รีวิว CUBE Litening C:68 SL – รถไต่เขาตัวจี๊ดจากเยอรมัน

CUBE อาจจะไม่ใช่จักรยานที่คนไทยคุ้นตา แต่ก็ไม่ใช่จักรยานโนเนมไร้สัญชาติเหมือนกัน

CUBE  เป็นแบรนด์จักรยานจากเยอรมันที่อยู่มา 24 ปีแล้ว และปัจจุบันเป็นจักรยานที่ขายดีที่สุดในยุโรป แต่ด้วยความต้องการของเจ้าของแบรนด์ที่ไม่ได้อยากจะโฆษณาอะไรมากนัก ทำให้ CUBE กลายเป็นยักษ์เงียบที่โตเป็นคลื่นใต้น้ำ ถึงจะไม่รู้จักแต่ปฏิเสธการมีอยู่และอิทธิพลของจักรยานยี่ห้อนี้ไม่ได้

แต่เราไม่ได้จะมาคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์แบรนด์จักรยาน เพราะถ้าเปิดรีวิวนี้เข้ามาดูทุกคนคนอยากรู้เหมือนกันว่า จักรยานเสือหมอบแข่งขันรุ่นสูงสุดของ Cube นี่มีดีสู้คนอื่นหรือเปล่า?

จักรยานคันที่ว่าคือ CUBE Litening C:68 Team Wanty Replica เป็นเสือหมอบแนว all around เน้นน้ำหนักเบา การตอบสนองดี และความสบายเป็นเลิศ ไร้ซึ่งฟีเจอร์ทางด้านแอโรไดนามิกใดๆ ทั้งสิ้น โจทย์ของมันคือการเป็นจักรยานแข่งแบบเรียบๆ แต่ประสิทธิภาพสูงในราคาที่สูสีหรือดีกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน แล้วมันทำได้หรือเปล่า? มาดูกันครับ

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

อะไรคือ C:68

เห็นชื่อรุ่นแล้วต้องสงสัยแน่นอนว่าคำว่า C:68 ที่ต่อท้ายชื่อ CUBE คันนี้คืออะไร มันเป็นชื่อทางการค้าของลักษณะคาร์บอนไฟเบอร์ที่เขาใช้ครับ

CUBE อ้างว่า โดยทั่วไปแล้ว จักรยานคาร์บอนส่วนใหญ่เนี่ย เนื้อคาร์บอนที่ใช้ใน 100% นั้นมีคาร์บอนจริงๆ แค่ 60% เท่านั้น อีก 40% ที่เหลือเป็นเรซิ่นที่เชื่อมให้โครงสร้างเส้นใยคาร์บอนมันประสานรวมกันเป็นแผ่น พูดง่ายๆ ก็เหมือกาวนั่นหละครับ

CUBE กล่าวว่ายิ่งเนื้อคาร์บอนน้อยประสิทธิภาพที่ได้ก็ไม่เต็มที่ เขาเลยพัฒนาเทคโนโลยีการวางเรียงตัวของชั้นคาร์บอนให้ละเอียดขึ้นและบางลง ทำให้อัดเนื้อคาร์บอนเข้าไปในแผ่นได้มากขึ้นและลดปริมาณการใช้เรซิ่น

เนื้อคาร์บอนที่แทรกเข้าไปนั้นก็มีทั้งแบบ Ultra high modulus, High Modulus Spread Tow และ Intermediate Modulus แล้วแต่ว่าจะอยู่ตรงส่วนไหนและทำหน้าที่อะไรในเฟรมจักรยาน เสริมด้วยการใช้เรซิ่นที่มีส่วนผสมของอนุภาคระดับนาโน ทำให้เรซิ่นกระจายตัวในชั้นคาร์บอนได้ละเอียดกว่าเดิม

บทสรุปคือได้คาร์บอนที่มีส่วนผสมของคาร์บอนจริงๆ 68% (C:68) น้ำหนักเฟรมเบา ความสติฟฟ์สูงขึ้น และขี่สนุกขึ้น

เฟรม Litening C:68 อ้างอิงน้ำหนักที่ 850 กรัม ซึ่งก็จัดว่าเบามาก แต่ยังไม่มากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับเดียวกันในตลาดตอนนี้

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

การออกแบบเฟรม

นอกจากคาร์บอนพิเศษที่ใช้แล้ว รูปทรงของ CUBE C:68 นั้นต้องเรียกว่าเป็นทรง traditional compact ครับ ไม่ได้มีฟีเจอร์ใหม่ๆ แบบสมัยนิยมอย่างซีทสเตย์จับต่ำ เป็นทรงที่เน้นความสติฟฟ์สูงสุด ด้วยท่อคอที่อวบอัด ท่อล่างที่หนาปึ้ก และกว้าง ห้องกระโหลกขนาดมหึมา เชนสเตย์แบบแน่นๆ คอนทราสต์กับตะเกียบ ท่อนอน และซีทสเตย์ทรงเพรียวบางที่ช่วบซับแรงสะเทือน

โดยรวมดูจะเป็นดีไซน์ที่ตกสมัยไปหนึ่งเจเนอเรชัน แต่ก็เป็นรูปทรงที่พิสูจน์ตัวเองในเรื่องประสิทธิภาพมาหลายปีแล้ว เห็นทรงแบบนี้รู้เลยว่าดีดว่าพุ่ง และน่าจะขี่ได้สบายระดับหนึ่งด้วย

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
เรื่ององศาและมิติรถนั้นก็เป็นรถแข่ง high performance ทั่วไปคือมีระยะเอื้อมยาว ระยะตั้งสั้น สัดส่วน stack:reach ในไซส์ 50cm อยู่ที่ 1.33 ไซส์ 52cm ที่ 1.35 เชนสเตย์สั้นแค่ 406mm การันตีความคล่องตัวและความสติฟฟ์ในช่วงสามเหลี่ยมหลังแน่นอน

ถ้าใครปั่นจักรยานแข่งสไตล์นี้อยู่แล้วก็น่าจะคุ้นชินกับมิติรถแบบนี้ที่เน้นความฉับไว การเข้าโค้งแบบเฉียบคม เลี้ยวปุ๊บหันปั๊บไม่ดื้อมือ และท่านั่งที่ก้มยืดพอสมควร ส่วนถ้าไม่ชินกับรถแข่งก็อาจจะต้องยกคอให้สูงขึ้นนิดนึงเพื่อความสบายครับ

เรื่องสีสันนั้นโดดมาเลย เพราะเป็นเฟรมสีทีม Wanty Groupe Gobert ทีมระดับดิวิชันสองจากเบลเยียม สีนี้เป็นสีปี 2017 ปัจจุบันทีมใช้จักรยานอีกสีในปี 2018 ตามรูปข้างล่างครับ

แต่กระนั้นสี 2017 ฟ้าส้มนี้ก็ดูฉูดฉาดสวยงามทีเดียว งานสีทำได้เนี้ยบดี และที่สำคัญเขาเพนท์แฮนด์และสเต็มจาก Ritchey เป็นสีส้มมาให้เข้าคู่กันตัดกับไฮไลท์ตรงตะเกียบ ท่อนอน และเบาะจักรยาน ดูเพิ่มความพรีเมียมได้ดีครับ

จะมีให้บ่นที่เดียวคือสีตรงสเต็มที่กระเทาะง่ายครับ ต้องระวังอย่าให้อะไรมากระแทก รวมๆ แล้วดูเรียบหรูและแตกต่าง

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

สเป็ค

CUBE เป็นแบรนด์แบบเดียวกับ Canyon นั่นคือเน้นความคุ้มค่า ให้อะไหล่แบบจัดเต็มไม่กั๊กหรือลดรุ่นในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันครับ

สำหรับ C:68 คันนี้มากับชุดขับ Shimano Dura-Ace 9100 แบบเต็มชุดครบทุกชิ้น ใบจาน 52-36 ขาจาน 170mm คู่กับเฟือง 11-28t แถมยังได้ล้อแอโรอลู Fulcrum Racing 44 Aero (ที่ยังไม่มีขายในตลาด) ขึ้นชื่อเรื่องความลื่นไหลของดุมจากโรงงานโดยที่ไม่ต้องโมดิฟายอะไรมากมาย

แฮนด์ สเต็ม หลักอานมาจาก Ritchey Components เป็นซีรีย์ WCS ซึ่งเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ (ยกเว้นสเต็มที่เป็นอลู) ปิดท้ายด้วยยาง Continental GP4000s ที่ไว้ใจได้ในทุกสนามแข่ง ถ้าจะยังมีของที่ไม่สุดชิ้นเดียวก็คงเป็นเบาะ Fizik Antares K7 รางโลหะ

ประกอบจบออกมาไม่รวมบันไดและขากระติกอยู่ที่ 7 กิโลกรัมพอดิบพอดี (ไซส์ 50cm) สเป็คแบบนี้แทบไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย อาจจะมีล้อที่หนักหน่อย แต่ก็เหวี่ยงและลื่นดีครับ

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

ปั่นเป็นยังไง?

ความคาดหวังของเสือหมอบทรงนี้ควรจะเป็นยังไง?

ด้วยที่มันเป็นรถทรง traditional เรียบๆ แบบนี้เราไม่ได้หวังให้มันลื่นไหลใช้แรงน้อยเวลาปั่นแช่ความเร็วสูง เหมือนเสือหมอบแอโรอยู่แล้ว แต่มันควรจะตอบสนองแรงดี สมดุลดี เข้าโค้งได้หนึบมั่นใจ และเหนือสิ่งอื่นใด ควรตอบสนองการกระชากพุ่งได้ทันท่วงที โดยเฉพาะเวลาที่ยืนโยกเร่งขึ้นเขาชันหรือยกสปรินต์

แล้วมันก็ทำได้ครบหมดทุกอย่าง อาจจะเหนือความคาดหมายด้วยซ้ำเพราะเราไม่คุ้นกับรถยี่ห้อนี้และเราไม่รู้ว่ามันจะตอบสนองการใช้งานยังไงครับ

รถทรงนี้ถ้าน้ำหนักรวมไม่เกิน 7 กิโล ใช้คาร์บอนดี ผลิตจากโรงงานคุณภาพสูง แทบจะการันตีได้เลยว่าพุ่งติดเท้าแบบเหลือใช้ครับ ตอนขี่นึกถึง Lapierre Xelius SL600 FDJ ที่รีวิวไปปีก่อน แต่คันนั้นจะนิ่มกว่านิดนึงจากดีไซน์ตัวถัง

แต่สิ่งที่รั้งความพุ่งมันไว้กลับเป็นล้อ Fulcrum Aero 44 ที่หนักถึง 1,800 กรัม เข้าใจได้ว่า CUBE อยากจะให้ล้อขอบสูงมาแก้เรื่องการคงความเร็วของรถทรงนี้ที่ไม่ค่อยจะแอโร ซึ่งก็คงไม่มีปัญหาอะไรถ้าเราปั่นทางราบเรียบเป็นหลัก แต่จังหวะขึ้นเนินขึ้นเขานี่รู้สึกถึงน้ำหนักล้อที่ถ่วงอยู่ได้ชัดเจนครับ ถ้าลองเปลี่ยนเป็นล้อน้ำหนักเบากว่านี้จะยิ่งรู้สึกว่ารถมันกระฉับกระเฉงมาก

ความสติฟฟ์ของรถบวกกับองศาท่านั่งที่ต่ำพอสมควรช่วยลดจุดศูนย์ถ่วงของคนปั่นให้ต่ำลง ทำให้เข้าโค้งลงเขาได้มั่นใจ และยัดโค้งได้เต็มที่ ยาง GP4000s ก็ช่วยตรงนี้เพราะขึ้นชื่อเรื่องการเกาะถนนอยู่แล้ว ลักษณะการ handling เข้าโค้งคันนี้จะอยู่กลางๆ ไม่เร็วหุนหัน หรือช้าแบบต้องหันแฮนด์เยอะๆ รวมๆ ขี่ไม่ยากครับ

แต่ตามที่บอกไปข้างบนข้อเสียของรถทรงนี้คือการขี่ทางเรียบ ถ้าใช้ในบริบทการแข่งขันก็จะเสียเปรียบรถแอโรอยู่บ้าง (แต่ถ้าเจ้าของรถแรงเหลือก็คงไม่ใช่ปัญหาครับ ^^”) อีกด้านที่ทำได้ดีกว่านี้คือความสบาย จริงว่าเป็นรถแข่งที่ซับแรงสะเทือนดีแต่ก็ยังมีอาการสะท้านมือบ้างเวลาโดนหลุมใหญ่ๆ หรือถนนแตกๆ ทางปูนผิวไม่เรียบครับ

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

สรุป

CUBE Litening C:68 SL ประสิทธิภาพครบถ้วนในฐานะเสือหมอบแข่งขัน สีสันสวยงาม อะไหล่ครบพร้อม มากับชุดขับเมคานิคัลที่ดีที่สุดในโลกเต็มสเป็ค ภาพลักษณ์แปลกใหม่ไม่ซ้ำใครดี และมาจากแบรนด์ที่เชื่อถือได้ใช้แข่งขันจริงในระดับสูงสุด

ถ้าจะมีข้อปรับปรุงก็คือดีไซน์ดูช้ากว่าแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ ไปหนึ่งเจเนอเรชัน และไม่ได้มีลูกเล่นพิเศษมากนัก แต่ก็เช่นเดียวกับสินค้าเยอรมันหลายๆ ชนิดที่เน้นประสิทธิภาพมากกว่าภาพลักษณ์ สิ่งที่คุณได้จากแพคเกจนี้จะไม่ทำให้ผิดหวังครับ สายเขา สายกระชาก สายแอทแทค น่าจะชื่นชอบกับเฟรมตัวนี้ครับ

ราคา: 162,000 บาท
ตัวแทนจำหน่าย: LA Bicycle

★★★★

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!