มีใครรู้ไหมครับว่าจักรยานที่ขายดีที่สุดในยุโรปคือจักรยานยี่ห้อไหน?
เชื่อว่านักปั่นไทยร้อยทั้งร้อยน่าจะตอบผิด
เราอาจจะนึกถึง Trek, Specialized, หรือกระทั่ง Giant สามเจ้าพ่อใหญ่แห่งวงการ ถ้าเป็นคนที่จริงจังสักหน่อยก็อาจจะนึกถึง Canyon Bicycle แบรนด์จักรยานสัญชาติเยอรมันที่ DT เคยเขียนถึง
แต่ที่กล่าวมานั้นผิดทั้งหมด จักรยานที่ขายดีที่สุดในยุโรปคือจักรยานยี่ห้อ ‘Cube’ จากเยอรมันที่มียอดจำหน่ายปีละ 500,000 คัน และมีตัวแทนจำหน่ายอีกกว่า 34 ประเทศทั่วโลก
ใครจะรู้ว่า 24 ปีที่แล้ว Cube Bicycle เป็นแค่ธุรกิจเล็กๆ ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิคคนหนึ่งหาทางขายจักรยานเพื่อส่งเสียตัวเองให้เรียนจบปริญญาตรีเท่านั้น
ไม่เริ่มก็ไม่รู้
ช่วงปลายปี ‘80s เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตชาวยุโรปนับล้านคน สงครามเย็นเพิ่งยุติ ผู้คนเดินทางข้ามประเทศกันได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องกังวลถึงความปลอดภัยและขั้วการเมืองเศรษฐกิจก็เริ่มกลับมากระเตื้องขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันก็เป็นเวลาที่เสือภูเขากำลังแพร่ระบาดในยุโรป ความน่าตื่นตาตื่นใจของเทคโนโลยีการปั่นใหม่ๆ ที่ไม่มีในเสือหมอบ บวกกับภูมิประเทศยุโรปที่เต็มไปด้วยธรรมชาติและง่ายต่อการหาเส้นทางวิบากปั่น ก็ช่วยให้ตลาดเสือภูเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว
24 ปีที่แล้ว มาร์คัส เพอร์เนอร์ เป็นนักศึกษาเศรษศาสตร์มหาวิทยาลัยมิวนิค เขามีเพื่อนเอกวิศวะกรรมเป็นนักปั่นเสือภูเขาตัวยง ไมเคิล – เพื่อนของมาร์คัสตั้งเป้าจะเป็นแชมป์โลกเสือภูเขาดาวน์ฮิลล์ นอกจากจะซ้อมจริงจังแล้วหาเงินทุนซื้อจักรยานดีๆ มาปั่นเพื่อลงสนามชิงแชมป์โลก (สมัยนั้นใครก็ลงแข่งชิงแชมป์โลกได้)
ส่วนมาร์คัสก็ต้องหาทางส่งเสียตัวเองเรียนให้จบ แต่มาร์คัสกลับมองว่า แทนที่จะหาแค่เงินซื้อจักรยานมาปั่นสนุกๆ ทำไมไม่ลองสร้างแบรนด์จักรยานเองเลยล่ะ?
ทั้งคู่ระดมทุนจากครอบครัว ลองทำขายส่งจักรยานอย่างง่ายๆ กะว่าช่วงที่ตลาดกำลังบูมแบบนี้ ถ้านำเข้าจักรยานมาขายก็คงพอทำกำไรได้บ้าง
มาร์คัสมองว่าจักรยานที่โด่งดังสมัยนั้นไม่มีแบรนด์ท้องถิ่นเลย เสือภูเขายอดนิยมในเยอรมันมาจาก Trek, Specialized และ Marin เป็นแบรนด์อเมริกันทั้งหมด
ช่องว่างในตลาด
มาร์คัสเชื่อมั่นว่ายังมีช่องว่างให้จักรยานแบรนด์ท้องถิ่นเกิดได้ เขาเริ่มจากการหาคอนแทคในไต้หวัน เพื่อลองสั่งเฟรมจักรยานมาประกอบ เขาได้เพื่อนลูกครึ่งเยอรมัน-จีนที่ช่วยประสานกับโรงงานให้ โดยที่ไม่แน่ใจว่าคนในประเทศจะตอบรับกับแบรนด์เล็กๆ อย่าง Cube ยังไง
คอนเทนเนอร์แรกที่ส่งมาจากไต้หวันมีจักรยาน 480 เฟรม มาร์คัสสั่งอะไหล่พวกล้อ ชุดขับ และอุปกรณ์อื่นๆ มาทำสเป็คจักรยานให้ตรงโจทย์และความต้องการของคนเยอรมัน มากกว่าที่แบรนด์อเมริกันจัดสเป็คคอมพลีทไบค์มา ด้วยราคาที่ต่ำกว่าเล็กน้อย และเขาก็ขายได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว
แต่กิจการทั้งหมดนั้นเขาทำด้วยตัวคนเดียวในโรงรถเล็กๆ ของที่บ้าน
ปีที่สองมาร์คัสเริ่มขยายกิจการ จาก one man show เขาจ้างทีมเซลล์ และไปเปิดบูทในงานแสดงจักรยาน Eurobike ด้วยบูทขนาดแค่ 30 ตารางเมตร[footnote]Eurobike คืองานแสดงสินค้าจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป จัดที่เมือง Friedrichshafen[/footnote] กิจการของ Cube เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เข้าสู่ปีที่ 4 มาร์คัสจำหน่ายจักรยานได้ราว 5,000 คันต่อปีด้วยทีมขนาดเล็กมาก
มันแสดงให้เห็นว่าการเป็นคนพื้นที่ก็ยังมีข้อได้เปรียบในธุรกิจจักรยานอยู่ แต่การไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองในกีฬาที่หัวใจคืออุปกรณ์อย่างจักรยานแข่งขันเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง
วิศวกรรมเยอะ โฆษณาน้อย
แต่จะเป็นแบรนด์จักรยานเยอรมันเต็มตัวได้อย่างไรถ้าไม่โด่งดังในเรื่องวิศวกรรม ในบทสัมภาษณ์กับเว็บไซต์
Pinkbike.com
“ช่วงแรกๆ ที่เราสั่งจักรยานนำเข้า เราไม่ต้องลงทุนกับวิศวกรรมมากครับ เพราะตอนช่วงปี 90 นั้นมีร้านจักรยานเปิดใหม่เยอะมาก แต่ไม่มีใครรู้ว่าจักรยานแบบไหนที่ต้องนำมาขาย คนปั่นก็ไม่รู้ว่าแต่ละแบบมันต่างกันยังไง เราลยขายได้ง่ายและเร็วเราไม่มีจักรยานที่เราออกแบบเองจนถึงปี 2004”
“แต่สมัยนี้ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนแล้วครับ สมัยนี้ร้านจักรยานดีลกับแบรนด์รถมาเป็นยี่สิบปี ถ้าของเราไม่ดีเขาไม่ซื้อเราหรอก คุณต้องมีวิศวกรรมของตัวเอง เราเลยเริ่มลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา ตอนนี้เรามีวิศวกรและนักออกแบบ 16 คน”
“จักรยาน Cube ทุกคันออกแบบและทดสอบที่ห้องแล็บของเราในเยอรมัน ส่งไปผลิตที่เอเชีย แล้วนำเข้ากลับมาเช็คคุณภาพ และประกอบในโรงงานที่เยอรมันทุกคันครับ”
ปัจจุบัน Cube มีจักรยานให้เลือกทุกรูปแบบตั้งแต่เสือภูเขาทุกประเภท, เสือหมอบแข่งขัน, จักรยาน commuter, จักรยาน Time Trial และจักรยานสำหรับไตรกีฬา รวมถึงจักรยานไฟฟ้าอีกหลายรุ่น
ต่างกับคู่แข่ง มาร์คัสเลือกที่จะไม่ใช้จ่ายกับการโฆษณา Cube จริงว่าเขามีทีมและนักกีฬาที่ Cube สนับสนุน [footnote]โดยเฉพาะในวงการเสือภูเขาและไตรกีฬา ในวงการเสือหมอบ Cube สนับสนุนทีมดิวิชันสองทีเดียวคือ Wanty Groupe Gobert [/footnote]
มาร์คัสเชื่อว่า “จักรยานที่ดี ในราคาที่เหมาะสม คือโฆษณาที่ดีที่สุด
“เรายังเล็กกว่าแบรนด์อเมริกันมากครับ ถ้าเราใช้วิธีการสปอนเซอร์ทีมใหญ่แบบพวกเขา เราไม่มีทางทำได้ดีเทียบเท่า เพราะงั้นเราต้องใช้วิธีการโปรโมทที่ต่างออกไป”
ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราไม่ได้เห็นเสือหมอบ Cube ในการแข่งขันอาชีพบ่อยนัก แต่ความสำเร็จของ Cube ก็เป็นเครื่องพิสูจน์เช่นเดียวกันว่าถึงจะไม่โฆษณาเยอะก็เป็นบริษัทที่เติบโตและยั่งยืนได้เช่นกัน
The Cube Factory
โรงงานของ Cube ตั้งอยู่ที่เมือง Waldershof ทางตะวันออกของเยอรมัน ใกล้ๆ กับชายแดนข้ามไปสาธรณรัฐเช็ค
Cube เลือกที่จะประกอบจักรยานทุกคันในโรงงานของตัวเอง จากความเป็นจริงที่ว่า ถ้าให้ทางโรงงานในเอเชียผลิตและประกอบให้เสร็จสรรพเลยก็จะมีต้นทุนสูงกว่าด้วยภาษีนำเข้าจักรยานคอมพลีทไบค์ (แพงกว่านำเข้าอะไหล่แยกชิ้น) และมันผิดกับหลักการของ Cube ที่อยากเป็นจักรยานคุณภาพดีราคาไม่แรง นอกจากนี้ยังได้สร้างงานให้คนเยอรมันในพื้นที่ด้วย
เช่นนั้นแล้ว Cube สั่งเฟรมเซ็ตจากเอเชีย และสั่งอะไหล่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นล้อ ชุดขับเคลื่อน เบาะ ตะเกียบ ยางและอะไหล่อื่นที่ใช้ประกอบจักรยานเป็นคันมาประกอบรวมกันที่นี่ ก่อนที่จะพร้อมส่งออกไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก
โรงงาน Cube แยกไลน์การประกอบออกเป็นสองชั้น เฟรมทุกตัวส่งผ่านสายพานไปยังสถานีต่างๆ
เริ่มจากชั้นล่างเวียนไขึ้นไปชั้นบน แต่ละสถานีก็จะประกอบอะไหล่แต่ละชิ้นเฉพาะสถานีนั้น เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็จะได้รับการจูนเบรคและเกียร์ให้พร้อมใช้งาน จักรยานทุกคันมีรหัส QR Code ซึ่งสามารถเช็คดูได้ว่าประกอบเมื่อไรและโดนช่างคนไหน
โดยรวมแล้วโรงงานประกอบ Cube ที่เยอรมันสามารถผลิตจักรยานได้วันละประมาณ 3,500 คัน หรือปีละราวๆ 500,000 คัน!
ทางฝั่ง R&D ของ Cube ก็มีห้องแล็บสำหรับทดสอบสมรรถภาพจักรยานครบทุกรูปแบบ (คล้ายกับที่ DT เคย
เก็บภาพห้องแล็บของจักรยาน Storck มาให้ดูเมื่อสี่ปีก่อน) แต่สเกลห้องแล็บของ Cube นั้นใหญ่กว่ามาก
ถ้าใครเคยอ่านที่ DT เคย
เล่าถึงแบรนด์ Canyon คู่แข่งของ Cube ก็จะพบว่าทั้งคู่มีแนวคิดเรื่องคุณภาพจัรกยานคล้ายๆ กัน คือต้องทำคุณภาพความปลอดภัยให้เกินมาตรฐานที่อุตสาหกรรมตั้งไว้ จักรยาน Cube ทุกคันถูกทดสอบความแข็งแรงทั้งที่โรงงานในเอเชีย และอีกครั้งที่โรงงานประกอบของ Cube เองที่เยอรมัน Cube เชื่อว่านักปั่นสมัยนี้ใช้จักรยานหนักกว่าสมัยก่อนมาก ด้วยความเร็ว ระยะทางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับน้ำหนักอะไหล่ต่างๆ ที่เบาลงทั้งหมด ปัจจัยหลังเสี่ยงต่อความปลอดภัย
ในห้องแล็บของ Cube จะทดสอม เฟรม แฮนด์ สเต็ม โดยจำลองจากสภาพเส้นทางของประเภทจักรยานที่จะใช้จริง เช่นสำหรับแฮนด์เสือภูเขา นอกจากจะทดสอบความแข็งแรงในแนวดิ่งแบบเท่ากันที่ปลายแฮนด์ทั้งสองข้างแล้ว (จำลองการนั่งปั่นตามปกติ) Cube ทดสอบการออกแรงกดทีละข้างแบบไม่เท่ากัน (จำลองการยืนปั่นทีนักปั่นต้องโยกแฮนด์ทีละข้าง) และมีห้องทดสอบจักรยานเสือหมอบแยกต่างหากด้วย
สรุป
จริงๆ แล้ว Cube อยู่ในตลาดจักรยานไทยมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ด้วยแนวคิดการเป็น “ยักษ์เงียบ” แบบที่มาร์คัสกล่าว ก็ทำให้นักปั่นที่อยู่นอกยุโรปยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไร ว่ากันตามตรงตอน DT เริ่มศึกษาเรื่องแบรนด์ Cube ก็แทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีความเป็นมายังไงครับ รู้เพียงว่าเป็นจักรยานจากเยอรมันที่มี R&D ยอดเยี่ยม เป็นอีกยี่ห้อที่อยากจะลองขี่สักที และคิดว่าน่าจะได้รีวิวเสือหมอบตัวท็อปของค่ายนี้เร็วๆ นี้ครับ
www.cube.eu