ใช้เสือหมอบแทนจักรยานไตรกีฬาได้ไหม?

สองปีมานี้ ชัดเจนว่ามีคนหันมาให้ความสนใจวงการไตรกีฬาและทวิกีฬามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้จัดการแข่งขันเอง ที่มีความถี่ในการจัดงานแข่งมากกว่าเดิม ทั้งยังมีการเปิดแข่งขันในระยะใหม่ๆ เช่น ระยะ 70.3 หรือ 140.6 ที่เราคุ้นหูกันในชื่อ Half Ironman และ Full Ironman เพิ่มขึ้นภายในประเทศอีกด้วย

ในส่วนของผู้คนทั่วไปหรือนักกีฬาที่เล่นเฉพาะบางกีฬา เช่น วิ่งหรือปั่นเพียงอย่างเดียว ก็มีแนวโน้มที่จะลองเพิ่มชนิดกีฬาให้มากขึ้นเพื่อหันมาลองเล่นไตรกีฬาหรือทวิกีฬากัน ซึ่งเราจะเห็นได้จากปริมาณของผู้เข้าร่วมแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ งานในช่วงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

แต่ไม่ว่าจะแข่งไตรกีฬาหรือทวิกีฬา สิ่งที่เราต้องมีก็คือจักรยานครับ (วิ่ง+ปั่น หรือ ว่ายน้ำ+ปั่น+วิ่ง) ปัญหาคือจักรยานที่ผลิตมาเพื่อใช้ในการแข่งขันด้านไตรกีฬานี้ ราคาสูงกว่าจักรยานเสือหมอบอยู่ไม่น้อย

ครั้นจะลองเริ่มเล่นไตรกีฬาแล้วจะต้องไปซื้อรถไตรเลย ก็ต้องใช้งบเริ่มต้นหลายหมื่นบาท แล้วทีนี้ยังไงดีหละ..!! จะเริ่มจากเอาจักรยานเสือหมอบที่ราคาถูกกว่าหรือที่มีอยู่แล้วไปใช้งานแทนก่อนได้ไหม? จำเป็นด้วยหรือที่ต้องใช้รถไตรเพียงอย่างเดียว แล้วมันมีอะไรที่เราต้องดูเพิ่มอีกไหม? วันนี้เราจะมาช่วยอธิบายและตอบคำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับการนำเสือหมอบไปใช้ในการแข่งขันไตรกีฬา รวมถึงข้อควรระวังที่ต้องดูเป็นพิเศษครับ

 

จักรยานเสือหมอบ vs จักรยานไตรกีฬา

เริ่มต้นเลยเราจะมาอธิบายให้เข้าใจถึงความแตกต่างของเสือหมอบและรถไตรกันก่อนครับ

สิ่งที่เราเห็นกันถึงความแตกต่างที่ชัดเจนเลยก็คือ ชุด handlebar (แฮนด์) ครับ เสือหมอบเองจะมีลักษณะโค้งคว่ำลงด้านล่างเพื่อให้สามารถจับส่วนดรอปเพื่อท่าปั่นที่ลู่ลม

สำหรับรถไตรเองจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงโดยตัวแฮนด์จะประกอบไปด้วยสองส่วน คือ base bar (เบสบาร์) ที่จะเป็นตำแหน่งจับคล้ายเสือหมอบมีไว้สำหรับการขี่ที่ต้องใช้ความระมัดระวังเช่นตอนเข้าโค้ง หรือยืนโยกในบางจังหวะ เบสบาร์ให้ความมั่นคงในการบังคับตัวรถกว่าส่วนแอโรบาร์ และตำแหน่งเบรกเองก็จะติดตั้งอยู่ในจุดนี้ด้วย

ส่วนที่สองคือ aerobar (แอโรบาร์) คือส่วนที่ไว้สำหรับรองรับแขนท่อนล่าง ถ้าเราวางแขนไว้ที่จุดนี้ก็จะได้ท่าปั่นที่ลู่ลมดีที่สุดสำหรับการขี่จักรยาน

ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นแบบนี้ นั่นก็เพราะในการปั่นจักรยานปัจจัยหลักเลยที่เราต้องเจอ นั่นก็คือเรื่องของแรงต้านอากาศ ถ้าเราลดพื้นที่หน้าตัดที่ลมจะเข้ามาปะทะตัวเราได้เท่าไหร่ ก็จะช่วยให้ลดแรงต้านได้มากขึ้นเท่านั้น อธิบายง่ายๆ ก็คือไปได้เร็วขึ้นที่การออกแรงเท่าเดิมครับ

เนื่องจากในการแข่งขันไตรกีฬาเองจะมีกฎในการปั่นแบบ non drafting หรือที่เราคุ้นเคยกันในภาษาจักรยานก็คือ ห้ามดูด/จี้ท้ายกัน เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะต้องพยายามไปให้เร็วขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากการลดแรงปะทะของลมให้ได้มากที่สุด ยิ่งอยู่ในท่าปั่นที่วางแขนบนแอโรบาร์ได้นานเท่าไรก็ยิ่งประหยัดแรงและไปได้ไวมากขึ้นเท่านั้น

 

เสือหมอบติดแอโรบาร์ใช้แทนรถไตรได้มั้ย?

ทีนี้เราก็จะพอรู้แล้วว่าการใช้รถไตรมันทำให้เราปั่นในท่าที่ลู่ลมได้มากกว่า สำหรับคนที่อยากเริ่มลงไตรหรือทวิ แล้วปั่นจักรยานมาก่อนแล้ว คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาเลยคือ ซื้อแอโรบาร์มาติดเสือหมอบ เพียงพอไหม? เพราะก็น่าจะได้ท่าลู่ลมเหมือนกับรถไตรแล้วนี่นา?

ตอบแบบสั้นๆ คือทำได้ครับ แต่จะยุ่งยากนิดหน่อยคือจะต้องเปลี่ยนระบบมือเบรกและ มือเกียร์ด้วย ซึ่งต้องจ่ายเพิ่ม แต่ถ้าจะให้ง่ายและประหยัดกว่านั้นก็ซื้อแอโรบาร์แบบ clip-on ที่เอามาติดกับแฮนด์หมอบได้โดยตรงเลย เวลาจะเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ก็เอื้อมไปจับตรงชิฟเตอร์แฮนด์หมอบเอา

พอติดตั้งแล้วลักษณะการใช้งานจะเหมือนกันกับในรถไตรเลย คือเมื่อติดตั้งแล้วจะทำให้สามารถวางแขนท่อนล่างในตำแหน่งที่ทำให้เกิดความ aero มากยิ่งขึ้น และแถมยังช่วยลดภาระของกล้ามเนื้อแกนกลางที่จะต้องใช้ในการพยุงลำตัวอีกด้วย

 

Hip Angle และ Knee Angle — สิ่งที่หลายคนมองข้าม

แน่นอนว่าเมื่อวางแขนบนแอโรบาร์แล้วจะส่งผลให้คุณไปได้เร็วขึ้น เพราะพื้นที่หน้าตัดลดลง แต่ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญตามมานั่นก็คือเรื่องของมุมระหว่างขาท่อนบนกับสะโพก (hip angle) และมุมของหัวเข่า (knee angle) ครับ นั่นคือต่อให้ติดตั้งแอโรบาร์แล้ว ท่าปั่นบนเสือหมอบเราก็จะยังไม่เหมือนบนรถไตรเสียทีเดียว

คำถามก็คือ แล้วทำไมเราต้องดูค่ามุมเหล่านี้ด้วย? งั้นเราลองมานึกภาพไปพร้อมกันครับ ปกติแล้วท่าปั่นที่เราขี่จักรยานเสือหมอบ เมื่อก้มลงไปจับที่แฮนด์ดรอปแล้ว ตำแหน่งแขนของเราจะอยู่กว้างกว่าขาและอยู่ในตำแหน่งที่หัวเข่าจะเลยจากข้อศอกมาทางด้านหน้าเล็กน้อย

ลำตัวอยู่ในลักษณะเหยียดตรงและมีองศาที่แนวหลังเราจะขนานกับพื้นมากขึ้น ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณพยายามวางแขนบนตำแหน่ง แอโรบาร์ที่ติดเพิ่มไว้? ผลก็คือต้องยืดแนวลำตัวและช่วงแขนออกไปทางด้านหน้ารถมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่เราพยายามยืดลำตัวและยื่นแขนออกไปทางด้านหน้ารถมากเท่าใด มุมขากับสะโพกจะลดแคบลงไปเรื่อยๆ

องศาที่ผิดธรรมชาติแบบนี้มันมีผลเสียครับ

1. คุณจะออกแรงปั่นได้ไม่เต็มที่
2. เมื่อใดก็ตามที่ hip angle ลดแคบลง แรงทั้งหมดที่ถูกส่งลงไปที่บันไดจะกลายเป็นภาระกับหัวเข่าทันที ซึ่งก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณเข่า

ทีนี้เราจะทำยังไงให้เพิ่มมุม hip angle ในขณะที่ต้องวางแขนบนแอโรบาร์คำตอบก็คือเลื่อนเบาะไปทางด้านหน้าและชักหลักอานให้สูงขึ้นจากเดิมนั่นเองครับ เพราะเมื่อเลื่อนเบาะไปทางด้านหน้ามากเท่าใดก็จะทำให้แนวลำตัวสามารถตั้งตรงได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องชักหลักอานให้สูงขึ้นด้วย เพื่อที่จะได้ชดเชยความยาวขาที่สัมพันธ์กับระยะความสูงจากเบาะถึงบันไดครับ

เช่นนั้นแล้ว

แบบนี้ก็สามารถทำได้กับเสือหมอบสิ ไม่เห็นจำเป็นต้องไปซื้อรถไตรเลย? จะพูดแบบนั้นก็ได้ครับ แต่…!! ปัญหามันมีอยู่ว่าคุณสามารถเลื่อนเบาะไปทางด้านหน้าและชักหลักอานได้สูงขนาดไหนกับเสือหมอบ มากพอที่จะทำให้เกิดค่าที่เหมาะสมกับร่างกายหรือเปล่า?

คำตอบก็คืออาจจะได้และอาจจะไม่ได้ครับ เพราะมันขึ้นกับสรีระของแต่ละคนและมิติเสือหมอบ (geometry)ในรุ่นที่คุณกันที่คุณใช้อยู่ครับ

สิ่งที่จะอธิบายต่อไปนี้ ถือเป็นจุดต่างสำคัญที่คนส่วนใหญ่มักไม่ได้คำนึงถึง เนื่องจาก ในการออกแบบเสือหมอบเองก็มีการศึกษาจากสถิติทางด้านสรีระของมนุษย์จนได้ความสัมพันธ์ออกมาว่าถ้าท่อนอนยาวเท่านี้ ท่อนั่งควรยาวเท่าไหร่ ถ้าวางแขนลักษณะนี้ ระยะมุมท่อนั่งควรเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน นั่นคือองศาท่านั่งที่ช่วยให้ออกแรงได้ดีที่สุดและปั่นสบายระหว่างเสือหมอบกับรถไตรต่างกันพอสมควรครับ

หากคุณลองเปิดดูตารางมิติเสือหมอบทั่วไป จะพบว่ามุมของท่อนั่ง (seat tube angle) มักจะอยู่ที่ 70–74 องศา ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมกับการออกแรงของมนุษย์ในท่าการปั่นเสือหมอบ แต่สำหรับรถไตรจะอยู่ที่ 77–81 องศา

เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าในรถไตรจะสามารถเลื่อนเบาะไปทางด้านหน้าของรถได้มากกว่า มันทำให้เหมาะกับการวางแขนบนแอโรบาร์ โดยที่ hip angle อยู่ในมุมที่เหมาะสม ในเสือหมอบบางรุ่นเองก็สามารถที่จะปรับให้ได้ค่าใกล้เคียงกันรถไตร แต่ส่วนมากจะไม่เป๊ะครับ พูดง่ายๆ คือเลื่อนเบาะไปหน้าสุดแล้ว hip angle ยังอยู่ในมุมที่ไม่เหมาะสมอยู่ดีนั่นเองครับ

 

สรุป

เมื่อเข้าใจถึงความต่างกันของรถเสือหมอบและรถไตรโดยคร่าวๆ แล้ว หากใครที่มีเสือหมอบอยู่แล้ว แล้วต้องการติด aerobar เพิ่ม ก็อยากจะให้คำนึงถึงเรื่องของ hip และ knee angle ด้วยครับ จริงว่ามันช่วยให้เราปั่นได้ลู่ลมมากขึ้น แต่ถ้าเราไม่ปรับท่านั่งใหม่ ยังใช้มิติเดียวกับท่าขี่เสือหมอบ อาการบาดเจ็บจะตามมาครับ โดยเฉพาะคนที่ใช้เยอะ ซ้อมเยอะในท่านี้

ทั้งนี้ความเหมาะสมของค่าองศาต่างๆ แนะนำให้ปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ geometry รถกับทางผู้ขาย หรือให้ชัวร์ก็ปรึกษาฟิตเตอร์ จะเหมาะสมที่สุด จะได้รถที่เหมาะกับตัวอีกทั้งยังช่วยลดอาการบาดเจ็บด้วยครับ ◈

By ทศธรรม ตรรกวาทการ

นิสิตปริญญาเอก ผู้คลั่งไคล้ในศาสตร์และวิศวกรรมด้านจักรยาน ว่างจากแลปเมื่อไหร่ ก็ว่าย ปั่น วิ่ง ชื่นชอบที่เห็นคนไทยผลิตนวัตกรรมไปแข่งกับต่างชาติ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *