เมื่อผมลองทำแอโรบาร์ใช้เอง  (1)

ปัญหาที่นักไตรกีฬาเจอบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ก็คงไม่พ้นเรื่องท่าปั่น หรือ position ของเราบนจักรยานไตรกีฬา ผู้ผลิตจักรยานไตรเลยพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะทำชุดแฮนด์ที่สามารถปรับตำแหน่งได้หลากหลาย เพื่อที่จะได้ฟิตคนปั่นได้หลากหลายที่สุด

แต่นั่นหละครับ ของบางอย่างมันก็เข้ากันไม่ได้จริงๆ เหมือนชุดสูทที่เราซื้อตามห้าง มันก็ยากที่จะพอดีเหมือนชุดสูงสั่งตัดนั่นหละครับ

สำหรับผมมันคือเรื่องของแอโรบาร์ หารุ่นที่ถูกใจไม่ได้ เลยลองทำเองดูดีกว่า!

ตามหาแอโรบาร์ที่พอดี

ปัญหามันเกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้เปลี่ยนมาขี่รถไตรคันใหม่ครับ

ผมลองเอาค่าฟิตติ้งของรถไตรคันเดิมมาใช้ ก็ยังพบเจอปัญหาจากข้อจำกัดบางอย่างบนชุดของแอโรบาร์ของเฟรมคันใหม่ตรงที่ตัว pad สำหรับวางแขนมีระยะ reach ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 10 มิลลิเมตร ทีนี้จะเลื่อนเข้ามาให้ได้ระยะเดิม ความยาวของปลายแอโรบาร์ก็ต้องเลื่อนกลับเข้ามาด้วย

นั่นก็เพราะว่าจุดยึดของ pad จะยึดอยู่บนท่อของแอโรบาร์ทำให้ต้องบิดข้อมือเยอะมากในการจับแอโรบาร์เรียกว่าต้องปรับตัวเยอะมาก ซึ่งก็ยังรู้สึกไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ทุกครั้งที่ได้ปั่นครับ

คำถามต่างๆ ก็เกิดขึ้นมากมายเลยครับ ว่าจะมี aerobar ตัวไหนหรือแบรนด์ไหนบ้าง ที่จะสามารถปรับระยะ pad และมีความยาวของท่อ aerobar ตามที่ผมต้องการ ลองค้นหาในหลายๆ แบรนด์ก็เจออยู่บ้างที่ตรงกับสเป็คที่ต้องการใช้งาน

แต่เมื่อความยาวได้ตามที่ต้องการ อีกปัญหาที่ถามกับตัวเองเลยก็คือ รูปทรงของปลายแอโรบาร์จะเลือกใช้แบบไหนดี จะเป็นทรง s-bend, ski-bend หรือ straight bend ทำให้คิดวกวนในหัวอยู่สักพักใหญ่ จนถึงกลับต้องดั้นด้นไปที่ร้านจักรยานเพื่อให้ได้ลองจับและนำมาทาบกับแขนดูว่ารูปทรงแบบไหนที่น่าจะสบายที่สุดกับตัวเรา

ทรงที่ผมชอบที่สุดก็คือ ski-bend ครับ เพราะไม่ต้องบิดข้อมือมากเหมือนกับทรง s-bend ที่แถมมากับตัวรถ ถึงจุดนี้ทุกคนก็คงคิดว่าคงจบแบบ happy ending ซื้อกลับบ้านมาติดตั้งสินะ

no no no มันไม่ง่ายอย่างงั้นหรอก ฮ่าๆๆ เพราะหลังจากที่ผมได้หันไปถามกับพี่เจ้าของร้านว่า

พี่ครับ aerobar ทรง s-bend ตรงปลายนี้มีองศาที่ชันมากกว่านี้ไหม ผมอยากได้ที่มันชันกว่านี้อีกหน่อย เพราะมันยังรู้สึกบิดข้อมืออยู่บ้างครับ

และคำตอบที่ทำให้ผมฝันสลายก็คือ

มีองศาเดียวครับ มีแค่แบบที่น้องถือเลย

เศร้าเลยครับ ในใจก็คิดว่า ทำไมบริษัทผู้ผลิตแอโรบาร์ถึงไม่ทำออกมาให้เลือกหลายองศาหน่อยล่ะ ซึ่งผมเองก็เข้าใจนะครับ ว่ามันเกี่ยวกับเรื่องของต้นทุนในการผลิต และค่าการตลาด คงเป็นไปได้ยากมากที่จะผลิตมาหลายหลากแบบแล้วตรงใจทุกคน

จากจุดนี้เองที่ทำให้ผมถามกับตัวเองมาตลอดเลยว่า เป็นไปได้ไหมที่จะสั่งทำ แอโรบาร์ใน position ของผมเอง ไปจ้างใครทำได้ไหม แล้วจะไปหาร้านที่ไหนในประเทศที่ทำให้เราได้บ้าง เคยเห็นมาบ้างว่าที่ต่างประเทศมีทำให้กับพวกนักกีฬาใช้แข่งขันพวก time trial อย่างพวกคนที่ทำสถิติ Hour Record และตัวเต็งแชมป์ Tour de France ก็ใช้แอโรบาร์ที่ทำจาก 3d printing หล่อให้เข้ากับสรีระของตัวนักปั่นเฉพาะบุคคลไปเลย

แอโรบาร์สั่งตัดของแบรดลีย์วิกกินส์สำหรับการทำสถิติ Hour Record
เลยได้ท่าปั่นเนี้ยบๆ แบบนี้

คำถามที่ดังที่สุดในหัวของผมก็คือ ทำไมถึงไม่ทำเองล่ะ! เป็นไปได้ไหมที่จะทำแอโรบาร์ใช้เอง…เมื่อมีคำถามก็ต้องมีคำตอบ มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเริ่มโปรเจ็คแอโรบาร์แบบ diy ทำเองใช้เองครับ

แต่ก่อนที่จะไปดูขั้นตอนต่างๆ ว่าผมเริ่มทำแอโรบาร์อย่างไรรวมถึงที่มาในการลองผิดลองถูกอีกมากมาย ผมขอขั้นด้วยการอธิบายเบื้องต้นก่อนครับว่าแอโรบาร์ที่เรากำลังพูดถึง มันมีการใช้งานยังไงและติดตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของรถจักรยาน เพื่อที่จะได้ให้ทั้งพี่ๆ น้องๆ นักปั่นรวมไปถึงคนนอกวงการจักรยานได้เข้าใจไปพร้อมๆ กันครับ


แอโรบาร์คืออะไร? 

แอโรบาร์นี่มันมีที่มาครับ มันเริ่มมาจากวงการเสือหมอบนี่แหละครับ ก่อนอื่น ต้องขอย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1976 เป็นช่วงแรกเริ่มที่มีการใช้งานแฮนด์ในรูปแบบเขากระทิง (bullhorn handlebar)

แฮนด์ทรงนี้คิดค้นโดย Toni Maier-Moussa หน้าตามันจะเหมือเขาวัวที่หงายขึ้น ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการแข่งจักรยานในยุคนั้น และมีการใช้งานมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

เวลาผ่านไป เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น การใช้งานหลากหลายมากขึ้น รูปทรงของเจ้าแฮนด์เขากระทิงนี่ก็เปลี่ยนไปเช่นกันครับ ปลายทั้งสองไม่ได้โค้งงอขึ้นเหมือนกับเขาแล้วแต่กลายเป็นแบนราบและขนานไปกับพื้น ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกกันอีกชื่อที่คุ้นหูหรือติดปากว่าเบสบาร์ (basebar) ครับ

ใน Tour de France ปี 1989 เกร็ก เลอมองด์ นักปั่นตัวเต็งชาวอเมริกันกำลังตกในที่นั่งลำบาก เขามีเวลาตามลอเรนท์ ฟิญญองจากฝรั่งเศสอยู่ถึง 50 วินาที และการแข่งขันก็เหลืออีกแค่สเตจเดียว ซึ่งเป็นการแข่งแบบจับเวลา เลอมองด์อยากได้แชมป์ แต่เขาก็รู้ว่าฟิญญองไม่ได้กระจอกเลยในการปั่น Time Trial

แต่เลอมองด์มีท่าไม้ตายครับ เขามีอุปกรณ์ที่แอบทดลองกับ บูน เลนนอนโค้ชสกีทีมชาติสหรัฐ​ ซึ่งเป็นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์ด้วย เลนนอนทำท่อทรงโค้งให้เลอมองด์เอามายึดตรงกลางเบสบาร์ ยื่นตรงออกไปด้านหน้าและปลายโค้งขึ้นนิดหน่อย ใช่แล้วครับ เลนนอนคือผู้คิดค้นสิ่งที่เราเรียกว่าไตรบาร์ (tribar)

เลอมองด์บนไตรบาร์

จากรูปเราจะเห็นว่า tri-bar มันติดอยู่ตรงกลางแฮนด์จักรยาน ทำให้นักปั่นโน้มตัวลงมาจับ ปรับท่าปั่นให้ลู่ลมได้มากกว่าเดิม ผลก็คือนักปั่นได้เปรียบคู่แข่ง เพราะท่าปั่นที่ลู่ลมย่อมหมายความว่าเขาปั่นได้เร็วขึ้นถึงแม้จะออกแรงเท่าเดิม

การเอาไตรบาร์มาใช้ในการแข่งขันของเลอมองด์ครั้งนั้นเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของ Tour de France เลอมองด์มีเวลารวมตามหลังลอเรนท์ ฟิญญอง คู่แข่งตัวฉกาจถึง 50 วินาที ในสเตจ Time Trial สุดท้าย เลอมองด์ออกลุยด้วยไตรบาร์ในขณะที่ฟิญญองยังใช้แฮนด์แบบเขากระทิงอยู่ ผลก็คือเลอมองด์ทำเวลาตีตื้นคืนทั้งหมด แถมยังได้เพิ่มอีก 8 วินาที ชนะ Tour de France ปีนั้นไปแบบพลิกเกม

ฟิญญองที่ใช้เบสบาร์แบบเขากระทิง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมานักปั่นและโค้ชก็ถึงบางอ้อว่าท่าปั่นที่มันลู่ลม (ซึ่งใช้ไตรบาร์ช่วย) มันมีผลต่อการแข่งขันจริงๆ เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราใช้ไตรบาร์ในการแข่งขันจับเวลาตั้งแต่นั้นมา แน่นอนว่ามันถูกนำมาใช้ในการแข่งไตรกีฬาด้วย เพราะเซกเมนท์การปั่นในไตร ก็คือการปั่น time trial แบบหนึ่งที่เราต้องการเวลาที่ดีที่สุดและไปให้เร็วที่สุด


แอโรบาร์ต่างกับเบสบาร์ยังไง?

เมื่อเข้าใจแล้วว่าเบสบาร์และแอโรบาร์มีลักษณะแบบไหน คำถามต่อไปคือ ว่าแฮนด์ทั้งสองแบบมีการใช้งานที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

เบสบาร์

เบสบาร์เป็นแฮนด์หลักที่ใช้ในการติดตั้งมือเบรค ถ้าเราลองเทียบความเสถียรหรือความมั่นคงในการคุมรถแล้ว คุณจะพบว่าแฮนด์ที่กว้างกว่าช่วยให้เราคุมรถได้มั่นคงกว่า

มือเบรคติดไว้ตรงเบสบาร์ / Photo: Canyon

ที่นี้ลองนึกภาพตามกันครับว่าถ้าเราเริ่มเบรครถ เช่นตอนเวลาเข้าโค้ง หรือหยุดกะทันหัน ความเร็วของรถก็จะตก มันเป็นจังหวะที่คุณต้องเพิ่มความพยายามในการคุมรถด้วยเพื่อที่จะให้รถทรงตัวไปในทิศที่เราต้องการ

ทีนี่จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณนำมือเบรคมาติดตั้งบนแอโรบาร์ที่อยู่กลางแฮนด์? มันก็จะคุมรถได้ยากกว่า สุดท้ายอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้กันเลยทีเดียว

ด้วยสาเหตุดังกล่าวเราเลยติดตั้งเบรคไว้ที่เบสบาร์ครับ

แอโรบาร์

แอโรบาร์เป็นส่วนที่เราใช้ติดตั้งมือเกียร์ เมื่อเราขี่ทำความเร็วถึงจุดหนึ่งหรือออกตัวจนคุมรถให้เสถียรและมั่นคงแล้ว นักปั่นก็จะเริ่มเปลี่ยนตำแหน่งจากการจับที่เบสบาร์มาที่แอโรบาร์ เพื่อเพิ่มความลู่ลมครับ การเอามือเกียร์มาติดไว้ตรงปลายแอโรบาร์ช่วยให้เราไม่ต้องละมือลงมาเปลี่ยนเกียร์ที่เบสบาร์

ส่วนชิฟเตอร์เราติดไว้ปลายแอโรบาร์ ในภาพใช้ชิฟเตอร์ Shimano Di2 ซึ่งเป็นปุ่มเล็กๆ อยู่ตรงปลาย / Photo: Specialized

อย่างไรก็ดี เกียร์บางประเภทที่เป็นระบบไร้สายหรือเกียร์ไฟฟ้าอย่าง Sram Red eTap หรือ Shimano Di2 นั้นเราสามารถเพิ่มตำแหน่งเปลี่ยนเกียร์ไว้ตรงเบสบาร์ด้วยก็ได้ ทำให้เปลี่ยนเกียร์ได้ในทุกตำแหน่งการปั่น ซึ่งก็สะดวกดีเวลาที่อยากจะเปลี่ยนเกียร์ให้เบาตอนต้องโยกรถขึ้นเนิน (ซึ่งมือมักอยู่บนเบสบาร์) หรือเวลาเจออุปสรรคต่างๆ แล้วอยากจะเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลงได้ตามใจโดยไม่ต้องเอื้อมมือไปปรับบนแอโรบาร์ ที่อาจจะทำให้เราเสียการทรงตัวได้ครับ แน่นอนว่าชุดเกียร์แบบนี้ก็มีราคาสูงขึ้นด้วย


ประโยชน์ของแอโรบาร์

เนื่องจากในการปั่นจักรยานนั้น แรงที่เราต้องเอาชนะนอกเหนือจากแรงเสียดทานและแรงโน้มถ่วงของโลกแล้ว อีกแรงที่ส่งผลเป็นอย่างมากก็คือแรงต้านจากอากาศนั่นเองครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีอธิบายแล้วในโพสของ DT

แรงต้านอากาศที่เราต้องเจอ ขึ้นอยู่กับพื้นที่หน้าตัดกับอากาศที่เคลื่อนที่เข้ามาปะทะ

เพราะงั้นถ้าจะลดแรงปะทะดังกล่าว (เราจะได้ออกแรงน้อยลง แต่ยังรักษาความเร็วเท่าเดิมได้) เราก็ต้องลดพื้นที่หน้าตัดให้ได้มากที่สุด ซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นใส่ชุดปั่นที่เข้ารูป หรือใส่หมวกกันน็อคทรงแอโร แต่สิ่งที่มีผลต่อแรงต้านอากาศมากที่สุด ไม่ใช่อุปกรณ์ครับ แต่มันคือตัวนักปั่นนั่นเอง

ถ้าเราลองนึกถึงพื้นที่หน้าตัด ลองมองคนขี่จักรยานจากด้านหน้า ก็จะเห็นว่าสิ่งที่ใหญ่ที่สุดในระบบนี้ ก็คือคนปั่นครับ กินพื้นที่หน้าตัดเกิน 80% ของระบบ (คน+จักรยาน)

Photo: Pinarello

การเปลี่ยนท่าปั่นก็ช่วยให้พื้นที่หน้าตัดนี้เล็กลงด้วย การเปลี่ยนที่ง่ายที่สุดก็คือท่าจับแฮนด์

เช่นในจักรยานเสือหมอบเราสามารถเลื่อนลงไปจับแฮนด์ดรอปด้านล่างเพื่อลดแรงปะทะได้ ท่านี้ทำให้ลำตัวส่วนบนของเราขนานพื้นมากขึ้น ดังนั้นหากเราพยายามโน้มตัวลงมามากขึ้นอีกหรือให้ขนานกับพื้นเลย ก็จะยิ่งลดแรงปะทะได้มากขึ้นไปอีก ถ้าทำแบบสุดโต่งไปเลยมันก็คือท่าปั่นจักรยานไตรกีฬานั่นหละครับ

อ่านจนจบแล้วก็น่าจะเข้าใจเรื่องของแอโรบาร์ ไตรบาร์ และเบสบาร์มากขึ้นนะครับ

ตอนหน้าผมจะมาเล่าถึงขั้นตอนและปัญหาต่างๆ ที่ต้องเจอระหว่างการพยายามลองทำแอโรบาร์ใช้เองครับ


By ทศธรรม ตรรกวาทการ

นิสิตปริญญาเอก ผู้คลั่งไคล้ในศาสตร์และวิศวกรรมด้านจักรยาน ว่างจากแลปเมื่อไหร่ ก็ว่าย ปั่น วิ่ง ชื่นชอบที่เห็นคนไทยผลิตนวัตกรรมไปแข่งกับต่างชาติ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *