ถ้าจักรยานอิตาเลียนขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม ลายเส้นและทรงท่อโค้งเว้าเข้ารูปราวกับงานศิลปะที่ปั่นได้ จักรยานจากเยอรมันก็จัดว่าเป็นคู่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิง จักรยานเยอรมันส่วนใหญ่ถูกออกแบบภายใต้หลักการ “Ultimate Efficiency” ทุกเส้น ทุกท่อ ทุกรอยเชื่อมต้องมีความหมายและมีประสิทธิภาพที่วัดผลได้จริง จักรยานเยอรมันมักจะดูเรียบ ไม่หวือหวา และเน้นประสิทธิภาพ แนวคิดการออกแบบนี้สะท้อนได้ชัดในเฟรม Canyon Aeroad CF SLX ที่เราจะมาดูกันวันนี้ครับ
German Aero
เปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว – Canyon Aeroad CF SLX คือเสือหมอบแอโร่รุ่นเรือธงจากแบรนด์เยอรมันผู้เป็นสปอนเซอร์โปรทีม Katusha และ Movistar และกลายเป็นเฟรมคู่ใจนักปั่นอย่างอเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha) ที่ใช้คว้าแชมป์หลายสนามไม่ว่าจะเป็น Milan-Sanremo, แชมป์สเตจในตูร์ เดอ ฟรองซ์ 2014 และสนามคลาสสิคทางวิบากอย่าง Tour of Flanders 2015
“เป้าหมายของเราคือพัฒนาเฟรมแอโร่ที่มีความสามารถรอบด้าน ไม่ใช่แค่ลู่ลมอย่างเดียว” – วูลฟ์แกง โคล วิศวกรจาก Canyon กล่าว “โปรเจ็คนี้พัฒนาต่อยอดมาจากการออกแบบเฟรม Time Trial Speedmax CF ของเราครับ Speedmax เป็นหนึ่งในเฟรมที่แอโร่ที่สุด เราเลยอยากนำรูปทรงมันมาใช้ในจักรยานเสือหมอบ และปรับปรุงให้มันบังคับได้เฉียบคมขึ้น ปั่นสบายขึ้น ถึงจะใช้รูปทรงท่อ Trident Profile คล้ายๆ กัน แต่ Aeroad CF SLX เป็นเฟรมที่เราออกแบบใหม่ตั้งแต่ต้น”
“ผมคงบอกไม่ได้ว่ามันเป็นจักรยานที่ลู่ลมที่สุดในตลาดตอนนี้หรือเปล่า แต่ในการทดสอบในอุโมงค์ลมของเรามันเร็วกกว่าคู่แข่ง 3-4% ในหลายๆ ทิศทางลม (yaw angle +/- 10%) (ed note: การทดสอบของ Canyon นั้นออกมาก่อนที่เฟรมแอโรเจเนอเรชันล่าสุดอย่าง Trek Madone 9, Scott Foil 2016 และ Specialized S-Works Venge Vias จะเปิดตัว)

เฟรม Aeroad CF SLX ออกแบบมาให้ลู่ลมในทุกๆ ส่วนตั้งแต่ แฮนด์ สเต็มแบบชิ้นเดียวทรงแอโร่รุ่นใหม่ (ซึ่งรุ่นที่ DT ได้มาเช็คสเป็คไม่ได้ติดมาด้วยครับ) ท่อลอ่าง ท่อนอน ท่อนั่งที่ตัดเว้าให้ลดกระแสลมแปรปรวน (turbulence) ที่ช่วงหลังของเฟรม ตะเกียบทรงแอโร่ หลักอานทรง truncated airfoil หยดน้ำหัวตัด และแหวนรองสเต็มที่ออกแบบมาให้เป็นรูปทรงเดียวกับท่อคอ
ตัวเฟรมออกแบบที่ Canyon Headquarter ในเมือง Koblenz และส่งแบบไปผลิตที่โรงงานในไต้หวัน โคลกล่าวว่า “ไม่แน่ใจว่าทำไมหลายๆ คนคิดว่าเฟรมที่ผลิตในเอเชียไม่มีคุณภาพ ซัพพลายเออร์ของ Canyon ไม่ใช่แค่ผลิตเฟรมตามที่เราสั่ง เราทำงานร่วมกันและฟี้ดแบ็คจากโรงงานก็ช่วยให้เราพัฒนาจักรยานได้ดีขึ้นทุกปี แทนที่จะใช้คาร์บอนสำเร็จแบบ pre-impregnated จักรยาน Canyon ใช้คาร์บอนจาก Mitsubishi และ Toray แต่เราใช้สูตรเรซิ่นของเราเอง ซึ่งทำให้เราปรับแต่งคุณสมบัติจักรยานได้มากกว่าหลายๆ แบรนด์ครับ”
Cool Comfort
โคล กล่าวว่าส่วนที่ไม่ได้ออกแบบให้แอโร่เต็มที่คือหลักอาน ทีมงาน Canyon เชื่อว่าถึงรูปทรงหลักอานจะไม่แอโร่มาก แต่มันนั่งสบายกว่าหลักอานแอโร่ทั่วๆ ไปเพราะออกแบบให้ซับแรงกระแทกได้ดีกว่าด้วยผนังท่อ(wall thickness) ที่ค่อนข้างบาง ทำให้หลักอานให้ตัวได้ดี โคลเชื่อว่าจักรยานที่ปั่นสบายก็ไปได้เร็วเช่นกัน เพราะถ้าเจ้าของรถปั่นไม่สบาย ก็ไม่สามารถออกแรงปั่นได้เต็มที่ เฟรม Aeroad CF SLX จึงรองรับยางหน้ากว้างได้สูงสุด 28s
Direct Mount Brakes
เฟรม Aeroad CF SLX ใช้เบรคมาตรฐาน direct mount ซึ่งยึดเบรคเข้ากับตัวเฟรมโดยตรงด้วยน็อตสองตัว ข้อดีคือช่วยให้ผู้ผลิตลดปริมาณเนื้อคาร์บอนและเรซิ่นบริเวณที่ยึดเบรค (ทั้งตะเกียบและ seat stay) ทำให้ได้เฟรมที่น้ำหนักเบาขึ้น และตัวเบรคเองก็ใช้วัสดุในการผลิตน้อยลง เบรค Direct Mount ของ EE และ Bontrager รุ่นใหม่ๆ นั้นเบากว่าเบรค Dura-Ace ร่วมร้อยกรัม นอกจากนี้ตัวก้ามเบรคยังสติฟกว่าเดิม เพิ่มแรงเบรคและช่วยเรื่องฟีลลิ่งการเลียเบรค (modulation) ด้วย การที่ยึดด้วยน็อตสองตัวทำให้เบรคตรงศูนย์ตลอดเวลา ไม่ส่ายไปส่ายมาเวลาโดนอะไรเบียดเข้าเหมือนเบรคธรรมดาๆ
Canyon ตั้งใจใช้ไม่ซ่อนเบรคหลังไว้ใต้กระโหลกเหมือนผู้ผลิตหลายๆ รายเพราะในการทดลองของเขาพบว่า เบรคที่ซ่อนอยู่ใต้กระโหลกไม่ได้ช่วยลดแรงต้านลมเลย และสำหรับนักปั่นอาชีพที่ต้องเปลี่ยนล้อระหว่างแข่งบ่อยๆ การวางเบรคไว้ใต้กระโหลกเปลืองเวลาเซอร์วิส
* * *
First Ride
DT ได้ลองเฟรม Aeroad CF SLX ไม่นานครับ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ คงจะบอกอะไรมากไม่ได้ (แต่เดือนกันยาคงได้เห็นรีวิวตัวเต็มเพราะกำลังจะได้รีวิวแบบ long-term รุ่น 8.0 Di2) เทียบกับเฟรม Aeroad รุ่นแรก เฟรมรุ่นใหม่สติฟ ตอบสนองแรงปั่นได้ดีกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบริเวณกระโหลกและท่อคอ ซึ่งเป็นจุดที่ Original Aeroad โดนตำหนิมากที่สุด (เช่นเดียวกับเฟรมแอโร gen 1 หลายๆ รุ่น) เร่งออกตัวได้ไว แต่ไม่ไวเท่าหมอบสายไต่เขาที่เน้น maxmimum stiffness-to-weight ratio
ตอนทดสอบผมใช้ยาง Continental GP4000s กับล้อ Campagnolo Zonda เฟรมซับแรงกระแทกได้ดีพอสมควร ไม่กระด้างเหมือนรถแอโร่ gen 1 แต่ก็ยังไม่นิ่มสบายเหมือนจักรยาน endurance การเข้าโค้งและ Handling ทำได้เฉียบคมตามสไตล์รถแข่ง แต่ฟีลลิ่งตัวจักรยานออกจะโหวงๆ ยังไม่แน่นเท่าเฟรมอื่นๆ ที่เคยลอง จะบอกว่าเป็นข้อเสียก็ไม่เชิง เป็นคาแรคเตอร์จักรยานมากกว่าครับ ที่แน่ๆ geometry คันนี้เป็นสไตล์ long and low ฐานล้อยาว ท่อคอสั้นมาก ซึ่งอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน เวลาเลือกไซส์ก็ต้องระวังให้ดี
โดยรวมแล้วเป็นจักรยานแข่งที่ซิ่งใช้ได้ ยังไม่ขอลงรายละเอียดฟีลลิ่งการปั่นมากละกันครับ รถมีคาแรคเตอร์เด่นชัดเจนแต่คงต้องขอทำความคุ้นเคยมากกว่านี้ก่อน ที่ต้องระวังคือเฟรมทุกรุ่นในไลน์ Aeroad CF SLX เป็นสีด้าน ก็จะดูแลลำบากนิดนึง






* * *
ขอบคุณมากครับ