Classic 101: อะไรคือจุดเด่นของนักปั่นสนามคลาสสิค?

ถ้าถามว่านักแข่งจักรยานประเภทไหนที่คนรู้จักและโด่งดังที่สุด เชื่อว่าทุกคนคงมองถึงนักแข่งสนามแกรนด์ทัวร์ก่อน (รายการที่แข่งติดต่อกันหลายวัน) เช่นอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ หรือคริส ฟรูม ก็ไม่น่าแปลกใจครับ เพราะนักแข่งระดับตัวเต็งแกรนด์ทัวร์นั้นมีความแข็งแกร่งเหนือมนุษย์มนาทั่วไป คนพวกนี้สามารถปั่นจักรยานติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงทุกๆ วันติดต่อกันได้สามสัปดาห์ โดยที่ยังต้องรักษาอันดับเวลาของตัวเองให้อยู่ในแถวหน้า หรือหาโอกาสช่วงชิงเวลานำคู่ต่อสู้ในทุกจังหวะ

ถ้าใครเคยแข่งจักรยานก็น่าจะรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำได้นั้นไม่ง่ายเลย การจะชนะสนามแข่งให้ได้สักครั้งในชีวิต ไม่ใช่แค่แข็งแรงอย่างเดียว ต้องมีทีมที่ดี และโชคอีกมหาศาล

แต่ในอีกด้านหนึ่งของการแข่งจักรยาน เรามีสนามแข่งขันที่ตัดสินผลแพ้ชนะกันในวันเดียว นักปั่นในสนามนี้อาจจะไม่ได้ต้องขี่จักรยานหนักๆ เป็นเดือน แต่ด้วยเส้นทางที่ท้าทาย สภาพอากาศหนาวเหน็บ แม้แต่นักปั่นแกรนด์ทัวร์ที่แข็งแกร่งร่างกายไร้ซึ่งไขมัน ก็ไม่อาจจะขึ้นมาอยู่แถวหน้าในรายการแข่งประเภทนี้ได้

มันคือการแข่งขันสนามแบบที่เราเรียกว่า “สนามคลาสสิค” – รายการที่เรียกร้องความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจอีกรูปแบบหนึ่ง และนักปั่นตัวเต็งสนามประเภทนี้ก็เป็นพันธ์หายาก ไม่ต่างอะไรกับตัวเต็งแกรนด์ทัวร์

ความแล้วฤดูกาลแข่งจักรยานก็เริ่มก้าวเข้าสู่การแข่งขันอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที เพราะสำหรับผมแล้วมองว่าการที่เหล่านักแข่งจักรยานทั้งหลายลงปั่นในถิ่น Down Under โอบอุ้มจิงโจ้น้อยน่ารักที่เส้นสตาร์ท หรือฝ่าลมพายุทะเลทรายอาหรับ และกลับมาพักผ่อนในโรงแรมหรูระดับ 10 ดาวของเหล่าเศรษฐีน้ำมัน ดูไปก็คล้ายคลึงจะเป็นสนามเพื่อทดสอบร่างกายทดลองระบบทีม หรือแม้แต่การลองอุปกรณ์ใหม่ๆของจักรยานอะไรเทือกนั้นเสียมากกว่า ไม่ก็เป็นสนามให้เหล่านักปั่นใช้สร้างฟอร์มเพื่อพัฒนาไปสู่การแข่งขันที่จริงจังกว่านี้ นั่นก็คือ สนามคลาสสิคนั่นเอง

 

สเน่ห์คลาสสิค

ใครและใครในเหล่ามิตรปั่น คงไม่ต้องอธิบายกันให้มากความว่าสนามคลาสสิคมีสเน่ห์น่าหลงใหลอย่างไร บางสนามก็มีระยะทางแข่งที่ไกลแสนไกล บางสนามก็โหดร้ายเหมือนอยู่ในสนามรบในเขตชายแดน แข่งกันแบบวันเดียวจบ การวางแผนต้องเด็ดขาดวัดกันไปเลยว่าจะแพ้หรือชนะ ถ้าแข่งสเตจเรซ คุณอาจตามหลังคู่แข่ง 1 นาทีและมีเวลาเหลือให้เอาเวลาคืนถึง 3 วัน แต่คลาสสิคเรซ คุณตามหลังคู่แข่งแค่ 30 วินาทีในอีก 3 กม.สุดท้าย คุณแทบปิดประตูแพ้ได้เลย เหมือนที่เราเห็นใน E3 Harelbeke เมื่อคืนนี้

ความแข็งแกร่งของนักปั่นสายนี้ ดูๆไปก็อาจไม่ต่างจากนักรบ สักเท่าไรนะครับ หลายๆ ครั้งพวกนี้ต้องลุยกับสภาพสนามที่เปลี่ยนไปมาในวันเดียว ราบเรียบ ฝุ่นโคลน น้ำขัง และหินเป็นก้อนๆ บ้างก็เจอกับอากาศที่แปรปรวน ออกสตาร์ทอย่างสดใส ปั่นไปกลายเป็นฝนหนัก ความทรหดแบบที่คิดแค่ว่าแข่งแค่วันเดียว เดี๋ยวก็จบไปน่ะเหรอ จบแน่ครับ จบเพราะเข้าเส้นชัยเกินเวลาที่อนุญาต ไม่ก็ล้มเจ็บ รถพัง อะไรอย่างนั้นน่ะแหละ

 

คาแรคเตอร์แบบคลาสสิค

ผมหลงใหลสเน่ห์ของนักปั่นในสายคลาสสิคนะครับ พวกนี้ดูมีความเป็นนักรบในการแข่งจักรยาน ดูนักแข่งที่รีไทร์ไปและเป็นตำนานอย่าง ทอม โบเนน หรือ เฟเบียน แคนเซลเลรา นั่นป่ะไร มีสไตล์การแข่งขันแบบนักสู้แท้ๆ มีความเท่บวกความแข็งแกร่งออกมาชัดเจน หรือแม้แต่นักปั่นที่ยังแข่งอยู่ในยุคนี้ก็มีหลายต่อหลายคน อาทิ ปีเตอร์ ซากาน, เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ต ,ฟิลลิป จิลแบร์, เซป ฟานมาร์ค, โอลิเวอร์ เนเซน หรือใครและใครอีกหลายๆคน

ในพวกสายคลาสสิคนี่ อาจไต่เขาชันๆ สั้นๆ ได้ดีแต่ก็ไม่ถือเป็น “นักไต่เขา” และถึงจะทำความเร็วสูงค้างวัตต์และหัวใจโซนสูง แบบนักปั่น Time Trial ได้บ้าง (จำเป็นต้องใช้หนีเดี่ยวในหลายๆ ครั้ง) แต่ก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการปั่นจับเวลา (โอเค เราเว้นแคนเชอลาราไว้คนหนึ่ง)

หรือจะเป็นสปรินเตอร์ได้เร็วสายฟ้าแลบก็แค่พอเฉียดๆ (แต่สปรินเตอร์หลายคนก็มาลุ้นโพเดียมสนามคลาสสิคได้อยู่เหมือนกัน)

อย่างไรก็ตาม ความพิเศษของนักรบสายนี้ผมว่าก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ นอกจากความแข็งแกร่งของร่างกายที่ควรมีมากเป็นพิเศษ ยังต้องมีความอึดแบบทรหดกับความโหดร้ายของสนามแข่งด้วย เอาง่ายๆว่าคุณอาจล้มจูบกับถนนหินในความเร็ว45-50+ และคุณต้องไปต่อนะ รวมถึงความน่าสนใจของกลยุทธ์ในการแข่ง การวางแผนของทีม การตัดสินใจของนักแข่งเอง การลงมือทำอะไรแต่ละครั้งอาจคล้ายการวัดดวง เพราะไม่มีโอกาสให้แก้ตัวในวันต่อไป มันคือการแข่งวันเดียวจบนั่นเอง

 

ชนะสักครั้งในชีวิตหรือไม่เอาเลย

การชนะสนามคลาสสิคเป็นรางวัลอันหอมหวาน บางคนขอแค่สักครั้งในชีวิตกับการยืนบนยอดโพเดียมในสนามใดสนามหนึ่ง บางคนก็ตั้งความหวังว่าจะต้องเก็บโพเดียมสนามใหญ่ให้ได้หมด ส่วนทีมเล็กๆบางทีมได้รับเชิญไปแข่งก็ดีใจฉลองกันแล้วหรือทีมใหญ่บางทีมมีเป้าหมายเดียวคือต้องชนะเท่านั้น พูดไปแล้วผมเองก็นึกเสียดายนักปั่นอยู่บางคนเหมือนกันนะครับ อย่างเช่น เกอเรนท์ โทมัส จากทีม Sky ที่เริ่มหันไปเอาดีในสเตจเรซและแกรนด์ทัวร์

แต่ก็นั่นหละครับ นักปั่นหลายคนเรียกได้ว่าเป็นพวกเก่งรอบด้านจริงๆ ไต่เขาก็ดี ปั่น Time Trial ก็ดี จะเล่นเกมคลาสสิคก็ชนะได้ ดูอย่างเพื่อนร่วมทีมเกอเรนท์ โทมัส – มิฮาล เควียทคอฟสกี้ ที่ผลงานในการแข่งขันทุกรูปแบบ แข่ง One Day Race ก็ไม่ธรรมดา แต่จะแข่งสเตจเรซเขาก็ชนะมาเยอะแล้วเช่นกัน

จริงว่าทั้งโทมัสและเควียททอฟสกี้ก็ลงรายการคลาสสิคบ้าง แต่สุดท้ายแล้วทีมอย่าง Sky ก็มุ่งเป้าไปที่สนามแกรนด์ทัวร์อยู่ดี ผมรู้สึกว่าทั้งสองคนนั้นมีคาแรคเตอร์ของนักปั่นแบบคลาสสิค โดยเฉพาะโทมัส ที่น่าจะเป็นตัวแทนนักปั่นจาก Sky ออกรบแย่งชิงโพเดียมในสนามคลาสสิคโหดๆทั้งหลาย ที่จริงผมเองก็ลุ้นมาตลอดว่าอยากให้โทมัสตั้งเป้ากลับไปแข่งสนามคลาสสิค แต่ไม่นานนี้ โทมัสเองก็หล่นวาทะออกมาแล้วว่าจะซ้อมเหมือนเป็นผู้นำทีมใน Tour de France ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่า Sky คงไม่มองรายการแบบคลาสสิคเลย

แต่จะว่าไปแล้วผมเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าในใจของโทมัสจะชอบแบบนี้จริงๆหรือเปล่านะ?

สุดท้ายแล้วทุกการแข่งขันในแต่ละแบบก็มีสเน่ห์น่าหลงใหลในตัวของมันเอง รวมถึงนักปั่นในแต่ละคนที่ถนัดในการแข่งขันแตกต่างกันไปครับ

หลายครั้งผมรู้สึกว่า เราอาจจะชอบเพียงนักปั่นที่ขึ้นเขาได้เก่งมีรูปร่างผอมเพรียวว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของความแข็งแรง แต่ที่จริงแล้วนักปั่นที่ทรหดอดทนกับสภาพสนามที่โหดร้ายก็มีความแข็งแรงมากไม่แพ้เช่นกัน

การแข่งจักรยานเสือหมอบไม่ได้มีแค่ภูเขาสูงชัน แต่ยังมีฝุ่นโคลนและหินดินทรายให้ปั่นผ่าน บางครั้งในสภาพที่เราเห็นแค่ไปยืนก็ไม่เอาแล้ว แต่พวกนักแข่งต้องปั่นผ่านนะครับ

รายการคลาสสิคต่างๆกำลังเริ่ม มารอลุ้นกันครับว่านักรบจากทีมไหนจะฟันฝ่ามันไปสู่ยอดโพเดียมได้ ส่วนสนามต่างๆว่ามีอะไรบ้างผู้อ่านเองก็รอข้อมูลจากทาง DT ได้ด้วยใจระทึกพลันนะครับ

* * *

By สุกฤษณ์ ศรีเปารยะ

นักดนตรีที่ลองเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบนักกีฬา รักจักรยานและกีฬาจักรยาน ตอนนี้ใช้เรื่องจักรยานเป็นอาชีพและเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกแทน