รีวิว: Canyon Ultimate CF SL 9.0 (2014)

Canyon เป็นจักรยานที่ไม่มีตัวแทนจำหน่ายด้วยที่บริษัทมีนโยบายขายตรงลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว จึงไม่แปลกที่เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นจักรยาน Canyon ในประเทศไทยเท่าไรนัก เพราะกำแพงภาษีและค่าส่งที่ทำให้ราคาค่าตัวมันกระโดดขึ้นจากแบรนด์ Value ไปเป็นระดับแบรนด์พรีเมียม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Canyon เป็นหนึ่งในจักรยานที่สื่อแทบทุกเจ้าการันตีว่าปั่นดีไม่แพ้แบรนด์ดังอื่น ๆ คราวนี้ Ducking Tiger ได้คุณวี นักเขียนของเราหิ้วมาจากเยอรมันเพื่อทดสอบกันจริงจังเป็นเวลาหลายเดือน มาดูกันว่ามันดีอย่างที่เขาร่ำลือกันหรือเปล่าครับ

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจเนื้อหารีวิวครั้งนี้ เรามารู้จักกับเสือหมอบทั้งหมดของ Canyon กันก่อนนะครับ จะได้เห็นว่าคันที่พูดถึงนี้วางตำแหน่งไว้อย่างไรถ้าเทียบกับภาพรวมครับผม

Canyon มีเสือหมอบอยู่ 3 ไลน์ 6 รุ่น และ 9 เฟรม ดังนี้

  1. ไลน์ Ultimate (‘all-rounder’) ประกอบไปด้วย 3 รุ่น 5 เฟรม คือ CF (carbon fibre) SLX, CF SL, และ AL (aluminium) SLX โดย CF SLX และ CF SL จะมีเฟรมเซ็ตแยกกันระหว่างกรุ๊ปเซ็ทเมคานิคัลกับอิเล็กโทรนิก สำหรับ AL SLX ทำมาเฉพาะเมคานิคัลเท่านั้น
  2. ไลน์ Aeroad (‘aero’) ประกอบไปด้วย 1 รุ่น 2 เฟรมคือ CF SLX ที่แยกกันระหว่างเฟรมเมคานิคัลกับอิเล็กโทรนิกเช่นเดียวกับ Ultimate CF
  3. Endurace (‘endurance’) ประกอบไปด้วย 2 รุ่น 2 เฟรมคือ CF และ AL ที่รองรับเฉพาะกรุ๊ปเซ็ทเมคานิคัลทั้งสองรุ่น

สังเกตว่าไลน์เสือหมอบทั้งหมดของ Canyon มี 9 เฟรมเซ็ตเท่านั้นครับ (รหัสต่อท้าย 7.0, 8.0 และอื่น ๆ บ่งบอกถึงอุปกรณ์ที่นำมาประกอบจนเป็นคัน) โดยแบ่งด้วยเกรดวัสดุเพียง 2 รุ่นในไลน์ Ultimate คือ CF SL และ CF SLX

UltimateCF1
Ultimate CF SL 9.0 (สำหรับอาน Romin Evo กับสเต็ม -17 องศานี้เปลี่ยนภายหลังด้วยเรื่องฟิตติ้งและความชอบส่วนตัวครับ)

สำหรับคันที่ยกมารีวิวในวันนี้คือ Ultimate CF SL 9.0 รุ่นปี 2014 ที่เปลี่ยนหลักอานเป็น VCLS 2.0 แบบเยื้องหลัง โดยมีสเป็กดังนี้ครับ

Frame: Canyon Ultimate CF SL shark silver – cyan
Fork: Canyon One One Four SLX
Headset: Acros Ai-70 Fiber
Groupset: Full Shimano Ultegra 6800
Chainrings: 50/34T
Cassette: 12-25
Chain: Shimano CN-HG700-11
Bottom Bracket: Shimano Ultegra SM-BB72-41B
Wheelset: Mavic Ksyrium Elite S WTS
Tyres: Mavic Yksion Pro GripLink 23mm
Stem: Ritchey WCS 4-Axis 44 1¼” ±6° 100mm
Handlebar: Ritchey WCS Evo Curve 40cm
Handlebar Tape: Canyon Ergospeed Gel
Seat Post: Canyon VCLS 2.0 13-25mm setback
Saddle: Fi’zi:k Antares K:ium

จุดที่ต่างจากรุ่นท๊อป Ultimate CF SLX ก็คือน้ำหนัก สำหรับเฟรม CF SL ที่รีวิวนี้มีน้ำหนัก 940 กรัม ส่วนรุ่น CF SLX จะหนักราว 790 กรัม (ที่ไซส์ M) น้ำหนักที่ต่างกันมาจากฟีเจอร์ในรุ่นท๊อปอย่าง housing กะโหลกที่เป็นคาร์บอนทั้งหมด หางหลังแบบ asymmetric และเนื้อคาร์บอนเกรดสูงกว่า

ทั้งสองรุ่นใช้กะโหลกแบบ PressFit และมีมิติ/องศารถ (geometry) เหมือนกัน เนื่องจากผลิตจากแม่พิมพ์เดียวกัน

UltimateCF2
กรุ๊ปเซ็ตเป็น Ultegra ล้วน ๆ ตั้งแต่กะโหลกไปจนถึงจานหน้า ไม่มีลดต้นทุนด้วยชิ้นส่วนนอกกรุ๊ปเลย

ก่อนปั่น

เรามาดูรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่น่าสนใจของ Ultimate CF SL กัน

UltimateCF3
หลักอาน Canyon VCLS 2.0 13-25mm setback คงเป็นอุปกรณ์ที่สะดุดตาที่สุดในนี้ หลักอานทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ผสมไยหินบะซอลต์ซึ่ง Canyon อ้างว่าเพิ่มความยืดหยุ่นได้มากกว่าคาร์บอนเพียว ๆ และประกอบขึ้นจากสองชิ้นที่ประกบกันด้วยน็อตที่ด้านล่าง (ซ่อนอยู่ในท่อนั่ง) ทั้งยังสามารถให้ตัวในแนวราบได้ถึง 2-2.5 ซม. เมื่อโดนแรงกระแทก นอกจากนี้ตัวยึดรางอาน Flip Head ยังสามารถสลับชิ้นซ้ายกับขวาเพื่อเปลี่ยนระยะเยื้องหลังระหว่าง 13 มม. กับ 25 มม. ได้อีกด้วย

สำหรับหลักอานตัวนี้ Canyon มีวิดิโออธิบายการออกแบบและการทำงานของมันด้วย

UltimateCF5
Canyon เลือกใช้ชุดถ้วยคอจากบริษัทร่วมชาติชื่อ Acros ซึ่งไม่ใช้ expander plug ใด ๆ ใส่ลงไปในซางเลย กลับกัน Acros ใช้น็อตตัวเล็ก ๆ ที่เมื่อขันให้ตึงแล้วจะยกแหวนวงบนต่อจากมันให้ขยายออก การขยายแหวนวงนี้จะเติมและอัดช่องว่างระหว่างสเต็มและท่อคอให้เต็มโดยไม่ต้องอาศัย expander

ชุดถ้วยคอนี้ Acros ก็มีวิดิโออธิบายวิธีการทำงานของมันเช่นกัน

UltimateCF4
ด้านบนสเต็มมีเพียงวงแหวนพลาสติกบาง ๆ เนื่องจากชุดถ้วยคอไม่ได้ใช้การบีบอัดจากน็อตลงบน expander plug (ด้านล่างตะเกียบมีรูระบายน้ำ)
UltimateCF9
Derailleur hanger (หางปลา) ของ Canyon เป็นโลหะสองชิ้นที่ ‘ประกบ’ รอบ dropout อีกที ต่างจากเฟรมอื่น ๆ ที่จะเป็นโลหะหนาชิ้นเดียวยึดไว้ วิธีนี้จะทำให้ตัวหางปลาสติฟกว่า เปลี่ยนเกียร์ได้แม่นกว่า ทั้งยังคงทนและงอผิดรูปได้ยากกว่าด้วย เนื่องจากความแข็งแรงไม่ได้อยู่ที่โลหะอย่างเดียว แต่อยู่ที่ carbon dropout ของเฟรมที่เป็นแกนของมันเป็นหลัก
UltimateCF8
ตะเกียบโซ่ฝั่งขวาติดฟิล์ม polyurethane ใสมาให้จากโรงงานเลย เก็บรายละเอียดได้เนี๊ยบมากๆ

หลังปั่น

Canyon ออกแบบจักรยาน Ultimate CF SL/SLX ด้วยแนวคิด vertical compliance, lateral stiffness (VCLS) ซึ่งหมายถึงการขับขี่ที่นุ่มสบายและความสติฟเมื่อออกแรงกดในคันเดียวกัน ผมคิดว่าเป็นคำสี่คำสั้น ๆ ที่อธิบายจักรยานคันนี้ได้ดีมาก

ด้วยที่จักรยานทั้งคันหนักเพียง 7.0 กก. ดังนั้นเมื่อรวมน้ำหนักนี้เข้ากับเฟรมส่วนกะโหลกที่ใหญ่ ตะเกียบโซ่ที่หนา และล้อขอบต่ำที่เบาอย่าง Mavic Ksyrium Elite S แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นเฟรมที่สติฟที่สุดที่ผมเคยทดลองปั่นมา จังหวะลุกขึ้นยืนเร่งก็ตอบสนองติดเท้าได้ดีเยี่ยม

การทรงตัวและเข้าโค้งทำได้มั่นใจกว่าคันเดิมที่ใช้ ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นจักรยานคาร์บอนเหมือนกัน (จักรยานคาร์บอนไม่ได้ผลิตมาเหมือนกันทุกคันนะครับ) ในจังหวะที่ต้องเข้าโค้งมุมแคบผมชะลอความเร็วก่อนเข้าโค้งน้อยลงเล็กน้อย และกล้าเอียงตัวสาดโค้งด้วยความเร็วที่มากกว่าเดิม ความรู้สึกมั่นใจตรงนี้ผมเชื่อว่ามาจากตะเกียบหน้าซึ่งซางใหญ่กว่าปกติ (1½” – 1¼”) แบบเดียวกับที่ Giant (OverDrive 2) และ Cube ใช้ รวมกับตัวเฟรมที่มีความสติฟในแนวข้างสูง

สำหรับระบบขับเคลื่อน Ultegra 6800 นั้นผมคิดว่าแทบหาที่ติไม่ได้เลย มีความโดดเด่นสามประการที่ผมประทับใจเป็นพิเศษ จุดแรกคือการเปลี่ยนเกียร์ในเฟืองหลังทำได้อย่างนุ่มนวล เมื่อรวมกับเฟืองถี่อย่าง 12-25 ทำให้มีครั้งหรือสองครั้งที่ถึงกับต้องก้มลงไปดูว่าเปลี่ยนเกียร์ไปแล้วจริง ๆ

จุดที่สองคือเบรกที่เปลี่ยนมาใช้แบบสองจุดหมุน (dual pivot) เหมือน Shimano Dura-Ace 9000 ที่เมื่อรวมกับสายเกียร์ซึ่งเคลือบเทฟล่อนแล้วพบว่าต้องใช้แรงเพื่อบีบก้ามเบรคน้อยมาก ทั้งยังได้การเลียเบรคที่แม่นยำมากขึ้นด้วย

จุดที่สามคือมือเกียร์ของ Ultegra 6700 รุ่นก่อนนั้นผมคิดว่าอ้วนมาก กำแล้วรู้สึกเทอะทะ ทำให้สองปีที่ผ่านมาผมกลับชอบมือเกียร์ไม่ซ่อนสายอย่าง Tiagra มากกว่ามาโดยตลอด แต่สำหรับ Ultegra 6800 นั้นได้เปลี่ยนทิศการเดินลวดในมือเกียร์ใหม่ ทำให้มือเกียร์เล็กลง รู้สึกจับถนัดมือไม่ต่างจาก Tiagra แถมได้ความเรียบร้อยของการเดินสายใต้แฮนด์มาด้วย

แม้ความสติฟหรือการทรงตัวของจักรยานคันนี้จะน่าตื่นตาขนาดไหน แต่คุณลักษณะที่ทำให้ผมประหลาดใจมากที่สุดของ Canyon Ultimate CF SL กลับกลายเป็นความสบายในการขับขี่ จากเมื่อก่อนที่ผมเริ่มด้วยการปั่นจักรยานไฮบริดอลูมิเนียม มาเป็นเสือหมอบคาร์บอน จนมาถึงคันนี้ โดยส่วนตัวคิดว่านี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด

เนื่องจากเมเจอร์อเวนิวรัชโยธินนั้นอยู่ใกล้บ้านผมมาก และที่นั่นก็มีส่วนของถนนที่ปูด้วยหินสี่เหลี่ยมก้อนเล็ก ๆ จำนวนนับไม่ถ้วน จึงเกิดการมโนเอาว่านี่เป็นหนึ่งในสถานที่ในกรุงเทพฯ ที่ใกล้เคียงถนนหินในเบลเยี่ยมที่สุดแล้ว (ฮา) ผมจึงมักใช้ทางสั้น ๆ นั้นของเมเจอร์อเวนิวเป็นแหล่งอ้างอิงในการทดสอบการซับแรงกระแทกของจักรยานที่ผมมีมาโดยตลอด และแม้ว่าการปั่นเร็ว ๆ ไปบนทางที่ว่านี้ด้วย Ultimate CF SL จะไม่ได้นุ่มดั่งปูพรมอย่างเสือภูเขาฟูลซัส (ใครเปรียบว่าเหมือนก็เกินไป) แต่ก็นุ่มอย่างไม่น่าเชื่อว่าเสือหมอบเกรดแข่งขันคันหนึ่งจะทำได้ขนาดนี้ครับ โดยหลักอาน VLCS 2.0 ที่ทำงานแบบ leafspring น่าจะมีส่วนช่วยเรื่องความสบายนี้ด้วย เพราะให้ตัวได้มากกว่าหลักอานทั่วไป

ข้อดี

– ความคุ้มราคาแบบหาที่เปรียบได้ยาก
– ได้อะไหล่ Ultegra ครบเซ็ต
– ซับแรงกระแทกดีเยี่ยม
– สติฟมาก เร่งติดเท้าดีเลิศ
– รถมีสมดุลที่ดี ทรงตัวและสาดโค้งได้อย่างมั่นใจ
– งานสีทำได้เรียบร้อยสวยงามไม่แพ้เฟรมที่ราคาแพงกว่า

ข้อเสีย
– การสั่งซื้อยุ่งยากและรอนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสั่งในฤดูใบไม้ผลิที่ Canyon ผลิตไม่ทันออเดอร์
– ยาง Mavic Yksion Pro เกาะถนนเวลาเปียกได้ไม่ค่อยดี และน้ำหนักมากกว่ายางรุ่นท็อปยี่ห้ออื่น
– ในมุมกลับ อาจจะไม่คุ้มค่าเทียบกับจักรยานที่มีขายในไทย เมื่อต้องเจอภาษีนำเข้า 30% + Vat 7% และค่าส่งประมาณ 400 USD
– สเต็มขนาด 1¼” หาซื้อยากในตลาด (ถ้าต้องการเปลี่ยนความยาว)[/column][/columns_row]

ราคา: 2,249 USD หรือประมาณ​ 75,000 บาท (ไม่รวมภาษีและค่าส่ง)
เว็บไซต์: www.canyon.com

ขอขอบคุณคุณบรรณาธิการ @shucreamp ที่มาช่วยเกลาภาษาให้กับบทความนี้ครับ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *