เปิดตัว: Shimano Dura-Ace R9100 และ Di2 R9150

ในที่สุดกรุ๊ปจักรยานถนนรุ่นใหม่จากค่าย Shimano ในไลน์ Dura-Ace ก็เปิดตัวตามกำหนดครับในชื่อ Dura-Ace R9100 และ Dura-Ace Di2 R9150 ซึ่งตามสไตล์ของ Shimano ไม่ได้เป็นการเปิดตัวแค่ชุดขับเคลื่อน แต่เป็นการอัปเดตคอมโพเนนท์ในไลน์อัปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นล้ออลูมิเนียมและล้อคาร์บอนขอบสูง, ชุดขับ Time Trial, และล่าสุด พาวเวอร์มิเตอร์ที่อยู่ในขาจาน

Shimano อัปเดตกรุ๊ปเซ็ตตัวท็อปทุกๆ 4 ปี นั่นหมายความว่าชุด R9100 และ R9150 นั้นจะเข้าประจำการไปอีกหลายปี การอัปเดตครั้งนี้เน้นไปที่ การใช้งานที่ง่ายและแม่นยำมากขึ้น, การเชื่อมต่อไร้สาย, ระบบดิสก์เบรคไฮดรอลิค, น้ำหนักที่เบาลง, และรูปโฉมใหม่กระทัดรัดที่ไม่เหมือน Dura-Ace 9000 และ 9070 เลยแม้แต่น้อย

ด้วยที่เป็นการอัปเดตยกไลน์อัป ก็มีรายละเอียดต้องอธิบายกันเยอะพอสมควร หลายๆ อย่างเป็นไปตามที่เราคาดเดาและตามที่ข่าวลือหลุดออกมา ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง เราลำดับเนื้อหาตามนี้ครับ

  • พาวเวอร์มิเตอร์ Dura-Ace
  • ฟีเจอร์ใหม่ใน Dura-Ace Di2 R9150
  • ฟีเจอร์ใหม่ใน Dura-Ace Mechanical R9100
  • ระบบดิสก์เบรคไฮดรอลิค Dura-Ace
  • ขาจาน, เฟืองและบันได Dura-Ace ใหม่
  • ล้อใหม่ Dura-Ace C40 และ C60
  • น้ำหนัก ราคา วันวางจำหน่าย

 

พาวเวอร์มิเตอร์ Dura-Ace

เริ่มกันด้วยเรื่องแรก ซึ่งน่าจะเป็นข่าวใหญ่ที่สุด นั่นคือ Shimano ผลิตพาวเวอร์มิเตอร์ของตัวเองและจะมากับชุด Dura-Ace รุ่นใหม่ เป็นการดึงเอาเทคโนโลยีจาก BikeFitting.com ที่ Shimano ซื้อกิจการไปมาพัฒนาเป็นพาวเวอร์มิเตอร์ขนาดเล็ก และวัดพลังการปั่นแยกขาทั้งสองข้าง (Dual leg powermeter) แบบแท้จริง

ขาจานพาวเวอร์รุ่นนี้ชื่อ Dura-Ace FC-R9100-P และมี strain guages ที่ใช้วัดแรงบิด 3 จุด 2 จุดแรกจะอยู่ในขาจานแต่ละข้าง และอีกจุดจะอยู่ในแกนขาจานขนาด 24mm (crank spindle) เซนเซอร์ทั้งสามตัวเชื่อมต่อกันผ่านสายไฟ นั่นหมายความว่าใช้แบตเตอรี่แค่ตัวเดียวในการทำงานและช่วยให้ทำงานได้เสถียรไม่ต้องส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สาย Brain Unit

Shimano อ้างว่าพาวเวอร์มิเตอร์ตัวนี้จะให้ข้อมูลการปั่นได้ละเอียดมาก คล้ายๆ กับที่ระบบ BikeFitting.com ทำงาน เป็นข้อมูล Vector บอกได้ว่าที่องศาขาจานเท่านี้ ผู้ใช้ออกแรงกดเป็นพลังกี่วัตต์ ตรงนี้น่าจะทำงานคล้ายๆ พาวเวอร์มิเตอร์ของ Pioneer และยังบอกได้ด้วยว่าบริเวณไหนของลูกบันไดที่ออกแรงเยอะเป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์สำหรับการทำฟิตติ้ง ใช้บอกตำแหน่งการตั้งคลีตที่เหมาะสม รวมถึงว่าเราจำเป็นต้องใช้แผ่นเสริมในพื้นรองเท้าด้วยหรือไม่ ตรงนี้คงต้องดูในการใช้งานจริงและซอฟต์แวร์ที่มาด้วยกันครับ

Shimano ไม่ได้บอกว่าแบตเตอรี่พาวเวอร์มิเตอร์อยู่ส่วนไหนของชุดจาน แต่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ด้วยการเสียบสายชารจ์ที่ Brain Unit ที่ติดอยู่บนขาจานอีกที ระบบกันน้ำไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำเข้า

พาวเวอร์มิเตอร์รองรับการเชื่อมต่อทั้ง ANT+ และ Bluetooth

Dura-Ace FC-R9100-P เป็นระบบ integrated มาด้วยกันทั้งชุดไม่มีขายแยก และไม่สามารถซื้อแยกเฉพาะตัวพาวเวอร์มาติดตั้งเอง

 

Dura-Ace Di2 R9150

สำหรับคนที่ชอบเกียร์ไฟฟ้าก็คงไม่ผิดหวังกับชุด Dura-Ace Di2 R9150 ซึ่งดึงเอาเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่ใช้ในชุดขับเสือภูเขา Shimano XTR Di2 มาใช้ด้วย

Di2 R9150 รองรับการเชื่อมต่อผ่านระบบ ANT+ และ Bluetooth ซึ่งการนำระบบสื่อสารไร้สายมาใช้ช่วยเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆ ให้ Di2 ตามนี้ครับ

ANT ใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์จักรยาน (เช่น Garmin) เพื่อโชว์สถานะแบตเตอรีและเกียร์ที่เรากำลังใช้อยู่ ส่วน Bluetooth ใช้เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชัน E-Tube Project ในสมาร์ทโฟน iOS และ Android (ไร้สาย!) เพื่ออัปเดตเฟิร์มแวร์ ปรับจูนตั้งค่าเกียร์เหมือนโปรแกรม E-Tube ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องพึ่ง PC และไม่ต้องพึ่งสาย USB อีกต่อไป

Synchro Shift

Dura-Ace Di2 R9150 มากับระบบเกียร์ออโต้ Synchronize Shift ที่หยิบยืมเทคโนโลยีมาจากกรุ๊ปเสือภูเขา XTR Di2 ระบบนี้ช่วยให้ผู้ใช้เลือกเกียร์ได้ง่ายขึ้นและลดการตัดสินใจว่าจะใช้เกียร์อะไรระหว่างแข่ง การทำงานของ Synchro Shift มีให้เลือกใช้สองโหมดตามนี้

  • Full Synchronized Shift (ฟูลออโต้): ในโหมดนี้ ผู้ใช้สามารถโปรแกรมให้สับจานหน้าทำงานอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งเฟืองหลังที่เรากำลังใช้งานอยู่ นั่นหมายความว่าผู้ใช้สามารถคุมการทำงานของเกียร์หน้าและหลังได้ด้วยชิฟเตอร์แค่ข้างเดียว แล้วเลือกแค่เกียร์เบาลงหรือเกียร์หนักขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นในขณะที่ใช้จานใหญ่ และเปลี่ยนเฟืองหลังถึงเฟืองที่ 7 (นับจากเล็กสุด) แล้ว จานหน้าจะสับลงจานเล็กอัตโนมัติ พร้อมเฟืองหลังจะขยับลงเฟือง 6 อัตโนมัติ จากนั้นก็ไล่ขึ้นเฟือง 7, 8 จนเฟือง 11 (ใหญ่สุด) ต่อไป ลำดับที่จะให้สับจานหน้าทำงานนี้ตั้งโปรแกรมได้ และถึงจะเปิดโหมด Full Synchro อยู่ แต่ผู้ใช้สามารถปรับเกียร์หน้าได้เองด้วยชิฟเตอร์ซ้าย (ถ้าต้องการ)
  • Semi Synchronized Shift (เซมิออโต้): ในโหมดนี้ ตีนผีจะเปลี่ยนอัตโนมัติเมื่อเราสับจานขึ้นหรือลงเพื่อให้ได้อัตราทดและรอบขาใกล้เคียงเดิม (ฟีเจอร์นี้มีใน Campagnolo EPS V3)
    ระบบซิงโครสามารถเปิดหรือปิดได้ผ่านแอพ E-Tube หรือจะโปรแกรมให้ชิฟเตอร์แต่ละปุ่มทำงานตามที่เราต้องการก็ได้
  • น่าสนใจว่าจะสามารถตั้งให้ชิฟเตอร์ขวาใช้ปรับเกียร์หนัก และชิฟเตอร์ซ้ายไว้ขึ้นเกียร์เบาเหมือนการเปลี่ยนเกียร์ของ SRAM eTap ได้หรือเปล่า โดยปล่อยให้โหมดซิงโครเปลี่ยนเกียร์หน้าอัตโนมัติ ถ้าโปรแกรมแบบนี้ได้ก็จะทำให้การเปลี่ยนเกียร์ง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าครับ โดยเฉพาะกับคนที่ปั่นรถไตร ที่ล็อกไว้เลยว่าชิฟเตอร์แต่ละข้างรับหน้าที่เปลี่ยนเกียร์หนัก หรือเบาตามความถนัด ไม่ต้องวุ่นวายกับปุ่มหลายปุ่ม

4Z8A1125-e1467208896570

แบตเตอรี่และ Junction Box ใหม่

  • สิ่งที่ทำให้ Shimano รันระบบ Synchroshift ได้ใน Di2 9150 ก็คือแบตเตอรี่ใหม่ EW-WU111 ที่ทำงานเป็นมันสมองของระบบชุดขับไฟฟ้า ซึ่งจะมีขนาดเล็กลง Junction A (EW-RS911) ก็มีขนาดเล็กลงด้วย
  • นอกจากแบตเตอรี่แล้วผู้ใช้สามารถติดตั้ง control unit ไว้ในเฟรมหรือเป็นจุกปลายแฮนด์คล้ายๆ ได้ด้วย

DSC_3679

  • PRO แบรนด์ลูกของ Shimano ได้ทำแฮนด์รุ่นใหม่ที่เจาะรูรองรับระบบนี้แล้ว และคาดว่าผู้ผลิตรายอื่นก็อาจจะออกตามมาเช่นกัน
  • นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถโปรแกรมการทำงานค่าต่างๆ เซฟเก็บไว้เป็น profile ไม่ต้องคอยมาตั้งโปรแกรมใหม่ทุกครั้งที่รื้อรถเพื่อเปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมแซม

Di2 เจเนอเรชันเก่าไม่ต้องเสียใจ มีชุดอัปเกรด

  • สำหรับผู้ใช้ Di2 รุ่นเก่าแต่ไม่อยากอัปเดตเป็น Dura-Ace รุ่นใหม่ Shimano กล่าวว่าคุณสามารถใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง Synchro Shift และฟังก์ชันไร้สายอื่นๆ ได้ด้วยการเปลี่ยนตัวแบตเตอรี่เป็นของรุ่นใหม่ และซื้อยูนิทส่งสัญญาณไร้สายเพิ่ม ก็จะสามารถใช้ฟังก์ชันใหม่ๆ ได้ทั้งหมด ซึ่งน่าจะขายเป็นชุดอัปเกรดในอนาคตอันใกล้นี้

 

มือเกียร์

  • มือเกียร์ Di2 ใหม่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก เปลี่ยนรูปทรงนิดหน่อยเพื่อรองรับการจับและสัมผัสที่กระชับมากขึ้น และออกแบบมาให้รองรับการจับฮู้ดในท่าแอโร (พับข้อศอก) ได้ถนัดขึ้น
  • จุดเด่นที่สุดคงเป็นขนาดของชิฟเตอร์ Dura-Ace ดิสก์เบรค ที่ขนาดฮู้ดแทบจะเท่ากับชิฟเตอร์ริมเบรค ซึ่งเล็กกว่าชิฟเตอร์ดิสก์เบรค non-series มากๆ และที่สำคัญ ผู้ใช้สามารถปรับระยะก้ามเบรคได้มากถึง 14mm จากเดิม 10mm
  • ปุ่มชิฟเตอร์ที่ใช้เปลี่ยนเกียร์ปรับปรุงให้ “คลิก” กดเปลี่ยนเกียร์ได้หนักแน่นขึ้น ปรับปรุงจาก Di2 รุ่นปัจจุบันที่แตะเบาๆ ก็เปลี่ยนเกียร์แล้ว ซึ่งทำให้เกิดอาการเปลี่ยนเกียร์โดยไม่ตั้งใจบ่อยครั้ง และตัวปุ่มก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย
  • น้ำหนักมือเกียร์ไฟฟ้ารุ่น Rim brake (ST-9150) อยู่ที่คู่ละ 230 กรัม ส่วนเวอร์ชันไฟฟ้าไฮดรอลิคอยู่ที่คู่ละ 360 กรัม

shimano-dura-ace-9150-di2-deraileurs

ตีนผีและสับจานใหม่

  • ตีนผี Di2 R9150 เป็นดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ส่วนสับจานหน้าแทบจะเหมือนเดิม แค่น้ำหนักเบาลงเท่านั้น
  • ตีนผีใหม่ใช้ดีไซน์ Shadow จากกรุ๊ปเสือภูเขาของ Shimano หลักๆ แล้วตีนผีมีขนาดเล็กลง โปรไฟล์เล็กขึ้นและกลไกหลบไปอยู่ใต้เชนสเตย์เพื่อลดจุดปะทะเวลาจักรยานล้ม น้ำหนักลดลงจาก 217g เหลือ 204g
  • ความยาวโครงตีนผีมีขนาดเดียว รองรับเฟืองสูงสุด 30t (จากเดิม 28t) ส่วนลูกรอกตีนผียังใช้ขนาดมาตรฐาน 11t เหมือนเดิม
  • สับจานหน้าไม่มีอะไรเปลี่ยนจากเดิมมากนัก แต่น้ำหนักลดลง 10 กรัม

shimano-dura-ace-SW-9150-time-trial-shifter-brake-lever-di2

มือเกียร์ใหม่สำหรับรถ Time Trial และ Triathlon

  • เทคโนโลยี Synchro Shift ทำให้ Shimano ลดความซับซ้อนวุ่นวายในชุดเกียร์จักรยาน Time Trial ได้เยอะครับ นั่นคือชุด Di2 ใหม่สำหรับ time trial/ triathlon จะตัดการควบคุมจานหน้าทิ้งไปเลย ให้ระบบ Synchro Shift เปลี่ยนเกียร์หน้าแทนผู้ใช้อัตโนมัติ ซึ่งผลที่ได้คือการควบคุมเกียร์ที่ง่ายกว่าเดิม น้ำหนักที่เบาลงและเซ็ตอัปรถที่แอโรกว่าเดิม
  • Extension Shifter (SW-R9160) มีขนาดแค่ 13mm เทียบกับรุ่นก่อนที่ยาวถึง 52mm และน้ำหนักก็ลดลงกว่าครึ่งที่เซ็ตละ 30 กรัม และติดตั้งง่ายๆ ด้วยการเสียบปิดไตรบาร์เหมือน bar plug ธรรมดาได้เลย ไม่ต้องใช้ระบบรัดล็อกให้อยู่กับที่เหมือนรุ่นก่อน
  • สำหรับชุดควบคุม base bar มีหน้าตัดเล็กลง 28% และเบากว่ารุ่นก่อนข้างละ 28 กรัม

 

Dura-Ace R9100

ถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ จะไปอยู่ในกรุ๊ปไฟฟ้า แต่กรุ๊ปเมคานิคัลก็มีการอัปเดตยกชุดเช่นกันครับ หลายๆ อย่างใช้เทคโนโลยีเดียวกันอย่างชุดจานและตีนผี แต่ส่วนอื่นก็มีควาามต่างพอสมควร

มือเกียร์ 

  • Shimano ยังใช้ cable pull ในอัตราส่วนเดียวกับกรุ๊ปเซ็ตรุ่นก่อนๆ (แต่จะ backward compatible มั้ย DT ก็ไม่รู้เหมือนกัน)
  • มือเกียร์รุ่นใหม่เปลี่ยนเกียร์ง่ายขึ้น เพราะระยะ lever throw หรือการเคลื่อนไหวของกลไกสำหรับเปลี่ยนเกียร์นั้นสั้นลง 24% (ก้ามเบรค) และ 14% สำหรับปุ่มเปลี่ยนเกียร์เล็ก (ด้านใน)
shimano-dura-ace-9100-and-9120-shifter-brake-lever-comparison
ซ้ายชิฟเตอร์ 9100 (ริมเบรค) และขวา ชิฟเตอร์ 9120 (ไฮดรอลิคดิสก์เบรค) ขนาดแทบจะเท่ากัน รีชและเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน
  • การลดระยะ lever throw นี้มาจากเทคโนโลยี Instant Release ที่ Shimano ดึงมาจากกรุ๊ปเสือภูเขาอีกเช่นกัน เป็นการลด dead spot ในกระบวนการเปลี่ยนเกียร์ เมื่อมือกดเปลี่ยนเกียร์เมื่อไรสายเกียรก็เคลื่อนที่ทำงานทันที
  • มือเกียร์เมคานิคัล (ST-R9100) หนักคู่ละ 365 กรัม และรุ่นไฮดรอลิค (ST-R9120) หนัก 505 กรัม

DA Mechanical Derตีนผีและสับจาน

  • ตีนผีชุดเมคานิคัลก็ใช้ดีไซน์ Shadow แบบเดียวกับตีนผี Dura-Ace ไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมและมีระบบการเดินสายเกียร์ใหม่ที่ลดระยะ cable loop ลงเล็กน้อย ช่วยลดแรงเสียดทานในสาย ทำให้การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลขึ้น
  • ที่สำคัญ ดีไซน์ Shadow เลื่อนตัวบอดี้ตีนผี หลบไปอยู่ด้านล่างเชนสเตย์ เสี่ยงต่อการกระแทกน้อยลง
  • สับจานหน้าปรับปรุงใหม่เก็บคานและจุดหมุนไปไว้ด้านในบอดี้ และวิธีเดินสายเกียร์ใหม่ทะลุจากทางด้านล่างตัวสับจานขึ้นไปทางด้านบน ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับความตึงสายได้ง่ายๆ ด้วยประแจหกเหลี่ยมขนาด 2mm ส่วนตำแหน่งปรับ limit screws เปลี่ยนมาปรับทางด้านข้างแทนด้านบน และไม่จำเป็นต้องใช้ barrel adjuster (ตัวปรับความตึงสาย) สำหรับเฟรมที่เดินสายภายในแล้ว (!)
  • น้ำหนักตีนผีเมคานิคัล 158 กรัม และสับจานหน้า 69 กรัม

 

ดิสก์เบรคระดับ Dura-Ace และริมเบรคที่สติฟกว่าเดิม

ดิสก์เบรค

  • หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดิสก์เบรคสำหรับเสือหมอบของ Shimano เป็น non-series มาตลอด (ชิฟเตอร์ RS685 กับดิสก์ RS785) ในที่สุด Shimano ก็เปิดตัวดิสก์ด้วยชื่อ Dura-Ace เป็นครั้งแรก โดยรูปร่างของชิฟเตอร์ใกล้เคียงกับริมเบรคยิ่งกว่าเดิม กระโดงที่เคยสูงขึ้นไปเพราะต้องบรรจุของเหลวก็ลดต่ำลงมา นอกจากนี้ตัวชิฟเตอร์ยังสามารถปรับระยะสัมผัสระหว่างผ้าเบรคกับใบดิสก์ได้ด้วยเพื่อให้ฟีลเบรคหน้ากับเบรคหลังใกล้เคียงกันแม้สายไฮดรอลิคจะยาวไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ยกมาจากเสือภูเขา
  • ตัวก้ามดิสก์ยึดกับเฟรมด้วยมาตรฐาน Flat Mount สำหรับเสือหมอบโดยเฉพาะที่ Shimano เป็นคนออกแบบ เปิดลิขสิทธิ์ให้คนอื่นใช้ และกำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยล่าสุด SRAM ก็ใช้มาตรฐานนี้เช่นกัน
  • ใบดิสก์ก็ได้รับการออกแบบใหม่เพื่อเสือหมอบโดยเฉพาะ โดยใบดิสก์ด้านในเป็นอลูมิเนียมที่ประกบด้วยสเตนเลสทำให้ระบายความร้อนได้ดีจากแกนอลูมิเนียมและมีแรงเสียดทานที่ดีจากผิวสเตนเลส ซึ่งคือเทคโนโลยี Freeza rotor เดิมของชิมาโน่ แต่ในขณะที่ใบดิสก์เดิม (RS785) ใช้หมุดยึดขอบใบดิสก์กับแกนใบดิสก์ (คล้ายกับที่ใบจานหน้ายึดกับขาจานด้วยน็อต 4 ตัว) ดีไซน์ใหม่ทำขอบกับแกนเป็นชิ้นเดียวกันเลยเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวและลดจุดเชื่อมเพื่อการระบายความร้อนที่ดีขึ้น Shimano อ้างว่าดีไซน์ใหม่นี้ระบายความร้อนได้ดีกว่าเดิม 30 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับใบดิสก์เดิมที่เอาของเสือภูเขามาปรับใช้เฉย ๆ และใบดิสก์ SM-RT900 นี้จะมีจำหน่ายทั้งขนาด 140 มม. และ 160 มม.

ริมเบรค

  • ทางด้านริมเบรคจะมีทั้ง single mount แบบดั้งเดิมและ direct mount ที่จักรยานรุ่นใหม่ ๆ บางรุ่นอย่าง Trek Emonda SLR, Canyon Aeroad CF SLX, หรือ Lapierre Xelius SL ใช้กัน
  • สำหรับ direct mount ก็ยังคงมีจำหน่าย 3 แบบเหมือนเดิม คือหน้า หลังที่ตะเกียบนั่ง และหลังที่ใต้กะโหลก
  • การออกแบบเบรคยังเป็น SLR-EV ที่ใช้มาตั้งแต่ Dura-Ace 7900 คือเป็นจุดหมุนสองจุดแต่อยู่ด้านข้างทั้งคู่ แทนที่จะเป็นตรงกลางหนึ่งจุดกับด้านข้างหนึ่งจุด สิ่งที่เปลี่ยนไปคือก้ามเบรคที่สติฟขึ้นอีก 43% เพื่อเพิ่มแรงเบรคเวลากำเบรคแรง ๆ จากการเพิ่มโครงโลหะรูปเกือกม้าเข้ามายึดระหว่างจุดหมุนทั้งสอง และเรียกมันว่า Booster bridge ทั้งนี้ริมเบรคในซีรี่ยส์ 9100 ทุกตัวรองรับยางหน้ากว้างสูงสุดที่ 28c
  • ตัวปลดล้อเปลี่ยนพิสัยการหมุนไป 90 องศาเพื่อให้เวลาปิดล็อกแล้วตัวปลดหมุนเข้าไปด้านในเพื่อเพิ่มความลู่ลม!
  • ริมเบรคสติฟกว่าเดิม แต่ก็มีน้ำหนักมากกว่าเดิมเล็กน้อย

 

จานหน้าอสมมาตรและเฟืองท้าย 11-30t

  • ในซีรี่ยส์ 9100 นี้ Shimano ปรับปรุงจานหน้าใหม่ หนากว่าเดิม สติฟกว่าเดิม แต่น้ำหนักลดลงเล็กน้อย (7 กรัม) ในการวิเคราะห์จุดเครียด Shimano พบว่าในจังหวะที่เรากดบันไดแรงที่สุดคือในทิศ 3 นาฬิกานั้นจุดที่รับแรงมากที่สุดคือขาที่อยู่ทิศ 1 นาฬิกา หากสังเกตใกล้ ๆ จะเห็นว่าขานี้หนากว่าและป้านกว่าอีก 3 ขาที่เหลือ ส่วนแกนขาจานยังมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 มม.เหมือนเดิม
  • ดังนั้นเฟรมที่ออกแบบมาพร้อมกะโหลก BB30, PF30, และ BB386EVO ยังต้องใช้อแดปเตอร์จากผู้ผลิตรายอื่นเช่นเคย จานหน้าใหม่จะมี 5 ขนาดให้เลือกคือ 50/34, 52/36, 53/39, 54/42, และ 55/42 และหนัก 609 กรัม (50/34)

  • ช่องว่างระหว่างใบจานใหญ่และเล็กกว้างกว่าเดิม 0.4mm ซึ่งน่าจะช่วยให้ใช้จานหน้าเล็กคู่กับเฟืองเล็กสุดได้โดยไม่ที่โซ่ไม่สีสับจานหน้า
  • ขาจานรุ่นเดียวรองรับใบจานทุกขนาด ไม่ต้องเปลี่ยน BCD

เฟืองท้ายมีอัตราส่วนใหม่ 11-30t เพื่อให้สอดคล้องกับตีนผีใหม่และเป็นเฟืองหลังที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในระดับ Dura-Ace โดยจำนวนฟันของเฟืองนี้คือ 11-12-13-14-15-17-19-21-24-27-30t (สำหรับ เฟือง 11-28t คือ 11-12-13-14-15-17-19-21-23-25-28t และเฟือง 11-32t (Ultegra ลงไป) คือ 11-12-13-14-16-18-20-22-25-28-32t)

Pedal Cassette Skewers

นอกจากนี้รูปร่างและการเรียงตัวของฟันเฟืองยังออกแบบใหม่ด้วยเพื่อการเปลี่ยนเกียร์ที่เร็วขึ้นและลื่นขึ้นกว่าเดิม ส่วนเฟืองใหญ่ 5 เฟืองแรกยังเป็นไททาเนียมและเฟืองเล็ก 6 เฟืองที่เหลือยังเป็นเหล็กผสมเหมือนเดิม

สำหรับโซ่นั้นใช้ HG-CN901 เส้นเดิมที่มีมาตั้งแต่ Dura-Ace 9000

บันไดก็ออกใหม่เช่นกัน ยังเป็นคาร์บอนเหมือนเดิม แต่น้ำหนักเบาลง และแผ่นโลหะกันสึกตรงกลางขนาดเล็กลง เหลือเฉพาะจุดสัมผัสระหว่างคลีตกับบันไดเท่านั้นจริง ๆ และเปลี่ยนเมื่อกร่อนไม่ได้แล้ว รายละเอียดอื่น ๆ ยังมีไม่มากนัก

 

ล้อใหม่ Shimano C40 และ C60

  • ไลน์อัพเดิมที่ประกอบด้วย C35, C50, และ C75 จะลดเหลือแค่ C40 และ C60 เป็นล้อขอบอ้วนและท้ายป้านตามสมัยนิยม ขอบกว้าง 28mm
  • Shimano อ้างว่าแอโร่ขึ้นกว่าเดิม โดยประหยัดพลังงานไป 2 และ 16 วัตต์ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ C50 เดิมที่ลมปะทะ 7.5 องศาและยาง 25c (ไม่ได้ระบุความเร็วที่ทดสอบ) และน้ำหนักเบาลงกว่าเดิม โดย C40 ขอบฮาล์ฟเคลมน้ำหนัก 1343 กรัม และ C60 ขอบฮาล์ฟหนัก 1400 กรัม (C50 ขอบฮาล์ฟของเดิม 1442 กรัม) ทั้งยังสติฟกว่าเดิมจากการใช้ปีกดุมที่กว้างกว่าเดิมและรูปร่างล้อหลังที่อสมมาตร ทำให้ทนต่อแรงบิดด้านข้างเวลาสปรินต์ได้ดีกว่าเดิม
  • ล้อ C40 และ C60 มีแยกรุ่นย่อยอีก 4 รุ่นต่อไซส์ รวมเป็น 8 รุ่นย่อย โดยขึ้นกับยาง (ยางงัด/ทิวป์เลสหรือยางฮาล์ฟ) และขอบเบรค (ริมเบรคหรือดิสก์เบรค) และ 6 รุ่นจาก 8 ใช้ขอบเบรคคาร์บอน ส่วนรุ่นริมเบรค+ยางงัด/ทิวป์เลสอีก 2 รุ่นใช้ขอบเบรคอลูมิเนียมเหมือนเดิม
  • ส่วน C24 นั้นมีรุ่นเดียวคือริมเบรค+ยางงัด และไม่เปลี่ยนจากเดิมมากนักนอกจากใช้ปีกดุมที่กว้างกว่าเดิม

 

น้ำหนักและราคาแยกตามรุ่น

 

DA wheel price and weight

หมายเหตุ
9100: ริมเบรค
9170: ดิสก์เบรค
CL: ยางงัด
TU: ยางฮาล์ฟ
TL: ทิวป์เลส+ยางงัด
-12: แกนปลด Thru-axle เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 มม.

 

ราคา น้ำหนักและวันวางจำหน่าย

DA Weight

ราคากรุ๊ป Mechanical / Mechanical Disc Brake
ราคากรุ๊ป Mechanical / Mechanical Disc Brake
Da Di2 Price
ราคากรุ๊ป Di2 / Di2 ดิสก์เบรค
  • Shimano Dura-Ace R9100 mechanical – หนัก 2,097 กรัม ราคา$2,029 (ประมาณ 71,411 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 30 มิย 59)
  • Shimano Dura-Ace R9120 mechanical/hydraulic group – หนัก 2,445 กรัม ราคา $2,354 (ประมาณ 83,000 บาท)
  • Shimano Dura-Ace Di2 R9105 – หนัก 2,051g ราคา $3,046 (ประมาณ 107,000 บาท)
  • Shimano Dura-Ace Di2 R9107 electronic/hydraulic – หนัก 2,389g – ราคา $3,137 (ประมาณ 110,800 บาท)

กรุ๊ปเมคานิคัล R9100 เริ่มวางจำหน่ายไตรมาศสุดท้ายปี 2016 ส่วนกรุ๊ป Di2 R9150 เริ่มวางจำหน่ายมกราคม 2017

Reference: Dura-Ace.com, Bikeradar, Cyclingweekly, Cyclingtips, Road.cc, Velonews, Cyclist, GCN

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *