คุยกับ David Trimble ผู้ก่อตั้ง Red Hook Criterium

Criterium (ไครทีเรียม) พูดถึงคำนี้หลายคนอาจรู้จัก และ หลายคนก็อาจจะไม่รู้จัก ไครทีเรียมคือการแข่งขันจักรยานในรูปแบบสนามปิดให้กลายเป็นเซอร์กิตคือวนเป็นรอบด้วยเส้นทางเดิม การแข่งไครทีเรียมเป็นการแข่งที่ค่อนข้างใช้เทคนิคของคนปั่นสูง เพราะมีโค้งเยอะ ความเร็วสูง ทุกครั้งที่เข้าออกโค้งคือการเบรค การเร่งอยู่ตอดเวลา การแข่งแบบนี้เป็นที่นิยมในหลายๆประเทศ ส่วนประเทศไทยน่าจะเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีการแข่งแบบนี้ แต่บนโลกนี้มีการแข่งอยู่รายการนึงที่แทบจะเป็นรายการระดับโลกไปแล้ว ด้วยการแข่งเป็นเก็บคะแนนสะสมประจำปี แชมป์ประจำปีคือคนที่พร้อมที่สุดในทุกการแข่งขัน แม้จะเป็นรายการแข่งที่ไม่ได้รับการรับรองจาก UCI แต่โปรฯจักรยานหลายๆคนก็ยังมาลงแข่ง

“Red Hook Criterium” รายการแข่งไครทีเรียมที่เรียกได้ว่าน่าจะสนุกที่สุดรายการหนึ่งของโลกการแข่งจักรยาน สนามที่สวย จัดในเมืองที่มีเอกลักษณ์ และ นักแข่งที่พร้อมจะใส่จนหมด เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณโดนผู้นำน็อครอบ คุณต้องออกจากการแข่งขันทันที การแข่งนี้มีจุดเริ่มจากคนแค่คนเดียว ที่ชื่อว่า David August Trimble (เดวิด ออกัสต์ ทริมเบิ้ล) และก็เป็นโอกาสอันดีของ Ducking Tiger ที่ได้สัมภาษณ์สดๆจากเจ้าตัวถึงที่มา แนวคิด และความเป็นไปของการแข่ง Red Hook Criterium

การสัมภาษณ์เป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย เราทักทายกันนิดหน่อย พูดคุยเปิดเล็กน้อยแล้วผมก็ได้เวลาเริ่มสัมภาษณ์…

ช่วยเล่าความเป็นมาของคุณก่อนจะมาจัดงานแข่ง Red Hook Crit หน่อยได้ไหม?

David: ผมเริ่มจากการแข่งรถมาก่อน ตอนเด็กๆผมเคยแข่งโกคาร์ทแล้วก็มาเป็นช่างให้รถแข่ง Indy Car พอหลังจากนั้นก็มาทำงานสายออกแบบ มาเป็นสถาปนิกอยู่อีก 5 ปี แล้วก็มาเป็นคนจัดงานแข่ง ซึ่งคุณจะเห็นว่ามันไปคนละทางกันเลยก่อนจะมาจัดแข่ง

แต่ผมว่ามันก็ยังมีบางอย่างเกี่ยวข้องกันนะ เพราะ RHC ก็เป็นการจัดงานแข่งในรูปแบบ Circuit ซึ่งก็เหมือนกับตอนที่คุณเคยอยู่ในวงการรถแข่งมาก่อน?

David: ใช่แล้ว เราตั้งใจให้ Red Hook เป็นเหมือนงานแข่ง Formula 1 ของจักรยาน แรงบันดาลใจหลายๆอย่างมาจากการแข่งขันรถยนต์

ถ้าอย่างนั้นช่วยเล่าประวัติของ RHC หน่อยว่าก่อนจะมาเป็นงานอีเวนต์ใหญ่ขนาดนี้ ความเป็นมามันเกิดมาจากอะไร เพราะผมเชื่อว่าหลายๆคนก็ไม่รู้ที่มาว่างานแข่งนี้เป็นมายังไง

David: จริงๆมันเริ่มมาจากงานแข่งที่เล็กมากๆ คือมันเป็นปาร์ตี้เล็กๆที่ผมจัดขึ้นมาตอนวันเกิดนี่ล่ะ ไม่ได้มีความคิด หรือ ฝันว่ามันจะมาเป็นงานแข่งใหญ่โต แค่จัดขึ้นมาสนุกๆเท่านั้นเอง แต่ว่าทุกๆปีมันก็เป็นงานใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นงานที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมระดับโลก คิดแค่ว่าจะจัดงานที่เรียบง่าย ซึ่งคนสามารถมาร่วมได้ง่ายๆ ซึ่งตอนนั้นมันเป็นสิ่งใหม่มากๆในวงการจักรยาน

ผมคิดว่าเพราะคุณจัดงานแข่งโดยให้ใช้ track bike เท่านั้น ซึ่งไม่เคยมีใครจัดงานแบบนี้มาก่อน

David: ใช่ๆ เพราะผมเคยแข่ง alley cat กับ road bike มาก่อน เลยพยายามเอาทั้งสองอย่างมารวมกัน และรถ track เป็นรถที่เหมาะมากๆกับการแข่งไครทีเรียมเพราะมันจะทำให้คุณต้องใช้เทคนิคในระหว่างทำการแข่งมากขึ้น รวมถึงทำให้มันน่าสนใจมากขึ้นด้วย ซึ่งมันไปด้วยกันได้ดีมากๆกับการแข่งในรูปแบบนี้

ฟังจากที่คุณเล่ามา แปลว่า RHC เริ่มจากงานปาร์ตี้เล็กๆจนกลายมาเป็นงานใหญ่มากๆ ซึ่งคุณก็ไม่เคยคิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ คุณมีวิธีการจัดการกับงานแข่งยังไงบ้าง?

David: ใช่ผมไม่เคยคิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ แต่คุณรู้ไหมในทุกๆปีมันจะเห็นโอกาสที่มากขึ้น เราเรียนรู้ในทุกๆปี ซึ่งในแต่ละปีมันจะใหญ่ขึ้นจากปีก่อนๆ เราจะคิดรูปแบบใหม่ๆ วิเคราะห์สิ่งที่เราทำไปแล้วในปีที่แล้ว เราทำงานหนักมากๆในเรื่องของรายละเอียดๆต่างๆในแต่ละปี พยายามทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่บอกไปผมเคยทำงานในงานแข่ง indy car มาก่อน ซึ่งเป็นการแข่งรถที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในอเมริกาและทำงานแบบมืออาชีพมากๆ รวมทั้งเคยทำงานในโปรเจ็คใหญ่มากตอนทำงานสถาปนิก ซึ่งนั่นแหล่ะทำให้ผมเห็นการทำงานในแบบมืออาชีพมากๆ ทำให้ผมเอามาปรับใช้กับการจัดการงานในสิ่งต่างๆของงานแข่งที่จัดขึ้นมา

ซึ่งแปลว่านั่นคือความโชคดีมากๆที่คุณเคยทำงานในระดับสูงมาก่อน เลยทำให้คุณสามารถจัดการสิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้น

David: ใช่ เราไม่ได้มองการจัดงานแข่งนี้ในแบบมือสมัครเล่น เราได้รับแรงบันดาล เรามองในแบบมืออาชีพ ซึ่งเราพยายามจะเอาอย่างนั้นเพื่อให้ได้งานแข่งที่ดี

แล้วสปอนเซอร์ล่ะ พอรายการมันใหญ่ขึ้นก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้สนับสนุนจะเข้ามาหา คุณมีวิธีเลือกยังไง วิธีรักษาความสัมพันธ์ และอย่างที่รู้กันว่าเศรษฐกิจทั่วโลกตอนนี้ไม่สู้ดีนัก คุณมีวิธีการจัดการยังไงบ้าง

David: เรื่องผู้สนับสนุนตอนนี้เป็นเรื่องยากทีเดียว เวลาส่วนใหญ่ของผมก็ใช้ไปกับผู้สนับสนุนนี่แหล่ะ การหาผู้สนับสนุนใหม่ การดีลข้อตกลงต่างๆ แต่ก็คิดว่าการแข่งขันของเราให้ประสิทธิผลที่ดีมาก อย่างที่คุณรู้นั่นแหล่ะ การแข่งขันย่อมต้องใช้เงินก้อนใหญ่พอสมควร แต่เราสามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยก้อนเงินที่น้อยกว่าการแข่งรายการอื่นๆ หรือคุณจะเอาเราไปเปรียบเทียบกับอย่างรายการของ UCI ที่รายการของเราเล็กกว่ามากๆแต่เราก็ยังสามารถดึงความสนใจจากสื่อต่างๆได้ ซึ่งก็ทำให้ผู้สนับสนุนไม่ต้องลงทุนมากนักกับรายการของเรา และรายการนี้ก็ยังมีความคิดสร้างสรรมากกว่ารายการอื่นๆ เราให้ผู้สนับสนุนเห็นว่ารายการของเรามีรูปแบบยังไง เราเสนอโอกาสสำหรับผู้สนับสนุนที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของเรามากๆ

คุณกำลังบอกว่า RHC เป็นรายการแข่งที่ค่อนข้างต่างจากรายการอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งผู้สนับสนุนเลยได้เห็นและได้รับโอกาสที่แตกต่างออกไป?

David: ถูกต้องที่สุด มันสำคัญตรงที่เราทำรายการให้เป็นที่สนใจกับคนทั่วไปด้วย ไม่ใช่แค่คนในวงการจักรยาน ในขณะที่รายการอื่นๆสนใจคนที่อยู่ในวงจักรยานอยู่แล้ว เราเลยไปจับกับคนทั่วไปที่อาจจะไม่เคยดูการแข่งขันจักรยานเลยก็ได้ และนั่นทำให้เปิดกลุ่มคนใหม่ให้กับผู้สนับสนุนด้วย

แล้วการเลือกสนามแข่งล่ะ ผมเข้าใจว่าคุณเริ่มจากนิวยอร์ค แล้วก็ มิลาน และล่าสุด บาร์เซโลน่า คุณมีวิธีเลือกหรือเกณฑ์การเลือกยังไงว่าจะไปจัดการแข่งที่เมืองไหน

David: ตัวรายการมันค่อนข้างโตด้วยตัวมันเอง ผมได้รับอีเมล์เกือบทุกๆวันว่าให้มาจัดที่เมืองนี้สิ เมืองนั้นสิ แต่เราก็ต้องการองค์ประการหลายๆอย่างรวมกัน ต้องมีทีมผู้ผลิตของในพื้นที่ที่ดี คอร์สที่จะใช้จัดแข่ง ผู้สนับสนุนท้องถิ่น พื้นที่ที่สามารถจะจุคนดูจำนวนมากได้ ต้องมีคนที่สายสัมพันธ์ที่ดีกับใครซักคนในพื้นที่ เพื่อที่จะจัดรายการใหญ่ๆได้ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านั้นทำให้เป็นเรื่องยากที่จะหาเมืองที่จะลงจัดแข่งได้ แต่เราเจอองค์ประกอบเหล่านี้ใน มิลาน และ บาร์เซโลนา รวมถึงมันต้องเป็นเมืองที่ผู้สนับสนุนต้องการจะไปนำเสนอตัวเองด้วย หลักๆก็ต้องหาสนามที่ดีที่มีองค์ประกอบครบถ้วนด้วย

แปลว่ามันไม่ยากนักที่จะหาเมืองเพื่อที่จะไปลงจัดแข่ง แต่ยากตรงที่คุณเองก็ต้องเตรียมให้พร้อมทุกๆองค์ประกอบรวมกัน

David: ใช่

แล้วปีนี้ล่ะ มีจะไปเมืองไหนใหม่ เพิ่มจากสามเมืองเดิมรึเปล่า?

David: มี ปีนี้เราจะไปจัดกันที่ลอนดอนเพิ่มอีกเมืองนึง

อ๋ออ เข้าใจแล้ว เพราะผมเห็นจากในอินสตาแกรมของคุณมีไปที่ลอนดอนอยู่หลายๆรอบเหมือนกัน แล้วอย่างนี้ลอนดอนจะถูกใส่ไปใส่สนามไหนของปฏิทินล่ะ?

David: ใช่ เราไปเตรียมงาน รวมถึงเตรียมความพร้อมเรื่องต่างๆอยู่ประมาณปีนึง ก็ปีนี้ก็จะมีลอนดอนเพิ่มขึ้นมา เป็นสนามที่ 2 หลังจากนิวยอร์ค แต่นี่เราก็พยายามมองหาเมืองใหม่ที่จะไปลงเพิ่มอยู่อีกเหมือนกันในปี 2016

เหมือนอย่างที่คุณบอกจริงๆว่ารายการมันใหญ่ขึ้นทุกๆปี?

David: ใช่แล้ว รายการมันอาจจะใหญ่ขึ้นทุกๆปี หรือไม่ก็อาจจะเป็นการแทนกันในแต่ละสนาม เราพยายามจะให้มันอยู่ในระหว่าง 4–5 สนามต่อปี

ผมจำได้ว่าสองปีก่อนมีการจัดที่ Navy Yard ทำไมถึงเลิกไปล่ะ สนามไม่ดีเหรอ หรือว่าอย่างไร?

David: จริงๆสนามดีมากนะ มีส่วนเทคนิคเยอะ ท้าทายนักแข่งอยู่เหมือนกัน แต่ว่าตรงนั้นมันเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้มีเรื่องธุรกิจของหลายๆฝ่าย แล้วเวลาคนดูเยอะๆมันทำให้เค้าไม่สะดวกใจนักกับธุรกิจหลายๆอย่างในนั้น แต่ในอนาคตก็ไม่แน่เราอาจจะกลับไปจัดที่นั่นอีกถ้าอะไรลงตัว เพราะภูมิหลังของที่นั่นมันน่าสนใจมากๆ

แล้วสนามแข่งแต่ละสนามส่วนใหญ่คุณก็ใช้ไลน์สนามแบบเดิมๆทุกปีหรือว่ามีการปรับเปลี่ยน

David: ปกติเราจะปรับแค่นิดหน่อย แค่ให้มันดีขึ้นเพราะเราหาพื้นที่ที่จะจัดแข่งได้ยาก พอเจอแล้วโดยปกติก็จะลงพื้นที่เดิม ฉะนั้นเราก็จะปรับเปลี่ยนนิดหน่อยแค่ให้มันดีขึ้น

ผมชอบที่บาร์เซโลนานะ Parc Del Forum นั่นสวยมากๆ

David: ใช่ ที่นั่นสวยมากเป็นเอกลักษณ์และลงตัวมากๆ พอเราเจอที่ที่ดีที่สุดแล้ว ก็ไม่มีเหตุอะไรให้ต้องปรับเปลี่ยน

ซึ่งตอนนี้โดยทั้งหมดก็คือ อเมริกา และ ยุโรป มีความเป็นไปได้แค่ไหนกับในเอเซียล่ะ มีโอกาสที่จะได้จัดแข่งรายการนี้ไหม?

David: ผมก็อยากไปจัดอยู่นะ นี่ก็พึ่งกลับมาจากญี่ปุ่น เป็นที่ที่น่าสนใจมาก แต่ก็อย่างที่รู้ รายการเราเป็นชิงแชมป์ประจำปี ซึ่งมันจำเป็นมากที่จะต้องให้นักแข่งสามารถไปแข่งได้ในทุกๆสนาม การมาแข่งที่เอเซียอาจเป็นเรื่องยากสำหรับนักแข่งบางคนที่จะตามมาแข่ง ซึ่งมันมีผลกับตารางอันดับคะแนนรวม เราอาจต้องรอให้ทีมต่างๆโตมากกว่านี้เพื่อจะมาลงแข่งที่เอเซีย เพราะนักแข่งหลายๆคนไม่สามารถจ่ายเพื่อจะลงแข่งทุกสนามได้และนั่นจะทำให้เค้าหมดโอกาสกับการเอาแชมป์ประจำปี

แปลว่าโดยปกตินักแข่งต้องจ่ายเองทั้งหมด?

David: ใช่ ทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าจิปาถะ นั่นแหล่ะ แต่ผมก็คิดจะไปลงในเอเซียในอีก 2–3 ปีข้างหน้านี่แหล่ะ เพราะมันค่อนข้างเป็นที่เข้าใจได้ที่จะไปจัด ทั้งแฟนๆที่ติดตาม รวมทั้งระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ บางทีเราอาจจะหาผู้สนับสนุนที่นั่นได้

ที่ถามไปเพราะผมมองว่าในเอเซีย กลุ่มสังคมของคนที่ชอบ track bike ค่อนข้างเล็กไม่เหมือนในยุโรปหรืออเมริกา เลยลองถามดูถึงความเป็นไปได้ เพราะเท่าที่มองได้สังคม track bike ใหญ่ๆของเอเซียน่าจะอยู่ที่ ญี่ปุ่น และ มาเลเซีย

David: แต่ผมว่าสิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจก่อนคือ อย่างในยุโรปก็ไม่ได้เป็นสังคมของ track bike แต่เป็นสังคมจักรยาน คนจากทุกรูปแบบจักรยานมามีส่วนร่วมกันอยู่ที่งาน RHC เรามีคนที่แข่ง mountain bike, road bike, cyclo-cross ทุกรูปแบบของนักแข่งมาร่วมกันได้หมด โดยปกติคนที่ชนะการแข่ง RHC ได้ ไม่ใช่คนที่ปั่นแต่เฉพาะ track bike เพราะจริงๆมันไม่ใช่ภาพของการแข่ง track bike มันเป็นการแข่งจักรยานนี่ละ ดังนั้นถ้าเราจะไปเอเซียก็ไม่ได้จะไปเพราะภาพของรถ track แต่เป็นภาพของวงการจักรยาน ที่ทุกๆคนมาร่วมกันได้ track, road, mountain bike ซึ่งนั่นแหล่ะคือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรป และใน อเมริกา หรืออย่างในนิวยอร์ค คุณรู้ได้ว่าสังคมที่นี่มีความหลายหลายสูง มีการข้ามกันไปมา ก็นั่นแหล่ะมันคือสิ่งสำคัญที่สุด

แปลว่าคุณไม่ได้มีข้อจำกัดตายตัวว่าจะต้องเป็นสังคม track bike คุณแค่ใช้รถ track เพื่อการแข่งขันอย่างเดียว แต่ใครก็ตามที่เป็นนักปั่นก็ถือเป็นองค์ประกอบแล้ว

David: ไม่ๆ เราแค่ใช้ track bike เพื่อการแข่ง เพราะมันทำให้การแข่งขันน่าสนใจมากขึ้น เราไม่ได้จะเป็นส่วนนึงของภาพในแบบของ fixed gear เราต้องการให้อยู่ภาพของวงการจักรยาน

ความคิดคุณมันน่าสนใจมากจริงๆ เพราะเดิมผมไม่เคยคิดในรูปแบบองค์ประกอบนี้มาก่อน ว่าคุณต้องการจะชักจูงคนทั้งวงการจักรยานมาในรายการนี้ ผมคิดแค่ว่าคุณพยายามนำพาคนที่ปั่นจักรยาน fixed gear มาแข่งในรายการนี้ ซึ่งมันดีมากๆกับความคิดแบบที่คุณกำลังทำอยู่ตอนนี้

David: ที่ผมคิดการแข่งรูปนี้ขึ้นมาเพราะความคิดเริ่มต้นมันมาจากที่ผมเคยแข่ง road bike รวมทั้งเคยขี่ fixed gear บนถนน เลยคิดจะเอาทั้งสองอย่างมาผสมรวมกัน เพื่อจะให้เพื่อนผมที่เคยแข่ง road bike มาแข่งกะเพื่อนผมที่เป็นคนส่งเอกสารได้ (ในนิวยอร์คคนส่งเอกสารนิยมใช้จักรยาน fixed gear) และผมเคยแข่ง mountain bike ก็เลยอยากให้ mountain bike มารวมอยู่ด้วย ทุกอย่างก็เลยจับมารวมกันให้หมด เพื่อให้ทุกคนแข่งกันได้ ในรายการที่เรียบง่ายที่สุด

นั่นเป็นเรื่องดีมากจริงๆ พอดีกับที่ผมจะถามอยู่พอดี แล้วอย่างนี้นักแข่งจากทั่วโลกที่ต้องการมาแข่งในรายการนี้ คุณเคยเจอปัญหาในเรื่องการลงทะเบียน การสมัคร หรืออะไรบ้างไหม เพราะคุณใช้การสมัครแบบออนไลน์ รวมทั้งคุณรับแค่ 250 คนเท่านั้นต่อการแข่ง 1 สนาม ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด

David: ใช่ เดี๋ยวนี้การสมัครสำหรับนักแข่งจะเต็มเร็วมาก แต่มันไม่เคยมีปัญหากับเรา ปัญหาที่มีมักจะเกิดกับนักแข่งที่สมัครไม่ทันเวลา แต่นักแข่งที่จริงจังมากๆ นักแข่งที่มีทีมสังกัดจะเช็คก่อน ให้แน่ใจว่าช่วงเวลาการเปิดรับสมัครจะเป็นช่วงไหน เพื่อให้มีที่สำหรับการแข่งจริงๆ แต่ในอนาคตเราอาจจะให้เวลากับการแข่งขันมากขึ้น อย่างคัดเลือกวันนึง แข่งวันนึง เพื่อจะให้รับสมัครนักแข่งได้มากขึ้น เพราะจะมีเวลารอบคัดเลือกทั้งวัน ไม่ใช่อย่างในปัจจุบันที่รับได้แค่ 250 คน เพราะเราไม่มีเวลามานักกับการแข่งขัน เราจะจัดแข่งให้จบภายในวันเดียว เพราะมันมีเรื่องของการใช้เงินเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงนักแข่งก็ไม่อยากรอหรือต้องใช้เวลานานมากนัก

แล้วอย่างนี้คุณสามารถจัดการได้ยังไง ผมว่ามันยากมากๆที่จะให้การแข่งทั้งรายการจบได้ภายในวันเดียว เพราะคุณมีทั้งรอบคัดเลือก และรอบแข่งขันจริง อย่างรุ่นผู้ชายคุณมีแล้ว 250 คน แล้วตอนนี้ยังมีรุ่นผู้หญิงอีก คุณทำได้ยังไง?

David: มันเป็นวันที่ยาวนานมาก ตอนนี้เราใช้วิธีเตรียมความพร้อมสถานที่และทุกๆอย่างวันนึงก่อนแข่ง แล้ววันแข่งช่วงเช้าจะเป็นการคัดเลือก เพราะฉะนั้นมันจะเป็นการแข่งทั้งวันเช้าถึงค่ำ แต่บางทีมันก็มีปัญหาเช่นการชนกัน การล้ม ซึ่งมันจะทำให้เวลาล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร มันก็ยากที่จะให้จบในวันเดียว แต่เราก็จัดการกับมันได้ แต่ก็นั่นละเราคิดว่าน่าจะจัดการแข่งแบบสองวันในอนาคต

คุณก็ต้องมีทีมงาน อาสาสมัคร จำนวนมาก เพื่อจัดการแข่งขันใช่ไหม?

David: ถูกต้อง เรามีสตาฟที่รับเงินค่าจ้างและก็อาสาสมัครอีกจำนวนนึง ซึ่งรวมๆก็ประมาณ 130–140 คนต่อการจัดแข่ง 1 สนาม ซึ่งแต่ละสนาม แต่ละงานก็เป็นเรื่องยากในแต่ละรูปแบบไป เพราะคนจากแต่ละประเทศก็จะมีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เพราะแต่ละสนามเราจะใช้อาสาสมัครท้องถิ่น ทำให้การควบคุมแต่ละสนามมีความแตกต่างในการทำงานกันไป

การที่คุณรู้จักคนในแต่ละประเทศมีความง่ายในการทำงานมากขึ้นรึเปล่า อย่างในอิตาลีคุณรู้จัก Cinelli ในสเปนคุณรู้จัก Dosnoventa แล้วพวกเขาช่วยอะไรบ้างรึเปล่า

David: ปกติยี่ห้อต่างๆจะไม่ช่วยเรื่องการจัดการ เค้าแค่สนับสนุนเฉยๆ เราต้องหาคนที่เป็นคนจัดงานในท้องที่นั้นๆ Cinelli ไม่ได้ช่วยอะไรในการจัดที่มิลาน หรือ Dosnoventa ก็ไม่ได้ช่วยอะไรในการจัดที่บาร์เซโลน่า เพราะการที่พวกเค้ามียี่ห้อจักรยานอยู่ในมือ ไม่ได้แปลว่าเขาจะรู้จักการจะทำอย่างให้ให้ได้รับอนุญาตในการจัดแข่ง ที่การแข่งขันเราสามารถประสบความสำเร็จเพราะเราจ้างคนที่มีฝีมือในการจัดงาน ไม่ใช่แค่คนที่หลงใหลในจักรยาน

แต่ละเมืองคุณก็รู้จักคนที่สามารถจัดงานแข่งได้ นั่นก็แปลได้ว่านี่ก็เป็นอีกองค์ประกอบนึงที่จะเป็นการเลือกเมืองที่จะไปลงจัดแข่งได้ คือต้องมีทีมจัดที่ดีพอ?

David: ใช่ ถูกต้องเลย ฉะนั้นถ้าเราจะไปลงที่เอเซีย เราต้องมั่นใจว่าเราจะมีทีมงานที่ดีพอในท้องที่นั้นๆ

คุณคิดจะให้รายการมีขนาดประมาณนี้ หรือ ว่าอยากให้ใหญ่กว่านี้อย่างพวกได้รับรองจาก UCI อะไรแบบนี้?

David: เราไม่คิดว่าจะให้มันใหญ่ไปมากกว่านี้แล้วนะ แต่คิดว่าจะให้มันมีถ่ายทอดผ่าน livestream น่าจะเป็นเหตุเป็นผลที่ดีกว่าได้รับรองจาก UCI

ทำไมล่ะ?

David: เราไม่ได้มีไรกะพวกเขานะ แต่ว่ามันจะทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยากขึ้น ต้องทำตามกฏพวกเขา ต้องได้รับอนุญาต รวมทั้งการที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมาก มันไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าไหร่กับรายการของเรา รวมทั้งนักแข่งก็ต้องถือใบอนุญาตจาก UCI ซึ่งมันทำให้อะไรๆยากขึ้น เหตุผลเดียวที่รายการแข่งจะให้ UCI รับรองคือเพราะ นั่นเป็นการแข่งแบบอาชีพ เราไม่ได้ถึงขั้นนั้น เพราะค่อนข้างเปิดกว้างมากกว่า

 แต่ผมเห็นนักแข่งบางคนใน RHC มีการตรวจเรื่องโด๊ปหลังจากแข่งเสร็จนะ คุณมีความคิดยังไงบ้างเกี่ยวกับเรื่องการโด๊ปในการแข่งขันจักรยาน

David: ใช่เรามีการตรวจเรื่องโด๊ป เราจะมีการตรวจโด๊ปหลังจากนี้ แต่ในเรื่องของการโด๊ปในการแข่งขันระดับสูงการที่พวกเขาโด๊ปกันเป็นวงกว้างนั่นเพราะมันมีเรื่องของเงินมาเกี่ยวข้อง พวกเขาต้องทำเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบจากคนอื่นๆ แต่ในขณะที่รายการของเราเงินรางวัลมีแค่นิดหน่อย มันไม่ได้จูงใจนักปั่นระดับที่ลงแข่งรายการเราขนาดที่จะต้องโด๊ปนะ เชื่อว่าตรวจก็ไม่เจอหรอก แต่ที่จะตรวจโด๊ปเพราะเรื่องความใสสะอาดของรายการมากกว่า อย่างที่รู้รางวัลของรายการมันแค่ไม่เท่าไหร่ ถ้ารางวัลเราซัก 15,000 ดอลล่าร์ นั่นหล่ะเรื่องโด๊ปจะมาแน่นอน

แต่คุณก็มีรางวัลที่มีแค่ชิ้นเดียวสำหรับผู้ชนะนะ จักรยานที่ทำมาเฉพาะสำหรับคนชนะนั่นไง (*การแข่ง RHC แต่ละสนาม รางวัลชนะเลิศจะได้เป็นจักรยานที่ออกแบบมาพิเศษมีเพียงแค่คันเดียว)

David: ใช่แต่ว่าคนชนะไม่สนใจกันหรอกได้ไปเค้าก็ขายกัน มันดูเท่ ดูเก๋ แต่สำหรับนักปั่นอาชีพสิ่งที่คุณต้องการคือเงิน นักแข่งจักรยาน ไม่สนใจเรื่องได้รางวัลเป็นจักรยาน หรือจะมีจักรยานเยอะแยะหลายคันหรอก เค้าแค่ขี่จักรยานเป็นอาชีพ เงินสำคัญมากกว่า

ฮ่าๆๆๆ ผมพึ่งรู้นะเนี่ย นึกว่าพวกเค้าจะเก็บกันไว้ซะอีกเพราะมันมีแค่คันเดียว อย่างผมนี่ตื่นเต้นทุกครั้งนะ ว่าแต่ละสนามจักรยานสำหรับแชมป์จะออกมาเป็นยังไง แต่ยังไงคุณก็ยังจะให้จักรยานเป็นรางวัลต่อไปใช่ไหม

David: ใช่ เพราะคนส่วนใหญ่สนใจเรื่องรางวัล และสปอนเซอร์ก็ชอบใจ มันสนุกนะตอนออกแบบแต่ละคัน คนส่วนใหญ่สนใจจักรยานที่เป็นรางวัลชนะการแข่ง ยกเว้นคนที่ชนะการแข่งนั่นแหล่ะ

แต่ก็ยังดีนะ เพราะคุณทำให้นักปั่นหรือคนทั่วไปสนใจการแข่งจากการที่คุณให้จักรยานในแต่ละสนาม เพราะเท่าที่เห็นแต่ละสนามทั้งรถ และชุดแข่งสำหรับผู้ชนะ มันถูกอออกแบบมาอย่างดีมาก ทั้งรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งการออกแบบร่วมระหว่างชุดกับจักรยาน

David: ถูกต้อง เรามีดีไซเนอร์ที่ทำงานร่วมกันอยู่ เราใช้เวลาเยอะมากในการออกแบบ ให้จักรยานและชุดไปด้วยกัน เพราะแต่ละส่วนมาจากคนบริษัทกัน จักรยาน ชุด หมวกกันน็อค ถุงมือ ทำให้เราต้องทำงานหนักกันมากเพื่อให้ทุกอย่างออกมาเข้ากันหมด และทันเวลาในแต่ละสนาม

ผมไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมคุณถึงทำให้ RHC มาไกลจนถึงขนาดนี้ เพราะคุณเอาตัวคุณเองไปอยู่ในทุกอณูของการแข่ง คุณเอาอดีตของคุณทั้งหมดมารวมกัน คุณเป็นดีไซเนอร์ คุณเป็นนักแข่ง คุณเป็นทุกๆอย่างที่ทำให้มันออกมาเป็น RHC

DT: ใช่ ผมเอาประสบการณ์ทุกอย่างในอดีตมารวมกัน รวมถึงครอบครัวของผมด้วย พ่อและลุงของผมเคยเป็นคนออกแบบเฟรมจักรยาน พวกเค้าเป็นคนแรกๆที่ทำเฟรมคาร์บอนเหมือนกันในยุค 70–80’s เค้าทำเฟรมให้ทีมโอลิมปิค นั่นก็เลยทำให้ผมมีความเป็นคนจักรยานตั้งแต่เด็ก ถึงผมจะโตมาแล้วไปทำอาชีพอื่น

คุณเป็นครอบครัวจักรยานโดยแท้จริงๆ

DT: ใช่เลย

จากการจัดแข่งจักรยานโดยใช้รถ track แล้วอย่างนี้คุณมีความคิดอย่างไรกับจักรยาน fixed gear คุณคิดว่ามันจะอยู่ต่อไปไหม หรือจะค่อยๆจางหายไป แล้วไปเป็น road bike, mountain bike

David: ผมคิดว่ามันไม่สำคัญหรอก สิ่งสำคัญคือคุณยังสนใจการปั่นอยู่ อย่างถ้าคุณจะขี่ track bike คุณก็น่าจะขี่อย่างอื่นด้วย คุณจะปั่น road bike, cyclocross ไรอย่างนั้น เพราะมันก็ช่วยคุณให้ปั่นได้ดีขึ้น อย่างคนที่ทำได้ดีในการแข่ง RHC มักจะเป็นคนที่เคยแข่งมาหลายๆอย่าง ไม่ใช่แค่อย่างเดียวแล้วจะทำได้ดี ควรจะเอาทุกอย่างมารวมกัน อย่างบางคนที่เริ่มจาก track แล้วก็ไปแข่ง road หรืออย่างบางคนแข่ง road มาเป็น 20 ปีแล้วมาแข่ง track ครั้งแรกใน RHC ก็มี มันน่าตื่นเต้นออกนะ อย่างรายการเราไม่ได้จัดเพราะความนิยมของ track bike หรอก เพราะมันอยู่มาเป็นร้อยปีแล้ว มันก็ยังอยู่ต่อไปแหล่ะ RHC ไม่ได้เป็นที่นิยมเพราะรถ track แต่เป็นที่นิยมเพราะรูปแบบของรายการมากกว่า มันดูแล้วสนุก มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทจักรยาน

เท่าที่ดูก็จริงอย่างที่คุณว่า ผู้ชนะหลายๆคนผมไม่ค่อยคุ้นชื่อเหมือนกัน ไม่เหมือนกับบางคนที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในวงการหลายๆคน อย่าง Chas จาก Mash SF หรือทีม Cinelli Chrome ไรอย่างนั้น

David: พวกเค้าเป็นที่รู้จักเพราะรู้วิธีทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่คนชนะก็เป็นที่รู้จักในท้องที่นะ แค่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สื่อ หรือพื้นที่ที่คนจะรู้จักในวงกว้าง อย่างคนที่ชนะที่มิลานก็อยู่ในทีมอาชีพของที่อิตาลี (Eduard Grosu สังกัดทีม Nippo-Vini Fantini) หรือคนที่ชนะที่บาร์เซโลนาก็เป็นทีมชาติกัวเตมาลา เค้าเป็นที่รู้จักนะแต่ว่ามันไม่ได้ขนาดว่าจะเป็นคนดังในวงการอย่าง Chas ไรอย่างนั้น และอีกอย่างการเป็นคนดังก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะเร็วในการแข่งขันเหมือนกัน

ไม่ใช่อะไรเพราะทุกๆครั้งที่ผมเช็คผลจาก app ของรายการ ผมแทบไม่เคยรู้เลยว่าพวกเค้าเป็นใคร แม้ผมจะค่อนข้างดูรายการแข่งขันเยอะมากนะ แต่ทุกครั้งที่เห็นชนะก็งงทุกครั้งจริงๆ อย่าง Thibaud คนที่ชนะประจำปีครั้งล่าสุด ผมเห็นเค้าใช้รถไม้ไผ่ น่าตื่นเต้นมาก คุณไม่จำเป็นต้องใช้รถคาร์บอน หรือรถอลูดีๆ คุณก็ชนะ RHC ได้

David: ใช่รถไม้ไผ่นั่นน่าตื่นเต้นมาก คนที่ชนะ RHC ได้ไม่จำเป็นต้องใช้รถหรูหราก็ชนะได้ และหลายๆคนที่ชนะ ที่ไม่ดังนี่เพราะพวกเค้าไม่รู้วิธีโฆษณาตัวเองมากกว่า

David Trimble Interview (10 of 16)

นี่คุณก็จัดการแข่งมา 6–7 ปีแล้วใช่ไหม คุณมีความทรงจำดีๆ หรือเลวร้ายครั้งไหนที่อยู่ในใจหรือไม่

David: 7 ปีแล้วล่ะ ถ้านับปีนี้ด้วยก็จะเป็นปีที่ 8 ส่วนใหญ่จะเป็นความทรงจำไม่ดีนะ ผมรู้สึกไม่ดีทุกครั้งเวลาเห็นนักแข่งชนหรือล้มกันแรงๆ เพราะมันค่อนข้างเครียดมาก แต่ความทรงจำดีๆก็มีเวลาคนดูเชียร์หรือตื่นเต้นกับการแข่งขันนั่นรู้สึกดีมากๆ

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ผมว่าตอนนี้ RHC นี่ค่อนข้างเข้าใกล้คำว่า World Tour แล้วนะ คุณมีความคิดจะให้ RHC เติบโตไปมากกว่านี้อย่างเช่นขาย franchise ชื่อรายการบ้างรึเปล่า หรืออยากดูแลเองต่อไป?

David: ผมอยากจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองนะ การขาย franchise มันจะกลายเป็นเรื่องยากที่คุณจะควบคุม จริงๆผมก็เห็นศักยภาพของการจัดแข่งอย่างเช่น Asian Championship หรือ European Championship แต่ผมอยากให้มันอยู่ภายใต้การตัดสินใจของผมมากกว่าทั้งเรื่องรูปแบบ หรือ ของต่างๆของรายการ ผมไม่อยากให้ใครมาดูแลแทนตัวผม ผมมีความสุขที่จะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่ามีคนมาลงทุนทำให้รายการใหญ่ขึ้นแต่ผมก็สูญเสียความสามารถในการดูแลไป ผมทำเงินไม่เยอะหรอกกับรายการนี้แต่มันเรื่องของความหลงใหลมากกว่า เพราะถ้าจะทำเพื่อเงินผมไปทำอย่างอื่นดีกว่า

คำถามสุดท้ายที่หลายๆคนในเมืองไทยน่าจะอยากรู้ เพราะหลายๆคนฝากมาถามคุณว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ RHC จะมาจัดในเมืองไทย?

David: ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้นะ เมื่อทุกอย่างลงตัว แต่ผมบอกได้ว่าพวกคุณต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานที่ผมบอกไป คุณต้องมีสถานที่ที่ดี มีคนดู มีผู้สนับสนุน มีทีมจัดงานที่ดีที่ประสบการณ์สูง แล้วเมื่อนั้นผมจะไปที่ประเทศคุณเพื่อไปดูความพร้อมต่างๆ นั่นจะเป็นก้าวแรก อย่างที่ผมไปลอนดอนสามครั้งก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะจัดแข่งที่เมืองนี้ มันอาจจะเป็นขั้นตอนที่เยอะและยาวนาน แต่มันเป็นไปได้ เพราะอนาคตมันแน่นอนว่า RHC จะมาที่เอเซีย ยังไงก็หวังว่าผมจะได้ไปเมืองไทยนะ

ยังไงแล้วก็ขอบคุณคุณมากที่ให้เวลาสัมภาษณ์วันนี้ แล้วถ้าผมเขียนเสร็จแล้วผมจะส่งลิงค์ไปให้คุณดูอีกที แต่คุณน่าจะอ่านไม่ออกเพราะมันเป็นภาษาไทย ขอขอบคุณมาก และหวังว่าเราจะได้พบกันในเมืองไทย

David: ไม่เป็นไรผมรู้ว่าผมตอบอะไรไปบ้าง ส่วนเมืองไทยผมก็หวังว่าจะได้ไปนะ ผมชอบอาหารไทยเหมือนกัน ข้างๆบ้านผมมีร้านนึงอร่อยมาก แล้วก็บอกนักปั่นในเมืองไทย ให้ลองมาแข่ง RHC ดู

* * *

การสัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดี จริงๆควรจะเรียกการพูดคุย กันมากกว่าด้วยซ้ำ David เป็นคนที่ค่อนข้างเป็นมิตรมาก ไม่ถือตัว แต่ก็สัมผัสได้ถึงความเป็นมืออาชีพสูง ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้จัดหลายๆคนเอาตามอย่าง หากใครอ่านจบแล้วอยากสัมผัส RHC ดูด้วยตัวเอง ก็คงต้องหาโอกาสไป นิวยอร์ค ลอนดอน มิลาน หรือ บาร์เซโลนา หรือไม่ก็เตรียมประเทศของเราเองให้พร้อม เผื่อว่าวันหนึ่ง RHC จะเวียนมาถึงเมืองไทยอย่างที่ David บอกไว้ก็ได้…

Special Thanks : David August Trimble : the founder of Red Hook Criterium

Images Courtesy : Red Hook Criterium, Official RHC Photographers

Website : www.redhookcrit.com

Instagram : www.instagram.com/redhookcrit

By ศิลวัต ช่างเรียน

ก๊อง - ดีไซเนอร์ ผู้สนใจจักรยาน,การทำอาหารและเชื่อว่างานเขียนจะเพิ่มความสนใจในมุมอื่นของวงการจักรยานให้คนอ่านได้

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *