รีวิว: Colnago V2-R

เปิดตัวเมื่อกลางปี 2017 Colnago V-2R เป็นเสือหมอบแข่งขันจากแบรนด์อิตาเลียนชื่อดังอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ สำหรับคนที่มองหาเสือหมอบแอโร อาจจะเพราะชื่อเสียงของ Colnago โด่งดังในด้านจักรยานแนว traditional รูปทรงคลาสสิคกับฟีลลิงการปั่นนุ่ม นิ่ง หรูหรามีระดับโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์การทำเฟรมคาร์บอนแบบเข้า lug จากตระกูล C Series

แต่ Colnago V2-R (และ V1-R ที่มาก่อนหน้า) เป็นจุดเปลี่ยนของ Colnago ที่ทำให้แฟนๆ หลายคนตะขิดตะขวงใจครับ เพราะแทนที่จะทำเฟรมเข้า lug Colnago หันมาทำเฟรมแบบโมโนคอก และผลิตในเอเชีย ไม่ได้ผลิตในอิตาลีเหมือน C-Series ทำให้สเน่ห์ความเป็น Colnago ที่เป็นงานแฮนด์เมด เพนท์มือจางหายไปบ้าง

คำถามคือมันปั่นเป็นยังไง? ยังคงความ Colnago มั้ย (DT เคยรีวิว C60 ไปเมื่อสองปีก่อน) มาดูกันครับ

การออกแบบ

ถึง Colnago จะนิยาม V2-R ว่าเป็นเสือหมอบแอโร แต่ DT อยากเรียกว่าเป็นหมอบ all-round ที่มีดีไซน์แอโรผสมอยู่มากกว่า ลองนึกถึงเสือหมอบ all round รุ่นใหม่ๆ อย่าง Canyon Ultimate CF SLX, Specialized Tarmac Sl6 และ Scott Addict จะเป็นตัวเปรียบเทียบที่ใกล้เคียงกว่าเทียบกับเสือหมอบเพียวแอโรอย่างพวก Specialized Venge, Canyon Aeroad หรือ Trek Madone 9

ในด้านการออกแบบ Colnago ปรับปรุงคุณสมบัติจากตัวถัง V1-R หลายด้าน หลักๆ คือความสติฟฟ์บริเวณกระโหลกที่เคลมว่าดีกว่าเดิม 14% และที่ท่อคอ 4% โดยที่ยังคงน้ำหนักเฟรม 835 กรัม (เท่า V1-R)

ตัวเฟรมมากับเบรคแบบไดเรคเมาท์ทั้งด้านหน้าและหลัง ตรงนี้ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยครับ ใน V1-R Colnago วางตำแหน่งเบรคหลังไว้ใต้กระโหลก ซึ่งปรับจูนและทำความสะอาดยาก ใน V2-R มันกลับมาอยู่ในที่ๆ ควรจะอยู่แล้ว คือตำแหน่งปกติบนซีทสเตย์! เบรคไดเดเรคเมาท์ที่ติดรถทดสอบมาเป็นของแบรนด์ Colnago เอง (ต้องซื้อแยกครับ)

V2-R ใช้รัดหลักอานแบบซ่อนภายในตัวเฟรม เปลี่ยนจาก V-1R ที่ใช้รัดหลักอานธรรมดา หลักอานขนาด 27.2mm ตามมาตรฐานทั่วไป

เฟรมรองรับชุดเกียร์ทั้งไฟฟ้าและแบบธรรมดา เดินสายเบรคและเกียร์ภายในทั้งหมด รองรับหน้ายางกว้างสุด 28mm

ตะเกียบหน้าใช้ทรงแอโรเทเปอร์จากด้านล่างขึ้นมาด้านบน ส่วน Geometry หรือมิติรถดุดันขึ้นเล็กน้อยครับ จากฟีดแบคของโปรทีมที่อยากให้ช่วงหน้ารถต่ำกว่าเดิม ท่อคอ V2-R จะเตี้ยกว่า V1-R 4 มิลลิเมตร

จุดเด่นของเฟรม Colnago คือมากับกระโหลก Thread Fit ขนาด 82.5mm Colnago เคลมว่าไม่งอแงเหมือนกระโหลก pressfit ในตลาดทั่วไป เราได้ปั่นไม่นานพอจะคอมเมนต์ตรงนี้ได้ครับ

 

ปั่นเป็นยังไง?

รถที่เราทดสอบมากับล้อ Zipp 303 จับคู่กับยาง Specialized S-Works Turbo ชุดขับ SRAM Red 22 และค็อกพิท Zipp SL ผมใช้ล้อนี้ทดสอบ แต่เปลี่ยนไปใช้ล้อ Roval CLX 32 ของตัวเองด้วยจะได้พอเทียบความรู้สึกกับรถที่ใช้อยู่ได้ครับ (Specialized S-Works Tarmac SL6)

เหมือนที่เคยบอกไปหลายๆ ครั้ง ผมว่าเสือหมอบรุ่นที่โปรใช้แข่ง นั่นคือรุ่นท็อปราคาหกหลัก ส่วนใหญ่ปั่นไม่ต่างกันมากครับ ไม่ได้มีคาแรคเตอร์ต่างกันอย่างเป็นนัยสำคัญ Colnago V-2R คันนี้ก็เหมือนกัน ตอบสนองการออกแรงดีไม่มีอาการย้วยให้เห็น ไม่ว่าจะอัดระเบิดพลังขึ้นเนิน หรือจะยกสปรินต์ก็ดี แต่ไม่ได้มีส่วนไหนที่ผมคิดว่าทำได้ดีกว่าเฟรมรุ่นท็อปตัวอื่นๆ เป็นพิเศษ ส่วนตัวผมว่า Tarmac SL6 และ Cervelo R5 ตอบสนองแรงกดไวเท้ากว่า แต่ V2-R ก็ไม่ได้แย่เลยครับ ต้องบอกว่ามันไม่ได้เห็นชัดขนาดนั้นถ้าไม่มานั่งสังเกตเทียบกันจริงๆ

Handling หรือการบังคับควบคุมก็ให้ฟีลสไตล์รถแข่ง คือนิ่ง คมและออกไปทางไวมือ แต่ก็ไม่ได้ไวจนรู้สึกน่าหวาดกลัวครับ V-2R รักษาคาแรคเตอร์ความนิ่งสุขุมของ C-Series ได้ดี

ตัวเฟรมไม่ได้นิ่มหรูเหมือน C60 ซับแรงสะเทือนได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นรถแข่งครับ ฟีดแบคจากถนนมาเต็ม เหยียบหินเหยียบกรวดก็รู้ว่าเหยียบ ไม่ได้กระด้างแข็งเป๊กเหมือนรถแอโรเจนเนอเรชันแรกๆ แล้วที่เฟรม V2-R รองรับยางกว้าง 28mm (ใส่จริง 30mm ก็พอได้) ก็ตัดปัญหาเรื่องความสะท้านไปได้พอดู ถ้าใส่ยาง 23mm ผมว่าฟีลมันสะท้านไปนิด ลองใช้ 25mm ขึ้นไป แล้วลดแรงดันลมยางลงสัก 5-10 psi จะขี่สนุกกว่า

จุดที่ไม่ชอบมีอย่างเดียวคือเบรกไดเรคเมาท์ของ Colnago ที่ฟีลลิงไม่นุ่มมือเท่าไร สู้ Shimano Dura-Ace ไม่ได้ครับ อย่างไรก็ดี Colnago เลิกจำหน่ายเบรกไดเรคเมาท์ของตัวเองแล้ว

ถามว่าไหลเหมือนรถแอโรจ๋ามั้ย ถ้าเอาความรู้สึกผมว่าธรรมดา เรื่องนี้คงทดสอบเป็นตัวเลขออกมาได้ยากเพราะคุมตัวแปรการทดสอบในสภาพการปั่นจริงแทบเป็นไปไม่ได้ครับ (ลมเปลี่ยนทิศนิดเดียว margin of error ก็เกินความต่างที่เราจะเทียบระหว่างเฟรมได้แล้ว) ถ้าเอาฟีลลิงเฉยๆ ก็ไม่ได้ไหลอะไรเป็นพิเศษ เทียบกับเสือหมอบเพียวแอโรที่เคยใช้อย่าง Canyon Aeroad CF SLX

สรุป

โดยรวมแล้ว Colnago V-2R ก็เป็นเสือหมอบแข่งขันในสไตล์เดียวกับรถโปรทัวร์ทั่วๆ ไปครับ ประสิทธิภาพดีเหลือใช้ไม่มีอะไรให้บ่น ยกเว้นว่าคุณจะจี้จ้องหาความต่างในคาแรคเตอร์ของรถจริงๆ พูดง่ายๆ คือสมดุลดี แต่ไม่ได้มีจุดที่เรียกให้ร้องว้าวครับ

ปีที่แล้ว Colnago เปิดตัวเสือหมอบแบบฟูลแอโรในชื่อ Colnago Concept คุณอาจจะสงสัยว่าแล้ว C-Series (C60/C64), V2-R และ Concept มันต่างกันยังไง? โดยเฉพาะคู่หลังที่เคลมว่าเป็นเสือหมอบแอโรเหมือนกัน

มองง่ายๆ แบบนี้ครับ

  • Colnago C64/C60 คือรถสไตล์คลาสสิคที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Colnago ผลิตในอิตาลี และงานสีลวดลายมีเอกลักษณ์ รถนิ่ง มั่นคง ตอบสนองแรงดีและขี่ได้นิ่มสบาย มีหลายไซส์ให้เลือก
  • Colnago V-2R เป็นเสือหมอบที่เบาที่สุดที่ Colnago ผลิต เป็นเฟรม all round กึ่งแอโร ผลิตในเอเชีย
  • Colnago Concept เป็นเสือหมอบฟูลแอโร น้ำหนักมากกว่า V2-R เน้นลู่ลม ความนิ่มสบาย น้ำหนักเป็นปัจจัยรอง

ด้วยราคาเฟรมที่สูงเอาเรื่อง (ราคาตั้ง 140,000 บาท สำหรับสีธรรมดา และ 154,000 บาทสำหรับสี Art Decor) ผมว่า V-2R เหมาะกับคนที่อยากได้เสือหมอบอิตาลี เป็นแฟน Colnago อยู่แล้ว หรืออยากได้รถ Colnago ประสิทธิภาพดี ชอบคาแรคเตอร์รถแข่งซิ่งๆ ดิ้นๆ ดีดๆ ขึ้นเขาสนุกๆ แต่ก็ไม่เสียเปรียบมากนักในทางราบ และถ้าไม่ชอบรถตลาด หรือไม่อยากซ้ำใคร V-2R ก็เป็นตัวเลือกที่ดีครับ ยังไม่ค่อยเห็นมีคนใช้เท่าไร

แต่ถ้าไม่ได้ติดว่าชอบแบรนด์ Colnago เป็นพิเศษ เสือหมอบแข่งขัน all round แบรนด์อื่นที่มีในตลาดตอนนี้โดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ ก็ให้ประสิทธิภาพได้ไม่แพ้ V-2R ครับ

ส่วนตัวผมถ้าจะซื้อ Colnago ผมอยากได้ C-Series เพราะยังทำในอิตาลี และฟีลการปั่นมีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ก็หา Colnago วินเทจไปเลย

ขอบคุณ​ Peloton Showroom ตัวแทนจำหน่าย Colnago ที่ส่งรถให้เราทดสอบครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *