ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องชนะ: ชีวิตของเชน อาชโบลด์ ผู้ช่วยมือหนึ่งจาก Bora-Hansgrohe

“คนข้างหลัง” เป็นบทบาทที่เราไม่มีโอกาสได้เข้าถึงหรือไม่ได้รู้จักอะไรมากมาย แต่ในแทบทุกกีฬาที่เป็น team sport แชมป์เปี้ยนชื่อดังมากมายที่เรารู้จักก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ถ้าไม่มีผู้ช่วยเหล่านี้คอยหนุนหลังอยู่

เดือนนี้ Ducking Tiger มีโอกาสได้พบกับเชน อาชโบลด์ (Shane Archbold) นักปั่นอาชีพจากทีม Bora-Hansgrohe ซึ่งสารภาพตามตรงว่าเคยได้ยินชื่อแต่ก็ไม่เคยติดตามผลงานหรือรู้เรื่องราวของเขามากมายนักเช่นกันครับ

เชนเป็นนักปั่นชาวนิวซีแลนด์ และเป็นเพื่อนสนิทกับโค้ช มาร์ค ไรอัน อดีตนักปั่นอาชีพเจ้าของผลงานแชมป์โลก ทีมเปอร์ซูต์ในปี 2015 ที่เราเคยสัมภาษณ์ไป

ปัจจุบันเชนรับหน้าที่เป็นลีดเอาท์ หรือคนที่ช่วยลากนำสปรินเตอร์ของทีมขึ้นสปรินต์ที่หน้าเส้นชัย และผลงานล่าสุดของเขาคือพาแซม เบนเน็ต หนึ่งในสปรินเตอร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในฤดูกาลนี้ คว้าชัยชนะสองสเตจใน Vuelta a Espana

เชนบอกเล่าเรื่องราวของการเป็นนักปั่นอาชีพในฐานะผู้ช่วยของทีม ตำแหน่งที่ไม่ได้หวังชัยชนะส่วนตัว หากแต่ยินดีกับความสำเร็จของเพื่อน ในแง่มุมที่เราอาจจะไม่เคยได้เห็นมาก่อนครับ

1. จักรยานเลือกผม

หลังจากจบการศึกษากับทีมชาติจักรยานลู่นิวซีแลนด์ เชนก็เทิร์นโปรเป็นนักปั่นอาชีพ ไต่ลำดับจากทีมระดับดิวิชันสาม และไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้ขึ้นมาอยู่กับทีมที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่าง Bora-Hansgrohe เขาเริ่มชีวิตนักปั่นอาชีพกับทีม An Post-Chain Reaction ในปี 2013-2014 และจากนั้นก็เข้าสังกัด Bora-Argon 18 ในปี 2015-2017 ก่อนจะไปอยู่กับ Aqua Blue Sport (ทีมที่ใช้จักรยานที่มีจานหน้าใบเดียวนั่นหละครับ) ในปี 2018 และกลับมาสังกัด Bora อีกครั้งในปี 2019 เรียกได้ว่าผ่านทีมมาแล้วทุกระดับ แต่อะไรที่ทำให้เขาอยากจะเป็นนักปั่นอาชีพ?

“พูดตามตรง ผมไม่ได้เลือกอาชีพนี้ จะบอกว่ามันเลือกผมจะผิดไหมนะ คือผมเติบโตมาจากการเป็นนักปั่นจักรยานลู่ โตมากับมาร์คนี้แหละครับ เราเกิดเมืองเดียวกัน ก็เข้าสู่ระบบทีมชาติเหมือนๆ กัน ถึงเราจะเป็นทีมชาติ แต่ผมไม่คิดเลยนะว่าผมจะได้เป็นนักปั่นอาชีพ มันไม่ง่ายอย่างนั้นครับ มันเป็นความฝันของผม และเมื่อมีโอกาสยื่นมาผมก็รีบคว้าเลย”

 

2. ความหมายของการเป็นคนเบื้องหลัง

ในฐานะนักปั่นผู้ช่วย เชนเองไม่มีโอกาสได้โชว์ศักยภาพในการคว้าชัยชนะมากนัก ปีนี้เป็นปีที่ห้าที่เขาเป็นนักปั่นอาชีพ และเป็นปีแรกที่เขาได้มีผลงานชัยชนะ เป็นสเตจหนึ่งในรายการ Czech Cycling Tour

นักปั่นผู้ช่วยหลายคนอาจจะแข่งทั้งชีวิตโดยไม่มีชัยชนะอะไรเลย แล้วสำหรับผู้ช่วยการได้ชนะสักหนึ่งครั้งมันมีความหมายอะไร?

“ผมแข่งมาห้าปีแล้วและนี่เป็นชัยชนะครั้งแรก มันไม่ใช่รายการใหญ่อะไรครับ ผมก็ดีใจนะ แต่ผมว่ามันไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับอาชีพผมเท่าไร”

“เหตุผลที่ผมชอบกีฬาจักรยานก็เพราะมันไม่ใช่กีฬาที่ทีมสำคัญกว่าปัจเจก เพราะงั้นในทุกๆ สนามที่ลงแข่งทุกคนมีหน้าที่ๆ ต้องทำ มันไม่ใช่ว่าสนามนี้ทีมเรามีแปดคนแล้วเราต่างขี่ใครขี่มัน ซึ่งมันเป็นจุดที่ผมสบายใจนะ ผมไม่ได้มีโอกาสได้คว้าชัยชนะเองบ่อยนัก พอมันมีโอกาสก็ต้องรีบคว้าไว้ครับ ผมหวังว่ามันจะไม่ใช่ชัยชนะสุดท้าย แต่ก็อย่างที่บอก ผมชอบการช่วยเหลือคนอื่นและทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุดมากกว่าต้องเอาชนะ”

“หน้าที่ของผมในทีมก็คือเป็นลีดเอาท์ให้กับแซม เบนเน็ต สปรินเตอร์ตัวหลักของทีมเรา มันไม่ใช่งานที่ง่ายนัก แต่มันก็เป็นงานที่ผมทำได้ดีที่สุด”

3. วันที่แย่ที่สุด

หนึ่งในคำถามที่เราชอบถามนักปั่นอาชีพที่เราได้พบเจอก็คือ “วันที่เขาคิดว่ายากที่สุดในการปั่นจักรยาน” เพราะแต่ละคนเจอโจทย์ที่ท้าทายไม่เหมือนกันและมีอะไรหลายอย่างที่เราเรียนรู้ได้จากนักกีฬาระดับโลกแบบเชน

“วันที่ยากที่สุดของผมคือในสเตจ 16 Tour de France ปี 2016 ครับ มันเป็นสเตจที่ผมล้มคว่ำก่อนถึงเส้นชัยนิดเดียว ซึ่งผมเจ็บพอสมควรถึงจะไม่มีอะไรแตกหัก แต่ก็ทำให้แข่งต่อไม่ได้ ต้องถอนตัวในวันรุ่งขึ้น”

“เหลืออีกแค่ 5 สเตจก็จะจบการแข่งขัน สเตจที่ยากที่สุดก็ผ่านไปแล้ว ผมมั่นใจว่าผมต้องแข่งจบแน่ๆ แต่ก็ไม่จบ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ 3 ปีต่อมาผมก็ยังไม่ได้กลับไปแข่ง Tour de France อีกเลย”

“คุณต้องเข้าใจว่าปั่นให้จบแกรนด์ทัวร์มันก็เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งนะ เราชมทางทีวีอาจจะเห็นว่านักกีฬาส่วนใหญ่ก็แข่งจบดูไม่ได้เหนื่อยยากอะไร แต่ไม่ใช่เลยครับ ทุกๆ คนอยากแข่งแกรนด์ทัวร์ แล้วในฐานะผู้ช่วยอย่างผมที่คุณไม่สามารถชนะด้วยตัวเองได้ การได้แข่งจบ (Finishing) ก็เป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจเราชุ่มชื้น มันเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งนะ”

“ปีนี้ผมแข่งจบ Vuelta a Espana และทีมก็ชนะหลายสเตจด้วย โดยเฉพาะที่แซมได้แชมป์สองสเตจ บอกได้เลยว่ามันคือไฮไลท์ของฤดูกาลนี้สำหรับผม แซมได้ที่สองถึงสี่ครั้ง แต่เรารู้ว่าเขาเป็นนักปั่นที่เร็วที่สุดในสนามนี้ มันก็น่าหงุดหงิดไม่น้อย เพราะงั้นการได้แชมป์สองครั้งจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ สำหรับผมและทีมครับ”

“แต่วันที่ผมสนุกและดีใจที่สุดก็มีนะ แต่มันไม่ใช่ในสนามถนน ผมได้แชมป์ Common Wealth Game ในสนามลู่ปี 2014 ครับ เป็นการแข่งให้ทีมชาติและมันเป็นชัยชนะที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมเลย เพราะการได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ สำหรับผมมันมีความหมายมากกว่าการได้ชัยชนะให้ทีมอาชีพที่เราสังกัด”​

 

4. ชีวิตของลีดเอาท์

ลีดเอาท์ทำหน้าที่อะไร? ที่ความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงท่ามกลางนักปั่นนับร้อยที่อยู่ห่างกันแค่คืบเดียว และทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก นักปั่นคิดอะไรและทำอะไรบ้าง? เราถามเชนง่ายๆ ว่าในห้ากิโลเมตรสุดท้ายในสเตจทางราบของแกรนด์ทัวร์ หน้าที่ของเขาคืออะไร?

“ห้ากิโลเมตรสุดท้ายในสเตจสปรินต์….มันเป็นช่วงเวลาที่เครียดที่สุดในการแข่งขันก็ว่าได้ ต้องใช้ประสบการณ์เยอะ ผมใช้เวลาหลายปีกว่าจะมาถึงจุดที่ใจเย็นและอ่านสถานการณ์ได้อย่างมีสติมากขึ้น”

“สิ่งแรกที่คุณต้องทำให้ดีคือ คุณต้องจำทุกโค้ง ทุกถนน ทุกรายละเอียดของช่วงสุดท้ายของสเตจให้ได้ เพราะมันจะทำให้คุณได้เปรียบในการหาตำแหน่งให้สปรินเตอร์ของคุณ ที่ความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือมากกว่า ทุกรายละเอียดที่ทำให้คุณแซงคู่แข่งได้แค่เซนติเมตรเดียวมีผลต่อชัยชนะ แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้คุณต้องปั่นมาเกือบสองร้อยกิโลเมตร ซึ่งมันก็ไม่ง่ายที่จะจำอะไรๆ ได้เพราะมันก็เหนื่อยมาหลายชั่วโมงแล้ว”

“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องใจเย็น และปล่อยให้เกมมันไหลไปตามสถานการณ์ ถ้าคุณใจเย็นพอคุณจะหาช่องสร้างโอกาสได้เอง”

“ทีมเราจะตั้งขบวนมาสักระยะแล้ว ก็ต้องดูว่าทีมอื่นส่งใครสปรินต์บ้าง ขบวนพวกเขาเป็นยังไง ถ้าคุณแข่งมานานพอคุณจะรู้สไตล์ของแต่ละทีม บางทีมก็ไม่ควรอยู่ใกล้ บางทีมก็ชอบขึ้นนำก่อน ต้องเข้าใจเกมเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้เพื่อหาความได้เปรียบให้ทีมเราเอง”

“ถึงสองกิโลเมตรสุดท้ายเราจะไม่พูดอะไรกันหรอก คนเยอะขนาดนี้ ความเร็วขนาดนี้ ไม่มีใครได้ยินอะไรทั้งนั้น พูดได้แค่ YES NO GO STOP คือเราวางแผนกันตั้งแต่ก่อนแข่งแล้วว่าวันนี้จะทำยังไง ถึงเวลาทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ตัวเองและไว้ใจเพื่อนร่วมทีมว่าเขาจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุด”

5. โปรที่ไม่ได้คลั่งอุปกรณ์

อีกหนึ่งคำถามที่เราชอบถามโปรเมื่อมีโอกาสคือเรื่องทัศนคติของเขาต่ออุปกรณ์ที่ใช้ สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่รู้คือโปรจำนวนมากไม่ได้แคร์เรื่องอุปกรณ์ขนาดนั้น หรือในระดับเดียวกับมือสมัครเล่นที่ชอบเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีจักรยานต่างๆ คอยตามอ่านรีวิวและอัปเดตใหม่ๆ แต่บางคนก็ละเอียดกับสิ่งที่ตัวเองใช้มาก แล้วเชนเป็นนักปั่นแบบไหน?

“เอาจริงๆ เลยคือผมไม่สนใจเรื่องอุปกรณ์เลยครับ ตั้งแต่เด็ก มาร์คจัดการให้ผมทุกอย่าง ผมเปลี่ยนคลีทเองยังไม่เป็นเลย ยกเว้นว่าถ้ามีอะไรเสียหรือพังผมค่อยใส่ใจมัน”

“ทีมเรามีจักรยานให้เลือก 2 รุ่นคือ Specialized Tarmac และ Venge ผมเองปั่น Tarmac เกิน 60% ของรถที่ใช้แข่ง เพราะมันนิ่มสบายครับ พอคุณเป็นนักปั่นอาชีพ เวลาส่วนใหญ่ของคุณอยู่บนจักรยาน เพราะงั้นถ้ามันสะท้านมันก็ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า”

“แต่ผมจะใช้ Venge (เสือหมอบแอโร) ในสนามที่ผมต้อง “ทำงานหวังผล” มันเป็นรถที่เร็วกว่า Tarmac แบบรู้สึกได้ มันพิเศษเลยล่ะครับ ผมจะใช้ Venge ในวันที่เราต้องสปรินต์และแซมมีโอกาสชนะ”

“ส่วนเรื่องดิสก์เบรก ปีที่แล้วผมไม่ชอบ (ปีที่แล้วเขาอยู่กับทีม Aqua Blue Sport และใช้จักรยาน 3T Strada) เท่าไร แต่ปีนี้ผมว่าผมไม่อยากกลับไปใช้ริมเบรกแล้ว โอเคมันก็มีส่วนที่น่าอันตรายอยู่เวลาล้มแล้วใบดิสก์จะมาบาดอะไรแบบนั้น แต่ในเรื่องประสิทธิภาพการเบรกผมชอบดิสก์เบรกกว่านะ”

“ตั้งแต่ที่ผมล้มใน Tour de France ผมก็ลงเขาได้ไม่มั่นใจเท่าเดิม โดยเฉพาะเวลาฝนตก ดิสก์เบรกมาช่วยผมตรงนี้ได้พอสมควร”

เรายังถามเชนเพิ่มเติมว่าตอนที่เขาใช้ชุดขับ 1x (จานหน้าใบเดียว) ตอนอยู่กับทีม Aqua Blue Sport มันมีปัญหาจริงหรือ

“มันเป็นปัญหาครับ มันไม่ใช่ว่าเกียร์มันไม่พอนะ แต่ผมว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะกับการแข่ง Road Race เท่าไร ผมว่าจานหน้าใบเดียวมันเยี่ยมเลยหละสำหรับการแข่งของมือสมัครเล่น หรือปั่นใน Skylane แบบเมื่อเช้านี้ แต่ถ้าต้องแข่งในสนามคลาสสิคระดับสูงสุด ในเบลเยียม ในรูเบ มันไม่เหมาะครับ เราต้องเปลี่ยนเกียร์บ่อยและเยอะ เราต้องการเกียร์หลายๆ อัตราทดสำหรับแต่ละสถานการณ์”

 

6. ซากาน

เมื่อสังกัดทีม Bora-Hansgrohe ที่คนส่วนใหญ่รู้จักเพราะปีเตอร์ ซากาน นักปั่นที่เรียกได้ว่าโด่งดังที่สุดในโลกตอนนี้ ก็อดที่จะถามไม่ได้ว่าการร่วมทีมกับอดีตแชมป์โลกสามสมัยนั้นเป็นยังไง

“ต้องขอโทษที่ทำให้ผิดหวังครับ เพราะผมเองยังไม่เคยปั่นกับซากานเลย! สองปีก่อนตอนที่ผมอยู่กับทีมนี้ (ในชื่อ Bora-Argon 18) มันเป็นปีที่ซากานย้ายเข้ามาพอดี แต่ก็เป็นปีที่ผมออกจากทีมเช่นกัน ปีนี้ผมเข้าทีมตอนเดือนเมษายน พ้นช่วงค่ายเก็บตัวและประชุมทีมประจำปีไปแล้ว และโปรแกรมแข่งก็ต่างกันมากด้วย ผมแข่งคู่กับแซม ซึ่งในฐานะสปรินเตอร์ แซมจะลงคนละรายการกับซากานเสมอ”

“สนามเดียวที่เราได้แข่งด้วยกันคือรายการชิงแชมป์โลก แต่ไม่ใช่ในฐานะเพื่อนร่วมทีมเพราะเราแข่งให้ประเทศตัวเอง มันคงดีที่ได้ลีดเอาท์ให้เขา ทุกคนดูชอบเขานะ”

7. ชีวิตในเปโลตอง

“นักปั่นที่ผมชอบที่สุดในเปโลตองเหรอ…เขาเพิ่งรีไทร์ไปเอง เขาคือสตีฟ คัมมิงส์ครับ (สังกัดทีม Dimension Data และขึ้นชื่อว่าเป็นเบรกอเวย์ที่ฝีเท้าฉกาจที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้) ผมชอบเขาเพราะเรามีปรัชญาการปั่นคล้ายๆ กันครับ นั่นคืออยู่หลังสุดของกลุ่มตลอด…จนกว่าจะถึงเวลาทำหน้าที่ 🤣”

“คือมันเป็นอะไรที่โค้ชทีมเราไม่ชอบหรอก เพราะมันเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ช่วยเหลือทีมนัก แต่ไม่มีใครบ่นสตีฟ ถึงเขาจะดูขี้เกียจในสายตาโค้ชและนักปั่นทีมอื่น แต่เขาก็ชนะได้แทบทุกครั้งที่เขาต้องการ มันไม่ใช่อะไรๆ ที่ใครก็ทำได้”

“ส่วนแซม เบนเน็ต ผมสนิทกับเขามาก เขาเป็นคนพาผมเข้าทีม Bora เราแข่งระดับสมัครเล่นมาด้วยกันตั้งแต่ปี 2013 เขาเทิร์นโปรก่อนผมในปี 2014 และพาผมเขาทีมในปี 2015 มันเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานเลยหละครับ”

“ปีหน้าแซมออกจาก Bora ซึ่งผมเองก็เป็น “แพคเกจคู่” ทีมที่รับแซมต้องรับผมด้วย ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสปรินเตอร์ที่จะพาลีดเอาท์คู่ใจย้ายทีมไปด้วยกัน คาเวนดิชก็มีมาร์ค เรนชอว์กับเบอร์นี ไอเซิลที่ย้ายตามกันทุกครั้ง”

“ส่วนทีมที่ผมกลัวที่สุด… Quickstep ครับ ทุกครั้งที่ทีมนี้เริ่มเล่นแผนอะไร มักจะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอ! นอกจากนักปั่นจะเก่งมากแล้ว มันสมองของทีมนี้ที่คอยวิทยุบอกแผนให้กับนักปั่นของเขาก็ฉลาดและเก่งมากด้วย ถ้าเขาเริ่มรุก เริ่มทำอะไรบางอย่าง คุณต้องไหวตัวเลยว่านั่นแหละคือจังหวะสำคัญแล้ว ไม่ใช่ผมไม่กลัวทีมอื่นนะ แต่สำหรับ Quickstep ผมยอมรับว่าเป็นทีมเดียวที่เขาเดินเกมผิดพลาดน้อยมาก”

​8. โปรซ้อมยังไง?

อีกหนึ่งคำถามที่นักปั่นมือสมัครเล่นอยากรู้ คือชีวิตของนักปั่นอาชีพระดับโลกเขาฝึกซ้อมกันยังไง และเราสามารถเรียนรู้อะไรจากเขาได้บ้าง?

“ผมชอบโค้ชที่ฟังนักกีฬานะ ปกติแล้วเทรนเนอร์ของทีมเราก็จะมีแผนการซ้อมให้ มันคือหน้าที่ของเขา ถ้าจะแบ่งคือบางช่วงผมก็ซ้อมของผมเอง โค้ชอาจจะไม่ได้มีโปรแกรมซ้อมที่เฉพาะเจาะจงมากนัก เช่นช่วง off season นี่ก็เน้นสร้างระบบ endurance ไม่ได้ต้องซ้อมหนักเท่าไร แต่พอขึ้นฤดูกาลใหม่ เดือนมกราแล้ว โปรแกรมซ้อมเราจะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งผมก็ต้องทำการบ้านตามโจทย์ให้ครบครับ”

“สำหรับผม การฝึกซ้อมที่เกิดประโยชน์ที่สุดไม่ใช่โปรแกรมซ้อมจากคนอื่น แต่เป็นการเรียนรู้ เข้าใจ และเชื่อฟังร่างกายของเราเอง เพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นคุณนั่นแหละที่จะรู้จักตัวเองได้ดีที่สุด รู้ถึงศักยภาพของมัน และข้อจำกัดของมัน”

“ผมมีเป้าว่าแต่ละสัปดาห์ผมต้องซ้อมประมาณกี่ชั่วโมงหรือกี่วัน ปกติในแต่ละสัปดาห์ก็จะมีวันที่ผมต้อง “ทำการบ้าน”​ ตามใบสั่งโค้ช 2-3 วัน ส่วนที่เหลือผมก็เติมชั่วโมงปั่นให้เต็ม อย่างช่วง off season ผมปั่น 12-15 ชั่วโมง แต่พอเริ่มฤดูกาลมันจะขึ้นไปเป็น 25-30 ชั่วโมง รวมเวลาแข่งด้วย”

“ผมไม่รู้ค่า วัตต์/กิโล (w/kg) คือผมไม่ใช่นักไต่เขา ค่า w/kg ไม่มีประโยชน์หรอก ต่อให้ผมจะทำได้สูงแค่ไหน ผมก็แซงคริส ฟรูมบนเขาไม่ได้ สำหรับลีดเอาท์แมนอย่างผม โค้ชจะสนใจแค่ 5mins, 1min, 30s power (ใน 5 นาที , 1 นาที และ 30 วินาที ออกแรงได้เยอะขนาดไหน) เพราะมันคือหน้าที่เดียวของผมในทีม ตอนจะต้องลากสปรินเตอร์ส่งหน้าเส้นมันก็ใช้เวลาสั้นๆ แค่นี้”

“อย่างถ้าผมจะย้ายทีม นี่คือค่าที่ทีมจะดู มันคือพอร์ทโฟลิโอของผม ผมเป็นผู้ช่วย ไม่ใช่นักแข่งสเตจเรซหรือแกรนด์ทัวร์ที่ต้องโชว์ตัวเองด้วย w/kg สูงๆ”

 

9. สนามในฝัน

“ถ้าผมเลือกได้ว่าจะชนะสนามไหน? ผมเลือก Paris-Roubaix ครับ มันเป็นสนามเดียวที่ไม่เหมือนการแข่งจักรยานรายการไหนๆ ในโลกเลย คุณมี Tour de France คุณมี Tour of Spain หรือ Tour of Italy ทุกรายการก็เป็นแกรนด์ทัวร์เหมือนกัน ความต่างคือ Tour de France อาจจะดังกว่ารายการอื่น แต่ไม่มีรายการไหนเทียบได้กับ Paris-Roubaix แม้แต่สนามแข่งแบบวันเดียวจบก็ไม่มีอะไรเหมือน”​

“แล้วมันก็เป็นสนามที่เปลืองตัวครับ สองครั้งที่ผมได้ลงแข่งผมล้มคว่ำทุกครั้ง แข่งจบคุณก็ระบมไปอีก 3-4 วัน ทั้งคอ ข้อมือ หลัง ปวดไปหมด ต่อให้อุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ จะช่วยเรื่องซับแรงสะเทือนแค่ไหน ก็ไม่ได้บรรเทาความเจ็บหรอกครับ เพราะมันเป็นสนามที่เราปั่นกันเร็วมาก ทุกปีความเร็วเฉลี่ยเกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดระยะทาง 250 กิโลเมตร ยิ่งช่วงถนนหินนี่แทบจะสปรินต์แย่งกันเข้าก่อนเลย อย่างน้อยๆ ต้องมี 55-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในทุกเซคเตอร์ เพราะสนามนี้ตำแหน่ง (positioining) สำคัญที่สุดครับ ถ้าคุณไม่ได้อยู่หน้ากลุ่มก็อย่าหวังว่าจะชนะ”

10. ข้อผิดพลาดที่นักปั่นสมัครเล่นทำบ่อยที่สุด

“ง่ายมาก เห็นประจำ มันคือการ overtrain ครับ ไม่ฟังร่างกายตัวเอง สาเหตุก็มีหลายอย่างทั้งฟังหรือเรียนมาผิดๆ และรักสนุก ปั่นเอามันส์อย่างเดียว”

 

11. บทเรียนที่จักรยานมอบให้

“สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในการเป็นนักปั่นอาชีพ ก็คือการที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปทั่วโลกครับ ผมได้ไปแข่งในหลายๆ ประเทศที่ถ้าไม่ได้ทำอาชีพนี้ก็คงไม่มีโอกาสได้ไป หรือคิดจะไป ผมคงไม่ได้มาประเทศไทยถ้าเพื่อนปั่นผมไม่ได้อยู่ที่นี่ เดือนก่อนผมก็เพิ่งแข่งที่จีนมา มันเปิดโลก เปิดทัศนคติให้ชีวิตผมมากๆ เลย”

“แต่บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ผมได้จากการแข่งขันก็คือ ขีดจำกัดของเราไม่เคยอยู่ที่ร่างกาย ถึงคุณจะคิดว่าคุณะจะปั่นหนักกว่านี้ไม่ได้แล้ว ไม่ไหวแล้ว คุณทำได้เสมอ มันคือเรื่องของใจจริงๆ ครับ”​

ติดตามเชนได้ที่ IG: @kiwiflyingmullet 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!