คุยกับ Phil White ผู้ก่อตั้งจักรยาน Cervélo

“จักรยานที่ดีที่สุดเมื่อยี่สิบปีก่อนต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง: ต้องเป็นจักรยานอิตาเลียน ต้องใช้อะไหล่คัมปัญโญโล่ และต้องมีท่อโครโมลี่กลมๆ เล็กๆ”

มันคือ “วิถี” ของจักรยานแข่งและเทคโนโลยีเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว แต่จักรยานที่นักปั่นว่ากันว่าดีที่สุดกลับไม่ใช่จักรยานที่เร็วที่สุดในโลก

นักศึกษาสาขาวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัย McGill ในแคนนาดาสองคนที่คลั่งไคล้ในความเร็ว ร่วมกันสร้างเฟรมเซ็ตลู่ลมที่หน้าตาไม่เหมือนจักรยานแข่งทั่วๆ ไปจากคาร์บอนไฟเบอร์ด้วยเตาอบขนมปังในหอพักนึกศึกษา แล้วส่งเฟรมตัวนี้ให้แชมป์โลกเสือหมอบ (1991)— จิอันนี่ บุณโญ่ได้ลองปั่น แชมป์บอกว่าชอบแต่สปอนเซอร์จักรยานของบุณโญ่ไม่ยอมให้เขาใช้แข่ง

ผิดหวังกับอุตสาหกรรมจักรยานและเชื่อมั่นว่าจักรยานของพวกเขาต้องเร็วกว่าใคร ชื่อของเขาคือเจอร์ราร์ด วรูมเม็น และฟิล ไวท์ ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งบริษัทจักรยาน Cervélo และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโฉมหน้านิยามแห่ง “ความเร็ว” ในวงการจักรยาน

Cervello Baracchi จักรยานคันแรกของ Cervelo

.  .  .

ไม่บ่อยที่เราจะมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้อยู่เบื้องหลังจักรยานแบรนด์ดังที่ขึ้นชื่อเรื่อง Performance ครับ เมื่อวานนี้ Ducking Tiger มีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณ ฟิล ไวท์ (Phil White) หนึ่งในผู้ก่อตั้งจักรยาน Cervélo ด้วยความช่างสังสัยของ DT เราก็ได้เจาะขอถามข้อมูลความรู้ต่างๆ ทั้งในเรื่องมุมมองต่อวงการจักรยานแข่ง อนาคต เทคโนโลยี และตัว Cervélo เอง

ก่อนจะเริ่มต้องเกริ่นก่อนว่าตอนนี้เจ้าของ Cervélo ไม่ใช่ฟิลและเจอร์ราร์ด แต่เป็นบริษัท PON Holdings จากเนเธอร์แลนด์ที่มีแบรนด์จักรยานชื่อดังในมือมากมายเช่น Gazelle, Derby, Santa Cruz และ Focus ซึ่ง Cervélo ขายให้ PON ไปตั้งแต่ปี 2012 ครับ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cervelo เจอร์ราร์ดนั้นลาออกไปทำแบรนด์จักรยานเสือภูเขาของตัวเอง (ยี่ห้อ ONE) ส่วนฟิล ไวท์ยังคงอยู่กับ Cervélo แต่ก็ช่วยดูแลเรื่องนวัตกรรมให้กับแบรนด์อื่นๆ ในเครือ PON ด้วย มาดูกันว่าเราคุยเรื่องอะไรกันบ้างครับ

 

DT: ตลาดจักรยานในเอเชียเป็นยังไงบ้าง?

Phil: ผมว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจักรยานเสือหมอบมากเป็นอันดับต้นๆ ในทวีปเลยนะ อัตราการเติบโตมีมากกว่าประเทศจีนด้วยซ้ำ จีนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา (อย่างรวดเร็ว) ยังมีประชากรระดับชนชั้นกลางไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งหมดของประเทศ ในเรื่องถนนหนทางเขาก็เพิ่งสร้าง แล้วก็ประชากรที่เริ่มมีฐานะพอจะซื้อรถยนต์หลายๆ คนยังไม่เคยใช้ถนนร่วมกับคนปั่นจักรยาน ทำให้การปั่นที่นั่นยังเป็นเรื่องอันตรายครับ

ตอนนี้ยอดคนใช้รถในจีนคิดเป็นแค่ 1% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าความเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Mobility) เขายังต่ำมาก แต่ก็มีการจราจรที่แย่มากเช่นกัน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนใช้รถมีเพิ่มเป็น 10%? เขาจะแก้ปัญหาการใช้รถและถนนยังไง บางทีคำถามอาจจะไม่ใช่เรื่องการคุมจราจรรถยนต์ แต่เป็นขนส่งมวลชนและยานพาหนะทางเลือกอย่างจักรยานที่จีนควรจะลงทุนสนับสนุน เหมือนที่ไต้หวันสนับสนุนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าครับ เพราะงั้นจีนต้องแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ได้ก่อนที่แบรนด์จักรยานไฮเอนด์อย่าง Cervélo จะมีโอกาสเติบโต

 

DT: คำว่า Cervélo นี่มาจากภาษาอะไรและมันแปลว่าอะไรครับ?

Phil: จริงๆ มันเป็นการรวมคำสองคำจากสองภาษาครับ! เราเอาคำว่า ‘Cervello’ ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียน และแปลว่ามันสมอง มารวมกับคำว่า Vélo ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่าจักรยาน รวมกันก็เป็นคำว่า Cervélo แปลได้ว่า “Brain Bike” หรือจักรยานที่มาจากมันสมองและความคิดนั่นเอง

มันสะท้อนรากของบริษัทเราที่มาจากวิศวกร (เจอร์ราร์ดเชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์ ฟิลด้านธุรกิจและ Project Management) ครับ

 

Phil White Interview-1-2

DT: ตอนนี้คุณดูแลด้านไหนบ้างใน Cervélo?

Phil: ช่วงที่ผ่านมาผมดูแลด้านระบบนวัตกรรม (system innovation) เป็นหลักสำหรับทั้ง Cervélo และแบรนด์อื่นๆ ในเครือ PON ครับ สำหรับ Cervélo การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ไม่ใช่เรื่องยากเพราะเราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในจักรยานและไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเราครับ แน่นอนว่าบริษัทอื่นๆ ใน PON อาจจะไม่ได้คิดเหมือนเรา เขาถูกผลักดันด้วยปัจจัยอื่นๆ แต่ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้วบริษัทจักรยานจะเติบโตต่อไปและมีกำไรได้ก็ต่อเมื่อเรามีนวัตกรรมของตัวเอง

ความท้าทายสำหรับผมคือ เราจะสร้างวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมในบริษัทอื่นๆ ได้อย่างไร? ผมใช้เวลากับเรื่องนี้มากครับ ที่กำลังดูอยู่ก็มีเช่นเทคโนโลยีจักรยานไฟฟ้า (E-Bike) ต้องยอมรับว่ายอดขาย Cervélo เป็นแค่ 10% ของยอดขายในเครือ PON ทั้งหมด จักรยานส่วนใหญ่ของ PON ไม่ใช่จักรยานแข่งเหมือน Cervélo เพราะงั้นเรามีโอกาสทางธุรกิจและช่องทางในการพัฒนานวัตกรรมตรงนี้อีกเยอะทีเดียว

ส่วนใน Cervélo ด้วยที่เรามีสปิริตด้านการพัฒนานวัตกรรมอยู่แล้ว ผมมีหน้าที่แค่ช่วยแนะนำและปรับทิศทางบ้างนิดหน่อย สิ่งที่ผมหวังคือให้ทีม Cervélo สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งผมและเจอร์ราร์ดอีกต่อไป มันง่ายกว่าที่ผมจะกระโดดเข้าร่วมวงแล้วบอกว่า “นี่คือสิ่งที่พวกคุณต้องทำนะ” แต่มันไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ทีมของผมควรจะคิดได้เหมือนผมคิดเองครับ

 

The Future of Road Bike

DT: คุณคิดว่าเทคโนโลยีในจักรยานถนนจะเป็นยังไงในอีก 5 ปีข้างหน้า?

Phil: ช่วงปีที่ผ่านมาหลายๆ แบรนด์เริ่มหันมาทำ System integration เช่นการออกแบบ cockpit จักรยานไตรกีฬาให้รองรับแฮนด์ สเต็มแบบ integrated — เบรค integrated ในจักรยานแอโร และหลักอานแอโรเป็นต้น Integration เป็นเรื่องที่ Cervelo ทำมานานแล้ว

ผมคิดว่าสิ่งที่ยากกว่าการทำ integration คือการทำให้ integration มัน “ง่าย” (simplified) ครับ ผมเห็นจักรยานแอโรสมัยใหม่ดูซับซ้อนกว่าเดิมมาก ผมว่ามันตลกที่ทีมแข่งอาชีพมีคนขับรถสามคนแต่มีช่างจักรยานร่วมสิบคนเพื่อดูแลจักรยานที่มันซับซ้อน ผมว่ามันเป็นโมเดลที่ไม่ยั่งยืน มันง่ายที่จะทำให้จักรยานซับซ้อนเต็มไปด้วยฟังก์ชันต่างๆ แต่มันยากกว่ามากที่จะทำ integration พวกนี้ให้ง่ายในการใช้งานและดูแล

คิดดูนะครับ คุณและผมอาจจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่สุดเพราะเรามีความรู้เรื่องจักรยานบ้าง แต่ถ้าเป็นลูกค้าทั่วๆ ไปที่เขาดูและซ่อมจักรยานไม่เป็น ถ้ารถเขามีปัญหาระหว่างแข่งเขาจะทำยังไง? จะถอดประกอบเพื่อขนย้ายก็ไม่ง่าย แต่ก่อนเรามีประแจไม่กี่ตัวก็ถอดรถได้ทั้งคัน

 

DT: ตอนนี้ตลาดจักรยานแข่งเสือหมอบมันแตกไลน์ออกเป็นจักรยานเฉพาะทาง ทั้งเฟรมไต่เขา เฟรมแอโร่ เฟรมขี่สบาย คุณคิดว่าจะมีวันที่เรามีจักรยานคันเดียวแต่ทำได้ทุกอย่างได้ดีไม่แพ้จักรยานเฉพาะทางมั้ย?

Phil: มันท้าทายครับ แต่ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ Cervélo ถนัดเลย ยกตัวอย่างเฟรม S5 ของเรารุ่นล่าสุดช่วงกระโหลกมันสติฟพอๆ กับ R Series และน้ำหนักก็ไม่ได้มากเหมือนสมัยก่อน (เฟรม 1,065 กรัม) เพราะงั้นเรื่องน้ำหนักและความสติฟและความแอโร่ เราจัดว่ามันเป็นรถที่อยู่แถวหน้าของวงการ ทิศทางตลาดตอนนี้คือแต่ละแบรนด์ทำรถที่เหมาะกับการปั่นในรูปแบบต่างๆ แต่ผมก็เห็นด้วยและคิดว่าดีเหมือนกันถ้าเราจะมีจักรยานที่ตอบโจทย์ทุกอย่างและให้ประสิทธิภาพได้เทียบเท่ารถเฉพาะทางในคันเดียวครับ แต่มันก็เป็นโจทย์การออกแบบที่ท้าทายมากๆ เลย

 

DT: คุณคิดว่าดิสก์เบรคจะกลายเป็นมาตรฐานในจักรยานเสือหมอบหรือเปล่า?

Phil: แน่นอนครับ ผมไม่สงสัยเลย ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องคิดเรื่องนี้กันด้วย ถ้าคุณใช้ล้อคาร์บอนขอบสูงเวลาฝนตก มันเบรคแทบไม่อยู่เลย! มันอันตรายมากๆ ครับที่คุณกำเบรคแต่หยุดรถไม่ได้ เวลาใช้ดิสก์เบรคนอกจากคุณจะหยุดรถได้จริงๆ แล้ว คุณยังเลียเบรคคอนโทรลการชะลอรถได้ละเอียดกว่าเบรคธรรมดาด้วย

เราสร้างเบรคมาเพื่อจุดประสงค์เดียว — เพื่อหยุดรถ แต่เราเหมือนจะลืมกันไปแล้วว่าเรามีเบรคไว้ทำไมเมื่อเราประดิษฐ์ล้อแอโรขึ้นมา แต่ถ้าเราใช้ดิสก์เบรคบนล้อขอบสูง มันหมายความว่าคุณยังหยุดรถได้โดยที่ไม่เสียเรื่องความลู่ลมเลย มันอาจจะหนักขึ้นบ้างและแอโร่น้อยลงบ้าง แต่ผมยอมแลกข้อเสียเล็กๆ น้อยเพื่อให้หยุดรถได้จริงๆ ในทุกสภาพอากาศครับ

tumblr_ntqi1qrXPW1ud1u2bo1_1280

ในอีก 5 ปีผมเชื่อว่าคงไม่มีใครเถียงกันเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะจักรยานเสือหมอบทุกคันจะมากับดิสก์เบรคครับ

 

DT: ในงาน Ironman Kona ทีผ่านมาหลายแบรนด์จักรยานเปิดตัวรถ Time Trial รุ่นใหม่ แต่ Cervélo กลับประกาศแค่การนับถอยหลังสู่เฟรม Time Trial / Tri ใหม่ที่จะมาแทน Cervélo P5 ในโค้ดเนม 140.6 คุณบอกอะไรเราเกี่ยวกับเฟรมใหม่ตัวนี้ได้บ้างครับ?

Phil: สำหรับ Cervélo เราเชื่อเสมอว่าเราจะเปิดตัวสินค้าก็ต่อเมื่อ “มันพร้อม” เราเปิดตัวการนับถอยหลังก็เพื่อให้คนรู้ว่าเราใกล้จะพัฒนาเสร็จแล้ว ผมบอกได้แค่ว่า มันเจ๋งมาก และมันเร็วมาก :)

 

DT: ทำไมจักรยาน Cervélo ตอนนี้ถึงไม่มีรุ่นไหนเลยที่ทำจากอลูมินัม?

Phil: อลูมินัมเป็นวัสดุที่ดีครับ แต่เราเชื่อว่ายังไงคาร์บอนไฟเบอร์ก็ให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่ามาก ใช่ว่าจะทำอลูมินัมให้ดีเท่าคาร์บอนไฟเบอร์ไม่ได้ แต่ถ้าจะทำอย่างนั้นต้นทุนในการผลิตมันจะสูงยิ่งกว่าการผลิตเฟรมคาร์บอนเสียอีก

 

DT: ในอนาคตจะมีวัสดุอะไรที่ดีกว่าคาร์บอนไฟเบอร์ในการผลิตจักรยานหรือเปล่าครับ?

Phil: จริงๆ ก็มีหลายวัสดุที่เรากำลังทดลองกันในห้องแล็บนะครับ แต่ด้วยต้นทุนและเทคโนโลยีมันอาจจะยังไม่พร้อม ผู้ผลิตคาร์บอนไฟเบอร์เองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เขายังทำนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าเราคงไม่ได้เห็นประสิทธิภาพแบบก้าวกระโดดเหมือนตอนที่เราเปลี่ยนจากโครโมลี่มาเป็นอลูมินัม และจากอลูมินัมเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ครับ วัสดุสมัยใหม่สำหรับการทำเฟรมจักรยานคงยังเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่เรายังไม่ได้ใช้ในตอนนี้

Team Sponsorship

DT: เกี่ยวกับการสนับสนุนทีม MTN-Qhubeka (Dimension Data) คุณได้คาดการณ์ล่วงหน้าไว้อยู่แล้วหรือเปล่าว่าทีมนี้จะประสบความสำเร็จมากเหมือนในฤดูกาลนี้ที่เขาสร้างผลงานในสนามใหญ่ไว้มากมาย?

Phil: พวกเราเชื่อในทีมครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนเซปต์ของทีมซึ่งน่าจะเข้าถึงลูกค้าและสปอนเซอร์ของเราด้วย เราชอบที่ MTN มีมุมของการทำเพื่อสังคมด้วย (DT Note: Qhubeka เป็นองค์กรการกุศลในแอฟริกาที่มีเป้าหมายบริจาคจักรยานให้ผู้ยากไร้ได้ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะในการทำงานและเพื่อการศึกษา Qhubeka ไม่ได้จ่ายเงินเพื่อเป็นสปอนเซอร์ทีม แต่ทีมตั้งใจจะโปรโมทองค์กรและบริจาคเงินให้องค์กรไปหลายแสนยูโรในฤดูกาลที่ผ่านมา!” โดยรวมแล้วทีมนี้เป็นทีมที่ครบเลยครับ ทั้งเรื่องนักกีฬา เป้าหมายของทีมและเป้าหมายทางสังคม

 

DT: คุณมองระบบการสนับสนุนทีมอาชีพตอนนี้เป็นยังไงที่สปอนเซอร์ผ่านมาและผ่านไป ทีมยุบและตั้งใหม่เป็นเรื่องธรรมดา?

Phil: มันเป็นระบบที่แย่และไม่มั่นคงครับ มันไม่เหมือนกีฬาอื่นๆ อย่างฟุตบอลที่ทีมมีรายได้จากการเล่นในสนามของตัวเอง ผมว่ามันเป็นปัญหาที่ทุกคนในวงการต้องหาทางออกร่วมกันให้ได้เร็วๆ นี้ครับ

 

DT: นักปั่นคนไหนที่ Cervélo เคยสนับสนุนที่คุณชอบที่สุดครับ? ผมเคยสัมภาษณ์แดนเนียล ลอยด์ (พรีเซนเตอร์ GCN Show, อดีตนักปั่นทีม CSC) เขาบอกว่าจักรยานที่เขาชอบที่สุดคือ Orignial Cervélo S3!

Phil: จริงๆ แล้วผมยังมีจักรยาน Cervélo R3 Mud ของลอยด์อยู่เลย เราขี่ไซส์เดียวกัน

นักปั่นที่ผมชอบมากๆ ก็คงเป็น ธอร์ (ฮุชชอฟ — ตอนนี้รีไทร์แล้ว) เขาเป็นคนนักกีฬาที่น่าชื่นชมครับ ผมชอบทัศนคติของเขานะ ในตูร์ปีที่เขาชิงเสื้อเขียวกับมาร์ค คาเวนดิช เขารู้ว่าเขาไม่มีทางสปรินต์หน้าเส้นชัยได้เร็วเท่าคาเวนดิชแน่นอน แต่เขาก็ไม่อยากเสียเสื้อเขียว แทนที่ธอร์จะว้าวุ่น เขากลับใจเย็น มีสติและสร้างแผนใหม่ในการชิงเสื้อเขียวขึ้นมาเอง เขาเลยเบรคอเวย์ออกไปแทบทุกสเตจเพื่อเก็บแต้มสปรินต์กลางสเตจ ตัดแต้มคาเวนดิชทุกครั้งที่มีโอกาส แล้วสเตจพวกนี้ไมใช่สเตจโรลลิ่งธรรมดา บางสเตจเป็นสเตจภูเขาเลยด้วยซ้ำ

อีกคนคือคาร์ลอส ซาสเตร้ครับ (แชมป์ตูร์ 2008) เขาเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด แต่เราเห็นแววเขานานมากแล้วก่อนที่เขาจะได้แชมป์ว่าเขาต้องมีลุ้นรายการใหญ่แน่ๆ

ผมว่าทีมเราโชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับนักปั่นดีๆ หลายคนครับ แน่นอนนักปั่นบางคนก็เรียกร้องมากแต่นั่นคืออาชีพของเขา เขาต้องการอุปกรณ์ที่ดีที่สุด ที่เร็วที่สุด ที่จะได้เปรียบคนอื่นๆ

THOR HUSHOVD on STAGE THIRTEEN OF THE 2011 TOUR DE FRANCE
ธอร์ ฮุชชอฟ (Thor Hushovd) แชมป์โลกเสือหมอบปี 2010 จาก Garmin-Sharp

DT: ปีนี้สมาคมจักรยานอังกฤษ (British Cycling) เซ็นสัญญาจะใช้อุปกรณ์ของ Cervélo เป็นเวลา 5 ปี จนถึงโอลิมปิก 2020 ความร่วมมือนี้มันมีที่มาที่ไปยังไงครับ? (DT Note: ที่ผ่านมา British Cycling มี Pinarello เป็นสปอนเซอร์แต่ก็ผลิตจักรยานของตัวเองในการแข่งด้วย)

Phil: British Cycling (BC) เป็นองค์กรหัวก้าวหน้ามากครับ เขาบังคับให้นักปั่นทุกคนใช้อุปกรณ์ที่ดีที่สุดและเร็วที่สุด แน่นอนว่านักกีฬาของสมาคมหลายคนมีสปอนเซอร์จากทีมอาชีพของเขา ซึ่งเขาต้องใช้จักรยานของทีมแข่งตามสัญญา แต่ BC ไม่อนุญาตให้นักปั่นใช้จักรยานของสปอนเซอร์เลย (ต้องใช้จักรยานของ BC เอง) ยกเว้นนักปั่นที่ใช้ Cervélo อยู่!

เราค่อนข้างเซอร์ไพรส์กับการตัดสินใจของ BC ครับ นั่นหมายความว่าเขาเชื่อใจใน performance ของจักรยานเรามากกว่าแบรนด์อื่นๆ แล้วแนวคิดของเราก็ตรงกันด้วยในเรื่องนวัตกรรมและการอยากใช้อุปกรณ์ที่เร็วที่สุดในโลก มันเลยกลายมาเป็นความร่วมมือระหว่างเราและ BC เราเห็นหลายๆ อย่างตรงกันแล้วเราก็อยากจะพัฒนาเฟรมลู่ให้มันเร็วยิ่งกว่าเดิมครับ

นั่นหมายความว่า BC จะไม่ผลิตจักรยานของตัวเองแล้ว แต่จะร่วมมือกับ Cervélo ในการพัฒนาเฟรมลู่เจนใหม่ เป้าหมายของเราคือพัฒนาเฟรมรุ่นใหม่ให้ได้ก่อนโอลิมปิก 2020 ผมคิดว่าอีกปีสองปีเราคงได้เห็น prototype กันแล้วครับ

Cervelo British Cycling
British Cycling & Cervelo

.  .  .

DT Note: มีหลายคำถามที่เพื่อนๆ ฝากถามกันมาจาก Facebook Ducking Tiger โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบลวดลายจักรยาน Cervélo และเรื่องราคาที่สูง

เรื่องราคา ฟิลได้ตอบไว้ในพรีเซนเทชั่นก่อนหน้าที่ผมจะได้สัมภาษณ์เขา ซึ่งเขาตอบได้ชัดเจนครับ “ที่ Cervélo เราเชื่อว่าเราผลิตจักรยานที่ดี ประสิทธิภาพสูง และการทำจักรยานประสิทธิภาพสูงราคาไม่ถูก เราเลือกทำจักรยานแค่ไม่กี่แบบ (เสือหมอบ ลู่ และไตรกีฬา) แต่เราเลือกจะทำมันให้ดีกว่าใคร ถ้าจะให้เทียบกับวงการรถยนต์ เราอยากเป็นเหมือน Porsche ไม่ใช่ Lamborghini หรือ Ferrari ถ้าคุณดูยอดการผลิต Porsche ผลิตรถยนต์ปีละหลักแสนคัน แต่ Ferrari / Lambo ผลิตปีละไม่กี่พันคัน เราอยากให้รถประสิทธิภาพดีเข้าถึงนักปั่นให้มากที่สุด”

Cervélo ชัดเจนว่าเขาเป็นแบรนด์ระดับ High End ฟิลกล่าวว่า “Price is relative, Value is absolute” นั่นคือความคุ้มค่ามันขึ้นอยู่กับการให้ค่าของแต่ละคน แต่คุณค่าของสินค้านั้นเป็นเรื่องชัดเจน แน่นอนว่าสัดส่วนความคุ้มค่าต่อคุณค่าของแต่ละคนก็คงไม่เท่ากัน

ส่วนเรื่องสีและลวดลายผมไม่ได้ถาม เพราะดูจากหน้าที่ของ Phil แล้วเขาไม่ได้เข้าไปดูแลเรื่องรายละเอียดการผลิตมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว ไว้มีโอกาสได้คุยกับคนที่เกี่ยวข้องครั้งหน้าจะถามมาฝากครับ

Phil White Interview-1

ขอบคุณบริษัท Bike Zone ที่ทำให้การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยครับ

*  *  *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *