จิงโจ้แห่งโคลอมเบีย – เอสเตบาน ชาเวซ

วงการจักรยานอาชีพก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง โปรทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อหาสัญญาและหาเลี้ยงชีพ ในขณะที่นักปั่นบางคนยอมชดใช้เงินเพื่อปลดสัญญาทีมเก่าตัวเองเมื่อมีนายทุนรายใหม่เข้ามาจ้างเขา เราแทบไม่เคยได้ยินคำว่า “ผมไม่เคยคิดย้ายทีม” จากปากนักปั่นคนใดเลย แต่นี่คือคำสัมภาษณ์ที่ เอสเตบาน ชาเวซ ให้ไว้กับนักข่าวเมื่อเขาต่อสัญญากับทีม Orica-BikeExchange ไปอีก 3 ปีจนสิ้นฤดูกาล 2019

“ผมรักทีมนี้ ผมไม่เคยคิดย้ายเลย เราทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน ในตอนนั้นไม่มีทีมไหนสนใจผม แต่คุณเจอรี่ (เจ้าของทีม – DT.) เซ็นสัญญากับผมทั้งที่ผมบาดเจ็บ ตอนนี้ผมอยากอยู่และโตไปพร้อม ๆ กับทีมนี้ครับ ทีมที่ให้โอกาสผม”

การต่อสัญญาครั้งนี้ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องจะธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วไม่ธรรมดาด้วยเหตุผลสองประการคือ 1) ไม่ค่อยมีทีมใดเซ็นสัญญานักปั่นกันทีละ 3 ปี ด้วยปัจจัยเรื่องฝีมือนักปั่นที่ขึ้นลงได้และความมั่นคงทางการเงินของทีม เรามักจะเห็นสัญญา 1-2 ปีบ่อยกว่ากันมาก และ 2) ในช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ชาเวซก็ต่อสัญญา 3 ปี ไปจนสิ้นฤดูกาล 2018 มาแล้วครั้งหนึ่ง นั่นหมายความว่าทีมต่อสัญญากับเขาซ้ำทั้งที่สัญญาเก่ายังเหลืออีกถึง 2 ปีเต็ม !

ซีซั่น 2016 ที่ผ่านมานับเป็นปีทองของชาเวซ เพราะเขาได้ขึ้นโพเดี้ยมแกรนด์ทัวร์ทั้งสองรายการที่เขาลงคือที่สองในจิโรดิตาเลียและที่สามในเวลต้าเอสปัญญ่า และปิดท้ายฤดูกาลด้วยการชนะจิโรดิลอมบาเดียเป็นชาวโคลอมเบียคนแรกที่ชนะสนามคลาสสิคระดับโมนิวเมนต์ (สนามคลาสสิคมีหลายสิบรายการ แต่สนามคลาสสิคที่โด่งดังและทรงคุณค่าที่สุดในโลกจักรยานเรียกรวมกันว่าโมนิวเมนต์ และมีห้ารายการได้แก่ มิลาน-ซานเรโม่, ทัวร์ ออฟ ฟลานเดอรส์, พารี-รูเบ, ลิเอจ-บาสตองก์-ลิเอจ, และจิโรดิลอมบาเดีย

I. ผู้กำหนดเป้าหมายใหม่ให้ทีม

ชื่อเต็มของเขาคือ “โยฮาน เอสเตบาน ชาเวซ รูบิโอ” (ตามธรรมเนียมสเปนคือมีทั้งนามสกุลพ่อและแม่) ปัจจุบันอายุ 26 ปี ฉายแววดาวรุ่งมาตั้งแต่เริ่มแข่งอาชีพด้วยการชนะรายการใหญ่อย่างตูร์เดอลาวิเนียในปี 2011 และชนะสเตจสุดท้ายในรายการเวลต้าเบอร์กอสในปี 2012 แต่แล้วโชคก็ไม่เข้าข้าง เพราะเขาบาดเจ็บหนักจากการล้มในการแข่งรายการเล็กในอิตาลีเมื่อต้นปี 2013 ซึ่งทำให้กระดูกไหปลาร้าหัก ซี่โครงหัก ปอดฟกช้ำ กะโหลกศีรษะแตก และมีเลือดออกในสมองเล็กน้อย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาต้องงดลงแข่งตลอดปี 2013 เพื่อพักฟื้นและทำกายภาพบำบัดอยู่เกือบหนึ่งปีเต็ม

อย่างไรก็ตาม ด้วยผลงานที่ผ่านมาทำให้ เจอรี่ ไรอัน ผู้ก่อตั้งและ เชน แบนแนน ผู้บริหารทีม Orica-GreenEDGE ในขณะนั้นเห็นศักยภาพและเซ็นสัญญามาเข้าทีมทั้งที่ยังฟื้นฟูร่างกายได้ไม่เต็มที่ และในที่สุด สามฤดูกาลผ่านมาก็ทำให้เห็นว่าการลงทุนระยะยาวนี้ยิ่งกว่าคุ้มค่า ทีม Orica-BikeExchange ได้เปลี่ยนจากทีมของสเตจฮันเตอร์มาเป็นทีม GC เต็มตัว เพราะมีชาเวซและคู่แฝดเยตส์เป็นเอซของทีม สปรินเตอร์อย่างเลย์ โฮเวิร์ด และไมเคิล แมธิวส์ รวมทั้งเหล่าแชมป์จักรยานลู่อย่างทราวิสและคาเมรอน เมเยอร์เริ่มย้ายออก และมีโดเมสทีคเก่ง ๆ สำหรับสเตจเรซอย่างรูเบน พลาซ่า, อาเมตซ์ ซุรุค่า, และโรเมน ครอยซิเกอร์เข้ามาแทนที่

สิ่งที่ทำให้ชาเวซแตกต่างจากนักปั่นระดับแนวหน้าคนอื่น ๆ คือทัศนคติและรอยยิ้มของเขา ในขณะที่ทิงคอฟด่าคอนทาดอร์สาดเสียเทเสียว่าล้มเหลวในฐานะมนุษย์เพียงเพราะเขาเป็นคนจริงจัง ไม่ปาร์ตี้เฮฮา ชาเวซกลับเป็นคนขี้เล่น ยิ้มง่าย คุยเก่ง และถ่อมตัวมากกว่าใคร ๆ ทุกครั้งที่เขาชนะการแข่งขัน ประโยคแรก ๆ ที่เขาพูดเสมอหลังจากนั้นคือ “ขอบคุณเพื่อนร่วมทีมทุกคน” “ชัยชนะนี้เป็นของทุกคนในทีม” และ “ผมรู้ว่าผมพูดซ้ำไปซ้ำมา แต่ขอบคุณทุกคนจริง ๆ ครับ”
Chaves Giro

เอสเตบาน ชาเวซ ชนะสเตจ 14 ในจิโรดิตาเลียปี 2016 ซึ่งเป็นควีนสเตจที่มี elevation gain ประมาณ 4700 เมตร

II. จิงโจ้โคลอมเบีย

ด้วยส่วนสูงเพียง 164 ซม. และอายุเพียง 26 ปีทำให้ชาเวซมีชื่อเล่นที่คนอื่นตั้งให้ว่า Chavito หรือแปลว่า หนุ่มน้อย ในภาษาสเปน ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่สื่อจักรยานชอบเรียกคือ Colombian Kangaroo หรือ จิงโจ้โคลอมเบีย เพราะเป็นชาวโคลอมเบียคนเดียวในทีมออสซี่จ๋า เขาเป็นนักไต่เขาสายเพียวเช่นเดียวกับ ไนโร คินทาน่า เพื่อนร่วมชาติของเขา จุดแข็งของเขาอยู่ที่ความทนทานในการปีนเขาลูกแล้วลูกเล่าแล้วยังเหลือแรงพอจะฉีกหนีกลุ่มนำได้อีก เขาอาจไม่ได้ชนะสเตจเขาลูกใหญ่ลูกเดียวอย่างแอลป์ดูเอซหรือมองต์วงตู แต่หากย้อนไปดูควีนสเตจของจิโรดิตาเลียปี 2016 หรือ จิโรดิลอมบาเดียที่เพิ่งผ่านมาก็ตาม เราจะเห็นว่าสเตจพวกนี้มีเขาติด ๆ กัน 5-6 ลูก และความสูงภูเขารวม (elevation gain) สูงเกือบ 5000 เมตร (ปีนอินทนนท์สองรอบติดกันยังไม่ได้เท่าเลย) สเตจโหดเหี้ยมแบบนี้แหละคือเส้นทางที่ชาเวซทำได้ดีกว่าคนอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นนักปั่น GC ที่ครบเครื่องได้ต้องมีดีมากกว่าแค่การปีนเขา ในการแข่งลาเวลต้าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ชาเวซเสียเวลาให้คริส ฟรูม ไปถึง 3’13” ในสเตจ 19 ซึ่งเป็นไทม์ไทรอัล 37 กม. ระยะเวลาขนาดนี้ ต่อให้ปีนเขาเก่งขนาดไหนก็ไม่น่าจะทวงคืนจากฟรูมในสเตจภูเขาได้แน่นอน จุดอ่อนนี้เป็นเรื่องที่โค้ชของทีมรู้ดีและเคยให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่าจะต้องให้ชาเวซซ้อมไทม์ไทรอัลให้มากขึ้น หากเขาหวังจะชนะแกรนด์ทัวร์สักรายการหนึ่ง

T15_MadonnaDC_2_alt
โปรไฟล์ของสเตจ 14 จิโรดิตาเลียปี 2016

 

III. ครอบครัว

เมื่อตอนจิโรดิตาเลีย ปี 2016 ที่ผ่านมา มีเด็ก ๆ แฟนคลับทำป้ายเชียร์มาให้เขา เขาจึงนำมันไปแปะไว้ที่กระจกรถโค้ชของทีม ตรงเก้าอี้ประจำของเขา และเป็นธรรมดาของกีฬานี้คนที่เป็นหัวหน้าทีมมักมีแฟนคลับหนาแน่นที่สุด มีคนสนใจมากที่สุด นั่นทำให้ ไมเคิล เฮปเบิร์น เพื่อนร่วมทีมของเขารู้สึกน้อยใจและทำป้ายเชียร์ตัวเองให้ตัวเองบ้าง ทีแรกเฮปเบิร์นพยายามหลอกทุกคนว่ามีแฟนคลับทำมาให้ แต่กลับโดนจับได้คาหนังคาเขาว่าเขียนเอง

เรื่องนี้มาถึงจุดไคลแมกซ์เมื่อชาเวซรู้เข้า จึงใช้เวลาพักหลังจบสเตจเขียนป้ายเชียร์ให้ทุกคน ไม่เฉพาะเฮปเบิร์นเท่านั้นด้วย แล้วนำมันมามอบให้ทีละคนในสเตจวันต่อ ๆ มา เพื่อให้ทุก ๆ คนในทีมรู้สึกว่าตนสำคัญ รูปที่อาจดูตลกและภาษาที่ยังมีสะกดผิดอยู่บ้างกลายเป็นเรื่องไร้สาระเมื่อดูบริบทว่าเขาคือหัวหน้าทีมสัญชาติโคลอมเบียที่เมื่อ 3 ปีที่แล้วยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำและกำลังอยู่ระหว่างการขับเคี่ยวเพื่อชิงเสื้อชมพูไปจนถึงมิลาน เวลาและคุณภาพของการพักผ่อนในการแข่งระดับโลกเป็นสิ่งที่ล้ำค่าถึงขนาด Team Sky เคยจะหารถบ้านมาให้ ริชชี่ พอร์ต ใช้เพื่อให้เขาได้พักเต็มอิ่มก่อนแข่งสเตจถัดไป (แต่โดน UCI ห้ามไว้เสียก่อน) เมื่อมองเทียบกันอย่างนี้แล้ว ก็อดชื่นชมในสปิริตและความรักพวกพ้องของชาเวซไม่ได้จริง ๆ

Backstage Pass ของเหตุการณ์ข้างต้น สามารถดูได้จากคลิปด้านล่างนี้

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *