ใครรู้บ้างว่า Campagnolo Super Record (SR) ผลิตออกมาเป็นครั้งแรกในปีไหนครับ? คำตอบคือปี 1974! จนถึงทุกวันนี้กรุ๊ปเซ็ต Super Record ก็มีอายุ 40 ปีพอดี Campy เปิดตัวกรุ๊ป SR เพื่อแทนที่กรุ๊ป Nuovo Record ใช้วัสดุใหม่อย่างไทเทเนียมเพื่อลดน้ำหนักจนกลายเป็นกรุ๊ปเซ็ตตัวท๊อปของบริษัท ถึงจะเป็นที่นิยมในหมู่นักปั่น แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายด้านประสิทธิภาพให้กับระบบ Index Shifting ของ Shimano จน Campy ต้องยกเลิกกรุ๊ป SR ไปในปี 1988
เราไม่ได้เห็นกรุ๊ป SR อีกเลย จนถึงปี 2009 ที่ Campy เปิดตัว SR รุ่นใหม่ เป็นชัดเกียร์ตัวแรกในวงการที่ใช้ระบบ 11 Speed แต่ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำร้อยอีกครั้งเมื่อ Shimano เปิดตัวระบบเกียร์ไฟฟ้า Di2 ในเวลาไล่เลี่ยกัน และทำงานได้ดีกว่ากรุ๊ปจักรกลทุกตัว จนกลายเป็นมาตรฐานของวงการแข่งขันในที่สุด
ในช่วงเวลา 6 ปีหลังจากการเปิดตัวกรุ๊ป Di2 – Shimano ย่อยเทคโนโลยีลงสู่กรุ๊ปเซ็ตจักรกล จนกลายมาเป็น Dura-Ace 9000 ที่ขึ้นชื่อว่าทำงานได้ลื่นไหล และนุ่มนวลไม่แพ้ชุดเกียร์ไฟฟ้า และต่อยอดการครองตลาด performance ด้วยชุด Ultegra 6800 และล่าสุด 105 5800
ขณะเดียวกัน Campagnolo ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาด OE ให้ทั้ง Shimano และ SRAM จนช่วงสองปีที่ผ่านมาเราแทบไม่เห็นรถจักรยานคอมพลีทที่มากับชุด Campagnolo เลย ด้วยขนาดบริษัทที่เล็กกว่ายักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นและอเมริกา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ Campagnolo จะเดินเกมรุกได้ช้ากว่าคู่แข่ง เสียเปรียบทั้งเรื่องกำลังการผลิตและ R&D
มีอะไรใหม่ใน “Revolution 11+”
ถึงจะมาช้า ก็ไม่ใช่ว่าไม่มา คำว่า “ช้าแต่ชัวร์” คงใช้กับ Campagnolo ได้ดีกว่าใครครับ เพราะจากที่ลองกรุ๊ป Super Record 2015 แล้วต้องบอกว่ามันทำงานได้ดีไม่แพ้ Dura-Ace 9000 เลยทีเดียว ถึงจะเหลือทีมที่บริษัทสปอนเซอร์ในระดับโปรทัวร์แค่ไม่กี่ทีม แต่ผลงานที่ได้มาทั้งแชมป์ Giro d’Italia โดยไนโร คินทานา และแชมป์ Tour de France โดยวินเชนโซ นิบาลิ บอกเราว่า Campagnolo ยังแข็งแรงในวงการแข่งขันระดับสูงสุด
ปี 2015 จะเป็นปีที่สำคัญมากสำหรับ Campagnolo เพราะเขาอัปเดตไลน์สินค้าใหม่ทั้งชุด ตั้งแต่ชุดเกียร์ Super Record, Record, Chorus ไปจนถึงล้อ Bora ที่อยู่คู่ตลาดมานับสิบปี โดยตั้งชื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า “Reveolution 11+” เรียกได้ว่าออกแบบชุดเกียร์ใหม่เกือบทั้งหมด พัฒนาต่อยอดมาจากกรุ๊ป Super Record RS ที่ผลิตออกมาให้โปรกลุ่มเล็กๆ ลองใช้เมื่อต้นปีนี้ เป้าหมายคือพัฒนาระบบเกียร์จักรกลให้ใช้งานได้ดีเทียบเท่าระบเกียร์ไฟฟ้า EPS และ Di2 ของคู่แข่ง
สับจานหน้า
พนักงาน Campy ที่บูทในงาน Eurobike ที่ DT พูดคุยด้วยบอกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดในกรุ๊ปเซ็ต Reveolution 11+ (SR, Record, Chorus) คือสับจานหน้าที่มีความยาวก้าน Lever มากกว่าเดิม ช่วยให้สับเปลี่ยนจานหน้าได้ง่ายขึ้น เวลากดเปลี่ยนเกียร์ที่มือเกียร์ก็ใช้แรงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่ใช้วัสดุสับจานเป็นคาร์บอนทั้งหมด ก็เปลี่ยนมาใช้อลูมินัมที่ cage ด้านนอก (SR, Record) เพื่อเพิ่มความสติฟ แต่ยังใช้คาร์บอนบริเวณ cage ด้านในเพื่อลดน้ำหนัก ส่วนวัสดุสับจาน Chorus จะเป็นอลูมินัมทั้งหมด
ตีนผี
ตีนผีชุดเกียร์ reveoluion 11+ หน้าตาไม่เหมือนรุ่นเก่าเลยเพราะออกแบบใหม่ทั้งหมด Campy บอกว่าตีนผีแบบใหม่ช่วยป้อนโซ่ให้อยู่ชิดเฟืองหลังมากขึ้น ทำให้ไม่สูญเสียการส่งพลังและยืดอายุการใช้งานทั้งโซ่และเฟือง
มือเกียร์
มือเกียร์ยังคงใช้ระบบ Ergopower แต่ปรับเปลี่ยนรูปทรงฮู้ดเล็กน้อยให้จับสบายกว่าเดิม (หลักๆ คือขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย) Campy ใช้ยางซิลิโคนแบบใหม่บนฮู้ดที่มีพื้นผิวขรุขระให้จับแได้แน่นกว่าเดิม ใส่ถุงมือปั่นแล้วจะไม่ลื่นหลุด แต่ถ้าไม่ใส่ถุงมือก็อาจจะเจ็บมือเล็กน้อยในช่วงแรก
มือเกียร์รุ่นใหม่ในตระกูล Revolution 11+ ไม่สามารถใช้คู่กับกรุ๊ปเซ็ตตัวเก่า ถึงจะเป็นระบบ 11 Speed เหมือนกัน ระบบ Ultrashift ของ Campy ยังเป็นรายเดียวในตลาดที่คุณสามารถปรับเกียร์ขึ้นได้มากสุดครั้งละ 3 เกียร์ และปรับลงมากสุดถึง 5 เกียร์
ขาจาน
“ขาจาน 4 แฉก” น่าจะเป็นส่วนที่สร้างความขัดแย้งที่สุดสำหรับผู้ใช้ เพราะมีทั้งคนชอบและเกลียดไปเลย หลายคนวิจารณ์ว่าหน้าตามันละม้ายคล้ายขาจาน Dura-Ace 9000 แถมฟังก์ชันหลักๆ อย่างการเปลี่ยนใบจานโดยไม่ต้องซื้อชุดขาจานเหมือนในอดีตก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับอิทธิพลมาจาก Shimano อย่างไม่ต้องสงสัย
ใบจานมีขนาด 53-39 / 52-36 / 50-34 ส่วนขาจานมี 170, 172.5 และ 175mm
ล้อ
นอกจากกรุ๊ปเซ็ตแล้ว Campy อัปเดตล้อ Bora และ Shamal ยกชุด เพิ่มความกว้างขอบล้อจาก 20.5mm ไปเป็น 24.2mm ตามเทรนด์ล้อขอบอ้วน ที่เชื่อว่าตัดกระแสลมด้านข้างได้ดีกว่าเดิม และรองรับยางหน้ากว้างที่ช่วยเรื่องการเกาะพื้นถนนและการเข้าโค้ง ล้อ Bora ทั้งรุ่น One และ Ultra สำหรับปี 2015 จะเป็นขอบอ้วนทั้งหมด มีให้เลือกทั้งยางงัดและยางฮาฟ และใช้ขอบเบรค 3Diamant หรือการเจียผิวขอบเบรคด้วยเพชรเพื่อกำจัดเศษเรซิ่นและทำให้ผิวสัมผัสผ้าเบรคเรียบที่สุด ล้อทุกรุ่นน้ำหนักเบาลงกว่าเดิมเล็กน้อย อ่านสเป็คล้อ Bora ปี 2015 ได้ที่ ลิงก์นี้
[separator type=”thin”]
First Impression
จัดแจงสเป็คกันไปหมดแล้วก็ถึงเวลาปั่นจริงครับ DT มีโอกาสได้ลองปั่นกรุ๊ป Super Record 2015 และล้อ Bora 35 รุ่นขอบอ้วนในงาน Eurobike ในวัน Demo Day ซึ่งทดสอบได้ราวหนึ่งชั่วโมง อาจจะไม่นาน แต่ก็พอจับความรู้สึกได้ แถมตอนปั่นฝนตกด้วย ก็เลยได้ทดสอบประสิทธิภาพผ้าเบรคและขอบเบรคใหม่ของล้อ Bora ซะเลย
แน่นอนว่ากรุ๊ปเซ็ตจากทั้งสามค่ายมีฟีลลิ่งการใช้งานที่ต่างกันพอสมควร Shimano จะออกแนวนุ่ม สมูท ลื่นไหล SRAM จะหนักแน่น เสียงดัง แต่ให้ฟี้ดแบ็คการเปลี่ยนเกียร์ที่ชัดเจนมาก ส่วนตัวผมคิดว่า Campy อยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองค่าย หนักแน่น ชัดเจนแต่ก็มีความนุ่มสไตล์อิตาเลียนที่บอกเป็นคำพูดไม่ค่อยถูก
ปัญหาของกรุ๊ป Campy Mechanical รุ่นก่อนๆ ก็คือ (ส่วนตัว) ผมว่ายังทำงานได้ไม่สู้ Dura-Ace 9000 โดยเฉพาะการสับจานหน้าที่ใช้แรงมากกว่า DA9000 อย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับ Super Record 2015 ดูเหมือนการออกแบบใหม่ยกชุดของเขาจะได้ผลครับ เพราะสิ่งที่ผมย้ำทดสอบมากที่สุดก็คือการเปลี่ยนจานหน้า ลองมันจากทุกเกียร์ในเฟืองหลัง ทั้งเยื้องโซ่แบบสุดๆ และธรรมดา ทั้งตอนออกแรงและตอนผ่อนแรง ผลคือสับจานหน้าไม่พลาดเลยสักจังหวะเดียว และสับได้ไวมาก ใช้แรงไม่เยอะเหมือนก่อน สับจานแข็งแรง ไม่รู้สึกว่ามีการให้ตัวเหมือน
สับเกียร์หลังก็ทำได้ดีไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น
อย่างไรก็ดี จะบอกว่ามันทำงานได้ดีกว่า DA9000 ก็คงไม่ได้ครับ อาจจะเท่าเทียมแต่ไม่เหนือกว่า ต้องชื่นชม Shimano ที่ทำกรุ๊ป mechanical ออกมาได้สมบูรณ์แบบมาก
สิ่งที่ผมชอบที่สุดในการทดสอบครั้งนี้กลับไม่ใช่ชุดเกียร์ แต่เป็นล้อ Campagnolo Bora 35 ขอบอ้วนที่มากับผ้าเบรคและผิวเบรคแบบใหม่ การเร่งทำความเร็ว ออกตัวทำงานได้ดีตามประสาล้อขอบสูงปานกลางที่มีน้ำหนักเบา แต่เรื่องเบรคนี่ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา น่าจะเป็นล้อคาร์บอนที่เบรคได้ดีที่สุดตัวหนึ่งที่เคยลองมา ทั้งเรื่องการเลียเบรค และแรงเบรค คนที่ไม่เคยใช้เบรค Campy อาจจะไม่คุ้นกับฟีลลิ่งการเบรคที่ต้องกำเบรคลึกนิดหนึ่งถึงจะได้แรงหยุด เบรคได้ดีทั้งบนถนนแห้งและเปียก เสียดายว่าเส้นทางที่ลอง เนินมันไม่ชันพอจะให้ลงด้วยความเร็วสูง (จะได้ลองการเบรคลงเขา) แต่ที่เห็นชัดคือเบรคไม่เฟดเหมือนล้อคาร์บอนหลายๆ ยี่ห้อเวลาเจอฝนครับ
สรุป
Campagnolo Revolution 11+ ยกมาตรฐานเกียร์จักรกล ให้ขึ้นมาเทียบเท่าคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Shimano ได้อีกครั้ง เท่าที่ลองตัว Record และ Chorus บนเทรนเนอร์ในบูท Campy ผมคิดว่าประสิทธิภาพการใช้งานไม่ต่างกับตัว Super Record เท่าไร ซึ่งก็เป็นปกติอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาใส้ในของทั้งสามกรุ๊ปแทบจะเหมือนกันหมด ต่างกันแค่วัสดุและแบริ่งต่างๆ ที่จะใช้ตัวแพงในรุ่น Super Record และ Record ครับ
หน้าตากรุ๊ป Campy ชุดใหม่อาจจะไม่ถูกใจหลายๆ คน ความสวยงามเป็นทัศนะส่วนตัว คงมีแต่คุณที่ตัดสินใจได้ ปัญหาอีกอย่างก็คืออะไหล่ Campagnolo นั้นหายากเหลือเกินในเมืองไทย จำนวนที่วางขายในตลาดก็มีน้อยเหลือเกิน ถึงของจะดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีขายมันก็เท่านั้น เสียดายว่าคงหามาทดสอบนานๆ แบบเชิงลึกเพื่อเช็คสภาพความทนทานและการใช้งานหลายๆ รูปแบบไม่ได้
คำถามสุดท้ายคือในตลาดกรุ๊ปเซ็ตที่การแข่งขันสูงขึ้นแต่ราคาต่อประสิทธิภาพกลับถูกลงทุกวัน ตอนนี้คุณสามารถหากรุ๊ปไฟฟ้าและดิสก์เบรคมาใช้ได้แบบไม่ต้องคิดมากเรื่องราคาเหมือนสมัยก่อน แล้วมันยังพอมีพื้นที่พอให้ Campy ที่วางราคาเหลื่อมคู่แข่งที่ประสิทธิภาพไม่หนีกันอยู่หรือเปล่า?
เวลาคือคำตอบครับ