ว่าด้วยเรื่องดิสก์เบรคกับเสือหมอบ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสที่มาแรงที่สุดในวงการเสือหมอบปีนี้คือดิสก์เบรคบนจักรยานเสือหมอบครับ สังเกตได้ว่าผู้ผลิตเฟรมแทบทุกเจ้าพยายามผลักดันโมเดลจักรยานใหม่ๆ ที่รองรับดิสก์เบรค เรียกได้ว่ามีกันครบทุกยี่ห้อตั้งแต่แบรนด์อิตาเลียนเก่าแก่อย่าง Colnago, Pinarello ไปจนถึงแบรนด์อเมริกันสุดไฮเทคอย่าง Specialized และแบรนด์อินดี้นอกกระแสเช่น Canyon

ขณะเดียวกัน 3 ผู้ผลิตอะไหล่เสือหมอบยักษ์ใหญ่อย่าง SRAM, และ Shimano ก็คลอดดิสก์เบรคสำหรับเสือหมอบมาให้เห็นกันตั้งแต่กลางปีแล้ว ในขณะที่ Camapgnolo เตรียมวางจำหน่ายในปี 2016 เหตุผลที่ตอนนี้เรายังไม่ได้เห็นดิสก์เบรคเป็นที่แพร่หลายบนเสือหมอบนั้นมีหลายประเด็นครับ มาดูกันว่ามีอะไรบ้างและทิศทางมันจะเป็นอย่างไรในอนาคต

1. ทาง UCI ยังไม่อนุญาตให้ใช้ดิสก์เบรคได้ในการแข่งขัน

เหตุผลมาจากปัจจัยความเสี่ยง ดิสก์เบรคมีระยะหยุดจักรยานไม่เท่ากับเบรคก้ามที่เป็นมาตรฐานตอนนี้ ถ้าหากนักแข่งเบรคพร้อมๆ กันในกลุ่ม peloton ก็อาจจะทำให้ชนกันได้เพราะระยะหยุดรถค่อนข้างจะต่างกัน ขณะเดียวกันใบจานดิสก์เองก็มีลักษณะแหลมคมอันตราย ในกรณีที่มีการชนหรือล้มกันเป็นกลุ่มอาจก่อให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์ได้ ทั้งนี้ทาง UCI เองก็ยังติดตามการพัฒนาดิสก์เบรคอย่างต่อเนื่องเพื่อดูกระแสและทิศทางและการใช้งานจริง ไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้ใช้แต่อย่างใดครับ ใครสนใจว่า UCI มีความเห็นเกี่ยวกับการใช้ดิสก์เบรคในการแข่งขันอย่างไร ไปอ่านต่อได้ที่ Cyclingtips

2. ขนาดของใบจานดิสก์เบรคยังไม่ได้มาตรฐาน

ใบโรเตอร์ดิสก์ของแต่ละบริษัทนั้นมีขนาดไม่เท่ากันทาง SRAM ห่วงเรื่องการกระจายความร้อนเลือกใช้ใบโรเตอร์ขนาด 160mm ซึ่งใหญ่กว่าของทาง Shimano ที่ใช้ใบ 140mm ทว่าผู้ที่กำหนดว่าเฟรมไหนจะใช้ใบโรเตอร์ขนาดไหนได้นั้นก็คือผู้ผลิตจักรยานครับ ถ้าอุตสาหกรรมจักรยานยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ใบโรเตอร์ขนาดไหน ก็ยากที่จะเลือกเอามาใช้ในหมู่โปรได้ แถมยังสร้างความปวดหัวให้กับร้านค้าอีกต่างหาก เพราะต้องมานั่งเลือกว่าเฟรมยี่ห้อนี้ รองรับใบดิสก์ขนาดนั้น/นี้ ไม่เท่ากัน และไม่มีมาตรฐาน ลองนึกดูว่าถ้าริมเบรคที่เราใช้กันมันมีหลายไซส์ และบางไซส์นั้นก็ใช้ไม่ได้กับบางเฟรม จะเกิดอะไรขึ้น เป็นลักษณะเดียวกับปัญหาล้อโม่แคมแปก โม่ชิมาโน นั่นหละครับ

3. ดิสก์เบรค ไม่แอโร?

อีกหนึ่งปัญหาคือ เทรนด์จักรยานเสือหมอบตอนนี้มุ่งไปทางการลดแรงต้านลม หรือเพิ่มสมรรถภาพทางด้านอากาศพลศาสตร์ (aerodynamic) ดังที่เราได้เห็นเฟรมหมอบแอโรรุ่นใหม่ๆ ผลิตกันออกมาอย่างต่อเนื่อง เฟรมแอโรนั้นมีเป้าหมายหลักคือทำให้เกิดแรงต้านลมซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความเร็วให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่ทำท่อทรงหยดน้ำ ซ่อนสายเกียร์และเบรคให้เรียบร้อยที่สุด ลดหน้าตัดของเฟรมจักรยานส่วนหน้า (frontal area) และการซ่อนเบรคไว้ในตะเกียบและไต้กระโหลกเป็นต้น

ทว่าการเพิ่มดิสก์เบรคขนาดใหญ่เข้ามาในเฟรมนั้นมันดูจะขัดแย้งกับทิศทางของอุตสาหกรรมจักรยานเสือหมอบในตอนนี้แบบจังๆ ครับ ผู้ผลิตเฟรมหลายเจ้านั้นลงทุนไปเป็นเม็ดเงินมหาศาลเพื่อผลิตเฟรมแอโร การที่จะเอาดิสก์เบรคมาติดเฟรมก็ดูจะสวนทางกับหลักการลดแรงต้านลมไม่น้อย คล้ายๆ กับเป็นสองเทรนด์หลักที่เดินสวนทางกัน แต่ก็อยากได้ประสิทธิภาพทั้งสองอย่างบนรถคันเดียวกัน…

สรุป

คนที่เคยใช้ดิสก์เบรคในเสือภูเขาคงรู้ดีว่าดิสก์เบรคนั้นมันช่วยหยุดรถได้ดีกว่าริมเบรคทุกประการในแทบทุกสภาพสนาม ซ้ำยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลียเบรค (modulation) ได้อีก ประโยชน์มันจับต้องได้จริงเหมือนกับเกียร์ไฟฟ้านั่นหละครับ ถ้าทางผู้ผลิตเฟรมพยายามผลักดันดิสก์เบรคให้เข้าสู่ตลาดมากขึ้นเราก็อาจจะได้เห็นดิสก์เบรคบนจักรยานเสือหมอบทุกคันเหมือนที่เราได้เห็นในวงการเสือภูเขาเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็คงต้องรอให้ทางผู้ผลิตเขาหาข้อสรุปกันก่อนว่าจะเลือกมาตรฐานดิสก์เบรคแบบไหน และจะมีใช้ในหมู่โปรหรือเปล่า พร้อมต้องรอให้ UCI อนุญาตด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าที่ขายดีที่สุดในวงการเสือหมอบก็คือสินค้าที่โปรใช้… เมื่อโปรใช้ ผู้บริโภคทั่วไปก็อยากได้มาใช้บ้างเป็นธรรมดา ((จริงๆ แล้วตอนนี้คุณเองก็สามารถซื้อดิสก์เบรคมาใช้ได้เองแล้วครับถ้าไม่ไปลงแข่งขันรายการของ UCI))

อุปกรณ์บนจักรยานเสือหมอบนั้นมีรากฐานและได้รับอิทธิพลมาจากการแข่งขันในหมู่โปร เป็นกีฬาที่มี “ธรรมเนียม”​ และกฏเกณฑ์ค่อนข้างเยอะ ไม่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ไวเท่ากับจักรยานเสือภูเขา ผู้ผลิตอย่าง Campagnolo เองก็บอกชัดเจนว่าสินค้าที่เขาผลิตนั้นมีเป้าหมายให้โปรใช้เป็นหลักก่อน เพราะฉะนั้นสินค้าของเขาก็ต้องผ่านการรองรับจาก UCI ก่อนจะขายได้จริง ((The emphasis for Campagnolo on any new product launch was to produce something that worked for the pros, but more importantly still that worked for the riders who are Campagnolo’s customers. – Valentino Campagnolo via road.cc)) ในขณะที่ Shimano และ SRAM ให้ความสำคัญกับลูกค้าทั่วไปและนักปั่นมือาชีพเท่าๆ กัน เหมือนท่ี่ Shimano โฆษณาว่า “Have what the Pros can’t have” เมื่อแต่ละเจ้าเล็งเป้ากันคนละมุมแบบนี้ ก็คงอีกหลายปีครับ กว่าเราจะเห็นทิศทางที่ชัดเจน

shimanodiscadvert

ก็เป็นอีกกระแสที่น่าติดตามในวงการครับ ประเด็นสำคัญคือ ดิสก์เบรคจะกลายเป็นมาตรฐานบนเสือหมอบทุกคันหรือไม่ หรือว่าจะมีใช้แค่ในเสือหมอบบางประเภท อย่าง Cyclocross และจักรยานประเภท Granfondo/ sportive เท่านั้น แน่นอนว่าสินค้าที่เราใช้และโปรใช้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ผู้บริโภคควรจะเลือกใช้ของที่มีประโยชน์และเหมาะสมที่สุดกับลักษณะการปั่นและกำลังทรัพย์ของตัวเอง ส่วนโปรนั้นก็ปั่นตามสินค้าที่สปอนเซอร์เขาจัดให้ ไม่มีตัวเลือกเหมือนพวกเรา ต้องแบ่งแยกให้ออกว่าอะไรเป็นกระแสแฟชัน อะไรเป็นมาร์เกตติ้ง อะไรเป็นประโยชน์จริงๆ อุปกรณ์แต่ละอย่างราคาไม่ใช่น้อยๆ…

ส่วนตัวผมว่าดิสก์เบรค “ดู” ไม่ค่อยเข้ากับเสือหมอบสักเท่าไร แต่ก็ไม่ปฏิเสธเรื่องประสิทธิภาพการเบรคที่เหนือกว่าริมเบรค คล้ายๆ เรื่องเกียร์ไฟฟ้าครับ พอได้ลองใช้ Di2 นะ โอ้โห เอานิ้วก้อยรูดก็สับจานใหญ่ได้แล้ว เกียร์ mechanical นี่ดันกันแทบตายกว่าจะขึ้น เซ็ตเกียร์ก็ไม่วุ่นวาย แต่ก็ไม่ชอบหน้าตา Di2 อยู่ดี ปัญหาสำหรับผู้ใช้ end user มันน่าจะเป็นเรื่องภาพลักษณ์มากกว่าประสิทธิภาพเพราะถ้าไม่ได้แข่งขันอย่างจริงจัง อุปกรณ์ส่วนใหญก็ใช้ได้ดีเกินพออยู่แล้ว แต่ละคนก็มี​ “ลุค” เสือหมอบในใจจริงมั้ยครับ แต่เอาจริงๆ แล้วนะ เบรคติดรถที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ก็หรูเกินพอแล้วสำหรับผม ก็ขอติดตามดูทิศทางอยู่ห่างๆ ดีกว่าครับ! ถ้ามีความคืบหน้า DT ก็จะมาอัปเดตเรื่อยๆ แน่นอน

แล้วคุณคิดอย่างไร อยากได้ดิสก์บนเสือหมอบมั้ย? ออกความเห็นกันครับ

Reference

1. Road.cc, Campagnolo confirm they are working on hydraulic disc brakes for road bikes

2. Cyclingtips, Disc brakes and road bikes: What the future holds? 

3. Inrng, Pro Cycling as the shop window

Published
Categorized as Racing

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

6 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *