมีค่า Rolling Resisntace ต่ำ ทำให้ไม่รู้สึกหนืดเวลาปั่น หรือปั่นได้เร็วขึ้นนั่นเอง

อย่าลืมเช็คสภาพขอบล้อ (จุดที่สัมผัสกับเบรค) ถ้ามันเลอะมีคราบสกปรก หรือดินโคลนเกาะอยู่มากก็น่าจะทำความสะอาดเช็ดล้าง ขอบล้อจะได้คงสภาพดีไม่มีรอยขีดข่วนและเบรคทำงานได้เต็มที่ครับ

 

5. เช็คความแน่นของน๊อตต่างๆ

Why: ข้อนี้อาจจะไม่ถึงขนาดต้องเช็คทุกวัน แต่นานๆ ทีเช่นสองสัปดาห์ครั้งเราตรวจความแน่นของน๊อตต่างๆ ทั่วจักรยานดูก็น่าจะช่วยให้อุ่นใจขึ้นว่าปั่นไปแล้วจะไม่มีชิ้นส่วนไหนหลุดออกจากรถ ถึงการใช้งานจักรยานโดยทั่วไปจะไม่ทำให้น๊อตหลุด แต่แรงกระเทือนที่เกิดจากการใช้งานทุกวันก็มีผลให้น๊อตคลายตัวได้ครับ

How: จุดที่ควรเช็คที่สุดก็คือน๊อตที่บริเวณสเต็มและหลักอาน ถ้ารถประกอบมาดีก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เช็คไว้ก็ไม่เสียหายเพราะเป็นจุดที่รับน้ำหนักค่อนข้างเยอะตลอดเวลาและเป็นจุดที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตเยอะที่สุดไม่อยากนึกภาพเวลาสเต็มหลวมหรือหลุดตอนปั่นแรงๆ! อย่าลืมตรวจดูว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนเขาให้ขันแน่นได้เท่าไร สเต็มส่วนใหญ่จะเขียนแรงขันมาที่สเต็มอยู่แล้วครับ

 

6. เช็คโซ่

Why: โซ่จักรยานเป็นส่วนที่ใช้งานหนัก และถึงจะแข็งแรงแค่ไหนก็มีโอกาสที่จะสึกหรอได้ โซ่และเฟืองจักรยานมีอายุการใช้งานระดับหนึ่ง แต่จะสึกหรอขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานและดูแลรักษา ถ้าไม่ดูแล เกิดโซ่ขาดหรือติดขัดระหว่างปั่นจะเป็นเรื่องที่อันตรายพอสมควร เพราะอย่าลืมว่าในจังหวะที่เรากดลูกบันไดปั่นจักรยานเราออกแรงค่อนข้างมาก ถ้าโซ่ขาด ขาวืดมันก็จะเป็นอันตรายไม่น้อยครับ

How: กฏง่ายๆ คือเราควรเปลี่ยนโซ่ทุกๆ 3500-4000 กิโลเมตร และเฟืองหลังทุกๆ 7000 กิโลเมตร เปลี่ยนโซ่ประมาณ 2 เส้นต่อการเปลี่ยนเฟืองหนึ่งครั้ง (แน่นอนขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของคุณด้วย บางคนอาจจะสึกเร็ว บางคนอาจจะสึกช้า)

ร้านจักรยานแทบทุกร้านจะมีไม้บรรทัดวัดความตึงของโซ่อยู่แล้ว ให้ช่างช่วยเช็คดูว่าหย่อนเกินหรือยัง ถ้าโซ่ห่างกันมากก็แสดงว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้วครับ

ก่อนปั่นเราสามารถเช็คความผิดปกติของโซ่ได้ง่ายๆ ด้วยการหมุนบันไดย้อนหลัง ค่อยๆ ดูอาการหมุนของโซ่ที่ละข้อ มีจุดไหนติดขัดไม่ลื่นไหลตามปกติหรือเปล่า?

ใช้ผ้าสะอาดกำรอบโซ่แล้วหมุนบันไดรูดเช็ดทำความสะอาดดึงเอาฝุ่นและคราบต่างๆ ที่เกาะโซ่ออกก่อนสักหน่อย แล้วใช้น้ำมันหยดโซ่สำหรับจักรยาน หยดทีละข้อ (ไม่ต้องเยอะมาก) รอให้แห้งสัก 10 นาที แล้วก็ใช้ผ้าเช็ดออกจนสะอาด ก็จะทำให้โซ่ลื่นไหลใช้งานได้ดี และไม่ดำครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!