DT Guide: เฟรม Aero ช่วยประหยัดเวลาได้ขนาดไหน?

Felt White Paper

ผลทดสอบเปรียบเทียบเฟรม traditional (ท่อกลม) และเฟรมทรงแอโรตัวนี้เอามาจากการทดสอบของบริษัท Felt ที่เขาเทสต์รถเสือหมอบแอโร AR1 ซึ่งจะวางขายในปี 2014 โดยรวมแล้ว DT คิดว่าเปเปอร์ตัวนี้เทสต์ได้เป็นกลางดีครับ ถึงแม้จะเป็นของ Felt เองก็ตาม กระบวนการทดสอบของเขาเป็นตามนี้

เฟรมคู่แข่ง: Cervelo S5, Specialized Venge, Giant Propel, Scott Foil
อุปกรณ์: ล้อ Zipp 404, แฮนด์ Zipp Vuka Sprint, สเต็ม 3T Integra, ยาง Continental GP4000, ชุดขับและเบรค Dura-Ace Di2 (แต่ถ้าตัวไหนมีเบรคติดตะเกียบหรือใต้กระโหลกก็ใช้ที่มากับรถ)

กระบวนการทดสอบ
การทดสอบไม่มีกระติกน้ำและไม่มีหุ่นปั่น ตรงนี้ Felt บอกว่าการใช้หุ่นปั่นมันมีสิทธิทำให้ข้อมูลผิดพลาดได้พอสมควร และลักษณะของหุ่นนั้นยากที่จะทำให้เหมือนกับคนจริงๆ ส่วนอุปกรณ์อะไหล่ติดรถก็เป็นมาตรฐานที่มีขายทั่วไป จะไม่ใช้ของที่ได้เปรียบเหมือนที่ Giant ใช้แฮนด์และสเต็มแบบชิ้นเดียวในผลทดสอบของตัวเอง ซึ่งมีผลกับค่าแรงต้านลมค่อนข้างมาก

การทดสอบใช้มุม yaw angle จาก -20 ถึง 20 องศา โดยวัดผลเพิ่มทีละ 2.5 องศา หมายความว่า Felt เทสต์เฟรมแต่ละตัว 17 ครั้งในแทบทุกมุมที่ลมจะปะทะ ความเร็วลมที่ใช้ทดสอบ 30mph (ประมาณ 48kph) ที่กำลังการปั่น 300 watts

เฟรมแอโรประหยัดเวลาแค่ไหน?
ผลลัพธ์ก็คือ FELT AR “เร็วที่สุด” ผมไม่ค่อยแปลกใจที่ Felt ออกมาเป็นที่หนึ่งเพราะเฟรมตัวนี้จะวางขายในปี 2014 แน่นอนว่ามันต้องทดสอบ ศึกษาคู่แข่งจนหมดไส้หมดพุงแล้วเอามาพัฒนาต่อจนลดแรงต้านลมได้มากกว่า แต่ลองดูความแอโรของ Cervelo S5 ที่ยังอยู่เป็นที่สองครับ ถ้าไม่นับ Felt S5 ก็ยังถือว่าเป็นมาตรฐานเฟรมเสือหมอบแอโรมา 3 ปีต่อกัน!

(คลิกเพื่อดูขนาดใหญ่)

แต่บทสรุปคืออะไร? ลองดูช่อง “time saved” และ “power saved” ประหยัดพลังและเวลาได้เท่าไรในระยะทาง 40 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับเฟรมท่อกลมอย่าง Felt F1 คำตอบคือ เฟรมแอโรอย่าง Felt AR1 เร็วกว่าเฟรมท่อกลม Felt F1 ร่วม 2 นาทีเต็ม ขณะเดียวกันความต่างของเฟรมแอโรด้วยกันอย่าง AR1 / Venge/ Propel ก็มีมากกว่า 1 นาที พูดง่ายๆ คือเมื่อตัวแปรต่างๆ เท่ากันทั้งหมด เฟรมแอโรจะไปได้ไวกว่าเฟรมทรง traditional และเฟรมแอโรรุ่นเก่าที่ผลิตออกมาหลายปีแล้วจะช้ากว่ารุ่นใหม่เล็กน้อย

 

สรุป

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้แข่งขันแบบทุกวินาทีมีความหมายเรื่องความแอโรในเฟรมนั้นช่วยได้จริง แต่ถามตัวเองว่า 1 นาทีที่ได้มานั้นมีคุณค่าขนาดไหน คุ้มกับค่าใช้จ่ายไหม? อย่าลืมว่าปัจจัยอื่นๆ ในการเลือกซื้อจักรยานอย่างฟีลการปั่น ความสติฟ ความสวยงาม น้ำหนักเฟรม และความยากง่ายในการเซอร์วิสก็สำคัญไม่แพ้กันครับ ถ้าคุณแคร์เรื่องแอโรจริง แค่ถอดถุงมือออกก็ช่วยลดแรงต้านลมได้กว่า 50 กรัม มากกว่าการใช้ล้อหน้าขอบสูงเสียอีก (ผลวิจัยจาก MIT)

เฟรมแอโรมีผลต่อการลดแรงต้านลมและทำให้เราไปได้ไวขึ้น แต่อุปกรณ์มีผลน้อยกว่าท่าปั่นเราพอสมควร ร่างกายของเราคิดเป็น 75% ของแรงต้านลมทั้งหมด หมายความว่าหากเราเปลี่ยนท่าปั่นให้ต่ำมุดลมลงสักนิด ก็จะช่วยประหยัดพลังทันทีอย่างน้อย 40 watt มากกว่าอุปกรณ์แทบทุกชิ้นในรถ อย่าลืมว่าการปั่นเสือหมอบส่วนใหญ่เราปั่นเป็นกลุ่ม ในการแข่งขันมีน้อยครั้งที่เราจะได้ออกโซโล่เดี่ยว (ยกเว้นยิงหนีเข้าเส้นชัย หรือทำเกมหลอกล่อคู่แข่ง) การปั่นในกลุ่มที่มีคนบังลมก็หมายความว่าประโยชน์จากเฟรมและล้อแอโรราคาแพงก็อาจจะไม่มีผลมากเท่าไรนัก

แม้แต่นักสปรินต์ระดับโลกเองก็ไม่ได้ชนะด้วยเฟรมแอโรเสมอไป จำ Tour de France ปีนี้ได้มั้ยครับ? Marcel Kittel เอาชนะ Mark Cavendish และ Andre Griepel ได้เกือบทุกสเตจ Kittel ใช้รถ Felt F1 ที่ทดสอบแย่กว่าจักรยานคู่แข่งอย่าง Venge และ Noah หลายนาที แม้แต่ Peter Sagan เองก็สามารถเอาชนะคนอื่นได้ด้วยเฟรม Cannondale Evo กลมๆ น้อยครั้งที่นักปั่นจะชนะด้วยอุปกรณ์ที่ดีกว่า โดยเฉพาะในระดับมือสมัครเล่นที่ฝีมือ ทักษะ การฝึกซ้อม มักจะมีผลมากกว่าอุปกรณ์เสมอ

อาทิตย์หน้าเราจะมาดูกันว่าอุปกรณ์ตัวไหนช่วยลดแรงต้านลม เพิ่มความแอโรได้มากที่สุด และตัวไหนคุ้มสุดที่จะเปลี่ยนครับ!

Reference

Felt AR1 White Paper

Giant Propel White Paper

Published
Categorized as Going Fast

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *