วันสุดท้ายของคาเดล เอวานส์

คุณเคยถามตัวเองไหมครับว่าคุณจะทำอะไรในวันสุดท้ายของการทำงาน? 

เยนส์ โว้กอำลาวงการด้วยการทำลายสถิติโลก Hour Record แต่ไม่ใช่สำหรับคาเดล เอวานส์ เขาก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดที่ไม่จำเป็นต้องขวนขวายอะไรอีกต่อไปแล้วในฐานะนักปั่น (การที่เขามีสนามแข่งตั้งตามชื่อเขาก็คงจะพอบอกถึงความสำเร็จได้ไม่น้อย — งานแข่ง Cadel Evan’s Great Ocean Road Race เริ่มพรุ่งนี้ครับ) เราอาจจะพูดได้เต็มปากว่า เอวานส์คือนักปั่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ออสเตรเลียเคยสร้างมา

DT เคยพูดถึงอาชีพการปั่นของคาเดลไปแล้วใน บุคคลในความทรงจำ วันนี้เลยอยากจะพูดถึงชีวิตของคาเดลอีกมุมหนึ่งครับ เชื่อว่าเพื่อนนักปั่นหลายคนเติบโตมาในบุคที่แลนซ์ อาร์มสตรองเป็นราชันย์แห่งวงการ แต่สำหรับเจเนอเรชัน Y อย่างผม เริ่มรู้จักการแข่งเสือหมอบก็เข้าช่วงปี 2006 ที่นักปั่นชื่อดังไม่ใช่ชายหนุ่มทีม Postal Service จากรัฐเทกซัสแล้ว

อาชีพของเอวานส์จัดได้ว่าเป็นนักปั่นที่สมบูรณ์แบบคนหนึ่งเท่าที่คุณจะหาได้ เขาเริ่มจากการปั่นเสือภูเขา ก่อนที่จะกระโดดเข้ามาวงการเสือหมอบ เช่นเดียวกับนักปั่นแนวหน้า เขามีผลงานโดดเด่นตั้งแต่อายุไม่ถึง 25 ปี อย่างการคว้าเสื้อผู้นำชมพูใน Giro d’Italia เขาไม่ใช่นักปั่นที่ฟอร์มพุ่งในระยะเวลาสั้นๆ แต่เป็นคนที่คงเส้นคงวา ไม่ใช่แค่นักปั่นสายไต่เขา แต่เขามีทักษะครบพร้อมทุกอย่าง เขาสปรินต์ได้ Time Trial ได้ดี แข่งได้ทั้งสนามวันเดียวและสเตจเรซหลายวัน ดังที่เห็นในผลงานชิ้นโบว์แดง: แชมป์โลกจักรยานถนนปี 2009 และแชมป์รายการ Tour de France ในปี 2011

Cadel Evans (3 of 6)

แต่ก่อนจะขึ้นถึงยอดสูงสุด แชมป์เปี้ยนทุกคนต้องข้ามเขาสูงชัน หลายคนพลาดตกไป หลายคนไม่เคยได้ขึ้นไปสูดอากาศบนยอดที่เขาใฝ่ฝันอีกเลย

คาเดลเป็นเสมือนม้านอกสายตามาตลอด เขาไม่ใช่นักปั่นชื่อติดปากที่มีแฟนคลับอุ่นหนาฝาคั่งอย่างอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ และคาร์ลอส ซาสเตร้ แย่ไปกว่านั้น เขาเป็นศัตรูกับสื่อแทบทุกสำนักด้วยคำพูดที่ไม่เคยถนอมน้ำใจผู้สื่อข่าว และเป็นคนที่มีบุคลิกสองขั้วทั้งก้าวร้าวและสุขุม แต่มันก็สะท้อนคาแรคเตอร์การปั่นเขาได้ชัดเจนที่สุด: มุ่งมั่น หนักแน่น และไม่เคยยอมแพ้

ทุกครั้งที่เขาพ่ายในสนามแข่ง การันตีได้ว่าไม่ใช่เพราะเขาถอดใจ ในปี 2006 สเตจสุดท้ายรายการ Tour de Romandie คาเดลพลิกเกมขึ้นมาชนะอเลฮานโดร วาวเวอเด้และอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ ในสเตจ Time Trial ที่เขาชิงเวลาคืนมาร่วมนาทีเต็ม สองปีถัดมาเขาพ่ายแชมป์ตูร์ถึงสองครั้งต่อกัน ((ได้อันดับ 2 Tour de France ในปี 2007–2008)) แต่ก็พลิกกระดานกลับมาคว้าแชมป์โลกเสือหมอบด้วยการโซโล่เดี่ยวเกือบ 5 กิโลเมตร หนีกลุ่มตัวเต็ง — รวมถึงเพื่อนร่วมทีมชาติออสเตรเลียที่ไม่ช่วยเขาทำเกม

ชีวิตแชมป์โลกของเอวานส์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อทีม Lotto ไม่สนับสนุนเขาลงแข่งขันแกรนด์ทัวร์ คาเดลจำใจต้องย้ายจากบ้านเบลเยียมไปอยู่บ้านอเมริกากับทีมน้องใหม่ BMC Racing ที่เปิดตัวในระดับดิวิชันสอง — แน่นอน ปีแรกของการเป็นกัปตัน BMC ไม่ใช่ปีที่เขาจะคิดคว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์ได้ง่ายๆ เพราะแค่ทีมจะได้รับเชิญไปงานแข่งยังแทบต้องอ้อนวอนผู้จัด แต่ปีถัดมา เขาทำในสิ่งที่ทุกคนไม่เคยเชื่อ: คว้าแชมป์ Tour de France

แฟนๆ การแข่งขันอาจจะจำได้ว่าคาเดลเอาชนะแอนดี้ ชเล็คพลิกล็อกชิงเสื้อเหลืองในสเตจรองสุดท้าย (Time Trial) แต่นั่นไม่ใช่จังหวะที่ทำให้เขาชนะตูร์ครับ

ตั้งแต่สเตจแรก คาเดลเปิดเกมรุกเป็นคนแรก ทำเวลาหนีห่างแอนดี้ถึง 1’34 นาทีและเก็บได้อีก 8 วินาทีบนเขา Mur de Bretagne ในสเตจ 4

ที่เยี่ยมยอดกว่านั้นคือในสเตจ 16 ที่คอนทาดอร์รุกกระชากกลุ่มบนทางขึ้นเขา Col de Manse คาเดลรีบประกบตาม และนี่คือจังหวะพลิกเกมที่ทุกคนลืมไป เพราะทั้งคู่ทิ้งแอนดี้ได้เกือบ 30 วินาที ถึงจังหวะลงเขาไปยังเมือง Gap (ฮุชชอฟได้แชมป์สเตจ) เอวานส์ดิ่งแบบท้านรกเร่งทำเวลาในทางลงเขาที่ขึ้นชื่อว่ายากเป็นอันดับต้นๆ ในสเตจตูร์ (และเป็นจุดอ่อนสำคัญของแอนดี้) เอวานส์เข้าเส้นชัยก่อนคอนทาดอร์แค่ 3 วินาที แต่นำแอนดี้ถึง 1’09 นาที

การโจมตีของคาเดลไม่น่าจดจำเหมือนชเล็คคนน้องที่โชว์ลีลาการไต่เขาในสเตจ 18 คว้าแชมป์บนยอดกาลิบิเยร์ แต่จังหวะรุกเล็กๆ สามครั้งในสเตจที่ทุกคนไม่สนใจ เก็บเวลามาให้คาเดล 2’34 นาทีเต็มๆ ถ้าเอวานส์ไม่เก็บเล็กผสมน้อยตลอดสามสัปดาห์ เขาคงไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะพลิกล็อกชนะแอนดี้ในสเตจสุดท้ายอย่างแน่นอน

ผมเชื่อว่าตูร์ปี 2011 สะท้อนภาพอาชีพนักปั่นของคาเดลได้สมบูรณ์แบบที่สุด ถึงเขาจะไม่เคยได้เข้าใกล้โพเดี้ยมแกรนด์ทัวร์อีกเลย แต่สิ่งที่เขามี — และผมเชื่อว่านักปั่นเก่งๆ หลายคนไม่มี — คือ 1. จิตวิญญาณนักสู้ที่ในหัวไม่มีนิยามคำว่ายอมแพ้ และ 2. ศิลป์แห่งการแข่งจักรยาน

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมนักปั่นเก่งๆ เขาถึงอยู่หน้ากลุ่มได้ตลอด? ถ้าอยู่กลุ่มหน้าไม่ได้ ตัวเต็งก็ออกโจมตีชงเกมการแข่งเอาชนะคู่ต่อสู้ไม่ได้ ศิลป์ของการแข่งขันที่ว่าคือทักษะความไหวพริ้วในการปั่นกลุ่ม คาเดลแทบไม่เคยพลาดจังหวะสำคัญของการแข่งเพราะเขาดันตัวเองขึ้นมาอยู่หน้าขบวนได้ทุกครั้งเมื่อจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและมักจะเป็นจุดอ่อนที่นักปั่นหน้าใหม่พลาดเสมอๆ ในช่วงหลังๆ ที่เขาฟอร์มแผ่วไป แต่ก็ยังได้อันดับ 3 Giro ปี 2013 และมีผลงานสเตจวินให้เห็นบ้าง Tour of Utah 2014 ที่เขาได้แชมป์สองสเตจรวด แม้แต่ใน Tour Down Under ปีล่าสุดเขายังทำได้ถึงอันดับสาม ในฟิลด์นักแข่งที่บอกได้เลยว่าไม่ง่ายสำหรับนักปั่นที่อยู่ในช่วง “ขาลง”

กว่า 2 ทศวรรษที่ออสเตรเลียสร้างนักปั่นระดับโลกเข้าสู่วงการ ไม่มีใครทำผลงานได้มากและสมบูรณ์แบบเท่าคาเดล ฟิล แอนเดอร์สันอาจจะเป็นคนแรกที่ได้สวมเสื้อเหลือง แต่คาเดลคือคนเดียวที่ได้ใส่มันบนยอดโพเดี้ยมกลางกรุงปารีส

สิ่งที่ทำให้ผมชอบนักปั่นอย่างวิกกินส์และเอวานส์ไม่ใช่เพราะเขาเป็นยอดนักกีฬาที่ขึ้นถึงยอดเขาได้เป็นคนแรกครับ แต่เป็นคาแรคเตอร์ที่โชว์ความเป็นมนุษย์ได้หมดจด “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ตรงนี้ที่เป็นสเน่ห์ เรื่องราวของทั้งคู่มีทั้งความพ่ายแพ้ ความหัวรั้น และก้าวร้าวที่เป็นคู่ตรงข้ามกับนักปั่นอย่างคอนทาดอร์และชเล็ค หลายครั้งคาเดลทำให้นักวิจารณ์ต้องกลืนเลือดพลิกล๊อกเอาชนะตัวเต็งคนอื่น ภายนอกเขาอาจจะเป็นสิงห์ไร้เขี้ยว แต่คุณอย่าได้คิดเผลอแม้แต่วินาทีเดียว ถามแอนดี้ ชเล็คได้ว่าความเจ็บปวดที่โดนพรากเสื้อเหลืองในวันสุดท้ายของการแข่งขันจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกมันช้ำขนาดไหน

หลายคนบอกว่าคาเดลโดน “ปล้น” แชมป์ไปหลายครั้งจากโด้ปเปอร์… ใช่ครับ คาเดลอาจจะไม่ได้แชมป์หลายรายการเหมือนนักปั่นบางคน แต่เขาก็พูดได้เต็มปากว่าชัยชนะของเขาจะไม่มีวันถูกขีดค่าออกในอีกสิบปีข้างหน้าแน่นอน

ps. ทิ้งท้ายด้วยสารคดีจาก ESPN 50 นาทีที่พูดถึงชีวิตการแข่งของคาเดล ไม่ควรพลาดครับ :)

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *