เพราะเหตุใดร้านกาแฟจึงเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักปั่นทั่วโลก ทั้งเป็นจุดนัดพบก่อนปั่นและจุดหมายปลายทางของการปั่น? ทำไมในกีฬาเพื่อนบ้านของเราอย่างการวิ่ง เราจึงไม่เห็นวัฒนธรรมกาแฟนี้เด่นชัดเท่า? เป็นเพราะค่านิยมหรือเป็นเพราะกาแฟมันมีประโยชน์ต่อการปั่นจริง ๆ ?
วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน ว่าจริงๆ แล้วเนี่ย กาแฟมันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปั่นจริงหรือเปล่า?
* * *
เข้าใจคาเฟอีน
กาแฟแต่ละประเภทมีคาเฟอีนเยอะแค่ไหน?
คาเฟอีนเป็นสารประกอบจำพวกเมธิลแซนธีนที่คนรู้จักกันอย่างแพร่หลายเพราะคุณสมบัติการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง หรือการ “แก้ง่วง” นั่นเอง นอกจากาแฟแล้ว เรายังสามารถบริโภคคาเฟอีนได้จากช็อกโกแลตและชา แต่ปริมาณมีน้อยกว่ากาแฟมาก นอกจากนี้คาเฟอีนยังพบในผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น โคลา เครื่องดื่มชูกำลัง เอเนอจี้เจลบางสูตร หมากฝรั่ง ไปจนกระทั่งในรูปแบบอัดเม็ดแบบยาเม็ดอีกด้วย
ตารางด้านล่างนี้ แสดงถึงปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่ม/อาหาร/ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สังเกตว่าถ้าเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ปริมาณคาเฟอีนจะต่างกันได้มาก อย่างกาแฟก็ขึ้นกับชนิดของเมล็ดกาแฟ (โรบัสต้ามีมากกว่าอราบิก้า) ความลึกในการคั่วเมล็ดกาแฟ (คั่วอ่อนมีมากกว่าคั่วเข้ม) วิธีการชง (เอสเปรสโซหรือฟิลเตอร์) ปริมาตรเครื่องดื่ม อุณหภูมิที่ใช้ชง ฯลฯ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจะกำหนดโดสที่เราจะได้รับได้แม่นยำกว่า
อาหาร/เครื่องดื่ม/ผลิตภัณฑ์ | ขนาด | ปริมาณคาเฟอีน (มก.) |
---|---|---|
(อิตาเลียน) เอสเปรสโซ | ซิงเกิลช็อต (25 มล.) | 96–201* |
“เครื่องดื่ม” เอสเปรสโซ (ร้อน) | 1 แก้ว | 106 (25–214)† |
กาแฟเกล็ดสำเร็จรูป | 250 มล. | 60 (12–169) |
กาแฟดีแคฟ | 473 มล. | 10–25 |
ชา | 250 มล. | 27 (9–51) |
สตาร์บัคส์ อเมริกาโน (ร้อน) | Short (236 มล.) | 75‡ |
สตาร์บัคส์ อเมริกาโน (ร้อนและเย็น) | Tall (354 มล.) | 150‡ |
สตาร์บัคส์ อเมริกาโน (ร้อนและเย็น) | Grande (473 มล.) | 225‡ |
สตาร์บัคส์ อเมริกาโน (ร้อนและเย็น) | Venti (591 มล.) | 300‡ |
โคคา-โคลา | 1 กระป๋อง (330 มล.) | 40 |
ดาร์คช็อกโกแลตแท่ง | 60 กรัม | 10–50 |
PowerBar caffeinated sports gel | 1 ซอง (40 กรัม) | 25 |
GU caffeinated sports gel | 1 ซอง (32 กรัม) | 20 |
* จากการศึกษาแบบควบคุมตัวแปรทุกอย่าง1 ให้ได้ซิงเกิลเอสเปรสโซที่ “ถูกต้อง” ตามมาตรฐานที่กำหนดโดย Italian Espresso National Institute คือผงกาแฟ 7.5 กรัม, ชงด้วยแรงดัน 9 บาร์, อุณหภูมิสกัด 88 องศาเซลเซียส, ระยะเวลาสกัด 25 วินาที, และปริมาตรเครื่องดื่ม 25 มล. ปัจจัยที่ทำให้ปริมาณคาเฟอีนต่างกันคือเมล็ดกาแฟว่าเป็นอราบิก้า โรบัสต้า หรือเบลนด์กันระหว่างสองพันธุ์
† จากอีกการศึกษาหนึ่งในออสเตรเลีย2 ที่ผู้วิจัยเข้าไปสั่ง “เอสเปรสโซ 1 แก้ว” จากร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้า รวม 100 แก้ว แล้วนำกลับมาวิเคราะห์ในห้องทดลอง สิ่งที่ได้จึงหลากหลายสุด ๆ ขึ้นกับสูตร วิธี ประสบการณ์บาริสต้า ฯลฯ ซึ่งอาจไม่เหมือนอิตาเลียนเอสเปรสโซในข้อแรก บางแก้วปริมาตรกาแฟเกิน 200 มล.ด้วยซ้ำไป (แต่ผู้ทดลองไม่ได้วิเคราะห์ตัวอย่างนั้น เพราะไม่สามารถนับว่าเป็นเอสเปรสโซได้)
‡ https://www.starbucks.ca/menu/nutrition-info
จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ปริมาณคาเฟอีนที่เราสามารถบริโภคได้ต่อวันโดยไม่เกิดผลเสียในระยะยาวคือ 400 มก.3 เทียบเท่าเครื่องดื่มเอสเปรสโซ 1–4 แก้ว
* * *
คาเฟอีนกับกีฬาเอนดิวรานซ์
กาแฟช่วยให้คุณปั่นดีขึ้นได้ยังไง?
กลไกการออกฤทธิ์ของคาเฟอีนที่ส่งผลต่อการเล่นกีฬานั้นเกิดจากหลายกลไกมาก ๆ ทั้งทางระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ เช่น การกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้ตื่นตัว4 การกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟินซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด5 กระตุ้นการใช้กรดไขมันเป็นพลังงานและชะลอการใช้ไกลโคเจนที่สะสมในกล้ามเนื้อ6,7 และกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกายโดยรวม8 เป็นต้น
งานวิจัยเกือบทั้งหมดพบว่าคาเฟอีนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการปั่นได้ประมาณ 3–4% ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย9 พบว่าการใช้คาเฟอีนที่โดส 2 และ 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (จากนี้จะย่อว่า มก./กก.) ก่อนเริ่มปั่น 60 นาที สามารถเพิ่มวัตต์ในการปั่นไทม์ไทรอัลระยะ 15 นาทีได้เฉลี่ย 4% และ 3% ตามลำดับ
หรืออย่างงานจากสถาบันการกีฬาแห่งออสเตรเลีย10 ก็พบว่าการใช้คาเฟอีน 6 มก./กก. ก่อนปั่น 60 นาที หรือ 1 มก./กก. x 6 ครั้ง ทุก ๆ 10 นาทีระหว่างปั่น ก็สามารถลดเวลาที่ใช้ในการปั่นไทม์ไทรอัลระยะ 30 นาทีได้เฉลี่ย 3% ทั้งคู่ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยทำนองนี้อีกมากที่ไม่ได้ยกมา แต่ก็ให้ผลลัพธ์คล้าย ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ก็มีงานวิจัยที่ไม่พบว่าคาเฟอีนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพอยู่เหมือนกัน เช่นงานจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์11 ปรกติการศึกษาเรื่องคาเฟอีนกับจักรยานถนนจะทดสอบโดยให้ปั่นไทม์ไทรอัล เพราะสามารถทำซ้ำได้ง่าย ตัวแปรน้อย ผลลัพธ์ค่อนข้างคงที่ และในงานที่พบประโยชน์ของคาเฟอีนนั้น จะใช้ระยะไทม์ไทรอัลประมาณ 15–60 นาที
ส่วนคณะผู้วิจัยในกรณีนี้ให้ผู้เข้าทดลองบริโภคคาเฟอีน 6 มก./กก. ก่อนปั่น 60 นาที จากนั้นเติมอีก 0.33 มก./กก. ทุก 15 นาทีระหว่างปั่น แต่ให้ปั่นระยะไกลถึง 100 กม. ซึ่งผู้เข้าทดลองต้องใช้เวลาประมาณ 150 นาทีจึงปั่นจบ และในกรณีนี้ ไม่พบว่าแตกต่างจากการให้ยาหลอก เราจึงจะเห็นได้ว่าระยะทำการของคาเฟอีนมีจำกัด ไม่สามารถเพิ่มกำลังวัตต์ได้ฟรี ๆ ไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะคอยเติมอยู่ตลอดก็ตาม
ประโยชน์ของคาเฟอีนต่อกีฬาเอนดิวรานซ์นั้นไม่จำกัดอยู่เพียงจักรยานเท่านั้น การทดลองจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคาโรลินสกาในประเทศสวีเดน12 ทดลองให้คาเฟอีนในนักกีฬาสกีครอสคันทรีระยะ 21 กม. ก็พบว่าสามารถลดระยะเวลาในการสกีลงได้เล็กน้อยเหมือนกัน
* * *
คาเฟอีนกับกีฬาประเภทอื่น ๆ
กาแฟช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกีฬาไหนบ้าง?
นอกจากกีฬาเอนดิวรานซ์ที่กินเวลา ≥60 นาทีแล้ว การศึกษาในกีฬาจำพวกที่ต้องออกแรงคงที่เหมือนกัน แต่สั้นกว่าและหนักกว่า (1–60 นาที) เช่น พายเรือ 2,000 เมตร13, วิ่ง 1,500 เมตร14, ว่ายน้ำฟรีสไตล์ 1,500 เมตร15, หรือ ไทม์ไทรอัลในเวโลโดรม 1 กม. (จักรยานลู่)16 ก็พบตรงกันทั้งหมดว่าคาเฟอีนโดสประมาณ 3–6 มก./กก.ช่วยเพิ่มความเร็วในการจบอีเวนต์เช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจมากอีกอย่าง คือการทดลองบริโภคคาเฟอีนในกีฬาประเภททีมอย่างรักบี้จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนิวซีแลนด์17 ซึ่งพบว่านอกจากความเร็วในการวิ่งสปรินต์จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแล้ว การผ่านบอลยังทำได้แม่นยำขึ้น 10% ด้วย
การศึกษานี้น่าสนใจเพราะน่าจะเป็นการศึกษาแรกที่พิสูจน์ว่าคาเฟอีนมีส่วนช่วยด้านทักษะ/ความแม่นยำเวลาเล่นกีฬาด้วย เนื่องจากที่ผ่าน ๆ มาคนจะสนใจพิสูจน์ผลด้านความอึด/พละกำลังกันเสียมากกว่า
อันที่จริงก็แปลกตรงที่ในชีวิตประจำวัน นอกเหนือบริบทกีฬาแล้ว เราบริโภคคาเฟอีน/กาแฟเพื่อเพิ่มสมาธิและความตื่นตัวกันมากกว่า ดังนั้นมันจึงเมคเซนส์มากถ้าคาเฟอีนจะช่วยด้านทักษะที่ต้องอาศัยความแม่นยำเช่นการผ่านบอลดังที่กล่าวไป เห็นอย่างนี้แล้ว บางทีคาเฟอีนอาจจะช่วยให้เราเกาะดูดล้อคันหน้าได้ใกล้ขึ้นอีกนิด ลงเขาแล้วเบรคใกล้หัวโค้งขึ้นอีกหน่อยก็เป็นได้
กีฬาประเภทสุดท้ายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือกีฬาพวกเน้นพละกำลังสูงสุด อย่างยกน้ำหนัก และพวกกีฬาสร้างกล้ามทั้งหลายน่ะครับ สรุปสั้น ๆ ก็คือข้อมูลยังมีน้อยอยู่ ไม่ค่อยมีใครศึกษา และยังสรุปอะไรมากไม่ได้ว่าช่วยหรือไม่ช่วย
* * *
คำแนะนำ
Not all coffee is created equal
อ่านจบแล้วเหมือนกาแฟจะดีไปเสียทุกอย่างเลยไหมครับ แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ อย่างการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียที่ได้กล่าวถึงในย่อหน้าก่อน9 ถึงค่าเฉลี่ยจะพบว่าคาเฟอีนช่วยให้ออกแรงได้มากขึ้นจริง แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะเห็นว่าผู้เข้าทดลอง 3 จาก 13 คนออกแรงได้น้อยลงเมื่อได้รับคาเฟอีนเข้าไป ในขณะที่อีก 1 คน แทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทดลองทางชีววิทยาที่มีความซับซ้อนและความไม่แน่นอนอยู่เสมอ ดังนั้นตัวเราอาจเป็น 1 ใน 4 คนที่ไม่ได้ประโยชน์จากสารเคมีชนิดนี้ก็ได้
ความไม่แน่นอนของปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มกาแฟก็อาจเป็นอุปสรรคหนึ่งหากต้องการหวังผลจริง ๆ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าในกาแฟแต่ละแก้วนั้นมีคาเฟอีนอยู่กี่มิลลิกรัม โดสถึงหรือไม่ถึงระดับที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ดังนั้นหากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในงานแข่ง การใช้คาเฟอีนที่รู้โดสชัดเจนก็จะช่วยแก้ปัญหาโดสไม่ถึงระดับได้ ถ้ากลับไปที่การศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย9 ในย่อหน้าเมื่อกี้อีกที เขาพบว่าที่โดส 1 มก./กก. เฉลี่ยแล้วไม่มีประสิทธิภาพอะไรเลยในผู้เข้าทดลอง 13 คน
อีกประเด็นที่อยากจะเตือนผู้อ่าน คือ “กาแฟ” ในฐานะเครื่องดื่มนั้น หากเป็นกาแฟดำ ปัจจุบันเชื่อกันว่าประโยชน์มากกว่าโทษ แต่เราต้องระวังส่วนประกอบอื่น ๆ ที่อาจถูกเติมแต่งลงไปกับกาแฟด้วย เช่น ไซรัป ครีมเทียม น้ำตาล นมข้นหวาน นมข้นจืด ฯลฯ หักลบกันแล้วโทษอาจแซงประโยชน์ได้นะครับ
นอกจากนี้ คาเฟอีนยังมีผลข้างเคียงระยะสั้นอย่างรบกวนวงจรการนอน ทำให้กระสับกระส่าย ทำให้มือสั่น หรืออาจทำให้รู้สึก “วิ้ง ๆ มึน ๆ” ก็ได้ จึงต้องระลึกถึงผลข้างเคียงเหล่านี้ไว้เสมอ แต่ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนปั่นจักรยาน คงหนีไม่พ้นฤทธิ์การกระตุ้นลำไส้ล่ะครับ แต่ละคนก็ไวต่อฤทธิ์นี้ของมันไม่เท่ากัน ดังนั้นหากปรกติไม่ได้ดื่มกาแฟ อยากจะลองดู แนะนำว่าค่อย ๆ เริ่มจากน้อย ๆ ก่อนครับ คงไม่มีประโยชน์อะไรหากหวังให้ถึงจุดหมายเร็วขึ้น 30 วินาที แต่กลับต้องเสียเวลาแวะเข้าห้องน้ำ หรือแย่กว่านั้นคือหลบเข้าข้างทางไป 5 นาที
* * *
อ้างอิง
- Caprioli G, Cortese M, Maggi F, Minnetti C, Odello L, Sagratini G, Vittori S: Quantification of caffeine, trigonelline and nicotinic acid in espresso coffee: the influence of espresso machines and coffee cultivars. Int J Food Sci Nutr 2014, 65(4):465–9.
- Desbrow B, Hughes R, Leveritt M, Scheelings P. An examination of consumer exposure to caffeine from retail coffee outlets: Food Chem Toxicol 2007, 45(9):1588–92.
- Poole R, Kennedy OJ, Roderick P, Fallowfield JA, Hayes PC, Parkes J: Coffee consumption and health: umbrella review of meta-analyses of multiple health outcomes. BMJ 2017, 359:j5024.
- Fredholm BB, Bättig K, Holmén J, Nehlig A, Zvartau EE: Actions of caffeine in the brain with special reference to factors that contribute to its widespread use. Pharmacol Rev 1999, 51(1):83–133.
- Laurent D, Schneider KE, Prusaczyk WK, Franklin C, Vogel SM, Krssak M, Petersen KF, Goforth HW, Shulman GI: Effects of caffeine on muscle glycogen utilization and the neuroendocrine axis during exercise. J Clin Endocrinol Metab 2000, 85(6):2170–75.
- Essig D, Costill DL, Van Handel PJ: Effects of caffeine ingestion on utilisation of muscle glycogen and lipid during leg ergometer exercise. Int J of Sports Med 1980, 1(2):86–90.
- Spriet LL, MacLean DA, Dyck DJ, Hultman E, Cederblad G, Graham TE: Caffeine ingestion and muscle metabolism during prolonged exercise in humans. Am J Physiol 1992, 262(6 Pt 1):E891–8.
- Astrup A, Toubro S, Cannon S, Hein P, Breum L, Madsen J: Caffeine: A double-blind, placebo-controlled study of its thermogenic, metabolic, and cardiovascular effects in healthy volunteers. Am J Clin Nutr 1990, 51(5):759–67.
- Jenkins NT, Trilk JL, Singhal A, O’Connor PJ, Cureton KJ: Ergogenic effects of low doses of caffeine on cycling performance. Int J Sport Nutr Exerc Metab 2008, 18(3):328–42.
- Cox GR, Desbrow B, Montgomery PG, Anderson ME, Bruce CR, Macrides TA, Martin DT, Moquin A, Roberts A, Hawley JA, Burke LM: Effect of different protocols of caffeine intake on metabolism and endurance performance. J Appl Physiol (1985) 2002, 93(3):990–9.
- Hunter AM, St Clair Gibson A, Collins M, Lambert M, Noakes TD. Caffeine ingestion does not alter performance during a 100-km cycling time-trial performance. Int J Sport Nutr Exerc Metab 2002, 12(4):438–52.
- Berglund B, Hemmingsson P: Effects of caffeine ingestion on exercise performance at low and high altitudes in cross-country skiers. Int J Sports Med 1982, 3(4):234–6.
- Bruce CR, Anderson ME, Fraser SF, Stepto NK, Klein R, Hopkins WG, Hawley JA: Enhancement of 2000-m rowing performance after caffeine ingestion. Med Sci Sports Exerc 2000, 32(11):1958–63.
- Wiles JD, Bird SR, Hopkins J, Riley M: Effect of caffeinated coffee on running speed, respiratory factors, blood lactate and perceived exertion during 1500-m treadmill running. Br J Sports Med 1992, 26(2):116–20.
- MacIntosh BR, Wright BM: Caffeine ingestion and performance of a 1,500-metre swim. Can J Appl Physiol 1995, 20(2):168–77.
- Wiles JD, Coleman D, Tegerdine M, Swaine IL: The effects of caffeine ingestion on performance time, speed and power during a laboratory-based 1 km cycling time-trial. J Sports Sci 2006, 24(11):1165–71.
- Stuart GR, Hopkins WG, Cook C, Cairns SP: Multiple effects of caffeine on simulated high-intensity team-sport performance. Med Sci Sports Exerc 2005, 37(11):1998–2005.
