นอนน้อยทำให้ปั่นแย่ลงหรือเปล่า?

การนอนหลับพักผ่อนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากของร่างกายโดยเฉพาะกับคนที่ออกกกำลังกายเป็นประจำ ถ้าเราไม่พัก ร่างกายก็ไม่ฟื้นฟู การซ้อมที่ทุ่มแรงฝึกไปก็ไม่เกิดผล

ปกติเราให้ความสำคัญการการฝึกซ้อม โภชนาการ อุปกรณ์ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่สนใจการพักเท่าไร การพักที่ดีที่สุดคือการนอน แล้วการนอนมีผลต่อการปั่นยังไงบ้าง? นอนน้อยทำให้ปั่นแย่ลงไหม? แล้วนอนเท่าไรถึงจะพอ วันนี้เราจะมาดูกันแบบลึกๆ

ถ้าใครขี้เกียจอ่าน สามารถชมเป็นวิดีโอได้ข้างล่างนี้ครับ

 

กลไกการนอนหลับ

การนอนหลับคือกระบวนการซ่อมแซมและฟื้นฟูของร่างกาย ถ้าเราไม่นอนติตด่อกันเป็นเวลานาน เราก็จะใช้ชีวิตปกติไม่ได้และตายในที่สุด สำหรับนักปั่นที่ฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ การนอนหลับจะช่วยซ่อมแซมความเสียหายในกล้ามเนื้อและระบบต่างๆ ที่เกิดจากการฝึกซ้อม

ถ้าเราไม่นอนร่างกายเราก็ไม่สามารถปรับตัวและฟื้นฟู (Adaptation) จากการซ้อมที่ผ่านมาได้เพียงพอ จะซ้อมหนักขึ้นก็ไม่ไหว เพราะถ้าการซ่อมแซมและปรับตัวไม่สมบูรร์ เราจะไม่อึดทนครับ

ถ้าขาดนอนบ่อยๆ แล้วออกกำลังหนักด้วย ระบบภูมิต้านทานจะทำงานได้แย่ลง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่างๆ เริ่มบาดเจ็บอ่อนแอ ถ้าซ้อมต่อเนื่องก็อาจจะป่วยไข้ได้ง่าย กล้ามเนื้อมีโอกาสตึง ฉีกขาด ทำงานได้ไม่เต็มที่ 100% สภาพจิตใจก็เปื่อยลงตามร่างกายที่แย่ลงไปตามๆ กัน

 

เกิดอะไรขึ้นระหว่างที่เรานอน

via GIPHY

การออกกำลังกายเป็นกระบวนการแบบ catabolic คือทำให้กล้ามเนื้อเราเสียหายและสลายตัว (ช่วงเวลาที่เราออกกำลังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เราจะแข็งแรงขึ้นนะ!) แต่การพักผ่อนนอนหลับเป็นกระบวนการแบบ anabolic คือช่วงเราที่เราจะแกร่งขึ้น เพราะร่างกายจะซ่อมกล้ามเนื้อส่วนที่สึกหรอให้แข็งแรงกว่าเดิม พร้อมรับโหลดการฝึกที่มากขึ้นครับ

ระหว่างที่เรานอนทุกระบบในร่างกายจะซ่อมแซมระบบกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และการควบคุมฮอร์โมนได้เต็มที่โดยไม่ต้องแบ่งภาระไปทำงานอย่างอื่น ไม่เหมือนตอนกลางวันที่เราต้องขยับตัวทำนู่นทำนี่ แม้แต่การทานอาหาร ร่างกายก็ต้องแบ่งพลังมาย่อยอาหารที่ทานเข้าไป

สมองเราก็ต้องการการพักผ่อน สังเกตวันที่เรานอนหลับไม่สนิท ตื่นมาจะหงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย สติสัมปชัญญะต่ำลงอย่างรู้สึกได้

 

นอนไม่พอมีผลกับการปั่นแค่ไหน?

via GIPHY

มีผลมากขนาดที่ทีม Sky เจ้าของผลงานทีมแชมป์ Tour de France 4 สมัยยอมขนที่นอนและหมอนใส่รถบรรทุกต่างหากให้นักปั่นใช้ในทุกๆ สเตจการแข่งขัน ไม่ยอมใช้ของโรงแรม เพื่อให้นักปั่นนอนหลับลึกสบายตัวเหมือนกันทุกวัน ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ชินกับเตียงที่ๆ พักจัดไว้ให้

จริงว่าทีมอื่นไม่ต้องทำขนาดนี้ก็ชนะได้เหมือนกัน แต่มันก็สะท้อนว่าคุณภาพการนอนมันสำคัญต่อประสิทธิภาพนักปั่นของเขาขนาดไหนครับ

งานวิจัยเรื่องการนอนหลับและประสิทธิภาพการปั่นชิ้นหนึ่ง ทดสอบชายสุขภาพดี 12 คน จัดการทดลองสองแบบ แบบแรกให้นอนพักเต็มอิ่ม และแบบที่สองให้นอนน้อยกว่าปกติ จากนั้น

  • วันแรกทั้ง 12 คนทดสอบการตอบสนองของกล้ามเนื้อและระบบประสาทสั่งการกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นค่า baseline
  • คืนนั้น ผู้เข้าทดลองจะได้นอนปกติ อีกกลุ่มลดจำนวนการนอนลง
  • วันรุ่งขึ้น ผู้เข้าทดลองทำการทดสอบแบบวันแรก แล้วให้ปั่นจักรยานเบา 40 นาที และปั่นหนักจนปั่นต่อไม่ไหวอีกหนึ่งเซ็ต
  • เสร็จแล้วให้กลุ่มที่อดนอน นอนปกติ กลุ่มที่นอนปกติ อดนอนแทน วันรุ่งขึ้นทดสอบเหมือนกันอีกรอบ

ผลทดลองพบว่า การอดนอนทำให้ปั่นได้แย่ลงอย่างชัดเจน

  • ในการปั่นแบบเบาๆ ผู้เข้าทดลองที่อดนอนบอกว่ารู้สึกเหนื่อยเร็วกว่ากลุ่มที่นอนปกติอย่างชัดเจน
  • ในการปั่นแบบหนัก กลุ่มที่อดนอนแรงตกเร็วกว่ากลุ่มที่นอนเต็มอิ่ม กลุ่มที่อดนอนใช้เวลา 18.9 นาทีจนหมดแรงปั่นต่อไม่ได้ ในขณะที่กลุ่มที่หลับเต็มอิ่มปั่นได้ 20.6 นาที
  • ประสิทธิภาพกล้ามเนื้อของผู้ร่วมทดลองที่อดนอน แย่กว่าเวลาที่พวกเขาได้นอนปกติ 5-7%
  • การตอบสนองของระบบประสาทของกลุ่มอดนอนก็ช้าลงกว่าปกติ และอาจเป็นอันตรายต่อการปั่นบนถนน เพราะจะทำให้ตอบสนองต่อสถานการณ์รอบตัวได้ช้า
  • การทดลองสรุปว่า ถ้าอดนอนแค่คืนเดียวแล้วปั่นต่อในวันถัดไป อาจจะไม่เห็นผลเสียมากนัก แต่ถ้านอนไม่อิ่มอดนอนติดต่อกันหลายวัน ประสิทธิภาพการปั่นจะตกลงชัดเจน ต่า Max power, FTP จะลดต่ำลง และร่างกายฟื้นฟูได้ชา รวมถึงปั่นทางไกลได้แย่ลงด้วย

 

นอนเท่าไรถึงจะพอ?

via GIPHY

องค์กรด้านสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรแนะนำว่าผู้ใหญ่ควรนอนหลับ 6-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่จะเห็นว่าระยะที่แนะนำนั้นมันต่างกันตั้งสามชั่วโมง บางคนนอน 5-6 ชั่วโมก็อิ่มแล้ว บางคนต้องนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จำนวนการนอนที่พอเหมาะเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังสรุปไม่ได้ เพราะร่างกายแต่ละคนนั้นทำงานไม่เหมือนกัน ปกติเราจะรู้ได้เองว่านอนเท่าไรถึงอิ่ม คือถ้าตื่นมาแล้วสดชื่นไม่เพลีย ไม่หงุดหงิดก็โอเค

การออกกำลังกายหนักๆ จะใช้ร่างกายเยอะเป็นพิเศษ อย่าแปลกใจว่าทำไมเรารู้สึกง่วงนอนหลังปั่นหนักๆ หรือตื่นสายกว่าปกติเป็นพิเศษ นั่นก็เพราะร่างกายต้องการเวลาในการฟื้นฟูมากกว่าเวลาที่เราไม่ได้ออกกำลังกายนั่นเองครับ

แต่ก่อนแข่งมักนอนไม่ค่อยหลับ?

via GIPHY

ถ้านับจากประสบการณ์ส่วนตัว ก่อนไปอีเวนท์งานปั่นไหนๆ ก็ตาม คืนก่อนงานมักเป็นคืนที่นอนน้อยที่สุดเสมอ! อาจจะเพราะเดินทางถึงที่พักดึก คุย กิน ดื่มกับเพื่อน ลืมนู่นี่นั่นเตรียมตัวเตรียมรถ ไม่เสร็จ ถ้าเป็นงานที่ระยะทางหรือเวลาใช้ปั่นไม่ยาวก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นสเตจเรซ​ หรือต้องอยู่บนจักรยานเกิน 5 ชั่วโมง ผลข้างเคียงของการนอนน้อยก็จะเริ่มออกครับ

จากการทดลองเดียวกันที่เราพูดถึงข้างต้น เขาแนะนำว่า นักกีฬาสามารถ “นอนตุน” ไว้ก่อนหน้าวันงานได้ เช่นถ้ามีงานวันอาทิตย์ แล้วเรารู้ว่าคืนวันเสาร์จะนอนได้น้อยแน่ๆ สัปดาห์ก่อนหน้าเราสามารถนอนตุน คือนอนให้มากกว่าปกติ สัก 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ก็จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นมากขึ้น ถึงแม้จะขาดนอนแค่คืนเดียว สมรรถภาพร่างกายก็ไม่ได้ตกลงเป็นนัยสำคัญ​

ทำยังไงให้นอนอิ่มทุกคืน

คุณภาพของการนอนมีสองมิติครับ

  1. นอนพอหรือเปล่า (ปริมาณ)
  2. นอนหลับลึกหรือเปล่า (คุณภาพ)

ถึงเราจะนอนเยอะ แต่ถ้าไม่หลับลึก ร่างกายก็ไม่สามารถฟื้นฟูซ่อมแซมได้เต็มที่ ตื่นมาก็อาจจะมีอาการหงุดหงิด ไม่สดชื่น เพราะงั้นจะนอนทั้งทีต้องได้ทั้งปริมาณ และคุณภาพด้วย

สังคมสมัยนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างกวนใจให้เรานอนหลับลึกและหลับยาก หวังว่าคำแนะนำข้างล่างนี้พอจะช่วยได้ มาจากทั้งการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ และประสบการณ์ส่วนตัว

 

1. นอนให้เป็นวินัย

หัดเข้านอนเวลาและตื่นเวลาเดิมทุกๆ วันจนเป็นนิสัย ถ้าเราเข้านอนเป็นเวลาจนชินร่างกายจะรู้เองว่าเมื่อไรควรนอน ซึ่งจะทำให้ได้คุณภาพการนอนที่ดีขึ้น ถ้าเราทำได้จนชินก็จะตื่นได้เองโดยไม่ต้องมีนาฬิกาปลุกเลยด้วยซ้ำ

 

2. เลี่ยงแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน

สำหรับบางคนการดื่มเบาๆ ก่อนนอนอาจจะทำให้เรารู้สึกง่วงและหลับได้เร็ว แต่จริงๆ แล้วมันจะมีผลแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังดื่มในตอนที่ยังมีแอลกอฮล์ในกระแสเลือดอยู่ แต่พอปริมาณแอกอฮอล์เริ่มลด เราจะตื่นง่าย นอนหลับไม่ลึก และอาจจะหลับต่อไม่ได้เลยด้วย โดยรวมแล้วแพทย์แนะนำว่าหลีกเลี่ยงดีกว่า เพราะผลร้ายมีมากกว่าผลดีครับ

 

3. ลดกาแฟหลังช่วงบ่าย

คาเฟอีนอยู่ในร่างกายเราได้นานถึง 14 ชั่วโมงหลังการดื่ม ถ้าดื่มช่วงบ่ายแก่ๆ ไปจนถึงเย็นแล้วก็จะทำให้หลับยาก เช่นเดียวกัน หลีกเลี่ยงสารที่เป็นตัวกระตุ้นอย่างนิโคตินและอาหารที่มีน้ำตาลมาก

 

4. ออกห่างหน้าจออย่างน้อย 30 นาทีก่อนนอน

เทคโนโลยีอยู่กับเราตลอดเวลา หลายคนพามันไปนอนด้วย ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน หรือแลปทอป ที่เรานั่งรูดดูจนง่วงนอนหลับไปเอง เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าแสงจากหน้าจอมือถือนั้นมีผลกับการนอนของเรามากครับ ร่างกายเราจะหลับได้ดีในเวลาที่ฮอร์โมนเมลาโทนินเริ่มหลั่ง ซึ่งมันจะไม่หลั่งจนกว่าสิ่งแวดล้อมรอบข้างตัวเราจะมืด ส่วนใหญ่คนที่นอนหลับคามือถือหรือทีวีจะเป็นเพราะเหนื่อยง่วงไปเองมากกว่า ถ้าเป็นไปได้ เก็บอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ทุกอย่างไว้นอกห้องนอน รวมถึงโทรทัศน์ด้วย ให้ห้องนอนเป็นห้องสำหรับนอนจริงๆ ไม่ใช่ห้องบันเทิง แล้วคุณจะพบว่าคุณภาพการนอนดีขึ้นมากๆ ครับ

 

5. นอนในห้องที่เงียบและเย็น

งานวิจัยหลายๆ ชิ้นพบว่าคนเรานอนหลับได้ง่ายขึ้นในห้องที่อุณหภูมิเย็นสบายและเงียบ เสียงรบกวนดังๆ อย่างเสียงประตู เสียงรถยนต์จากนอกห้อง หรือเสียงคนคุยกันทำให้เราหลับไม่ลึก

 

6. อย่าทานอาหารหนักก่อนนอน

ถ้าท้องเรามีอาหารอยู่เต็ม มันจะอึดอัดนอนได้ลำบาก จริงว่าบางทีทานเยอะๆ แล้วง่วง แต่เมื่ออาหารยังไม่ย่อยก็อาจจะรู้สึกพะอืดพะอม นอนหลับไม่สบายตัวครับ

 

7. เคลียร์สมอง

จะนอนหลับให้ดีได้เราสมองเราต้องโล่ง ถ้ามีอะไรต้องทำหรือคิดอะไรได้ให้จดบันทึกเก็บไว้ให้หมดก่อน เป็นวิธีการที่เรียกว่า Brain dumping หรือทิ้งทุกอย่างออกจากสมองทั้งหมด ไม่งั้นสมองเราจะคอยเรียกเตือนสิ่งที่กลัวลืมจนเกิดความพะว้าพะวัง นอนไม่อิ่มในที่สุดครับ

via GIPHY


อ้างอิง

Arianna Huffington: The Sleep Revolution

Webmd: How to sleep like an Olympian

Cyclingweekly: Physical performance affected by lack of sleep?

RoadcyclingUK: The sleep cycle: why sleep is vital to recovery and performance

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!