จากที่ปรึกษากฏหมายสู่นักไตรกีฬาอาชีพ: ชีวิตของแคโรล ฟุกส์

เชื่อว่าคนที่ลงแข่งขันไตรกีฬาและสนามจักรยานเสือหมอบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาน่าจะเคยเห็นผู้หญิงฝรั่งผมทอง ตัวสูงๆ โย่งๆ ที่ปั่นชนะผู้ชายและโกยแชม์ไปหลายรายการ เธอคนนี้คือแคโรล ฟุกส์ น่องเหล็กชาวฝรั่งเศสที่เดินตามความฝัน ทิ้งงานที่ปรึกษากฏหมายมาเป็นนักไตรกีฬาอาชีพประจำอยู่ประเทศไทย แคโรลเป็นนักกีฬาที่ผมเคารพคนหนึ่ง นอกจากจะตั้งใจซ้อมกว่าใคร มีวินัยดี มีความมุ่งมั่นแรงกล้าแล้ว เธอยังมีผลงานยืนยันความแกร่ง

ไม่ว่าจะเป็นอันดับโพเดี้ยมรายการใหญ่อย่าง Cebu 70.3 ในฟิลลิปปินส์และสนามระดับภูมิภาคเอเชียอีกร่วมสิบรายการ ข่าวดีสำหรับคนอ่านเว็บ DT ก็คือแคโรลตกลงปลงใจมาเป็นนักเขียนประจำให้ DT ครับ เธอจะมาพูดถึงชีวิตการเป็นนักไตรกีฬาอาชีพ ประสบการณ์การแข่งขัน การเลือกใช้อุปกรณ์ การฝึกซ้อมและโภชนาการ วันนี้แคโรลเริ่มด้วยเรื่องราวจุดพลิกผันในชีวิต กับการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ทำให้เธอกลายมาเป็นนักกีฬาอาชีพในวันนี้ เชิญติดตามครับ

ถึงไม่อธิบาย ทุกคนก็คงพอจะนึกภาพออก – อาชีพนักกฏหมายกับไตรกีฬาดูจะเป็นอะไรที่เข้ากันไม่ได้ ด้านหนึ่งคุณต้องขลุกตัวอยู่กับเอกสารและคดีความตั้งแต่เช้าจรดค่ำ อีกด้านนั้นต้องการเวลาทุกวินาทีเพื่อฝึกซ้อมพัฒนาร่างกายทั้งการวิ่ง ว่ายน้ำและปั่นจักรยาน คุณอาจจะสงสัยว่าหญิงสาวชาวฝรั่งเศสที่ปรึกษากฏหมายที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังกลางกรุงลอนดอนจะพลิกชีวิตมาป็นนักกีฬาอาชีพได้ยังไง? แน่นอนว่ามันมีอุปสรรคมากมายกว่าเรา (ปกติแคโรลแทนตัวว่า “เรา”)​ จะมาถึงจุดนี้ แต่ถ้าไม่เริ่มก้าวขาออกเดิน เราจะถึงที่หมายหรือ?

10369690_10153073447472538_6027807937055887542_n

I. จุดเริ่มต้นของจุดจบ

ชีวิตของเราอาจจะคล้ายๆ กับเรื่องเล่าแห่งความผิดหวังของพนักงานออฟฟิศรายได้ดี หลายต่อหลายคนหวังอยากจะใช้ชีวิตโลดโผน ท่องเที่ยวผจญภัย เล่นกีฬา เที่ยวต่างประเทศ แต่ประตูสู่ความฝันเหล่านั้นก็ถูกปิดลงทีละบานสองบานตามรายได้ ตำแหน่งหน้าที่ และความรับผิดชอบที่มากขึ้น เราเป็นคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก แต่การที่เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว เราก็เหลือเวลาออกกำลังกายน้อยลงทุกทีๆ ทั้งที่แต่ก่อนเคยเป็นนักปีนเขาและนักเดินป่าแนวหน้าของวงการ งานรูทีนน่าเบื่อหน่ายเริ่มกัดกินชีวิตจนเราต้องทำอะไรสักอย่าง

คำตอบของเราคือการเข้าเรียนปริญญาเอกด้านพัฒนบูรณาการศาสตร์ (development studies) จนเราได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อเก็บข้อมูลทำคอร์สเวิร์ก พอมาอยู่กรุงเทพฯ เราก็เริ่มออกวิ่งอย่างจริงจังเพราะในกรุงเทพฯตึกสูงหลายชั้นเสียจนเดินขึ้นเฉยๆ เหมือนในยุโรปไม่ได้! วิ่งเป็นกีฬาที่ใครๆ ก็เล่นได้ แค่มีรองเท้าคู่หนึ่ง มีความตั้งใจและมีเวลาก็เพียงพอแล้ว

แต่รองเท้าวิ่งดีๆ ก็แพงไม่น้อย อยากเล่นกีฬาให้สนุก อุปกรณ์ต้องพร้อม มันก็เลยเป็นแรงจูงใจให้เราเริ่มทำงานเป็นที่ปรึกษากฏหมายให้บริษัทกฏหมายข้ามชาติ เราเริ่มวิ่งจริงจังมากขึ้น ตั้งเป้าหมายในการฝึกซ้อม เวลาทำงานออฟฟิศจะได้ไม่น่าเบื่อจนเกินไป เราเริ่มชนะรายการวิ่งใหญ่ๆ ได้หลายสนาม จนเราเสพติดการฝึกซ้อม ราวกับปลาขาดน้ำ ถ้าวันไหนไม่ซ้อม วันนั้นแทบจะขาดใจตาย

การซ้อมสะเปะสะปะ (แบบจริงจังสุดๆ) ทำให้เราบาดเจ็บมากเหมือนกัน เพราะเราขาดโค้ช ขาดคนแนะนำวิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง เพื่อนสนิทแนะนำว่า ก็ลองไปเล่นไตรกีฬาสิ… เออ ไอเดียดีเหมือนกันนะ มีทั้งวิ่ง ว่ายน้ำ และปั่นจักรยาน น่าจะเจ็บน้อยลง และน่าจะสนุกมากขึ้นด้วย

II. เสพติดกีฬา

เชื่อว่าหลายๆ คนที่ออกกำลังกายอย่างจริงจังคงเข้าใจว่าอาการ “ติด” กีฬามันเป็นยังไง พวกเราทุกคนมีเหตุผลในการเล่นกีฬาไม่เหมือนกัน บ้างอยากจะแข็งแรงขึ้น บ้างอยากจะได้กล้ามไปโชว์สาวๆ บ้างอยากจะลดพุง หรืออยากจะใส่ชุดกีฬาเท่ห์ๆ แต่อาการ “เสพติด” กีฬามันเป็นยังไง? ลองนึกถึงจังหวะที่อะดรีนาลีนและฮอร์โมนเอนดรอฟีนที่สูบฉีดสร้างความสุข ความตื่นเต้น พลังที่พลุ่งพล่านออกมาจากร่างกายหลังซ้อมหนัก จนคุณคิดว่าถึงเป้าหมายจะยากเย็นแค่ไหน ก็ไม่ยากเกินเอื้อม

“ทำงานหาเงินเยอะๆ? ปาร์ตี้ในคลับสุดหรู? เรื่องพวกนี้รอได้ แต่ไปซ้อมและไปแข่ง? เรื่องนี้รอไม่ได้!” 

