Catching rainbow: จับปลายสายรุ้ง

อีกไม่กี่สัปดาห์ฤดูกาลใหม่ก็จะเริ่มแข่งอีกครั้งแล้วนะครับ ต่างคนต่างมาพร้อมกับเสื้อทีมเดิม หรือทีมใหม่ แต่เชื่อว่านักปั่นทุกคนใน Peloton ต่างอยากจะมีเสื้อสีซักตัวนึงที่เค้าอยากครอบครองในช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เสื้อแชมป์ของชาติตัวเอง หรือเสื้อสีต่างๆจากรายการแข่งขัน มันก็ใช่ที่หลายๆคนอาจจะอยากครอบครอง เสื้อเหลืองจาก Tour เสื้อชมพูจาก Giro เสื้อแดงจาก Vuelta แต่จะมีซักกี่คนที่ทำได้ เพราะรายการแกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการ ส่วนใหญ่แล้วก็เสร็จตัวเต็งพวก GC Contender หมด ยกเว้นจะเป็นเสื้อสีอื่น ตามแต่ละประเภทอย่าง Point หรือ Mountain Classification ซึ่งก็ให้นักแข่งที่ถนัดแต่ละประเภท

แต่ถ้าพูดถึงเสื้อตัวนึงที่นักปั่นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะครอบครอง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักปั่นสายไหน ประเภทไหน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้มันกลับมาใส่ และได้ใส่ทุกรายการที่ลงแข่งเป็นเวลา 1 ปีเต็ม…

Cav Rainbow

Rainbow Jersey : เสื้อที่นักปั่นอยากครอบครองซักครั้งในชีวิต

จริงๆจะเรียกว่าเสื้อสีรุ้งซะทีเดียวก็ไม่ถูกนักเพราะมันไม่ใช่สีรุ้งอย่างที่เรารู้จักกัน ประวัติของมันสีรุ้งนั้นดึงมาจากสีหลักห้าสีใน Olympic Rings ที่แทนทวีปบนโลกใบนี้ ก็คือ น้ำเงิน แดง ดำ เหลือง เขียว บนพื้นสีขาว เสื้อสีรุ้งได้ถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี คศ. 1927 ซึ่งการแข่งครั้งนั้นถูกจัดขึ้นที่ประเทศเยอรมันนี และแชมป์เสื้อสีรุ้งคนแรกคือ Alfredo Binda นักปั่นชาวอิตาเลียน (ภายหลังได้อีกสองครั้งปี 1930 และ 1932 ตามลำดับ)

แต่เสื้อสีรุ้งก็ไม่ได้มีเพียงแค่ของการแข่งเสือหมอบเท่านั้นเสื้อสีรุ้งยังมีรวมไปถึงการแข่ง เสือภูเขา, BMX, จักรยานลู่, ไซโครครอส, ไทรอัล, Artistic (คล้ายยิมนาสติกลีลาแต่อยู่บนจักรยานไปด้วย), และประเภทสุดท้าย Cycle Ball ซึ่งแต่ละประเภทก็มีการแยกย่อยลงไปอีกตามรายการต่างๆ

 

PIC359382719

เมื่อได้แล้วมีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง?

UCI กำหนดกฏระเบียบไว้หลายข้อสำหรับผู้ถือครองเสื้อสีรุ้ง ซึ่งต้องทำตามอย่างเคร่งครัด มีหลายข้อที่น่าสนใจที่เราเห็นบ่อยๆใน peloton คือ

1.3.063 ผู้ครองเสื้อต้องใส่เสื้อในทุกโอกาสที่ต้องออกสู่ที่สาธารณะ ในระหว่างการแข่งขัน, การมอบรางวัล, การแถลงข่าว, การให้สัมภาษณ์, การแจกลายเซ็น, การถ่ายภาพ, รวมทั้งโอกาสอื่นๆ ตลอดระยะเวลา 1 ปี ก่อนจะถึงวันแข่งในปีถัดไป

1.3.064 เมื่อสิ้นสุดการถือครองเสื้อสีรุ้งแล้ว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะใช้แถบสี่รุ้งต่อไป ที่ปลายแขน หรือ ที่ปก ตามข้อกำหนดที่ได้รับระบุจากทาง UCI รวมถึงรายการที่จะใส่ลงแข่งได้

1.3.066 การโฆษณาบนเสื้อในระหว่างพิธีการต่างๆสามารถมีได้เพียงแค่ตามการตัดสินโดย UCI เท่านั้น ห้ามมิให้มีนอกเหนือจากนั้น

ส่วนกฏข้ออื่นๆหากสนใจ สามารถดูได้จากลิงค์ของทาง UCI ครับ

ซึ่งการใส่เสื้อสีรุ้ง จะใส่ตามรายการที่ตัวเองเป็นแชมป์เท่านั้น อย่างที่เห็นในฤดูกาลที่ผ่านมาที่ Gilbert เป็นแชมป์ Road Racing พอถึงรายการที่เป็น Individual Time Trial เจ้าตัวจะใส่เสื้อทีมปกติเท่านั้น ส่วน Tony Martin จะได้ใส่เสื้อสีรุ้งแทนเพราะเป็นแชมป์ ส่วนรายการ Team Time Trial ไม่มีส่วนของเสื้อสีรุ้ง จะให้เพียบแถบสีรุ้งไปไว้ที่เสื้อเท่านั้น

 

PIC342686156

คำสาปเสื้อสีรุ้ง

จากเหตุการณ์หลายๆครั้งที่เกิดขึ้นกับคนครองเสื้อสีรุ้งทำให้หลายๆกระแสบอกว่าเสื้อสีรุ้งมักจะมาพร้อมกับคำสาปทำให้ผู้ครองเสื้อมีปีถัดมาเลวร้าย ทำผลงานไม่ได้อย่างที่ต้องการ หรือมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับเจ้าตัว ตัวอย่างบางกรณีที่เคยเกิดขึ้นอย่างเช่น

1965 – Tom Simpson ขาหักในระหว่างเล่นสกีหลังจากได้เสื้อเพียงไม่กี่เดือน

1987 – Stephen Roche ที่ได้แชมป์ Giro และ Tour ในปีที่ได้เสื้อ แต่ปีถัดมาลงแข่งไม่ได้ทั้งฤดูกาลจากอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า

2004 – Óscar Freire บาดเจ็บช่วงกลางฤดูกาลจนหมดโอกาสป้องกันแชมป์เสื้อรุ้งในบ้านเกิดตัวเอง

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีบางคนที่เป็นข้อยกเว้น อย่าง Eddy Merckx, Bernard Hinault และ Greg LeMond ที่ชนะตูร์ได้ในปีถัดมา

ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องของคำสาป แต่เชื่อว่านักปั่นหลายๆคนก็ยังอยากครอบครองเสื้อตัวนี้อยู่ดี สิ่งเลวร้ายมันคงจะไม่ได้เกิดกับทุกคนหรือเกิดขึ้นทุกปี Rui Costa ผู้ครองเสื้อสีรุ้งคนใหม่เองก็น่าจะคิดเช่นนั้น เพราะเจ้าตัวก็เตรียมลงแข่งในฤดูกาล 2014 ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าผลงานจะเป็นอย่างไร จะต้องคำสาปเหมือนกลายๆคนที่เคยได้ครองมาหรือไม่ หรือจะทำได้ดีเพราะเจ้าตัวก็ย้ายทีม กลายเป็นตัวหลักที่จะเป็นหัวหน้าทีมลงลุยรายการใหญ่ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เค้าได้บันทึกไว้ก็คือ เค้าคือหนึ่งในผู้ที่เคยครอง “เสื้อสีรุ้ง” ที่หลายๆคนไม่มีโอกาสได้ครอบครอง

 

เกร็ดเล็กน้อย

– รายการแข่ง UCI World Championship จะลงแข่งในนามทีมชาติ มิใช่ในนามของทีมที่สังกัด เพราะ UCI เพราะการรวมตัวของสมาพันธ์ของชาติต่างๆดังนั้น นักปั่นย่อมเป็นตัวแทนของชาติ ซึ่งการแข่งทั้งฤดูกาลจะมีเพียงรายการนี้ที่จะให้นักปั่นมาในนามตัวแทนของชาตินั้นๆ

– นักปั่นที่ได้แชมป์รายการมากที่สุดคือ 3 สมัย มี 4 คนคือ Alfredo Binda, Rik Van Steenbergen, Eddy Merckx, Óscar Freire

– มีหนังสือของ Graham Healy ที่ชื่อว่า The Curse of the Rainbow Jersey: Cycling’s Most Infamous Superstition ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับคำสาปรวมถึงเหตุการณ์ต่างๆของแชมป์เสื้อสีรุ้ง ที่พึ่งตีพิมพ์ในปี 2013 นี้เอง

By ศิลวัต ช่างเรียน

ก๊อง - ดีไซเนอร์ ผู้สนใจจักรยาน,การทำอาหารและเชื่อว่างานเขียนจะเพิ่มความสนใจในมุมอื่นของวงการจักรยานให้คนอ่านได้

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *