ดูกันใกล้ๆ: Factor OSTRO V.A.M.

Factor OSTRO เป็นจักรยานแบบไหน?

ตั้งแต่ปี 2020 ทีผ่านมาจักรยานเสือหมอบแข่งขันรุ่นใหม่ๆ มักจะมาในคอนเซปต์คล้ายๆ กัน คือใส่ใจทั้งด้านน้ำหนักและแอโรไดนามิก สเป็คพร้อมแข่งต้องไม่เกิน 6.8 กิโลกรัม แต่ด้วยโจทย์เดียวกันนี้ ถึงรถที่ออกมาจะดูหน้าตาคล้ายๆ กัน แต่ดีไซน์ก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียวครับ

ฝั่งนึงจะปรับรถ all round ที่ปกติตัวถังมีน้ำหนักเบาอยู่แล้ว เพิ่มฟีเจอร์ด้านแอโรไดนามิกมากขึ้น เช่นซ่อนสายดิสก์เบรก สายเกียร์ และใช้ค็อกพิทแบบซ่อนสาย ปรับทรงท่อให้ลู่ลมขึ้นนิดหน่อย แต่ยังชัดเจนว่ามีรากมาจากรถไต่เขาอยู่ จักรยานพวกนี้ก็เช่น Cannondale SuperSix Evo, Scott Addict RC, Giant TCR, Colnago V3RS, Canyon Ultimate CF SLX และ Trek Emonda SLR

Factor OSTRO เสือหมอบแข่งขันรุ่นใหม่ล่าสุดจากค่าย Factor ที่สปอนเซอร์ทีม Israel Startup Nation นี้ก็ดูจะเป็นการดีไซน์ในรูปแบบที่สอง นั่นคือปรับเสือหมอบแอโร ให้น้ำหนักเบาขึ้น ดูรูปทรงจากภายนอกแล้วนี่มันก็เสือหมอบแอโรชัดๆ ครับ แต่ Factor เคลมว่าน้ำหนักเฟรมเปล่าอยู่ที่ 790 กรัมเท่านั้น เฮ้ย มันเบากว่าเสือหมอบ all round ค่ายอื่นอีกน่ะ

ความเบานี้เองจึงเป็นจุดต่างของ Factor กับเสือหมอบรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาในปี 2020 ที่ผ่านมาครับ จากรูปทรงที่เป็นเสือหมอบแอโรแบบเต็มตัว แต่น้ำหนักเฟรม (อย่างน้อยในสี Flickr) ที่เบากว่ารถ all round (ซึ่งก็มีฟีเจอร์แอโรไดนามิกน้อยกว่า)

เพราะงั้นโดยคอนเซปต์แล้ว Ostro เป็นรถที่น่าสนใจมากที่ทำรถน้ำหนักเบาได้โดยไม่ลดฟีเจอร์ด้านแอโรไดนามิกเลย แม้แต่ Specialized Tarmac SL7 ที่เคลมว่าใช้แทนรถแอโรอย่าง Specialized Venge ได้เลย ผลเทสต์ก็ออกมาไม่ได้ลู่ลมเท่า Venge ใช้ล้อขอบสูงมากๆ อย่าง Roval Rapide CLX มาช่วยทำให้ผลความลู่ลมออกมาดูดีกว่าคู่แข่ง (ผลเทสต์ล้อแยกใน Tour Magazine ก็พบว่า Rapide น่าจะลู่ลมที่สุดในระดับล้อความสูง 50-60mm ทั้งหมดครับ) อย่างไรก็ดี Factor เคลมว่า Ostro ไม่ได้ลู่ลมเท่า Factor One ซึ่งเป็นเสือหมอบแอโรเฉพาะทางของค่ายนี้

นอกเหนือจากด้านน้ำหนักและแอโรไดนามิกแล้ว Factor ยังตั้งใจออกแบบ Ostro ให้ซับแรงสะเทือนได้ดีพอที่โปรจะใช้ลงแข่งสนามที่มีเส้นทางวิบากอย่าง Paris-Roubaix ด้วย กับเฟรมที่รองรับยางกว้างได้ถึง 32mm เรียกว่าออกแบบรถคันเดียวให้เป็นทุกอย่างของเธอแล้ว

ถึงจุดนี้น่าจะพอเข้าใจคอนเซปต์คร่าวๆ ของ Ostro แล้ว ลองมาดูดีไซน์ด้านอื่นๆ บ้าง


Aerodynamic Design

เก็บทุกรายละเอียด

Factor OSTRO เป็นรถที่ดูผ่านๆ แล้วจะไม่เห็นรายละเอียดยิบย่อยที่นักออกแบบบรรจุใส่มาในตัวเฟรมครับ อย่างแรกเลยคือบริเวณท่อนอน (top tube) และท่อล่าง (down tube) ที่เว้าด้านบนของท่อเล็กน้อย ซึ่ง Factor กล่าวว่าช่วยให้ลมไหลผ่านได้สมูทกว่าและสร้าง drag น้อยกว่าท่อที่ตัดตรง

ดรอปซีทสเตย์ที่กลายเป็นดีไซน์หลักของเสือหมอบรุ่นใหม่ๆ ไปแล้วก็มีใน Factor Ostro เช่นกัน ซีทสเตย์บางเฉียบเชื่อมกับท่องนั่งทรง Kamnback และจุดเชื่อมก็ลบเหลี่ยมมุมให้ลมไหลผ่านได้สมูทที่สุด

Pencil seat stay ที่เล็กและบาง ถอดมาจากจักรยาน Gravel Factor LS

อีกสองจุดที่ได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษคือ “รูปทรง” ของท่อคอ, กะโหลก และจุดเชื่อมระหว่างตะเกียบและท่อคอ พยายามเก็บมุมให้ลมไหลผ่านได้ดี ถึงมันจะไม่ใช่ส่วนที่มีผลกับแอโรไดนามิกที่สุดเท่ากับรูปทรงตะเกียบหรือท่อล่าง แต่ Factor ย้ำว่าเป็นจุดที่หลายๆ แบรนด์มองข้ามไปและจริงๆ มีผลกับแอโรไดนามิกไม่น้อยครับ

และสุดท้าย Factor กล่าวว่าในส่วนท่อที่เป็นทรง kamnback เช่นท่อล่างและท่อนั่ง บริเวณช่วงท้ายของท่อที่เป็นการตัดปลายทรงหยดน้ำ (Truncated edge) Factor ตัดมุมด้วยรัศมีที่แคบกว่าคู่แข่ง ทำให้ได้มุมองศาตรงขอบท่อที่คมกว่า และเคลมว่าช่วยเรื่องการไหลผ่านของลมที่ดีกว่า Factor เก็บรายละเอียดตรงนี้ได้เพราะเป็นโรงงานที่ผลิตเฟรมเอง ไม่ได้จ้างคนอื่นผลิตเลยคุมดีเทล์ตรงนี้ได้ดีกว่านั่นเอง

ซ้าย – ท่อ Kamnback ของ Ostro / ขวา ท่อทรง kamntail ของค่ายอื่น

Wide Stance Fork

ในส่วนแอโรไดนามิกช่วงหน้ารถ โดยเฉพาะบริเวณตะเกียบ Factor เลือกใช้ตะเกียบแบบโค้งกว้าง ให้มีช่องว่างระหว่างล้อและตะเกียบมากที่สุด ซึ่งเป็นคอนเซปต์เดียวกับที่ทาง British Cycling ใช้ออกแบบจักรยานลู่

โดยปกติแล้วถ้าอยากออกแบบตะเกียบให้ลู่ลมที่สุด ผู้ผลิตจะเลือกใช้ดีไซน์อยู่สองแบบ หนึ่งคือทำให้ตะเกียบชิดล้อที่สุด ดีไซน์นี้มักใช้ในรถเปอร์ซูต์ที่ไม่ต้องคำนึงเรื่องขนาดยางเพราะใช้แค่ในสนามลู่ กับแบบที่สองคือทำตะเกียบให้กว้างที่สุดแบบที่ Factor ใช้ใน Ostro นี้

กว้างสะใจไปเลย

ตะเกียบโก่งๆ นี้ดียังไง? ในแวดวงอากาศพลศาสตร์ คอนเซปต์นี้เรียกว่า bypass ratio เป็นคอนเซปต์พื้นฐานที่ใช้ในการออกแบบกังหัน (turbine) และเครื่องยนนต์ไอพ่น (jet engine) Bypass ratio คืออัตราส่วนของมวลอากาศที่ไหลผ่านรอบๆ ตัวแกนเครื่องยนต์ต่อมวลอากาศที่ไหลเข้าไปในตัวเครื่องยนต์ ยิ่ง bypass ratio สูง เครื่องก็ทำงานได้ประสิทธิภาพดีเท่านั้น 

Bypass Ratio Concept

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการออกแบบตะเกียบจักรยาน!? ถึงในจักรยานเสือหมอบความเร็วที่เราใช้จะต่ำกว่าเครื่องกังหันหรือเครื่องไอพ่นหลายร้อยเท่า แต่หลักการเคลื่อนไหวของอากาศก็เหมือนกันครับ Factor กล่าวว่ายิ่งตะเกียบอยู่ห่างล้อ (และยาง) เท่าไร อากาศก็ไหลผ่านไปช่วงหลังของเฟรมได้สมูทขึ้นเท่านั้น อย่างที่บอกไปข้างต้น ถ้าไม่ทำตะเกียบกว้างๆ ให้ห่างล้อไปเลย ก็ต้องทำให้ชิดมากๆ จนแทบไม่มีช่องว่างเลยจึงจะได้ความลู่ลมสูงสุด (ลองดูดีไซน์เฟรม Pianrello Bolide HR ที่แบรดลีย์ วิกกินส์ใช้ทำสถิติเมื่อปี 2015)

สำหรับเฟรม Ostro นี้ ถ้าอยากได้ความลู่ลมสูงสุด Factor แนะนำให้ใช้ยางหน้ากว้าง วัดจากเวลาประกอบกับล้อแล้ว ไม่เกิน 26mm แต่ด้วยความที่ตะเกียบมันกว้างแบบนี้ หากเราต้องการใช้ยางหน้ากว้างกว่านั้น (สูงสุด 32mm) ก็ใช้ได้เช่นกัน! อาจจะลู่ลมน้อยลงบ้าง แต่ก็ทำให้ใช้รถได้กับเส้นทางหลากหลายมากขึ้นครับ สำหรับ Factor เขาต้องการให้นักแข่งใช้รถนี้กับสนามอย่าง Paris-Roubaix ที่ต้องใช้ยาง 28-32mm แข่ง

ยัง ยังไม่หมด! อีกหนึ่งดีเทล์ซ่อนเร้นของ Ostro ก็คือบริเวณด้านบนของตะเกียบ จะมีช่องเล็กๆ แบบนี้ครับ

Factor กล่าวว่าบริเวณยอดตะเกียบ (fork crown) เป็นจุดที่เกิดลมปั่นป่วนมากที่สุด (turbulent) เพราะมันเป็นบริเวณที่ต้องรับอากาศจากล้อหน้าที่หมุนตลอดเวลา หลายๆ แบรนด์ลด turbulent บริเวณนี้ด้วยการทำท่อล่างให้ชิดกับล้อหน้าที่สุด (นึกถึง Cervelo S5) เพื่อให้ลมโฟลว์ได้ต่อเนื่อง 

“Reversing Flow Energizing Channel” ร่องบากที่บอก

Factor แก้ปัญหานี้ด้วยการทำร่องบากที่ยอดตะเกียบ ซึ่งเขาเคลมว่าจะช่วยให้ลมไหลผ่านไปยังท่อล่างได้ต่อเนื่อง และยังรองรับยางกว้างได้ด้วย (ปัญหาของดีไซน์ท่อล่างชิดล้อหน้าคือเราจะใส่ยางกว้างๆ ไม่ค่อยได้ ไม่งั้นยางจะชนเฟรมครับ)


แอโรแล้วก็ต้องเบาด้วย

V.A.M.

แล้วเรื่องน้ำหนักเป็นยังไงบ้าง? Factor ตั้งตั้งชื่อรุ่น Ostro ขยายด้วยความว่า V.A.M. ซึ่งเป็นคำระบุว่าเฟรมตัวนี้น้ำหนักเบาเป็นพิเศษ (เทียบกับ Trek ก็คือรถตระกูล SLR หรือ Specialized ก็เป็น S-Works) Factor เคลมน้ำหนักไซส์ 54cm ในสี Flickr ที่ 790 กรัม แต่เท่าที่ผมดูๆ คนที่รับรถไปประกอบแล้วส่วนใหญ่จะมาที่ 820-850 กรัม ครับ ก็ถือว่าไม่แย่ กับรถที่มีรูปทรงท่อแอโรใหญ่และลึกแบบ Ostro

ด้านวัสดุ Factor ใช้คาร์บอนจาก TeXtreme บางส่วนที่ให้ความแข็งแรงของเฟรมมากขึ้นโดยใช้ปริมาณวัสดุน้อยลง และใช้โบรอนเสริมบริเวณท่อนั่งและจุดยึดหลักอาน 

เมื่อเทียบกับรถคันอื่นๆ ในไลน์อัปของ Factor แล้ว Ostro จะไม่ได้เบาเท่า O2 VAM (น้ำหนักเฟรม เคลม 677g) แต่ก็ไม่หนักเท่า Factor One (1kg+) ด้านความสติฟฟ์ Factor เคลมว่าเทียบเท่า Factor O2, สติฟฟ์กว่า O2 VAM แต่น้อยกว่า Factor One เล็กน้อย

T47 BB

รายละเอียดปลีกย่อยอีกจุดคือห้องกะโหลกที่ใช้มาตรฐานกะโหลกเกลียว T47 ซึ่งตรงนี้เป็นการออกแบบที่ไม่ใช่ T47 ธรรมดา เดี๋ยวเราจะมาขยายความกันอีกในโพสต์ถัดไปครับ แต่ใจความสำคัญคือ Factor ใช้มาตรฐาน T47 ที่ดัดแปลงเล็กน้อยตรงที่จับ BB โมลด์เข้าไปในตัวเฟรมเลย ซึ่ง Factor การันตีว่าจะได้กะโหลกที่ได้แนวตรงได้มาตรฐาน


Geometry Design

ทุกไซส์ต้อง handling เหมือนกัน

ในด้าน Geometry Factor ปรับองศารถให้เท่ากันหมดทุกรุ่น Factor Ostro จะใช้ geometry เดียวกับ O2 VAM และ One เหตุผลนี้คือทำมาเพื่อนักปั่นโปรทีมโดยเฉพาะ เพราะในทีมที่ Factor สปอนเซอร์ นักปั่นสามารถเลือกใช้รถได้หลายรุ่น การที่องศารถเท่ากันหมดก็ทำให้เปลี่ยนรถได้โดยไม่ต้องแก้ฟิต สำหรับลูกค้าเองก็ทำให้เลือกรถได้สะดวกขึ้นด้วย คนที่มี Factor อยู่แล้วแต่อยากเปลี่ยนรุ่นหรืออัปเกรดก็จะได้ใช้ฟิตเดียวกันหมด

Factor ใช้ตะเกียบ 3 ขนาด ขึ้นอยู่กับว่าใช้คู่กับเฟรมไซส์ไหน เพื่อให้ได้ระยะ trail ที่ใกล้เคียงกันในรถทุกไซส์ ถ้าคุณใช้ยาง 26mm Ostro จะมีระยะ trail ประมาณ 57mm ซึ่งเป็นระยะที่กำลังดีสำหรับเสือหมอบแข่งขันครับ เข้าโค้งฉับไว แต่ไม่เร็วเกินไป ไม่ดื้อโค้ง


Integration

ซ่อนสายแต่ไม่ลำบากชีวิต

สำหรับแฮนด์ Ostro จะมากับแฮนด์/สเต็ม Black Inc แบบชิ้นเดียว แต่ผู้ใช้สามารถเลือกไซส์และองศาสเต็มได้ตอนซื้อเฟรมครับ แฮนด์ตัวนี้น้ำหนักเบาทีเดียว ไซส์ 38/90mm ที่ผมเคยใช้หนักแค่ 288g เท่านั้น หลักอานก็เลือกได้ทั้งแบบหลักอานตรงและแบบมี setback 

รถออกแบบมาให้ซ่อนสายทั้งคัน โดยวิธีการซ่อนสายนั้นลองดูภาพประกอบด้านล่างนี้

Factor ออกแบบช่วงด้านบนของซางให้เป็นทรงตัว D โดยเว้าช่วงหน้าของซาง แต่เสริมความแข็งแรงด้วยชั้นคาร์บอน เราจะเดินสายผ่านตัวคอแฮนด์เข้ามาที่ซางทะลุลงไป ถ้าไม่ต้องการใช้แฮนด์ Black Inc เราจะใช้แฮนด์อะไรก็ได้ สเต็มอะไรก็ได้ แต่ยังเดินสายซ่อนในได้ทั้งคันเหมือนเดิมครับ 


จัดมาให้ครบทุกอย่างแล้ว

สุดท้าย Factor เป็นไม่กี่แบรนด์ที่เวลาซื้อเฟรมเซ็ตแล้วให้ “ของแถม” เยอะกว่าเพื่อน ถึงราคาเฟรมจะสูงสักหน่อย แต่ในกล่องนั้นเราได้

  • เฟรม
  • ตะเกียบ
  • ชุดแฮนด์ Black Inc Integrated Barstem (เลือกขนาดได้)
  • หลักอาน (เลือก setback ได้)
  • ลูกปืนคอ CeramicSpeed และแหวนคอคาร์บอน
  • กะโหลก CeramicSpeed T47 BB
  • BB Adapter สำหรับ Shimano 24mm
  • ผ้าพันแฮนด์
  • เมาท์คอมพิวเตอร์สำหรับแฮนด์ Black Inc
  • ที่แขวนตีนผีสำรอง

นั่นคือเพิ่มชุดเกียร์ ล้อ ยาง เบาะ ก็ปั่นได้เลย และตัวแทนไทยสต็อกขนาดแฮนด์ไว้ค่อนข้างเยอะครับ ไม่ต้องห่วงมากเรื่องหาไซส์ไม่พอดี

ในรุ่นคอมพลีทไบค์จะมากับล้อ Black Inc 45

Factor OSTRO จะมีให้เลือกทั้งหมดสามสี (ลองดูใน www.factorbikes.com)

ราคา premium frameset อยู่ที่ 199,000 บาท

ถ้าสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ตัวแทนนำเข้าจักรยาน Factor อย่างเป็นทางการในประเทศไทย Champion Cycle
Tel: 096-874-2555 , Line: championcycle

ร้านค้าตัวแทนจำหน่าย (คลิก)
  • สิงห์นักปั่น ถ.เกษตร-นวมินทร์ Tel: 085-860-1590, 02-561-2455
  • Café de Cyclist พุทธมณฑล สาย3 Tel: 081-662-8888, 087-320-4461
  • en/r/oute ลาดกระบัง Tel: 083-442-9777
  • Cycle Square ถ.พระราม3 Tel: 081-825-5188, 02-683-1777
  • Crazie Bike รังสิต Tel: 086-988-7779
  • Play Bike Shop ศรีนครินทร์ Tel: 02-758-5969, 086-575-4331
  • K-Siam จ.สมุทรสาคร Tel: 081-828-5325, 034-426-089
  • ราชาจักรยาน จ.ชลบุรี Tel: 038-393-888
  • สหกิจพาณิชย์ จ.นครราชสีมา Tel: 089-946-6446, 044-371-881
  • Bike-D จ.ขอนแก่น Tel: 081-391-5432
  • Siam Bike จ.นครพนม Tel: 085-152-5046
  • K Cycling Club จ.เชียงใหม่ Tel: 095-996-9966, 095-985-8522
  • Add Bike จ.เชียงราย Tel: 080-123-5804, 081-724-3035
    Bike Andaman จ.ตาก Tel: 061-545-6524

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!