อย่าตัดสินกันที่ DNF

ทุกวันนี้มีงานปั่นต่างๆเกิดขึ้นมากมาย และมิตรปั่นทั้งหลายนั้น ผมเชื่อว่าจะต้องเคยได้ร่วมกิจกรรมการปั่นต่างๆกันมาบ้าง ซึ่งลักษณะใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นแบบ ทริปท่องเที่ยว ใจเกินร้อย audax ชิงถ้วยพระราชทาน ชิงแชมป์ประเทศไทย และสเตจเรซ

ถ้าเราไม่นับเรื่องความสำเร็จของผลอันดับแล้ว ก็อาจเป็นเรื่องปั่นปลอดภัยไม่เจออุบัติเหตุ แต่มั่นใจว่าสิ่งหนึ่งที่พวกเราไม่อยากเจอกับตัวเอง นั่นก็คือการถอนตัวระหว่างแข่ง (DNF) นั่นเอง

 

DNF คืออะไร

DNF เป็นตัวย่อมาจากคำว่า Did not finish ซึ่งความหมายไม่มีอะไรลึกซึ้งจะต้องตีความ มันก็คือการที่คุณปั่นไม่จบ หรือไม่เข้าเส้นชัยตามกำหนดเวลา ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุต่างๆ ที่ทำให้เราบาดเจ็บจนปั่นต่อไปไม่ไหว จักรยานมีปัญหาหนักจนซ่อมแซมระหว่างทางไม่ได้ หรือแม้แต่หลงทางจนเกินเวลาแข่ง แต่การต้องถอนตัวเพราะร่างกายทนความเหนื่อยล้าถึงขั้นไปต่อไม่ไหวน่าจะเป็นเหมือนผีร้ายมาหลอกหลอนให้เก็บไปฝันร้ายได้หลายวันทีเดียว

 

ไปต่อไม่ไหว หรือ ตั้งใจไม่ไปต่อ

ถ้าเรามองการแข่งขันในระดับอาชีพแล้ว การถอนตัวระหว่างแข่งเกิดขึ้นอยู่เสมอๆไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับใดก็ตาม หลายครั้งการ DNF ของนักกีฬาอาชีพเกิดจากความสมัครใจของผู้ปั่นเองด้วยซ้ำ

เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่มาจากการถอดใจเอาดื้อๆแล้วถอดก้นออกจากเบาะขอ DNF มันเลยเสียเมื่อไหร่

เมื่อไม่นานผมเองได้พบทวีตหนึ่งของ เว็บ Procyclingstats.com เอ่ยถึงจำนวนครั้งที่นักปั่น DNF ในการแข่งขันว่ามีจำนวนกี่ครั้ง ซึ่งในทวีตก็ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า การที่นักปั่นคนใดจะต้อง DNF มากครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่านักปั่นคนนั้นจะไร้ฝีมือ ซ้ำอาจจะเป็นคนที่เสียสละมากที่สุดในทีมก็เป็นได้

 

ทำหน้าที่ของคุณให้เต็มที่ จากนั้นก็ Job Done

อย่างที่เข้าใจกัน การแข่งจักรยานเป็นกีฬาแบบทีม ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองซึ่งโดยรวมแล้วก็เพื่อคนหนึ่งในทีมที่จะทำอันดับให้ได้ดีที่สุดหรือแม้แต่จะต้องคว้าชัยชนะ ถ้าจะเปรียบเป็นหน่วยรบก็อาจจำเป็นต้องสละทหารสักคนสองคนให้ตายในหน้าที่ มีแรงเท่าไหรลากให้หมด ยกหนักๆจนขาแตกเพื่อโจมตีกลุ่มให้กระจุย

หรือถ้าหัวหน้าทีมหลุดจากขบวนเปโลตอง เอ้าใครสักคนลงไปพาขึ้นมาให้ได้ เอ็งแรงหมดได้แต่ขอหัวหน้าตัวความหวังของเรากลับเข้ากลุ่มได้ก่อนนะ และถ้าคุณต้องทำหน้าที่ใดๆนั้นจนหมดแรงและ DNF ก็ถือว่าคุณทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อทีมเรียบร้อย job done ถอนตัวได้ไม่มีใครว่า เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของเกมที่นักปั่นรับรู้อยู่แล้ว

 

แล้วถ้าจำเป็นต้องถอนตัว จะทำเมื่อไหร่ดี?

จะตอบแบบกำปั้นฟาดปูนว่าเมื่อไหร่ ก็คือเมื่อเราไปต่อไม่ไหวแล้วจริงๆนั่นแหละครับ

แต่แน่นอน ไม่มีใครอยากจะถอนตัวไปเฉยๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นมือสมัครเล่นเพิ่งหัดควงบันได หรือระดับโลกที่ลุ้นแชมป์สนามถนนหินได้ไม่ยาก ถ้าขึ้นคุณคร่อมอานไหลไปที่เส้นสตาร์ทแล้ว ใครก็ไม่อยากต้องหยุดก่อนถึงเส้นชัยด้วยกันทั้งนั้น แต่ในบางครั้งมันก็อาจมีความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้อยู่เช่นกัน

ใน Giro d’Italia 2017 เกอเรนท์ โทมัส (Sky) ล้มบาดเจ็บในสเตจ 9 จนหัวไหล่หลุดและช้ำทั้งตัว แต่ยังกลับมาควบตะบึงโฉบเอาอันดับสองในสเตจ​ 10 ที่เป็นการแข่งจับเวลาเดี่ยวได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นก็ถอนตัวออกจากการแข่งซึ่งก็ไม่ต่างจากการ DNF ไประหว่างการแข่งขัน

ถึงแม้เราจะเห็นการปั่น Time Tiral ของโทมัสที่ผลงานดีเหลือเชื่อ เหมือนไม่ได้ล้มบาดเจ็บมาเลย แต่ถ้าเขายังแข่งต่อไปในสเตจที่เหลือจนจบ นั่นอาจจะเป็นการทำร้ายร่างกายไปทีละน้อยๆ และถ้าอาการบาดเจ็บมันบานปลายขึ้นมา เขาอาจจะต้องนั่งเชียร์เพื่อนๆอยู่ที่บ้านตลอดทั้งซีซั่น มันไม่คุ้มแน่ๆกับการฝืนปั่นจนจบ

ผมเชื่อว่านักกีฬาทุกคนที่ต้องยอม DNF ไปแบบนี้ ทุกคนเสียใจและผิดหวังมากในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้ว การฝืนไปในร่างกายที่ใกล้พังอาจจะเสียงกับการชำรุดถาวรที่ซ่อมไม่ได้ซึ่งมันจะเลวร้ายกว่าการแข่งไม่จบแน่นอน หรือแม้แต่การที่ไม่ได้บาดเจ็บอะไร แต่ขอถอนตัวออกมาเพราะหมดหวังลุ้นผลอะไรไม่ขึ้นแล้ว ขอเก็บแรงไว้ลุ้นรายการหน้าดีกว่า ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผล

อย่างในสนามแข่งชิงแชมป์โลกเสือหมอบทุกปี เราจะสังเกตว่ามีนักปั่นที่ลงแข่งถึง 196 คน แต่มีคนปั่นจบถึงเส้นชัยแค่ 132 คนเท่านั้น ที่เหลือ 63 คนเลือกถอนตัวระหว่างแข่ง และอีกหนึ่งคนโดนปรับฟาวล์

ที่ 63 คนนั้นปั่นไม่จบไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีแรง หรือบาดเจ็บอะไร แต่โดยมากมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยของทีม ที่ทำหน้าที่ส่งหัวหน้าทีมถึงจุดคัดตัวได้สำเร็จแล้วก็เลือกออกจากการแข่งขัน เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะไปต่อ นอกจากจะไม่เหลือแรงชิงชัยแล้ว ยังเสี่ยงเปลืองแรงหรือบาดเจ็บ และหลายคนจำเป็นต้องเซฟร่างกายไว้ใช้แข่งในสนามต่อไปให้เต็มประสิทธิภาพด้วย

แต่กรณีนี้ถ้าคุณเป็นมืออาชีพก็ต้องมั่นใจว่าทีมจะเห็นด้วยนะ หรือรายการหน้านั้นคุณก็ต้องเอาผลงานที่ดีพอมาให้ได้จริงๆ (ทำบ่อยๆมีผลต่อสัญญาว่าจ้างแน่นอน)

 

บางครั้งการ DNF ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

เราเหล่าสมัครเล่นทั้งหลายมักมีความต้องการพัฒนาการปั่นของตัวเองให้อยู่ในระดับแข่งขันและมีอันดับที่ดี แต่นั่นแหละครับว่ากันแบบภาษามิตรสหายก็คือ “กูไม่อยาก DNF” แต่ในบางโอกาสการพยายามกัดฟันสู้ทนเพื่อให้จบการแข่งขันหรือรายการใดๆก็ตาม อาจไม่ได้เป็นผลดีสำหรับมือสมัครเล่นอย่างเรามากนัก

การฝืนขีดจำกัดของร่างกายบ่อยๆก็เหมือนกับการทำร้ายร่างกายของตัวเองไปทีละน้อย ในเมื่อคุณไม่ได้มีอาชีพปั่นจักรยานเพื่อปากท้อง การฝืนปั่นจนร่างกายพังกลับจะส่งคุณไปนอนให้น้ำเกลือจนอิ่มท้องแทนได้ไม่ยาก

ผู้เขียนเองได้อ่านบทความหนึ่งที่มาจากประสบการณ์ของหน่วยพยาบาลที่ไปคอยดูแลนักกีฬาในการแข่งขันวิ่งมาราธอน ถึงกับกล่าวว่าการยอมถอนตัวนั้นน่าชื่นชมกว่าคนที่พยายามฝืนทรมานร่างกายไปต่อให้จบด้วยซ้ำ เพราะการที่คุณยอมถอนตัวออกมา เหมือนเป็นการรักษาชีวิตของคุณให้ยั่งยืนเพื่อการแข่งขันครั้งต่อๆไป ในขณะที่บางคนฝืนร่างกายอย่างเกินขีดจำกัด อาจเป็นการสูญเสียพลังงานชีวิตไปทีละเล็กน้อย

 

ถอดใจไม่เสียเปล่า เราปรับปรุงไว้ครั้งหน้า

ผมมองว่าการยอมถอนตัวก็ถือเป็นการทำเพื่อรักษาสุขภาพได้เช่นกัน ในกรณีที่คุณอยากพัฒนาตัวเองขึ้น

หลังจากยอมถอนตัวออกไปแล้ว กลับมาวิเคราะห์การปั่นของตัวเอง ศึกษาข้อมูลการปั่นย้อนหลัง เราใช้แรงมากไปตรงจุดไหน เราเริ่มเหนื่อยไม่ไหวกิโลที่เท่าไหร่ ได้มีการวอร์มอัพก่อนออกจากเส้นสตาร์ทหรือไม่ มื้อเช้ากินพอหรือยัง กินอะไรเข้าไปบ้างมากน้อย มีการยืดกล้ามเนื้อรึเปล่า สิ่งเหล่านี้บางอย่างอาจเป็นเหตุหลักให้คุณไม่เหลือแรงพอจะปั่นจบก็เป็นได้

การนำข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นไปแก้ไขพัฒา อาจทำให้ตัวคุณที่เคยต้องถอนก้นออกจากเบาะเพื่อหยุดปั่นก่อนถึงเส้นชัย กลายเป็นการชูมือชนะแทนในสนามหน้าก็ได้ครับ

ที่สุดแล้วการถอนตัวอาจไม่ได้ตัดสินทุกอย่างว่าคุณคือนักปั่นที่อ่อนแอ เราสู้ไม่ถอยจิตใจไม่ย่อท้อ แต่ก็ต้องดูและฟังร่างกายตัวเองด้วยเช่นกัน มองมุมกว้างและใช้ทัศนคติที่ดี ยอมรับในสิ่งที่เราต้องแก้ไขหรือยังไปไม่ถึงเป้าที่วางไว้ ประโยชน์ของมันอาจเหมือนเป็นการยอมถอยสักหนึ่งก้าว เพื่อที่จะมีก้าวที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในครั้งต่อไปนั่นเองครับ

 

By สุกฤษณ์ ศรีเปารยะ

นักดนตรีที่ลองเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบนักกีฬา รักจักรยานและกีฬาจักรยาน ตอนนี้ใช้เรื่องจักรยานเป็นอาชีพและเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกแทน

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *