ทุกอรรถรสการปั่นจักรยาน ครบจบในวันเดียว ที่เกาะฮ่องกง

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวฮ่องกง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาภายในบทความทั้งหมดเป็นความคิดเห็นและมุมมองของ DT เอง

เมื่อวันที่ 12–15 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางทีมงาน Ducking Tiger ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวฮ่องกง (Hong Kong Tourism Board) ให้ไปร่วมงานปั่นจักรยาน Hong Kong Cyclothon และชมการแข่งขัน Hammer Hong Kong

ขณะนี้เรากลับมาแล้ว และเราอยากมาเล่าว่า เราประทับใจเกินความคาดหมายไปมากทีเดียวครับ

HK Cyclothon?

เกริ่นกันก่อนว่าอีเวนต์ HK Cyclothon นั้นคือการปิดใจกลางเมืองฮ่องกงฝั่งเกาลูนเพื่อปั่นจักรยาน 1 วันเต็ม ๆ ในวันอาทิตย์ช่วงกลางเดือนตุลาคมของทุกปีครับ โดยคำว่าใจกลางเมืองในที่นี้คือกลางจริง ๆ เทียบแล้วคงไม่ต่างกับการปิดถนนย่านเอกมัยหรือพร้อมพงษ์บ้านเราเพื่อปั่นจักรยาน ย่านนี้ของฮ่องกงมีชื่อว่า จิมซาจุ่ย (Tsim Sha Tsui) คนที่เคยไปฮ่องกงน่าจะคุ้นเคยกันดีเพราะเป็นย่านช็อปปิ้งชื่อดัง

สิ่งที่เราประทับใจที่สุดของงาน HK Cyclothon คือการที่เขามีอีเวนต์ย่อย ๆ สำหรับคนปั่นจักรยานทุกระดับจริง ๆ นั่นคือตั้งแต่พ่อแม่พาลูกปั่น ไปยันโปรตัวจริงนั่งเครื่องจากยุโรปมาแข่งบนถนนเส้นเดียวกัน ตรงนี้ผมอยากให้ลองดูตารางอีเวนต์ในวันอาทิตย์ที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมาดูนะครับ

5 – 8AM: กลุ่มปั่น 50 กม. << อันนี้คนเข้าร่วมเยอะสุด ประมาณ 5,000 คน DT เราก็ลงอันนี้
8 – 10AM: กลุ่มปั่น 30 กม.
9AM – 12PM: ปั่นเซอร์กิตรอบจิมซาจุ่ย รอบละ 1.5 กม. สำหรับครอบครัว เด็กเล็ก และเด็กโต
12 – 1PM: Women’s Open ต่อด้วย Men’s Open เป็นการปั่นเซอร์กิตเหมือนกัน
2 – 5PM: Hammer Hong Kong

จากกำหนดการข้างต้นจะเห็นได้ว่า ถ้าคุณชอบปั่นจักรยาน ไม่ว่าจะปั่นเก่งหรือไม่เก่งแค่ไหน ยังไงก็มีพื้นที่สำหรับคุณในวันนี้ แยกประเภทชัดเจน ขาแรงอยู่ส่วนขาแรง ขาท่องเที่ยวก็อยู่ส่วนขาท่องเที่ยว

ถ้าคุณยังปั่นไม่แข็งมาก 30 กม. ก็เป็นทางเลือกที่ดี (เช่าจักรยานที่ฮ่องกงได้ ไม่ต้องแบกไปเอง) ถ้าคุณปั่นเก่งขึ้นมาหน่อย 50 กม. ก็พอได้เหงื่อ และถ้าคุณเจนสนามขึ้นอีก ลงงานแข่งในประเทศบ่อย ๆ ก็สามารถมาวัดพลังกับขาแรงแถวฮ่องกงได้ในงาน Men’s Open/Women’s Open ซึ่งเป็นการแข่งแบบไครทีเรียมกลางเมืองกับเสียงเชียร์กึกก้อง หรือถ้าตัวเล็กที่บ้านเพิ่งหัดปั่นจักรยาน จะมากันทั้งครอบครัวก็ปั่นไปด้วยกันได้ทั้งพ่อ แม่ ลูก พอปั่นของตัวเองจบตอนเช้า-เที่ยงแล้วก็มายืนเชียร์ ทอม ดูมูลาน ได้ถึงข้างสนามตอนบ่าย จบงานตอนเย็นไปขอจับมือขอลายเซ็นได้อีก ครบวงจรจริง ๆ

ที่น่าทึ่งคือ ปีนี้ HK Cyclothon เพิ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 เท่านั้น ถือว่าเติบโตเร็วมากและมีพัฒนาการที่ดี ปีแรกสุดยังติดขัดหลายประการ จากนั้นค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปีที่แล้วยกระดับโดยเพิ่มงานแข่งระดับ UCI เข้าไปคู่กับงานปั่นชมเมืองของเดิม แต่ยังมีทีมระดับ WorldTour มาร่วมเพียง 2 ทีม และมาปีนี้ล้ำขึ้นอีกโดยซื้อแบรนด์ Hammer Series เข้ามาเลย มีทีมระดับ WorldTour มาถึง 11 ทีม

ผมอ่านสกู๊ปในหนังสือพิมพ์ South China Morning Post เช้าวันที่บินกลับไทย เขารายงานว่างานนี้ใช้อาสาสมัครกว่า 900 คนเพื่อทำให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อเทียบว่าตลอดวันมีคนเข้าร่วมปั่นประมาณครึ่งหมื่นแล้ว อาสาสมัครเกือบพันคนนี่ก็มหาศาลนะครับ

50km ride

สำหรับอีเวนต์ย่อย 50 กม. ที่ DT เข้าร่วมนั้นเป็นการปั่นชมวิวเกาะฮ่องกงโดยใช้สะพานแขวนขนาดใหญ่ 3 สะพาน เพื่อพาชมวิวแหลมเกาลูน เกาะซิ่งยี่ และเกาะหม่าวัน เส้นทางเกือบทั้ง 100% จะอยู่บนสะพาน อุโมงค์ และไฮเวย์ที่ปรกติเป็นทางรถยนต์เท่านั้น ไม่ให้จักรยานใช้ จึงได้ทัศนียภาพและบรรยากาศที่หาได้เฉพาะวันนี้วันเดียวในแต่ละปีครับ

ยิ่งไปกว่านั้น ในอีกสามวันข้างหน้า (23 ต.ค.) สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าจะเปิดใช้งาน ซึ่งเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลกด้วยความยาวถึง 55 กม. ได้ยินแว่ว ๆ มาว่า HK Cyclothon ปี 2019 จะลองขออนุญาตใช้สะพานนี้จัดอีเวนต์ จะสำเร็จหรือไม่ต้องรอติดตามกันครับ

Hammer Hong Kong

อย่างที่ได้กล่าวไปในย่อหน้าข้างต้นว่าปีนี้ทางการท่องเที่ยวฮ่องกงได้ซื้อแบรนด์ Hammer Series จาก Velon มาจัดสนามสุดท้ายและตัดสินผลกันที่ฮ่องกง นับเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดของรัฐ เพราะ Velon ได้สร้าง awareness ไว้ให้แล้วเมื่อปีก่อนที่เนเธอร์แลนด์ ทำให้ทางฮ่องกงไม่ต้องสร้างแบรนด์เอง ไม่เป็นเพียงแค่อีกสนามนิรนามอันนึงในเอเชีย แต่เป็นส่วนหนึ่งของทัวร์นาเมนต์เก็บแต้มของ Velon ไปเลย อีกทั้งยังจังหวะดี สอดคล้องกับที่ Tour of Guangxi (กวางสี) เพิ่งได้ยกระดับเป็นสนามระดับ WorldTour ไปเมื่อปีที่แล้ว แถมยังจัดสัปดาห์ถัดกันอีก ทำให้ดึงนักปั่นดัง ๆ จากยุโรปมาร่วมงานได้ง่าย เพราะมณฑลกวางสีกับฮ่องกงนั้นใกล้กันมาก มาทีเดียวลงได้สองอีเวนต์เลย ปีนี้มีทั้งทอม ดูมูลาน, ริทชี พอร์ต, ฟิลลิป จิลแบร์, ดีแลน เกรินเนเวเกน, และนักปั่นแนวหน้าคนอื่น ๆ มาร่วมงานกันพอสมควร ไลน์อัพโดดเด่นไม่แพ้ Saitama Criterium หรือ Japan Cup ที่จัดมานานกว่าเลย

ฟิลลิป จิลแบร์ (QuickStep-Floors)

จุดเด่นอีกอย่างของ Hammer Hong Kong ที่เหนือกว่างานแข่งระดับอาชีพอื่น ๆ ที่มีโปรจากยุโรปมาก็คือ สำหรับคนไทยแล้ว เราว่าอันนี้ไปง่ายสุด ถึงแม้ในละแวกเพื่อนบ้านของเราจะมีมาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีนที่มีงานแข่งระดับนี้ แต่ด้วยลักษณะการแข่งแบบดาวน์ทาวน์ไครทีเรียมแล้ว ทำให้เราต่อรถไฟเข้ากลางเมืองจากสนามบินฮ่องกงได้เลย ลงสถานี MTR Tsim Sha Tsui แป๊บเดียวถึง ไม่ต้องต่อรถหรือรถไฟออกไปนอกเมืองไกล ๆ เหมือนการแข่งจักรยานถนนทั่วไป

ลองนึกถึงงานแข่งคลาสสิคอย่างพารี-รูเบซ์ ที่แข่งกันกลางทุ่งกลางนา ไปถึงประเทศที่หมายแล้วยังต้องต่อรถออกไปไกลปืนเที่ยง แข่งจบแล้วก็ไม่มีอะไรให้ทำอีก ถ้าไม่ใช่แฟนจักรยานระดับฮาร์ดคอร์คงลังเลที่จะต้องลงทุนลงแรงขนาดนั้น ในขณะที่งานนี้คืออยู่ฮ่องกง นั่งเครื่อง 3 ชม. จากไทย ต่อรถไฟจากสนามบินเข้าเมืองอีกเพียง 45 นาที เลิกงานแล้วก็มีที่กินที่เที่ยวที่ช็อปอยู่ตรงนั้นเลย ใจง่ายเพียงนิดเดียวก็จองตั๋วบินแล้วครับ

ไม่ใช่แค่ที่ช็อปปิ้งอีกต่อไป

สุดท้ายนี้ ดูเหมือนว่าฮ่องกงเองก็ปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลก ที่สินค้าต่าง ๆ ในแต่ละประเทศเริ่มราคาต่างกันน้อยลง ผู้คนเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น เหตุผลที่ต้องขึ้นเครื่องบินไปช็อปปิ้งที่ต่าง ๆ ก็น้อยลงตาม ฮ่องกงดูจะรีแบรนด์ตัวเองให้มีข้อดีมากกว่าแค่การซื้อของแบรนด์เนม ไปครั้งนี้นอกจากมีอีเวนต์จักรยานที่บริหารจัดการได้ดีมากแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่เพิ่งเปิดให้บริการอีกหลายที่ พร้อมด้วยตารางอีเวนต์คับคั่ง โดยเน้นไปที่ประสบการณ์ของผู้มาเยือน มากกว่าแค่มาซื้อของแล้วก็บินกลับ เช่น ไท่คุน (Tai Kwun) หรือ PMQ (Police Married Quarters) ซึ่งทั้งสองเป็นการนำเอาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของฮ่องกงมาบูรณะใหม่ แล้วเปิดเป็นพื้นที่มิกซ์ยูส มีทั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สถานที่นั้น ๆ บวกพื้นที่จัดแสดงงานศิลป์ พื้นที่จัดอีเวนต์ และร้านค้าร้านอาหารรวมกันอยู่ในรั้วเดียว อย่างตอนพวกเราไปก็มีงาน Hong Kong Craft Beer Festival จัดอยู่พอดี (ลาภลอยชัด ๆ) จึงไม่ต้องกังวลว่าบินไปทั้งที นอกจากปั่นจักรยานแล้วจะทำอะไรอีกดี

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott