ชิโกกุ: เกาะเล็กๆ ที่พร้อมต้อนรับนักปั่นผู้มาเยือน

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว Ducking Tiger ได้มีโอกาสไปร่วมงานปั่นจักรยานชิมานามิ ไคโด 2018 ซึ่งเป็นงานปั่นจักรยานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เราเริ่มปั่นกันจากจุดสตาร์ทที่เมืองอิมาบาริ จังหวัดเอะฮิเมะ อันเป็นส่วนหนึ่งของเกาะชิโกกุ ซึ่งเราก็ประทับใจในการบริหารจัดการนักปั่นมาก (ย้อนอ่านได้ที่นี่ www.duckingtiger.com/shimanami-kaido-cycling-part-1)

ในปีนี้เราจึงกลับมาอีกครั้ง มาเพื่อเติมเต็มความประทับใจผ่านการปั่นจักรยานโดยไม่หยุดอยู่แค่ในจังหวัดเอะฮิเมะ แต่ยังขยายขอบเขตประสบการณ์ไปรอบพื้นที่ของภูมิภาคชิโกกุกันเลย

ตอนที่ได้รับคำเชิญให้มาปั่นรอบๆ เกาะชิโกกุ ผมก็ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับตัวเกาะมาบ้าง พอทราบว่าเกาะชิโกกุนั้นเป็นภูมิภาคที่เล็กที่สุดของญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยสี่จังหวัด ได้แก่ เอะฮิเมะ (Ehime), คะงะวะ (Kagawa), โทะกุชิมะ (Tokushima) และโคจิ (Kochi) ซึ่งทั้ง 4 จังหวัดเนี่ยวางตัวแนวเหนือใต้ออกตกพอดี ดังนั้นหากเราปั่นจักรยานลัดเลาะตามขอบทะเลไปเรื่อยๆ เราจะปั่นผ่านทุกจังหวัด และเมืองหลักๆ ได้เกือบทั้งหมด แถมภูมิภาคชิโกกุยังเป็นพื้นที่เงียบสงบ ผู้คนอยู่กับธรรมชาติ บ้านเมืองแบบแนวราบ อุดมด้วยทุ่งนาและป่าเขา จึงเหมาะสำหรับการปั่นจักรยานเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศอย่างที่สุด

เกาะชิโกกุประกอบด้วย 4 จังหวัด เส้นสีเขียวคือเส้นทางที่เราได้ปั่นจริงในแต่ละวัน

ทุกคนอาจเคยได้ยินชาเลนจ์ไต้หวัน 1,000 กิโล ที่เป็นการปั่นจักรยานรอบเกาะไต้หวัน 1 รอบกันมาบ้าง ซึ่งทางเกาะชิโกกุนั้นก็มีแผนพัฒนาแบบเดียวกัน นั่นก็คือการวางรูทปั่นจักรยานรอบเกาะชิโกกุ ลัดเลาะไปตามแนวขอบทะเล ผ่านทั้ง 4 จังหวัดและกลับมาสิ้นสุดที่จุดเดิม คล้ายๆ กับการปั่นทางไกลอย่าง Audax เพื่อให้นักปั่นที่สนใจสามารถมาปั่นได้ตลอดทั้งปี โดยไม่จำเป็นต้องรองานใหญ่อย่างชิมานามิ ไคโดเพียงงานเดียว

เสียดายด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถใช้เวลาปั่นให้ครบรอบเกาะ 1,000 กิโลได้ แต่ก็ได้มีโอกาสปั่นบางส่วนของเส้นทางจริงตลอดทั้ง 4 วัน ปั่นกัน 1 วัน 1 จังหวัด ซึ่งเพียงพอต่อการเก็บข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังครับ

 

1. Let’s Fly to Japan!

บินไปญี่ปุ่นกันเถอะ!

เราออกเดินทางกันจากสนามบินสุวรรณภูมิ มุ่งตรงสู่สนามบินฮาเนดะ และต่อเครื่องเพื่อไปสู่สนามบินทากามัตซึ จังหวัดคะงะวะอันเป็นเมืองแรกของการเดินทางในครั้งนี้ครับ

เกร็ดข้อมูลสำหรับการขนจักรยานขึ้นเครื่อง อย่างแรกต้องตรวจสอบขนาดกระเป๋าและน้ำหนัก กระเป๋า Oversize ที่สายการบินอนุญาต เพราะหากขนาดกระเป๋าหรือน้ำหนักเกิน ทางสายการบินอาจชาร์จค่ากระเป๋าจักรยานเพิ่มครับ ปล่อยลมออกจากล้อให้เรียบร้อย และอุปกรณ์บางอย่างสายการบินอาจไม่อนุญาตให้โหลดใต้ท้องเครื่อง อาทิ

  • วัตถุไวไฟ เช่น น้ำมันหยอดโซ่, จารบี
  • วัตถุแรงดันสูง เช่น หลอด CO2
  • วัตถุที่มีแบตเตอรี่ความจุสูง เช่น ไฟหน้าไฟท้ายที่ความจุแบตเยอะๆ, Power Bank

ซึ่งทางสายการบินอาจขอให้เราเปิดกระเป๋าจักรยานเพื่อตรวจสอบด้วยครับ ดังนั้นการจัดอุปกรณ์จักรยานเป็นสัดส่วนให้ง่ายต่อการตรวจจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

หากกระเป๋าใหญ่เกินกว่าที่จะ X-ray ได้ สายการบินจะขออนุญาตเปิดกระเป๋าเพื่อตรวจสอบ
สำหรับคนที่บินมาลงสนามบินคันไซ สามารถนั่งรถบัสของสนามบินมาลงที่เมืองทากามัตซึได้เช่นกัน
อีกตัวเลือกหนึ่งที่สะดวกไม่แพ้กันคือการเช่ารถขับ เหมาะสำหรับนักปั่นที่มาเป็นหมู่คณะ เพราะเมื่อหารค่ารถต่อคนแล้วอาจถูกกว่าการเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ

 

2. Weather Matters

สภาพอากาศนั้นสำคัญ

ก่อนหน้าที่เราจะเดินทางไปญี่ปุ่นไม่กี่วัน มีพายุใหญ่เข้าญี่ปุ่นถึงสองลูก พยากรณ์อากาศนั้นมีโอกาสที่เราจะได้ปั่นตากฝนทั้งวันทั้งคืนตลอดทั้งทริป แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความอยากไปปั่นในญี่ปุ่นลดลงเลย แถมท่อนหนึ่งของเพลงยังคงกึกก้องอยู่ในหัว

“จะออกไปแตะขอบฟ้า สุดท้าย แม้โชคชะตาไม่เข้าใจ
มองไปไม่มีหนทาง แต่รู้ว่าฉันต้องไปต่อไป”

เรือเล็กควรออกจากฝั่ง — Bodyslam

แต่คำกล่าวที่ว่าฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามนั้นคงความจริงไว้ได้เสมอ เพราะในวันแรกที่เราเดินทางไปถึงเป็นวันที่พายุพัดผ่านไปพอดี ทิ้งไว้เพียงความสดใสของแสงอาทิตย์ที่ส่องลงผืนดิน

ภาพมุมสูงจากเครื่องบิน ไม่กี่วินาทีก่อนเครื่องสัมผัสรันเวย์สนามบินทากามัตซึ

ดังนั้นก่อนการเดินทางไปปั่นต่างประเทศทุกครั้ง คุณจำเป็นต้องตรวจสอบสภาพอากาศว่าร้อน ฝน หรือหนาวอย่างไร และเตรียมอุปกรณ์สำหรับสภาพอากาศเหล่านั้นไปเผื่อด้วย ในกรณีของชุดปั่นแบรนด์ใหญ่ๆ มักจะมีคำนำหน้าเพื่อจำแนกไว้ว่าชุดแบบใดเหมาะกับสภาพอากาศแบบใด เช่น

  • Wind: เป็นชุดปั่นที่ป้องกันลมเย็นมาปะทะส่วนของหน้าอก เหมาะสำหรับอากาศเย็นและแห้ง
  • Rain: เป็นชุดปั่นที่ถักทอแบบแน่น หรือเคลือบสะท้อนหยดน้ำ เพื่อไม่ให้หยดน้ำซึมเข้าสู่ภายใน เหมาะสำหรับสถานการณ์ฝนตก แต่เหงื่อภายในก็ระบายออกได้ยากเช่นกัน
  • Thermal- & Winter: เป็นชุดปั่นสำหรับอากาศหนาวพิเศษ ด้านในมักมีขนบุเพื่อกักเก็บความร้อนไว้ภายใน
    หากเลือกชุดปั่นได้เหมาะกับสภาพอากาศที่ต้องเผชิญ จะทำให้การปั่นสนุกขึ้นมาก ซึ่งจากบทเรียนการไม่เตรียมชุดให้พร้อมตอนปั่นที่ไต้หวัน ครั้งนี้เลยไม่ลังเลที่จะหยิบทั้ง Wind และ Rain Jacket รวมถึง Base Layer ชุดด้านในติดตัวไปด้วย

 

3. The Sea is Calling

ทะเลกำลังเรียกหา

ด้วยภูมิภาคชิโกกุนั้นล้อมรอบไปด้วยทะเล บรรดาเมืองน้อยใหญ่นั้นล้วนตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเพื่อให้ง่ายต่อการค้าขาย ดังนั้นเส้นทางแรกที่เราจะเริ่มปั่นกันนั่นคือเส้นทางลัดเลาะริมชายฝั่งทะเล

เราเริ่มเตรียมจักรยานกันที่สวนสาธารณะโกโตฮิกิ (Kotohiki) ซึ่งสวนสาธารณะนี้มีความพิเศษที่เป็นจุดชมวิวสำคัญแห่งหนึ่งด้วย (ซึ่งเราจะแนะนำในบทความต่อไป) นอกเหนือจากพวกเราที่มาปั่นจักรยานแล้ว ชาวเมืองทั้งเด็กและผู้ใหญ่ล้วนมาทำกิจกรรมร่วมกันที่สวนสาธารณะกันอย่างคึกคัก สร้างพลวัตรให้กับเมืองที่สงบสุขแห่งนี้

Unpack จักรยานกันอย่างขมักเขม้น Photo by Handa (Indonesia)

แต่ความสงบสุขของบรรยากาศรอบตัวก็ระเหยไปเมื่อเหลือบไปเห็นสต๊าฟชาวญี่ปุ่นขนจักรยานไทม์ไทรอัล กับเสือหมอบแต่งซิ่งเต็มอัตรา พร้อมกับเพลงในหัวที่ลอยขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

“อ้าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา”
อ้าว — Atom ชนกันต์

หลังจากสาละวนกับการเตรียมตัวของนักปั่นทั้ง 7 ชีวิต เราก็เริ่มออกเดินทาง โดยการปั่นจะเป็นรูปแบบแถวเดี่ยวเรียงหนึ่ง (ในญี่ปุ่นห้ามปั่นจักรยานสองแถว) นำหน้าและปิดท้ายขบวนด้วยสต๊าฟญี่ปุ่น ลัดเลาะผ่านตัวเมืองเพื่อออกไปสู่ถนนเลียบทะเล

การปั่นเลียบทะเลที่เป็นพื้นที่เปิด ทำให้เรามองวิวข้างทางได้ไกลสุดลูกหูลูกตา มองเห็นการจัดสรรพื้นที่ริมชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ ทั้งท่าเรือเพื่อการค้าขาย, ชายหาดสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ, พื้นที่สำหรับความเชื่อและศาสนาอย่างศาลเจ้า, บ้านเมืองแนวราบ ซึ่งทุกพื้นที่เหล่านั้นล้วนมีความสำคัญกับผู้คนบนเกาะชิโกกุ และเป็นความประทับใจสำหรับนักปั่นผู้มาเยือนที่ได้ซึมซับบรรยากาศที่สงบสุขบนพื้นฐานของความเรียบง่ายนี้

 

4. Convenience Store: Perfect Place of Rider

ร้านสะดวกซื้อ: ที่พึ่งพาของนักปั่น

ด้วยความที่ทริปนี้ประกอบไปด้วยนักปั่นหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ด้วยจักรยานหลายรูปแบบทั้งเสือหมอบ, เสือหมอบวิบาก (Gravel), ไทม์ไทรอัล มีทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีความสามารถในการปั่นที่แตกต่างกัน ทำให้ในบางจุดกลุ่มก็แยกออกเป็นสองกลุ่ม

ร้านสะดวกซื้อเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเมื่อกลุ่มขาดระดับหนึ่ง กลุ่มหน้าสามารถเลือกที่จะแวะเข้าไปพักรอที่ร้านสะดวกซื้อก่อนได้ ซึ่งร้านสะดวกซื้อเกือบทั้งหมดที่ตั้งอยู่ริมถนนจะมีที่จอดรถกว้างขว้าง มีของกินทั้งหนักและเบา เลือกได้ทั้งแบบสดหรือสุก มีโต๊ะบาร์ กาแฟให้หย่อนใจ รวมถึงมีห้องน้ำอันแสนสะดวกยิ่ง ไม่ต้องเดือดร้อนถึงเจ้าที่เจ้าทางข้างทาง และด้วยความถี่ของร้านสะดวกซื้อริมทาง ทำให้กลุ่มสองสามารถตามมาทันกลุ่มหน้าได้ด้วยระยะห่างที่ไม่นานนัก ก่อนจะเติมพลังและเริ่มปั่นต่อไปพร้อมๆ กัน

ร้านสะดวกซื้อกับพื้นที่จอดรถอันใหญ่โต

ดังนั้นหากนักปั่นที่ต้องการมาปั่นด้วยตนเองที่ญี่ปุ่น สบายใจได้ว่าคุณจะมีที่ให้ได้พัก ได้แวะเข้าห้องน้ำ หรือฝากท้องกับร้านสะดวกซื้อได้นั่นเอง รวมถึงแม้ว่ากลุ่มของคุณจะมีนักปั่นที่ชั่วโมงบินต่างกันมากๆ ทั้งผู้นำและผู้ตามก็ยังมั่นใจได้ว่ากลุ่มประคองกันได้เป็นระยะ ไม่หลง และไม่ขาดจากกันมากเกินไป

 

5. Early Sunset

อาทิตย์ตกเร็ว

เราปั่นมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองทากามัตสึ (Takamatsu) ตั้งแต่ช่วงบ่ายไปถึงเย็น แสงแดดของดวงอาทิตย์ก็เริ่มอ่อนแรงลงไปพร้อมๆ กับอุณหภูมิที่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จากที่ดูใน Garmin อุณหภูมินั้นลดลงเฉลี่ย 2 องศา ทุกๆ 1 ชั่วโมง ยังไม่รวมความหนาวเย็นที่เกิดจากลมทะเลพัดมาปะทะร่างอีก

Photo by Handa (Indonesia)

พวกเราเหล่าโฮโมเซเปียนส์ที่อพยพมาอยู่แถวเส้นศูนย์สูตรโลกหลายพันปีแล้วนั้นไม่ค่อยคุ้นชินกับอากาศหนาวเย็นเท่าไหร่นัก แม้ว่าเราจะตรวจสอบอุณหภูมิและเตรียมเครื่องกันหนาวมาบ้าง แต่ข้อมูลหนึ่งที่อาจหลงลืมไปคือความเร็วของลม ซึ่งทำให้อุณหภูมิจริงที่เรารู้สึกนั้นหนาวเย็นกว่าอุณหภูมิบนตัวไมล์ ดังนั้นหากต้องการตรวจสอบพยากรณ์อากาศ นอกเหนือจากช่อง Temperature ให้ดูช่อง Feels Like Temperature หรือหมายถึงอุณหภูมิจริงที่รู้สึกได้ควบคู่กันไปด้วย

ไม่นานและไม่ไกลจากตัวเมืองทากามัตสึมากนัก พระอาทิตย์ก็ตกโดยสมบูรณ์ เป็นเวลาเดียวกับที่ก้มมองดูเวลาที่เรือนไมล์พอดี

ห้าโมงครึ่ง!

ทำไมห้าโมงครึ่งมันถึงมืดแล้วเงียบสงัด ไร้เสียงรถยนต์ ไร้เสียงผู้คนได้สนิทเหมือนหลุดมาอีกมิติหนึ่ง ได้ยินถึงเสียงลมหายใจที่ดังขึ้นจากการใส่แรงมากขึ้นในการไต่ขึ้นเนินเนิบๆ ได้ยินเสียงของธรรมชาติกังวาลชัดขึ้นมา ทั้งเสียงจากแมลง เสียงจากลม เสียงคลื่นที่พัดเข้าหาดเป็นระยะ และแน่นอน เสียงเพลงในหัวของเรากลับมาอีกครั้ง

“เขาสูงล้ำค้ำฟ้าตระหง่าน เหล่าภัยพาลคืบคลานเป็นเงา
ยิ่งสูงยิ่งหนาวยอดเขายังห่าง อยู่บนทางนึกหวั่น นึกพรั่นความหนาว”
ยิ่งสูงยิ่งหนาว — อัสนี & วสันต์

แสงสุดท้าย Photo by Handa (Indonesia)

สุดท้ายด้วยความที่มันเงียบและมืดเกินไป ผสมกับข้างหน้าเป็นทางลงเขา และในสมาชิกของเราส่วนใหญ่มีเพียงไฟหน้ากระพริบที่ส่งสัญญาณบอกรถที่สวนมา แต่หวังพึ่งพาในการส่องทางข้างหน้าไม่ได้ ทางทีมสต๊าฟญี่ปุ่นเลยตัดสินใจหยุดการปั่นของวันนี้ที่จุดพักรถบนยอดเข้า ยกจักรยานขึ้นรถเซอร์วิส ก่อนที่หนึ่งในสต๊าฟของเราจะปั่นลงเขากลับบ้านด้วยตนเอง

คนไทยนั้นคุ้นเคยกับพระอาทิตย์ตกช่วงหกโมงไปจนถึงหกโมงครึ่ง เราจึงมักประเมินระยะทางให้สัมพันธ์กับเวลาที่เหลือพลาดหากสถานที่ที่เราปั่นนั้นมีเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่ต่างไป ดังนั้นก่อนวางแผนไปปั่น อย่าลืมตรวจสอบเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกกันก่อนนะครับ

 

6. Reward from Nature

รางวัลจากธรรมชาติ

เรากลับมาวางแผนการเดินทางกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น กระโดดจากจังหวัดคะงะวะ เข้าสู่จังหวัดโทะกุชิมะ เปลี่ยนบรรยากาศจากการปั่นเลียบทะเลมาเป็นการปั่นลัดเลาะไปตามเมืองและหุบเขา โดยเริ่มตั้งหลักกันที่ร้าน Rebase ซึ่งเป็นเหมือนกับคลับของผู้ที่ชื่นชอบในการปั่นจักรยาน บริการทั้งในรูปแบบของ Training Center มีเทรนเนอร์ให้ปั่นกันตามคอร์ส มีบริการกาแฟรวมถึงพื้นที่นั่งพูดคุย และที่พิเศษคือมีบริการนวดสำหรับนักกีฬาโดยเฉพาะด้วย

ซ้ายสุด: เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัด สองคนถัดมา: เจ้าของร้าน Rebase ห้าคนถัดมา: ทีมสต๊าฟและคนขับรถเซอร์วิส สองคนขวา: นักปั่นปิดท้ายและนักปั่นนำขบวน (คนขวาสุด คุณ Yasutaka Tashiro อดีตแชมป์ญี่ปุ่นสองสมัย และทีมชาติชุดแข่งโอลิมปิก)
นักปั่นไทยไร้ดีกรี กำลังลองเทรนเนอร์สุดพรีเมี่ยม Photo by Leo (Taiwan)

หลังจากออกจากเมืองมาได้สั้นๆ เราก็พบกับถนนใหญ่ที่ดอกหญ้ากำลังตั้งรวงสวย ถนนทางราบสนิท เปิดโหมดปั่นชิลเกาะไปด้วยความเร็วที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป ซึ่งตลอดทั้งเส้นทางนี้สามารถพบเจอนักปั่นท่านอื่นๆ เป็นระยะๆ ทั้งออกกำลังกายและทัวริ่ง

นักปั่นทัวร์ริ่งที่พบกันระหว่างทาง
มีเส้นทางขึ้นเขาเป็นบางช่วง แต่วิวที่สวยที่สุดมักจะอยู่บนยอดเขา แต่ก็ไม่ใช่ทางชันที่ยากเย็นอะไรเพราะถนนญี่ปุ่นตัดค่อนข้างดี และไล่ระดับความชันแบบนิ่งๆ ครับ
เส้นทางคดเคี้ยวขึ้นเขามาเมื่อครู่

สุดท้ายเมื่อขึ้นไปถึงจุดชมวิวบนยอดเขา ก็เป็นเวลาเดียวกับที่พระอาทิตย์กำลังจะตกพอดี มุมแสงดวงอาทิตย์ที่ส่องผ่านเทือกเขาอันสลับซับซ้อนไกลสุดลูกหูลูกตาก็เหมือนเป็นเหรียญรางวัลสีทอง รอคล้องให้แก่นักปั่นทุกคนที่ขึ้นมาบนโพเดียมแห่งขุนเขาลูกนี้

เหรียญรางวัลสีทอง ลูกใหญ่มาก

Podium Girls อันเป็นธรรมเนียมของกีฬาจักรยานก็มาในรูปแบบของสัตว์ขนปุย และเปลี่ยนจากการหอมแก้มเป็นการเข้ามาอ้อนขอขนมแทน

Podium Girl ครั้งนี้คือแมวจรที่อาศัยอยู่บนยอดเขา โดยหูที่แหว่งนั้นเป็นสัญลักษณ์ว่าผ่านการตรวจร่างกายและฉีดวัคซีนโดยสัตวแพทย์แล้ว

อีกหนึ่งรางวัลพิเศษสำหรับนักปั่นที่ขึ้นมาถึงบนยอดเขา มอบให้โดยคุณแรงโน้มถ่วง (คนเดียวกับที่สร้างภาระตอนปั่นขึ้นมา) ทำให้นักปั่นทุกคนได้สิทธิในการไหลลงเขาแบบไม่ต้องออกแรง มาถึงจุดสิ้นสุดของวันนี้ ณ สถานีรถไฟมูกิ (Mugi)

สำหรับคืนนี้เรามีโอกาสได้เข้าพักที่ Pension Shishikui ซึ่งเป็นที่พักที่ต้อนรับนักปั่นทั้งแบบเดียวและหมู่คณะ ตัวโรงแรมตั้งอยู่ในช่องเขาติดทะเล มีชายหาดส่วนตัวและมีห้องอาหารวิวทะเลที่เหมาะแก่การสังสรรค์ พูดคุยเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาในทริปนี้

ที่นี่ต้อนรับนักปั่น และเป็นหนึ่งในที่พักที่ร่วมในโปรเจค 1,000 กิโลรอบเกาะชิโกกุด้วย
ห้องอาหารวิวทะเลกับสมาชิกในทริป
เพราะเป็นโรงแรมที่ต้อนรับนักปั่น จึงมีเครื่องซักผ้าไว้ให้ซักชุดปั่นกันได้แบบฟรีๆ

 

7. Shimanto River: The Breath of Kochi

แม่น้ำชิมันโตะ ลมหายใจสำคัญของโคจิ

ข้ามทะเลจังหวัดคะงะวะ ข้ามภูเขาจังหวัดโทะกุชิมะ เราก็เข้ามาถึงตอนกลางของเกาะชิโกกุ นั่นคือจังหวัดโคจิ ที่เป็นจังหวัดที่คงความเป็นธรรมชาติไว้ได้อย่างสมบูรณ์

แม่น้ำชิมันโตะ แม่น้ำสายสำคัญของเกาะชิโกกุ

เส้นทางวันนี้เริ่มต้นกันที่สวนสาธารณะโทโดโรกิ (Todoroki) ปั่นเลียบแม่น้ำชิมันโตะ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เปรียบเหมือนลมหายใจของจังหวัดโคจิ ที่ผู้คนล้วนเกี่ยวโยงกันทั้งด้านกสิกรรม ประมง ท่องเที่ยว และกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ

เส้นทางเลียบแม่น้ำ ที่ยังเห็นการทำกสิกรรมและประมงเป็นระยะ

หนึ่งในไฮไลท์ของแม่น้ำสายนี้คือ “สะพานจมน้ำ” ซึ่งเป็นสะพานแบนๆ กว้างหนึ่งคันรถที่ไม่มีแม้ราวกั้นกันตก เป็นสะพานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสัญจรข้ามไปมาระหว่างสองฝากฝั่งแม่น้ำ และเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก สะพานก็จะจมลงไปอยู่ใต้น้ำอย่างสมบูรณ์

ทางลงไปยังตัวสะพานกว้างขนาด 1 คันรถ ไม่มีราวกั้น และมีอยู่ราวๆ 20 สะพานตลอดแม่น้ำทั้งสาย

การที่สะพานไม่มีราวกั้นนั้นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะพวกเขาเลือกจะไม่ฝืนธรรมชาติและปล่อยให้กระแสน้ำไหลผ่านสะพานไปได้อย่างราบเรียบ ทั้งยังลดโอกาสเสียหายจากการถูกกระแทกจากสิ่งที่ลอยมาตามสายน้ำ ทำให้สะพานแบบนี้สามารถคงทนอยู่ได้ยาวนาน และพร้อมกลับมาปรากฏกายอีกครั้งเมื่อกระแสน้ำลดระดับลง

ธารน้ำใสที่ไหลผ่านสะพาน

จังหวัดโคจิก็เป็นหนึ่งในจังหวัดมีหุบเขาน้อยใหญ่เรียงรายตลอดทาง ซึ่งสต๊าฟญี่ปุ่นนั้นให้เทคนิคลับในการปั่นข้ามเขาที่เร็วที่สุดก็คือ การพุ่งทะลุเขาผ่านอุโมงค์กันไปเลย ซึ่งจำนวนและความยาวของอุโมงค์นั้นขึ้นกับความถี่ของภูเขาระหว่างทาง บางอุโมงค์ยาวเพียงไม่กี่ร้อยเมตร แต่บางอุโมงค์ก็ยาวได้ถึงสองกิโลเมตร

แม้ว่าในอุโมงค์นั้นจะเปิดไฟไว้ แต่ก็จะมีบางช่วงของอุโมงค์เช่นกันที่มืดสนิท มองเห็นเพียงแสงไกลลิบๆ ที่ปลายทาง รวมถึงเสียงรถยนต์ที่วิ่งเข้ามาในอุโมงค์ที่ถูกขยายให้ดังก้องเหมือนรถคันนั้นอยู่ห่างจากเราเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปิดไฟหน้าไฟท้ายให้เห็นได้ชัดเจน และคงเป็นเรื่องยากเช่นกันที่จะคล่ำหาปุ่มเปิดไฟระหว่างการปั่นที่มืดสนิท ดังนั้นควรเปิดไฟหน้าไฟท้ายตลอดเวลาที่ปั่นทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วคุณจะได้ไม่ต้องคอยพะวงกับรถข้างหลังว่าจะเห็นคุณได้ชัดเจนหรือไม่

การมีอุโมงค์นั้นช่วยย่นเวลาการเดินทางได้มาก ไม่ช้าไม่นานเราก็เดินทางมาถึงเมืองนากามุระ (Nakamura) ซึ่งเป็นปากแม่น้ำชิมันโตะก่อนจะไหลสู่ทะเลแปซิฟิก

 

8. Catching the Sunset

ไล่ตามอาทิตย์ตกดิน

แผนการของวันนี้คือการเลือกเส้นทางที่ยาวเป็นพิเศษส่งท้ายวันสุดท้ายของการปั่น โดยเริ่มจากเมืองอุวะจิมะ (Uwajima) จังหวัดเอะฮิเมะ ปั่นออกไปทางชานเมือง ไม่นานนักเราก็เข้าสู่เขตแดนภูเขาอีกครั้ง และเราก็ปั่นทะลุอุโมงค์ลัดเลาะไปตามภูเขาแต่ละลูกๆ ซึ่งภูเขาแห่งนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของส้มไร้เมล็ด (Mikan) ขึ้นเป็นจุดส้มเล็กๆ ตบแต่งภูเขาอย่างสวยงาม แถมเมื่อได้ลองชิมขอบอกเลยว่าเด็ด สด และเต่งตึงมากๆ คุณสามารถแวะซื้อส้มจากร้านขายข้างทางได้เลย เพราะเจ้าของสวนมาขายเองจึงมั่นใจได้ถึงความสดใหม่แน่นอน

นอกเหนือจากส้มแล้ว ภูเขาแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นสนามแข่งขันจักรยานเสือภูเขาระดับโลกอีกด้วย โดยแข่งกันเป็นลูปแบ่งประเภททั้งอีลีทและมาสเตอร์

เมื่อพ้นเขตภูเขา เราก็เข้าสู่เขตทางราบที่สองข้างทางประดับไปด้วยรวงข้าวและแป้งสำหรับทำโซบะ พร้อมทั้งมีรถไฟที่วิ่งขนานไปกับเส้นทางปั่นของเรา รถยนต์ก็ดูเหมือนจะต้องการเสพบรรยากาศไม่ต่างกับนักปั่น ต่างขับขี่กันด้วยความเร็วแบบกินลมชมวิว ไม่เร่ง ไม่กดดัน พร้อมให้ทางแก่นักปั่นตลอดเวลา

“นั่น วัตถุดิบสำหรับทำโซบะของประเทศเรา”

แม้ว่าถนนของญี่ปุ่นจะไม่กว้าง และบางช่วงอาจไม่มีไหล่ทาง แต่คนญี่ปุ่นไม่เคยมองว่าจักรยานเป็นส่วนเกินของท้องถนน เว้นระยะแซงห่างมากเป็นคันรถ และหากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจแซงได้ พวกเขาเลือกที่จะขับตามอย่างใจเย็น

เช่นเดียวกับนักปั่น ที่ต้องให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าเช่นกัน มีอยู่หนึ่งครั้งที่ขบวนนักปั่นลดความเร็วจนหยุดสนิทแทบจะทันทีที่ของเห็นคนมายืนรอข้ามถนน และเมื่อคนข้ามถนนผ่านไปเรียบร้อยแล้ว คนข้ามถนนคนนั้นหันกลับมาและโค้งขอบคุณนักปั่นทุกคนที่หยุดให้กับเขา และรอส่งนักปั่นจนพ้นสายตา

การเคารพกฎจราจรเป็นเรื่องสำคัญมากในญี่ปุ่น ไฟเหลืองคือเริ่มหยุด ต้องรอสัญญาณก่อนข้ามถนนทุกครั้ง

การเคารพกฎจราจรเป็นเรื่องสำคัญมากในญี่ปุ่น ไฟเหลืองคือเริ่มหยุด ต้องรอสัญญาณก่อนข้ามถนนทุกครั้ง
ครึ่งทางของการปั่นเราแวะพักสั้นๆ กันที่เมืองยาวาตะฮามะ (Yawatahama) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองท่าติดทะเลฝั่งตะวันตกของเกาะชิโกกุ ซึ่งได้รวมพื้นที่ของท่าเรือ ท่ารถ และสวนสาธารณะไว้จุดเดียวกัน มี Wallpaper เบื้องหลังเป็นบ้านเรือนที่ก่อสร้างไล่ระดับขึ้นไปตามแนวเขา

จากทางราบ เราปั่นกันจนสุดขอบแผ่นดินจนมาเจอกับทะเลอีกครั้งบนถนนสาย 378 ซึ่งเส้นทางนี้เป็นหนึ่งในเส้นทางแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการชื่นชมธรรมชาติไม่ว่าจะด้วยการปั่นหรือขับรถ เพราะอยู่ติดกับทะเล มีจุดพักให้ชมวิวเป็นระยะ นอกเหนือจากเส้นขาวแบ่งเลนถนนแล้ว ถนนที่นี่ยังมีเส้นสีฟ้า คอยบอกระยะทางคงเหลือระหว่างจุดนั้นกับเมืองมัตสึยาม่า (Matsuyama) มาด้วย

ถนนสาย 378 ทางเรียบสนิทมากจริงๆ Photo by Leo (Taiwan)

เบื้องหน้าคือถนนสีดำทอดยาว เรียบสนิทเหมือนแผ่นกระเบื้อง มองไปทางขวาเห็นแนวป่าสูงสีเขียวชอุ่ม มองไปทางซ้ายเห็นท้องฟ้าสีฟ้าสด ตัดกับขอบสีครามของน้ำทะเล เป็นห้วงเวลาที่รู้สึกว่าครั้งหนึ่งเราเดินทางเพื่อจดจำเรื่องราวระหว่างทาง หาใช่จุดหมายไม่

“One day you’ll leave this world behind.
So live a life you will remember.”
– The Nights — Avicii

จากบ่ายคล้อยมาถึงเย็น เราเดินทางมาจนถึงสถานีรถไฟชิโมนาดะ (Shimonada) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่โรแมนติกที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น และเป็นสถานีที่ถูกใช้ในการถ่ายทำซีรีย์ รวมถึงเป็นฉากในอนิเมะ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมารอชมพระอาทิตย์ตก ณ สถานีแห่งนี้

ทางเข้าไปยังตัวสถานีรถไฟชิโมนาดะ
เหรียญรางวัลสีทอง ลูกใหญ่มาก

เดิมทีสถานีและรางรถไฟนี้ตั้งอยู่ติดกับทะเลเลย แต่ทางรัฐเกรงว่าวันหนึ่งน้ำทะเลจะซัดจนสถานีหายไป จึงได้ถมทะเลออกไปและสร้างถนนสาย 378 ขึ้นมานั่นเอง

และสถานีนี้เป็นจุดหมายสุดท้ายของการปั่นทริปรอบเกาะชิโกกุของเรา ปิดทริปอย่างสวยงามด้วยการนั่งชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า กับเพลงสุดท้ายของเพลย์ลิสของผม

“แดดรอนรอน เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา
ทอแสงเรืองอร่ามช่างงามตา ในนภาสลับจับอัมพร”
ยามเย็น — เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

* * *

เกาะชิโกกุแม้จะเป็นเกาะที่เล็กที่สุดของญี่ปุ่น แต่ก็ยังคงธรรมชาติที่สมบูรณ์เอาไว้ได้ รอคอยนักปั่นทั่วโลกให้เข้ามาสัมผัสภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา แม่น้ำ เมือง รวมไปถึงผู้คนที่ยินดีต้อนรับนักปั่นที่มาเยือนบ้านของพวกเขา จึงเป็นหนึ่งในเส้นทางแนะนำให้นักปั่นชาวไทยไปสัมผัสด้วยตนเองสักครั้ง

แน่นอนว่าการเดินทางนั้นสัมพันธ์กับการท่องเที่ยว และของกินเลื่องชื่อของพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นในบทความต่อไป เราจะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงของกินไว้เป็น Guideline สำหรับผู้ที่สนใจไปปั่นที่เกาะชิโกกุต่อไปครับ

ขอขอบคุณ TSUNAGURU ที่ชวนเรามาสำรวจเส้นทางปั่นและสถานที่ท่องเที่ยวในชิโกกุ ถ้าสนใจอยากได้รายะเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกาะนี้ ตามไปค้นเพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์นี้ ครับ

* * *

By จุติพงศ์ ภูสุมาศ

ใช้ กับตันทีมปั่นฝัน ใช้ชีวิตควบคู่กับการปั่นตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน สนใจในทุกด้านของเครื่องจักรสองล้อพลังเท้า!