“MIKE CAN YOU JUST SLOW DOWN PLEASE!?
“YOU ARE TOO SLOW BRO”
คุณเคยปั่นจักรยานลงเขาตามคนข้างหน้า แล้วเกิดความรู้สึกที่ว่า ตามยังไงก็ตามไม่ทันมั้ยครับ? ชีวิตนี้ผมเคยเจออย่างนี้ 2-3 ครั้ง ครั้งแรกคือลงเขากับผู้พันกุ๊ก แมวทอง ที่นักปั่นรู้จักกันดี
และคนที่สองก็คือคนในรูปข้างบนนี่หละครับ ไมค์ ไพรด์ ชาวนิวซีแลนด์กึ่งเอเชีย เจ้าของแบรนด์ จักรยานใหม่ Chapter 2 พยายามลงเขาตามไวๆ เห็นความเร็วขึ้น 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วก็ยังไม่ทัน พวกนี้เป็นมนุษย์ไร้ใจ ลงเขาแบบไม่ต้องเบรค!
สองปีมานี้รู้สึกว่าจะมีเหตุให้ DT ได้เจอกับอีตาไมค์นี่บ่อยมาก ไมค์มาเปิดตัวจักรยาน Chapter 2 ที่ไทยสองครั้ง มาแข่งเองอีกครั้งนึงในงาน Tour of Friendship แล้วเรายังได้เจอกันที่ญี่ปุ่นในงานแข่งด้วยกันอีกด้วย
สำหรับคนที่ไม่รู้ ไมค์เป็นอดีตนักออกแบบจักรยานให้กับ NeilPryde บริษัทที่พ่อของเขาก็ตั้งขึ้นมา แต่ได้ขายกิจการไปเมื่อไม่นานมานี้ และพ่อลูกก็มาเปิดแบรนด์ใหม่ของตัวเองในชื่อ Chapter 2 ครับ Ducking Tiger เคยรีวิวจักรยาน Chapter 2 Tere ไปเมื่อปีก่อนที่ลิงก์นี้ ซึ่งเป็นจักรยานที่ปั่นสนุก หน้าตาสะสวย และราคาไม่กระโดดเกินไป รวมๆ แล้วกำลังดี
ระหว่างสองปีนี้ผมมีโอกาสได้คุยกับไมค์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมันเป็นเรื่องประหลาดดีเหมือนกันครับ เพราะจะมีกี่ครั้งที่เราจะได้คุยกับเจ้าของแบรนด์จักรยานนานาชาติ ปกติเข้าถึงตัวแค่นักออกแบบ หรือหัวหน้าฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง แต่จะเจาะ insight อะไรจริงๆ มันก็ไม่เหมือนคุยกับเจ้าของน่ะนะ แล้วไมค์นี่เป็นคนที่ซิ่งมาก นอกจากจะออกแบบจักรยานเองแล้วยังเป็นนักแข่งตัวยงด้วย แข่งจักรยานมาสามสิบกว่าปี เคยแข่ง BMX และ MTB Downhill ระดับอาชีพ พอเลิกเป็นโปรแล้วก็ยังไล่แข่งสนามสมัครเล่นระดับนานาชาติทุกปี
ปีนี้ไมค์เปิดตัวจักรยานใหม่อีกหนึ่งรุ่นในชื่อ Chpater 2 RERE เสื้อหมอบแอโรที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจนักปั่นเอเชียโดยเฉพาะ ไมค์เล่าให้เราฟังตั้งแต่วิธีคิด ว่าจักรยานที่ดีควรจะเป็นยังไง ทำไมต้องทำจักรยานแอโร แล้วแต่ละส่วนของจักรยาน RERE นี้มันมีวิธีการคิดยังไง? ผมว่าคนที่สนใจเรื่องจักรยาน high performance น่าจะชอบครับ เพราะเราได้ฟังวิธีคิดของคนออกแบบกันตรงๆ เลย มาเริ่มกันดีกว่า
“ผมชอบรถจักรยานทรงคลาสสิค”
นั่นคือเฟรมที่ท่อนอนเป็นแนวตรงเหมือนจักรยานแข่งสมัยก่อนน่ะ สมัยที่ผมยังแข่งจักรยานเยอะๆ มันก็มีแต่รถทรงนี้ เราเลยออกแบบให้จักรยานคันแรกของ Chapter 2 (รุ่น TERE) เป็นทรงคลาสสิค
แต่ความต้องการของคนปั่นตอนนี้มันมีหลากหลายมากครับ อย่างที่เราเห็นมีคนชอบทั้งรถน้ำหนักเบาๆ รถแอโรลู่ลม รถขี่สบาย รถขี่ทางวิบาก จักรยานคันเดียวที่เรามีคงตอบโจทย์ทุกอย่างไม่ได้ ตอนเราเริ่มทำ TERE เราคิดว่าเราอยากทำรถกลางๆ เป็น all rounder แต่ก็มีความซิ่งอยู่ด้วย เราเลยใช้ดีไซน์ทรงท่อแอโรแบบ Kamntail ให้มันทันสมัยมากขึ้น
ในใจผมตั้งแต่เสร็จโปรเจ็ค TERE ผมอยากทำเสือหมอบแอโรแบบเต็มตัวโดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องอื่นครับ อยากรู้ว่าออกแบบจักรยานให้มันไปได้ไวที่สุดมันจะออกมาเป็นยังไง
“ไม่ใช่ทุกคนที่อยากปั่นรถนักกีฬา”
ตอนผมคิดถึงคอนเซปต์แบรนด์ Chapter 2 บอกตามตรงเลยว่าผมไม่มีภาพของนักปั่นอาชีพในหัวเลยครับ จักรยานที่ประสิทธิภาพดีนั้นไม่ต้องใช้แข่งก็ได้นะ ทุกคนอยากปั่นจักรยานดีๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีร่างกายเหมือนโปร นักปั่นอาชีพส่วนใหญ่สัดส่วนร่างกายดีมาก ตัวยาว กล้ามเนื้อแข็งแรงแต่ก็ลีน และมีความยืดหยุ่นสูงมาก ซึ่งไม่ใช่ชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่ครับ
แต่วงการจักรยานถนนนั้นมันเติบโตมาจากการแข่งขันอาชีพ มันเลยมีภาพติดมาว่ารถที่ประสิทธิภาพดีต้องเป็นรถที่โปรใช้ด้วย ซึ่งผมว่าเรามองต่างมุมได้นะ สำหรับ Chapter 2 เรามีแคมเปญที่ชื่อว่า “Real bike for real people.” แทนที่จะสนับสนุนนักปั่นทีมอาชีพ เราเลือกสนับสนุนคนปั่นธรรมดาๆ ทั่วไปเหมือนผมกับคุณ เหมือนอย่างกิฟท์ (@Muzcali) และฌอน ซาโกะ (@sean_sako)
อย่างซาโกะเขาบอกเลยว่าเขาไม่คิดจะลงแข่งงานจักรยานอะไรทั้งสิ้น เขาแค่ชอบการปั่นจักรยานเฉยๆ และชอบขี่จักรยานประสิทธิภาพดี หลายคนอาจจะไม่ชอบคาแรคเตอร์ซาโกะ แต่เขาก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองนะ เราอยากดึงดูดกลุ่มคนปั่นแบบนี้ครับ
แน่นอนถ้าคุณจ่ายเงินหกเจ็ดหมื่นเพื่อเฟรมจักรยานคุณย่อมต้องอยากได้จักรยานที่ประสิทธิภาพดีใช่ไหม มีแบรนด์จักรยานบูทีคมากมายที่ขายเฟรมราคาสูงมาก แต่คุณต้องรอหลายเดือนกว่าจะผลิตเสร็จ แล้วประสิทธิภาพก็ไม่ดีเหมือนจักรยานคาร์บอน สุดท้ายคุณก็ไม่แฮปปี้
สำหรับ Chapter 2 ผมอยากออกแบบจักรยานที่มีความดึงดูดเหมือนแฟชันแบรนด์นะ เราไม่ได้ออกรถใหม่ทุกปี แต่เราเลือกทำรถเป็นคอเลคชัน มีรุ่นสีพิเศษ จำนวนจำกัดตามฤดูกาล และสีหรือลายมาตรฐานก็เปลี่ยนเรื่อยๆ ให้มันไม่น่าเบื่อ
นั่นคือเราพยายามรวมเอาทั้งประสิทธิภาพและแฟชันเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่ดูดีอย่างเดียว ต้องปั่นดีด้วย ขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่การเร่งประสิทธิภาพเพื่อการแข่งขันเท่านั้น ทฤษฏีการปั่นของผมคือเราต้องสนุกกับการปั่น ขณะเดียวกันจักรยานของเราก็ต้องทำให้เราอยากที่จะเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองด้วย นิยามของจักรยานประสิทธิภาพสูงไม่จำเป็นต้องโยงกับสนามแข่งเสมอไป ทุกคนรู้ว่ารถ F1 เร็วกว่ารถซุปเปอร์คาร์ทุกยี่ห้อ แต่ถ้าให้คุณเลือกได้หนึ่งคันระหว่างเฟอร์รารีกับ F1 คุณจะเลือกคันไหนไว้ขี่? F1 มันอาจจะเร็ว แต่มันไม่ได้ดูน่าดึงดูดขนาดนั้น
แล้วมันไม่ใช่การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นด้วย อย่างที่คุณเห็น รูปลักษณ์ของผมคือขั้วตรงข้ามกับโปร ผมไม่ได้ผอม ผมไม่ได้สูง ผมตันๆ อย่างนี้แหละ แต่ผมชอบปีนเขามากๆ ปีก่อนผมไปลองงาน Taiwan KOM Challenge
ผมไม่รู้หรอกว่าคนอื่นเขามาปั่นด้วยเป้าหมายอะไร แต่สำหรับผมพอได้ปั่น ได้เหนื่อยแบบสุดๆ แล้วทุกอย่างรอบตัวมันหายไป คุณเห็นแต่ขาตัวเองที่วนขึ้นวนลงเป็นจังหวะ ทำงานอัตโนมัติราวกับมันหลุดจากการควบคุมของสมอง ประสบการณ์เหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกถึงจิตวิญญาณที่ทำให้การปั่นต่างไปจากกีฬาอื่นๆ จิตวิญญาณนี้แหละที่ Chapter 2 อยากจะจับและถ่ายทอดออกมาในจักรยานของเรา
“จักรยานที่เร็วควรมีหน้าตายังไง?”
ถ้าเราเอาประสิทธิภาพเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว จักรยานทุกคันในตลาดคงไม่ออกมาแบบนี้ครับ อย่างที่ผมยกตัวอย่างข้างบน เฟอร์รารีไม่ใช่รถที่เร็วที่สุด แต่มันดูน่าดึงดูดกว่า F1 รูปลักษณ์ของเฟอร์รารีกระตุ้นความรู้สึกเราได้มากกว่า คนออกแบบจักรยานทุกคนก็คิดถึงเรื่องนี้ คือต้องมีสมดุลระหว่างความสวยงามและประสิทธิภาพด้วย
ขั้นตอนการออกแบบของผมคือวาดด้วยมือก่อนในกระดาษ ผมยังชอบวิธีการทำงานเก่าๆ น่ะ เมื่อได้รูปทรงที่พอใจแล้วก็นำเข้าไปเรนเดอร์ในคอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรม CFD ช่วยปรับให้รูปทรงมันลู่ลมมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นนำไปวาดมือใหม่จนกว่าจะได้เชปสุดท้าย ซึ่งเราจะทำ rapid prototype เท่าขนาดจริงไปทดสอบในอุโมงค์ลม
RERE (เรเร่) เป็นภาษาเมารีแปลว่า “flow” ที่แปลว่าความพริ้ว ลื่นไหล
ส่วนคำว่า MANA (มานา) หรือชื่อแฮนด์แอโรของเราแปลว่า “power” (พลัง) เป็นการล้อกับคำว่า power steering (เพราะแฮนด์ใช้บังคับจักรยาน)
เราพอรู้ว่าตอนออกแบบเฟรม TERE เรายังทำให้มันลู่ลมได้มากกว่านี้อีกเยอะ มันยังไม่สุดเพราะเราอยากให้มันเป็นรถรอบด้าน มีสมดุลทั้งเรื่องน้ำหนัก ความสบาย และความลู่ลม ปัญหาของจักรยานแอโรคือเวลาเราเริ่มทำให้ท่อเฟรมมันลึกขึ้น เฟรมจะให้ตัวได้น้อยลง (สะท้านกว่าเดิม) เราแก้ปัญหาความสะท้านของหมอบแอโรหลายๆ จุดครับ เช่น
- ทำซีทสเตย์ให้มีจุดที่งอเล็กน้อยเพื่อกระจายแรงสะเทือนออกจากศูนย์กลางเฟรม
- ทำให้เฟรมรองรับยางหน้ากว้าง ความสะท้านสะเทือนเกิน 80% ในจักรยานมาจากล้อและยางที่เราใช้ ใน RERE คุณใช้ยางกว้าง 26-28mm ด้วยแรงดันลม 70psi ได้สบายๆ เหตุผลที่เสือหมอบแอโรสมัยนี้ขี่สบายขึ้นก็เพราะเราหันมาใช้ยางหน้ากว้างขึ้นด้วยครับ
ในด้านความลู่ลม เราทดสอบในอุโมงค์ลมของมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ เราไม่ได้เทียบกับแบรนด์อื่นๆ เทียบกับแค่ TERE ซึ่งผลคือ RERE ลู่ลมกว่า 20% ด้วยอะไหล่อื่นๆ ที่เหมือนกันหมด ตอนทดสอบเราไม่ได้ใช้คนปั่น เพราะเราอยากให้ได้ค่าเปรียบเทียบที่นิ่งและชัดเจนที่สุด
“ใน RERE ผมอยากให้มันเป็นรถแอโรเต็มตัว”
แต่ก็ต้องปั่นได้สบายด้วย RERE ตะเกียบ RERE ก็จะลึกกว่าและสติฟฟ์กว่าใน TERE ซึ่งโดยโครงสร้างแล้วมันจะทำให้รถสะท้านขึ้น แต่ถ้าใช้ยางรุ่นใหม่แบบหน้ากว้าง เรื่องความสะท้านก็ไม่ใช่ปัญหาครับ เฟรมเราออกแบบเพื่อให้ใช้กับยางหน้ากว้างสุด 28mm แต่จะใส่ 30mm ก็ไหวอยู่
จะสังเกตว่าช่วงรอยต่อระหว่าง ตะเกียบ ท่อคอ และท่อล่างก็ชิดสนิทกันมากขึ้นช่วยให้ลมไหลผ่านโดยไม่สร้าง drag และการใช้เบรคแบบไดเรคเมาท์หมายความว่าตัวก้ามเบรคอยู่ในระนาบเดียวกับเฟรมพอดี
ในขั้นตอนการผลิตก บริเวณท่อคอเราใช้กระบวนการ EPS moulding เพื่อให้คุมความหนาของผนังท่อและทิศทางการไหลของเรซิ่นได้ละเอียด ชั้นในท่อคอและกระโหลกเราใช้ผ้าคาร์บอน 3k เพื่อให้รองรับและกระจายแรงกระแทกได้ดี ส่วนอื่นของเฟรมเราใช้ผ้าคาร์บอนแบบทิศทางเดียว (unidirectional)
“สมัยนี้แบรนด์ชอบโชว์ว่ารถตัวเองสู้ลมข้างได้ดี”
แต่ถ้าคุณดูข้อมูลเชิงสถิติจริงๆ จะพบว่าในการปั่นจักรยานเราเจอลมปะทะส่วนมากไม่เกิน 7-8 องศาครับ แน่นอนว่าเราเทสกว้าง -25 ถึง 25 องศา แต่แม้แต่ในสนามไตรกีฬาโคน่า ที่ๆ ขึ้นชื่อว่าลมข้างแรงที่สุดในโลก ผลทดสอบพบว่านักปั่นต้องปะทะมุมที่ลมกระทบจริงๆ ไม่เกิน 10 องศา มุมเฉียงๆ ข้างๆ นั้นเราเจอน้อยมาก เพราะอย่าลืมว่าเราปั่นไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่ได้จอดอยู่เฉยๆ ยิ่งปั่นเร็วมุมลมปะทะยิ่งมาจากด้านหน้า
ช่วงหลังรถเราทำคัทเอาท์ เว้าท่อนั่งให้บังลมล้อหลัง ท่อล่าง (downtube) เราใช้ทรงแอโร 100% ถ้าคุณดูท่อล่างของ Pinarello F10 และ Cervelo S5 จะเห็นว่าช่วงบนท่อล่างมันเรียวเป็นทรงหยดน้ำ แต่ขยายออกในช่วงกลางเพื่อรับจุดยึดกระติกน้ำ ขอเราจะขยายออกในช่วงใกล้กระโหลกเพื่อความสติฟฟ์
เชนสเตย์เป็นส่วนที่แบนราบอยู่แล้ว เลยไม่ขวางลมเท่าไร
โดยรวมแล้ว เราจะได้เฟรมจักรยานที่มีจุดขวางการไหลของลมน้อยมาก เราเคยคิดว่าจะติดเบรคหลังไว้ใต้กระโหลกแต่เบรคไดเรคเมาท์ได้ทรงที่เล็กกระชับอยู่แล้วเลยไม่จำเป็นและเซอร์วิสง่ายกว่าด้วย เป็นบทเรียนที่เราเรียนรู้จาก Neilpryde Nazare ที่หลายคนบ่นเรื่องการเซอร์วิสเบรก
หลักอาน RERE ออกแบบมาให้กระจายแรงสะเทือนได้ดีระดับหนึ่ง หลักอานกลับข้างได้สำหรับคนที่อยากใช้เซ็ตเป็นรถไตร จะได้ระยะ forward เพิ่มอีก 35mm
“แฮนด์ก็ช่วยเรื่องแอโรไดนามิกได้มาก”
จักรยานแอโรนั้นไม่ได้แอโรแค่ที่เฟรมกับตะเกียบครับ ส่วนที่มีผลกับลมมากที่สุดก็คือส่วนที่ปะทะลมก่อนจุดอื่น ซึ่งก็คือแฮนด์จักรยานครับ แฮนด์แอโรดีๆ ช่วยประหยัดแรงได้ 5-6 วัตต์เทียบกับแฮนด์กลมธรรมดา เมื่อคุณเทียบสัดส่วนการประหยัดแรงกับเฟรมแล้ว มันเป็นการอัปเกรดให้เฟรมลู่ลมได้คุ้มค่าที่สุดเลย
แฮนด์แอโรของเราชื่อ MANA มีให้เลือก 4 ขนาดความกว้าง และความยาวสเต็มก็มีให้เลือกหลายไซส์ครับ แต่เราใช้ขนาดซางปกตินะ เพราะงั้นถ้าคุณไม่ชอบแฮนด์หรือสเต็ม MANA จะเปลี่ยนใช้ยี่ห้ออื่นก็ได้ไม่มีปัญหาเลย
“การประกอบจักรยานสักคัน มันคือการเดินทาง”
ผมเชื่อว่าการจะซื้อจักรยานสักคันมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ครับ ผมอยากให้ Chapter 2 แต่ละคันเป็นเหมือน “โปรเจ็ค” ของคนที่อยากได้ นั่นคือค่อยๆ เลือกอะไหล่มาประกอบกับเฟรมของเราจนเป็นจักรยานที่ถูกใจที่สุด มากกว่าซื้อแบบคอมพลีทไบค์แล้วจบๆ ไป
ลูกค้าคนหนึ่งของผมเขาใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะประกอบเฟรม Tere ออกมาเป็นคัน เขามีครอบครัวและความรับผิดชอบเยอะ เลยไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้ทันที ถึงจะไม่ได้ขี่ทันทีแต่ลูกค้าคนนี้ก็บอกว่ามันสนุกที่ได้ค่อยๆ เก็บเงินเลือกของทีละอย่าง จนประกอบรถออกมาเป็นคัน เป็นเหมือนการเดินทางที่สนุกและคุ้มค่าต่อการรอคอย
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างบนนี้ก็เป็นคำพูดจากคนออกแบบ Chapter 2 RERE เอง Ducking Tiger ต้องของคุณทาง Chapter 2 Bike Thailand ที่ช่วยเป็นธุระให้เราได้พูดคุยกับคุณไมค์ ไพรด์หลายครั้งครับ
Chapter 2 RERE เปิดตัวไปเมื่อสองเดือนก่อน ใครอยากเช็ครายละเอียดจักรยานรุ่นนี้เพิ่มเติมอ่านได้ในลิงก์ข้างล่างนี้ครับ
More info: chapter2bikes.com