เรารู้ว่าเราเสพติดไตรกีฬาแน่นอน เพราะผลลัพธ์ของมันก็คือเราผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันไตรกีฬาชิงแชมป์โลกระดับ Ironman 70.3 แถมยังได้น่องขนาดใหญ่และผิวที่คล้ำขึ้นอย่างเห็นได้ชัด! บางคนอาจจะคิดว่าพวกเสพติดกีฬานั้นไร้สาระ บริหารเวลาและชีวิตไม่เป็น แต่สำหรับเราแล้ว มันช่างเป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบ เพราะเราชื่นชอบการแข่งขัน เราหลงไหลกีฬาและชัยชนะที่เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ราวกับคนติดมอร์ฟีนที่จะต้องคอยเสพเพิ่มวันละเข็มสองเข็ม เราซ้อมหนักมากขึ้นให้ชนะเยอะขึ้น ให้เก่งกว่าคนอื่น แต่เราก็บาดเจ็บจากการซ้อมแบบไม่มีโค้ชและไม่มีหลักการมากขึ้นเหมือนกัน

จุดนี้เป็นเสมือนจุดพลิกผันของชีวิต เพราะมันทำให้เราเริ่มมั่นใจว่าการเป็นนักกีฬาอาชีพนี่แหละ คือสิ่งที่เราต้องการ ยิ่งเราเสพติดไตรกีฬามากขึ้น เราให้เวลากับการวิ่ง ว่ายน้ำและปั่นจักรยานมากขึ้น… ทำงานหาเงินเยอะๆ? ปาร์ตี้ในคลับสุดหรู? เรื่องพวกนี้รอได้ แต่ไปซ้อมและไปแข่ง เรื่องนี้รอไม่ได้!

III. เยอร์เกน แซ็ค

หัวหิน, งานแข่งไตรกีฬา, ผู้ชายสูงล่ำผมบลอนด์คนนั้นคือใคร? เขามาคุยกับเรา แสดงความยินดีที่เราได้แชมป์รายการ  แล้วก็ชวนเราไปซ้อมที่ธัญญะปุระ ((ธัญญะปุระเป็นรีสอร์ตสำหรับนักกีฬาที่ต้องการจะฝึกซ้อมอย่างจริงจัง เป็นสปอร์ตรีสอร์ตที่เดียวในประเทศไทย มีทั้งโค้ชและสถานฝึกซ้อมเพรียบพร้อม มีนักกีฬาอาชีพจากทั่วโลกมาพักเก็บตัวที่นี่เป็นประจำครับ)) เราไม่รู้จักว่าเขาคือใคร เลยเอาชื่อเขาไปเสิร์ชกูเกิลดู…ถึงกับช๊อคไปเลย.. 

jurgen (1 of 1)

“Jurgen Zack”
แชมป์ Ironman 8 รายการ ((ปัจจุบันยังไม่มีใครทำลายสถิตินี้ได้))
แชมป์ Ironman ยุโรป 5 สมัย
ผลงาน Top 10 Ironman World Championships 8 ครั้ง

คนๆ นี้กำลังจะกลายเป็นโค้ชให้เรา!

Transition T1: ไม่ลองก็ไม่รู้

เราซ้อมกับเยอร์เกนตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว และทำผลงานแชมป์ประเภทกลุ่มอายุ 30-39 ได้หลายรายการ จนเราต้องมานั่งคิดว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี? จะให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน? งานหรือความฝัน? เราเชื่อว่ามันคงเป็นปัญหาที่หลายๆ คนตัดสินใจได้ก่อนจะเริ่มคิดเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นนักกีฬาอาชีพในประเทศไทยไม่ใช่งานที่เลี้ยงชีวิตคุณได้

วันนั้นเราลาออกจากงานประจำ

อย่างไรก็ดี จะเทิร์นโปรเป็นนักไตรกีฬาเต็มตัวได้ก็ต้องมีข้าวกิน ไม่งั้นจะเอาแรงที่ไหนมาซ้อม จะมีข้าวกินก็ต้องมีเงินก่อนจริงไหม? เราเลยรับเป็นที่ปรึกษากฏหมายแบบพาร์ทไทม์เพื่อนำรายได้มาสานต่อความฝัน

Cebu 70.3 mission completed. 4 podium: best bike split bonus, best run split bonus, 1st overall AG bonus and 1st AG
Cebu 70.3 mission completed. 4 podium: best bike split bonus, best run split bonus, 1st overall AG bonus and 1st AG

Transition T2: From Age Group to Pro

เมื่อมีเวลาซ้อมมากขึ้น และมีโค้ชระดับตำนานอย่างเยอร์เกนมาช่วยเค้นฟอร์ม เราก็พัฒนาได้ไว  เราออกตระเวนแข่งไตรกีฬาทั่วเอเชีย ได้แชมป์ในกลุ่มอายุ 30-39 หลายรายการ บางสนามเราทำผลงานได้ดีกว่านักไตรกีฬาอาชีพชื่อดัง จนมันเกิดคำถามในใจว่า ถ้าเราเทิร์นโปรได้เหมือนคนอื่น เราก็มีสิทธิคว้าเงินรางวัลด้วยนี่นา! (นักปั่นสมัครเล่นไม่ได้เงินรางวัล) แล้วทำไมเราจะต้องเสียเงินมากมายบินไปแข่งนู่น ซื้ออุปกรณ์นี่ด้วยตัวเองละ? ถ้าเราเป็นโปร ผู้จัดแข่งยอมออกเงินเชิญไปแข่ง จ่ายค่าที่พักให้ฟรี และเราสามารถขอสปอนเซอร์ได้โดยไม่ต้องอายใคร ถึงจุดนี้เราเริ่มแน่วแน่ในวิถีทางแล้วว่าจะต้องเทิร์นโปรให้ได้ แค่ชนะกลุ่มอายุมันยังไม่พอ เราต้องชนะคนมีชื่อเสียงให้มากกว่านี้

“ถ้าเราเป็นโปร ผู้จัดแข่งยอมออกเงินเชิญไปแข่ง จ่ายค่าที่พักให้ฟรี และเราสามารถขอสปอนเซอร์ได้โดยไม่ต้องอายใคร”

เพื่อนๆ ต่างคะยั้นคะยอให้เทิร์นโปร แต่โค้ชของเรา – เยอร์เกน – กลับไม่พูดอะไร จนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เยอร์เกนอ่านผลการแข่งขันสนาม IM 70.3 Cobra ที่ฟิลลิปปินส์ที่อันดับเราดีกว่านักไตรกีฬาสาวชื่อดัง เบลินดา เกรนเจอร์ วินาทีนั้นเยอร์เกนพูดสั้นๆ ว่า

“Now you can race pro”

 

เป้าหมายฤดูกาล 2015

เอาละ พอผู้จัดแข่งเขายอมรับว่าเราเป็นนักไตรกีฬาอาชีพเต็มตัวแล้ว เราก็ต้องเริ่มแข่งอย่างจริงจังมากขึ้นเหมือนกัน สนามต่อไปคือ Safeguard 5150 ที่เกาะโบโฮล ประเทศฟิลิปปินส์ และหลังจากนี้เราหวังว่าเราจะได้รับเชิญให้ลงสนามสุดโหดหินอย่าง Laguna Phuket Thriathlon และ Challenge Phuket ที่เป็นเป้าหมายของนักไตรกีฬาทั่วโลก ส่วนฤดูกาล 2015 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดตั้งแต่เราเคยซ้อมมาเพราะเราจะเริ่มซ้อมระยะ Ironman แบบเต็มแล้ว เรามี 2 เป้าหมาย

อย่างแรก: คว้าอันดับโพเดี้ยมในรายการแรก (Full Ironman)
และอย่างที่สอง: เอาชื่อเราและชื่อประเทศไทยที่เราเป็นตัวแทนลงแข่งขึ้นสู่ยอดอันดับในสนามไตรกีฬาระดับโลก

เขียน: แคโรล ฟุกส์
แปลและเรียบเรียง: เทียนไท สังขพันธานนท์

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *