ในวงการดีไซน์ ไม่บ่อยนักที่นักออกแบบที่เป็น in-house ของบริษัทจะได้รับเครดิตในการออกแบบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ภาพที่เห็นมักจะเป็นภาพของสินค้าที่ออกมาสำเร็จรูปแล้ว น้อยคนจะรู้ว่าใครเป็นผู้ออกแบบ ในวงการจักรยานก็เช่นกันครับ
หลายคนคงจำจักรยาน Cervelo ชุดสีทีม MTN-Qhubeka ที่ใช้แข่งใน Tour de France ได้ดี ตอนที่เปิดตัวนี่เป็นที่ฮือฮามากเพราะสีสันสวยสุดๆ ครับ โชคดีที่มีการให้เครดิตผู้ออกแบบด้วย ชายคนนี้มีนามว่า Tom Briggs และเป็นโอกาสดีที่ Ducking Tiger จะได้ขอสัมภาษณ์ซะเลย
การออกแบบกราฟฟิคบนจักรยานมันมีกระบวนการยังไง อะไรคือแรงบันดาลใจเบื้องหลัง? มารู้จากปาก Senior Graphic Designer จาก Cervelo กันเองดีกว่าครับ!
* * *
DT – สวัสดีครับคุณทอม ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณมากที่สละเวลาในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ และเป็นเกียรติมากที่ได้พูดคุยกับคุณในครั้งนี้และเพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า…ช่วยเล่าประวัติในการทำงานของคุณคร่าวๆก่อนที่จะเข้ามาในวงการอุตสาหกรรมจักรยานหน่อยได้ไหมครับ?
TB – ผมเริ่มทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์เมื่อหกปีก่อนที่สตูดิโอเล็กๆในโตรอนโต ที่นั่นทำให้ผมเริ่มหลงรักการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับการกีฬา เราทำงานหลายชิ้นให้ Nike และ Red Bull รวมทั้งบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกีฬาอย่าง Moog Music
ช่วงเวลาเดียวกันนั้นผมก็เริ่มออกแบบนิตสารเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดขึ้นมา และนั่นแหล่ะที่ทำให้ผมตัดสินใจว่าผมอยากจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการกีฬานี่แหละ ประกอบกับผมเคยขี่จักรยานทำงานส่งเอกสารมาก่อนจะเริ่มทำงานออกแบบและจักรยานก็เป็นสิ่งที่ผมรัก ดังนั้นการมาได้ทำงานกับ Cervélo จึงเป็นอะไรที่ลงตัวสุดๆ
DT – ถ้าอย่างนั้นแปลว่าคุณเองก็ไม่ได้เริ่มจากการออกแบบในแวดวงจักรยานโดยตรงแต่แรก อะไรเป็นจุดพลิกที่ทำให้คุณเข้ามาสู่วงการอุตสาหกรรมจักรยาน?
TB – ถูกต้องนะคร้าบ! ผมไม่ได้เริ่มจากวงการจักรยานตอนที่ผมเริ่ม และผมก็ยังไม่คิดว่าตัวเองเป็น ‘นักออกแบบจักรยาน’ นะ ผมคิดว่าตัวเองเป็นนักออกแบบกราฟิกที่ทำทุกอย่างตั้งแต่จักรยานไปจนถึงนิตยสาร ผลิตภัณฑ์อื่น รวมทั้งวีดีโอก็ด้วย ผมค่อนข้างทำงานหลายอย่างแต่ตอนนี้งานหลักของผมก็คือ การออกแบบกราฟิกบนจักรยานของ Cervélo และนั่นคือความสนใจหลักในตอนนี้
ผมคิดว่าการที่ผมพลิกผันมาลงเอยกับวงการอุตสาหกรรมจักรยานมาจากการที่ผมมีความหลงใหลในจักรยานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมเคยทำวีดีโอเกี่ยวกับจักรยานที่ชื่อว่า The Revival เมื่อปี 2009 นั่นช่วยสร้างพื้นที่ให้ผมในอุตสาหกรรมนี้ ผู้คนชอบวีดีโอตัวนั้น และนั่นเป็นแรงผลักต่อความหลงใหลให้ผมมาสู่จุดที่ทำเป็นอาชีพได้
DT – จากงานเก่าๆที่คุณทำมาทั้ง Moog, Redbull, Nike, และ Specialized คุณคิดว่านั่นช่วยเป็นแรงผลักให้คุณก้าวมาทำในสิ่งที่ใหญ่ขึ้นในชีวิต ในการมาทำที่ Cervélo หรือเปล่า?
TB – ประสบการณ์จากการทำงานให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ช่วยนำทางผมมาสู่ Cervélo เลยก็ว่าได้ ผมคิดว่ามันมีแรงผลักดันที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมนี้และการที่ผู้คนมองมายังวงการจักรยานและพูดถึงมัน ผมอยากทำงานใหม่ที่แตกต่าง และให้มุมมองที่ต่างไปจากที่จักรยานจะสามารถเป็นได้ การทำงานให้กับลูกค้าอย่าง Nike และ Moog ทำให้คุณต้องมองว่าคุณจะทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไรในการตลาดที่มันมีความจำเพาะและเป็นที่รู้จักจากผู้คนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และผมนำวิธีคิดแบบเดียวกันนั้นมาใช้กับที่ Cervélo
ผมอยากทำงานใหม่ที่แตกต่าง และให้มุมมองที่ต่างไปจากที่จักรยานจะสามารถเป็นได้
DT – แล้วอย่างนี้คุณเริ่มจากการตำแหน่ง Lead Graphic Designer ที่ Cervélo เลยหรือเปล่า หรือ ทำตำแหน่งอื่นมาก่อน?
TB – ตอนที่มาทำที่ Cervélo ผมเริ่มจากตำแหน่ง Graphic Designer ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นแค่ Graphic Designer นะ และตอนนี้ผมเป็น Senior Graphic Designer ในทีมซึ่งมี 3 คน ผมจะเป็น Lead Graphic Designer ต่อเมื่อมีงานที่เราทั้งสามคนต้องมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด
DT – หน้าที่รับผิดชอบของ Senior Graphic Designer ที่ Cervélo มีอะไรบ้าง?
TB – หน้าที่หลักของ Senior Graphic Designer ที่นี่ก็ รับผิดชอบงานกราฟิกทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการออกแบบลาย โทนสี บนจักรยานทั้งหมด แต่ผมก็จะมีส่วนในเรื่องของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วย รวมทั้งบางครั้งก็มีส่วนช่วยในส่วนของฝ่ายการตลาดบ้าง อย่างเช่น การถ่ายรูปหรือการทำวีดีโอให้กับ Cervélo ผมรับผิดชอบงานกราฟฟิคของจักรยานทุกรุ่นที่แบรนด์เราผลิต
DT – ในโมเดลของแต่ละปี Cervélo มีคอนเซ็ปในการออกแบบใหม่ตลอดหรือไม่? แล้วมีการพูดคุยระหว่างฝ่ายต่างๆในเรื่องแนวความคิดหรือไม่? แล้วคุณมีส่วนรับผิดชอบในหน้าที่ด้วยหรือเป็นคนอื่น?
TB – โดยปกติแล้ว Cervélo ไม่ได้มีรอบออกโมเดลใหม่หรือลายใหม่ทุกๆ ปี (Model Year) เราจะออกเมื่อเรารู้สึกว่ามันถึงเวลา หรือ เมื่อเรามีสิ่งใหม่ๆที่จะเพิ่มเข้าในตลาด แต่ถ้าในส่วนของกราฟิกก็จะขึ้นตรงกับผมเองคอนเซ็ปจะมาจากผมเองหลังจากได้ผ่านการพูดคุยถึงทิศทางของสินค้าตัวใหม่กับ Product Manger และ Marketing Manger แล้ว ซึ่งบางครั้งก็จะรวมถึงทีมวิศวกร และ Project Manager ด้วย
ถ้าสินค้านั้นเป็นตัวใหม่ทั้งหมด โดยปกติสินค้าของเราจะถูกกำหนดรอบจาก Product Manger โดยหลังจากที่ผมมีกรอบความคิดของกราฟิกซักชุดนึง ผมก็จะเอาไปประชุมกับ Product Manager และ Marketing Manager เพื่อพูดคุยถึงทิศทางของมัน บางครั้งก็ผ่านอนุมัติให้นำไปทำได้เลย บางครั้งก็ต้องรอการเปลี่ยน เมื่อได้งานออกแบบที่พร้อมแล้วเราก็จะส่งไปที่โรงงานโดยคราวนี้ผมก็จะทำงานร่วมกับ Project Manager เพื่อที่จะมั่นใจว่างานกราฟิกที่ทำไปนั้นจะถูกนำไปผลิตอย่างถูกต้องและตรงกับมาตรฐานของเรา
DT – หลังจากชุดแพคเกจกราฟิกได้ถูกส่งไปในสายการผลิตแล้ว คุณยังต้องตรวจสอบตัวอย่างการผลิตที่ทำเสร็จแล้วตอนส่งมาที่สำนักงานใหญ่ของ Cervélo หรือเปล่า? แล้วถ้ามันไม่เหมือนอย่างที่คุณออกแบบไป หรือมีอะไรที่ทำให้คุณยังไม่พอใจ คุณจะทำอย่างไรกับปัญหานี้?
TB – เมื่อชุดแพคเกจกราฟิกถูกส่งไปที่โรงงานแล้ว เราก็จะมีการสร้างตัวอย่างขึ้นมา โดยปกติผมก็จะปรับปรุงแก้ไขบ้างอีกเล็กน้อยเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด บางครั้งก็เป็นเรื่องของความสวยงามล้วนๆ เช่นผมไม่ชอบลักษณะอะไรบางอย่าง หรือสีไม่ถูกต้อง หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องเฉพาะทางเทคนิคที่เกิดขึ้น ก็บังคับให้เราต้องปรับเปลี่ยนเหมือนกัน ซึ่งจากการปรับทั้งหมดนั้นจะเป็นการทำงานร่วมระหว่างผมและทีมควบคุมคุณภาพการผลิตของ Cervélo เองที่จะเป็นคนดูที่ตัวเฟรม
ฝ่ายควบคุมการผลิตจะเป็นคนดูจุดบกพร่องต่างๆที่เกิดขึ้นจากการทำสี หากมีก็จะส่งกลับไปโรงงานเพื่อทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องของการทำสี จะมีคนที่ต้องทำงานร่วมกันสามคนคือ ผม, project mager, แล้วก็คนจากฝ่ายควบคุมการผลิต เราทำงานด้วยกันได้ดีกับโรงงานมาโดยตลอด และสามารถแก้ไขปัญหาลายกราฟิกมาได้เสมอ โดยมากเราจะทำงานกันที่สำนักงานใหญ่ในแคนาดา แต่บางครั้งเราก็บินไปที่โรงงานเพื่อทำงานร่วมกับพวกเขาได้โดยตรง
DT – แล้วอย่างโปรทีมล่ะ คุณได้มีการพูดคุยกับทางทีมเรื่องกราฟิกบนตัวรถก่อนหรือไม่ หรือคุณสามารถตัดสินใจเองได้เลยแล้วค่อยส่งให้ทางทีมดู
TB – เวลาที่ทำงานร่วมกับโปรทีมต่างๆ ผมพยายามจะพูดคุยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะผมอยากข้าใจจุดมุ่งหมายและแรงผลักดันของทีม แล้วนำมันมาแปลเป็นชุดรูปแบบของกราฟิกที่สามารถสื่อถึงตัวตนของพวกเข้าได้อย่างครบที่สุด ขั้นตอนนี้ทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการคุยผ่านอีเมล์ หรือ การคุยต่อหน้า แต่ไม่ว่าจะวิธีไหนก็ต้องให้เข้าใจความรู้สึกและตัวตนของทีม นั่นคือสิ่งสำคัญในขั้นตอนของการออกแบบลายคัสตอมต่างๆ MTN-Qhubeka คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในตอนนี้ ผมพยายามเข้าใจในทุกๆอย่างของทีม การเกิดทีมนี้ขึ้นมา อะไรที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังในการทำทีมนี้ขึ้นมา แล้วก็ทำงานจากตรงจุดนั้นนำมันมาแปลใส่ลงไปในแง่มุมต่างๆของชุดรูปแบบลาย
ผมอยากเข้าใจจุดมุ่งหมายและแรงผลักดันของทีม แล้วนำมันมาแปลเป็นชุดรูปแบบของกราฟิกที่สามารถสื่อถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างครบที่สุด
DT – อย่างนี้กับนักปั่นที่มีรถคัสตอมของตัวเองอย่าง Edvald Boasson Hagen, Dave Mirra, P5 ของแชมป์โลก Frederik Van Lierde และคนอื่นๆ คุณใช้วิธีไหนในการออกแบบให้ลายสื่อถึงตัวตนของพวกเขา คุณหาแรงบันดาลใจจากไหนครับ?
TB – เมื่อต้องออกแบบรถที่เป็นเฉพาะสำหรับบุคคล มันเป็นความท้าทายอย่างมากเพราะคุณต้องออกแบบงานที่สามารถสื่อได้ทั้งตัวนักปั่นเองและสื่อถึง Cervélo ด้วยในเวลาเดียวกัน มันยากที่จะทำให้มันสมดุลทั้งสองฝ่าย แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าควรจะชี้ประเด็นสำคัญในงานออกแบบไปที่อะไรคือแรงจูงใจของนักปั่นคนนั้นๆ ผมจะพูดคุยกับพวกเขาก่อนว่าพวกเขาเคยผ่านอะไรมาบ้าง การฝึกซ้อม แรงจูงใจ รวมทั้งความหลงใหลต่อกีฬานี้ บางครั้งมันก็ได้ผลที่ดี บางครั้งก็ไม่ได้ผล แต่ผมก็พยายามถามคำถามพวกเขาให้ได้มากที่สุดเพื่อที่ผมจะได้เข้าใจว่าอะไรคือตัวตนของพวกเขาและนำมันมาเป็นคอนเซ็ปในการออกแบบ มันฟังดูยากแต่ยังไงแล้วบรรดานักปั่นที่ผมเคยร่วมงานด้วยรวมทั้งคนที่คุณพูดถึงมาพวกเขาต่างก็ชอบเฟรมหนึ่งเดียวของพวกเขาเอง
DT – จากที่คุณบอกว่าคุณก็ทำวีดีโอได้ แปลว่าคุณเองก็ต้องทำใส่ส่วนของวีดีโอนำเสนอให้ทาง Cervélo ด้วยหรือไม่?
TB – ในส่วนของงานวีดีโอเป็นแค่ส่วนย่อยในงานของผมซักประมาณ 20% มั้ง ส่วนการถ่าย การตัดต่อ การใส่เสียง กราฟิก และอื่นๆในขั้นตอนการทำวีดีโอตัวนึง ตัวอย่างเช่นวีดีโอ The Kona ที่พวกเราไปถ่ายทำกันที่งานแข่ง Ironman World Championships เมื่อปี 2014 วีดีโอตัวนั้นเราทำกันโดย ผม กับโปรดิวเซอร์ที่ชื่อ David Byer ที่ก็ทำงานอยู่กับ Cervélo เช่นกัน วีดีโอตัวนั้นเราทำทุกอย่างกันเสร็จสิ้นโดยใช้คนเพียงแค่สองคนเท่านั้น
DT – แล้วจากจุดเริ่มต้นในการทำงาน คุณเคยคิดไหมว่าจะมาไกลจนมายืนอยู่ตรงจุดนี้ มีงานที่เป็นที่รู้จักอยู่บนจักรยานของโปรทีม มีเฟรมคัสตอม รวมทั้งถูกเอ่ยถึงจากสื่อต่างๆ
TB – ผมฝันมาตลอดนะที่จะได้ทำงานอย่างที่ผมทำอยู่ตอนนี้ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมาก ผมต้องทำงานหนักอย่างมากเป็นมาอยู่ตรงจุดนี้ และมันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณสามารถไปถึงจุดมุ่งหมายของคุณได้ถ้าคุณตั้งใจจะทำมันจริงๆ
* * *
เรื่องส่วนตัว
DT – จากงานของคุณมันแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นผู้มีความหลงใหลในจักรยานเป็นอย่างมาก อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณชอบจักรยาน?
TB – ผมรู้สึกว่าจักรยานเข้ามามีส่วนผูกพันกับชีวิตผมมาโดยตลอด ตั้งแต่ผมอายุ 14 พ่อได้ซื้อจักรยานเสือภูเขาให้ผมเป็นของขวัญวันเกิด มันเป็นของ GT รุ่น Arrowhead สีเขียว/ขาว นั่นเป็นจักรยานที่เป็นจักรยานจริงๆคันแรงในชีวิตของผม ช่วงเวลานั้นผมอยู่ที่เมืองซานติอาโก ในประเทศชีลี มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับผมในการเรียนภาษาสเปน
ผมไม่ได้มีเพื่อนมากมายนักที่โรงเรียน และนั่นทำให้เวลาส่วนใหญ่หลังเลิกเรียนผมจึงกลับบ้าน กลับมาขี่จักรยานไปบริเวณเขาแถวๆบ้าน ซึ่งนั่นคือครั้งแรกที่ผมได้ออกไปจากย่านที่พักด้วยตนเองโดยไม่ได้มีพ่อแม่ไปด้วย มันเป็นความรู้สึกอิสระที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เป็นความรู้สึกที่ดีมากและผมเชื่อว่าผมจะไม่มีวันลืมความรู้สึกนั้นไปได้ สำหรับผมแล้วจักรยานยังมีความหมายทั้งการออกไปเจอที่ใหม่ การพัฒนาตัวเองในการเป็นนักปั่น ทั้งเรื่องความฟิตของร่างกาย การมีเทคนิคพิเศษ หรือ ทักษะการควบคุมรถ ที่จะทำให้คุณเป็นนักปั่นที่ดีขึ้นด้วยองค์ประกอบใหม่ๆ
DT – แล้วจักรยานคันแรกที่คุณซื้อด้วยตัวเองล่ะ เป็นจักรยานประเภทไหน มีประสบการณ์อะไรกับคันนั้นบ้าง?
TB – จักรยานคันแรกที่ผมซื้อเองเป็น DMR Sidekick ปี 2001 เป็นเสือภูเขา hardtail ตอนนั้นผมทำงานที่ร้านสกี เก็บเงินแล้วก็ไปซื้อมันมา แต่พอซื้อมาแล้วเงินก็ไม่ได้พอซื้อส่วนอื่นๆให้มันเป็นคัน เพื่อนผมสองคนก็เลยให้ชิ้นส่วนที่พวกเค้าไม่ได้ใช้แล้วมาเยอะแยะมากพอที่จะประกอบเป็นคันได้ ผมยังจำทริปแรกของพวกเราได้ดี พวกเราไปกันที่ Canada Olympic Park ที่เมือง Calgary รัฐ Alberta ตอนนั้นผมมาอยู่ที่เมือง Edmonton ในรัฐ Alberta แล้ว พวกเราขับรถไปกันและมีเงินแค่ค่าน้ำมัน คืนนั้นเราก็เลยนอนกันใกล้ๆเก้าอี้เลื่อนที่สนามหญ้าแถวๆนั้นแหล่ะ รอเวลาเปิดในวันรุ่งขึ้น ตอนนั้นผมน่าจะอายุซัก 16-17 ปีได้ แล้วผมก็รู้ตัวนับจากวันนั้นว่าผมนี่เสพติดการปั่นจักรยานเอามากๆ ยอมทำทุกอย่างเพื่อนให้ได้ปั่นจักรยานของตัวเอง
DT – ถ้าอย่างนั้นแล้วคุณมีเฟรมที่คุณชอบเป็นการส่วนตัวไหม? ทำไมถึงชอบ? แล้วจักรยานที่คุณชอบมากที่สุดล่ะ?
TB – นี่เป็นคำถามที่ยากนะ ผมมีจักรยานที่ชอบหลายคันมาก แต่ผมจะตอบเพื่อเป็นการให้เกียรติกับ Cervélo จักรยานที่ผมชอบและอยากทำงานบนตัวจักรยานคันนั้นคือ Cervélo P5 เพราะพื้นผิวที่มีพื้นที่เยอะ มันเป็นความฝันของนักออกแบบเลยล่ะ รวมทั้งยังมีลักษณะพิเศษอยู่มากมาย ในความคิดผมแล้วด้วยองค์ประกอบทั้งหมดนั่นแหล่ะเลยยิ่งทำให้อะไรมันดียิ่งขึ้น
จักรยานที่เป็นอันดับ 1 ในความทรงจำของผมที่เคยทำงานออกแบบไว้ก็น่าจะเป็นรถของ Frederik Van Lierde มันเป็นรถจักรยานคันแรกที่ผมได้ออกแบบกราฟิกจริงๆแล้วมันยังออกมาอย่างที่ผมอยากให้มันเป็นอีกด้วย รถของ MTN-Qhubeka ก็น่าจะตามมาติดๆเป็นอันดับสองนะ ตอนเห็น Daniel Teklehaimanot ปั่นออกจากจุดออกตัวของ Tour de France ปีนี้ มันเป็นสิ่งที่เหนือไปกว่าอะไรที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นในอาชีพของผมแล้ว
DT – แล้วคุณมีความทรงจำที่ดีอะไรเกี่ยวกับการปั่นจักรยานบ้าง?
TB – ส่วนตัวแล้วการปั่นจักรยานมันเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก มันทำให้ผมได้ออกไปเจอสิ่งใหม่ๆนอกย่านที่พักตั้งแต่ตอนอายุ 14 และทำให้ผมได้ไปเจออะไรทั่วโลกในฐานะ graphic designer แต่ถ้าถามถึงประสบการณ์ที่ดีที่สุด ผมว่าตอนที่ผมขับรถไปเที่ยวกับเพื่อน กับครอบครัว ได้ไปพบเจอสิ่งใหม่กับคนที่เราโปรดปราน
เรื่องที่อยู่ในความทรงจำของผมเกิดขึ้นเมื่อสองสามปีก่อนที่ได้ไปขี่จักรยานที่ประเทศคิวบากับพ่อของผมเอง การได้ไปเจอประสบการณ์กับวัฒนธรรมในประเทศใหม่ๆกับชายคนที่เริ่มทำให้ผมชอบจักรยานมันวิเศษสุดๆ ปกติพ่อผมจะชอบจักรยานยนต์มากกว่า มันเลยพิเศษตรงที่ผมพาเค้ามาขี่จักรยานเหมือนที่ผมขี่แล้วเราก็ปั่นไปด้วยกันรอบๆคิวบา
DT – ใกล้จะคำถามสุดท้ายแล้ว จากมุมมองของคุณคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมจักรยาน คุณคิดว่าอนาคตของจักรยานจะเป็นอย่างไร มันจะไปในทิศทางไหน?
TB – มันเป็นคำถามที่ยากที่สุดมาโดยตลอดที่จะตอบ ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ที่รอบรู้ในวงการนี้สักเท่าไร แต่ผมจะตอบในด้านของกราฟิกก็แล้วกัน ผมว่าตอนนี้เราเข้ามาอยู่ในยุคที่จักรยานเป็นทั้งกีฬาและไลฟ์สไตล์ ที่ความต้องการเป็นเหมือนเสียงสะท้อนในแต่ละระดับของผู้คน การดูแลในระดับพิเศษ หรือ การทำให้พิเศษเฉพาะบุคคล มันมีอยู่ที่ในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งมันจะทำให้การจัดเตรียมที่จะตอบสนองในอุตสาหกรรมนี้จะน่าสนใจมากขึ้น รวมทั้งผู้บริโภคปกติก็จะมีตัวเลือกมากขึ้นในการเลือกสิ่งที่ตรงกับตัวตนของเขาผ่านลายกราฟิกบนตัวรถ ผมคิดว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังมาไกลมากกว่าที่เราเห็นมัน ตัวอย่างชัดๆก็อย่าง Project One ของ Trek นั่นแหล่ะเราจะได้เห็นบริษัทต่างๆตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเหล่านั้น
ผมว่าตอนนี้เราเข้ามาอยู่ในยุคที่จักรยานเป็นทั้งกีฬาและไลฟ์สไตล์ ที่ความต้องการเป็นเหมือนเสียงสะท้อนในแต่ละระดับของผู้คน
DT – สุดท้ายแล้วคุณมีอะไรอยากบอกคนอ่านมั้ยครับ?
TB – อย่างแรกเลยผมขอขอบคุณสำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ มันเป็นเกียรติมากที่ได้รู้ว่ามีผู้คนสนใจงานของผมแม้จะอยู่ไกลถึงประเทศไทยก็ตาม ผมหวังว่าซักวันจะมีโอกาสได้ไปประเทศของคุณแล้วพวกเราจะได้ไปปั่นจักรยานด้วยกัน
DT – ผมต้องขอขอบคุณมากสำหรับเวลาที่เสียสละให้เรา หวังว่าเราจะได้เห็นผลงานชิ้นใหม่ๆของคุณในเร็วๆนี้ และหวังว่าเราจะมีโอกาสได้พูดคุยกันอีก ขอบคุณครับ
* * *
การสัมภาษณ์ผ่านไปด้วยดี ผมได้เห็นมุมมองใหม่ๆจากคนที่ทำงานในสายอาชีพเดียวกันกับตัวผมเอง นั่นคือกราฟิกดีไซเนอร์ ทอมเริ่มจากเอาอาชีพที่เขาทำไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นความหลงใหลของตัวเอง จนทำให้เขามายืนอยู่ตรงนี้ กราฟิกดีไซเนอร์ชาวแคนาดาที่สร้างงานอันน่าตื่นตาตื่นใจหลายชิ้นและเราหวังว่าจะได้เห็นงานกราฟฟิคบนจักรยานสวยๆ จากเขาอีกในอนาคตเร็วๆ นี้ครับ
Image Courtesy : Tom Briggs
About : http://www.tombriggsdesign.com