Colnago เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ DT อยากจะลองมานาน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เทสต์สักทีครับ หลายคนคงรู้จักกันดีกับแบรนด์ของลุงเออร์เนสโต้ โคลนาโก้ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1952 และเป็นจักรยานที่คว้าผลงานแชมป์มานับไม่ถ้วน
Colnago โด่งดังจากจักรยานเหล็ก แต่มาถึงยุคคาร์บอนก็ดูจะแผ่วๆ ไปบ้าง ด้วยความที่เทคโนโลยีหลายๆ อย่างอาจจะตามไม่ทันแบรนด์ระดับโลกที่มีนายทุนหนุนหลังขนาดใหญ่ สามารถทุ่มงบ R&D พัฒนาเฟรมรุ่นใหม่ๆ ให้ไปไกลกว่าเดิมในขณะที่ Colnago (และแบรนด์อิตาเลียนอีกจำนวนมาก) ยังคงธุรกิจในแบบเก่า โรงงานเล็กๆ พนักงานไม่มาก
แน่นอน แทบทุกยี่ห้อรวมถึง Colnago outsource การผลิตไปไต้หวันและจีนกันทั้งหมดเพื่อลดต้นทุนและอาศัยความเชี่ยวชาญของคนเอเชียในการผลิตจักรยานอลูมิเนียมและคาร์บอน แต่ก็ยังมีบางรุ่น อย่าง Colnago C60 ที่ยัง made in italy ด้วยวิธีการผลิตแบบสวมข้อต่อ lug อยู่ เป็นการสานต่อ lug construction จากสมัยเฟรมโครโมลี่ มาเป็นคาร์บอนไฟเบอร์
คำถามคือ มันปั่นเป็นยังไงบ้างเมื่อเทียบกับรถสมัยใหม่?
The C-Series
C-Series ของ Colango จัดว่าเป็นไลน์เสือหมอบรุ่นสูงสุดที่ Colnago ผลิต เริ่มเปิดตัวราว 20 ปีก่อนด้วยเฟรม C40 ตามมาด้วย C50 ในปี 2003 ที่ลดน้ำหนักลงและเพิ่มความสติฟ จากนั้นแตกไลน์ออกเป็น Colnago Extreme Power และ Extreme C ปรับจูนพิเศษสำหรับสปรินเตอร์และนักไต่เขา
จากนั้นก็เป็น Colnago EPS, และ C59 (2010) และล่าสุด C60 ช่วงปี 2014 ที่มากับกระโหลกแบบใหม่ (ThreadFit 82.5) ท่อและ lug ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มความสติฟและลดน้ำหนัก มีออพชันดิสก์เบรคให้เลือกด้วย กระโหลกแบบใหม่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม หมายถึงท่อต่างๆ ที่ใช้ในเฟรมนี้ก็ใหญ่ขึ้นด้วย (ตอบสนองแรงดีกว่าและเบากว่า)
ท่อล่างมีขนาด 66x52mm เทียบกับ C59 ที่ 44m ใน C59 บริเวณท่อนั่งก็กว้างขึ้นจาก 34.9mm ใน C59 เป็น 51.5mm ใน C60 ท่อนั่งใช้ดีไซน์แบบไม่สมมาตร มีขนาดใหญ่กว่าในฝั่งที่ติดตั้งเกียร์ (Driveside) โดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆ กระโหลก แต่หลักอานใช้ขนาด 31.6mm
ท่อที่ใช้ในการผลิตเฟรมมีรูปทรงดาวคล้ายๆกับ ท่อ Master tube สมัย Colnago Master ถ้าใครเป็นแฟน Colnago Vintage จะสังเกตเห็นทันที ดรอปเอาท์ยึดตีนผีเปลี่ยนจากคาร์บอนเป็นอลูมิเนียม เพื่อง่ายต่อการเปลี่ยนเวลาเสียหายหรือคดงอ เฟรมเดินสายภายในทั้งหมด
เฟรมหนักประมาณ 1,000 กรัม และตะเกียบ 385 กรัม ถือว่าหนักสำหรับราคาระดับนี้ครับ เฟรมมีให้เลือก 14 ไซส์ทั้งแบบ sloping top tube และท่อตรงทรงคลาสสิค
ปั่นเป็นยังไง?
Colnago C60 คันนี้ไม่ใช่ของใคร เป็นเสือหมอบคู่ใจคันใหม่ของพี่โป้งจากวง Moderndog นั่นเอง ผมมาถ่ายรายการ Life Cycling ด้วยกันกับพี่โป้งที่กาญจนบุรีพอดี เห็นไซส์ใกล้ๆ กันเลยขอพี่โป้งแลกปั่นครับ รีวิวนี้จะเป็น First impression หรือความรู้สึกแรก เพราะเราได้ปั่นไม่นาน ไม่ใช่การรีวิวแบบปกติของ DT แต่ก็พอจะจับความรู้สึกมาเล่าให้ฟังกันได้บ้าง
Colnago ตัวท็อปอย่าง C60 อย่างที่บอก ยังผลิตในอิตาลีอยู่ แต่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์จากทางเอชีย เป็นเฟรมคาร์บอนแบบสวม lug สิ่งแรกที่คิดเลยคือ มันจะย้วยมั้ยเนี่ย โดยโครงสร้างแล้วยังไงการส่งถ่ายแรงของ lug ก็น่าจะสู้เฟรมแบบ monocoque ได้ยาก แต่นี่ระดับพระโคราคาหกหลักมันจะกระจอกได้ยังไง (เฟรมเซ็ตราคา 2xx,xxx)
เส้นทางปั่นวันนี้เราเริ่มจากเขื่อนศรีไปน้ำตกห้วยแม่ขมิ้นแล้วกลับ แค่ขาไปไม่ถึง 50 โล elevation ก็หวดไป 1000m เหมาะแก่การบี้ขยี้เฟรมใหม่เป็นอย่างดี
ในส่วนของสเป็ค รถพี่โป้งมากับล้อใหม่กริ๊บๆ Campagnolo Shamal Mille พร้อมยาง Continental GP4000s ที่คุ้นเคย, กรุ๊ปเซ็ต SRAM Red 22 และ Quarq powermeter เบาะ Selle Italia SLR รูปทรงคล้ายๆ กับ Romin Evo Pro ของผม ก็เลยไม่ต้องเปลี่ยนให้ยุ่งยาก
นุ่มจริงอะไรจริง
ขึ้นคร่อมปุ๊บ แหม่ ยังกะขี่รถตัวเอง ระยะการฟิตต่างๆ นี่แทบจะเหมือนกันหมดไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย เลยจับฟีลไม่ยาก เพราะพี่โป้งกับผมสูงพอๆ กัน
ก่อนปั่นก็เปลี่ยน Garmin กันแล้วจับคู่พาวเวอร์มิเตอร์แล้วก็เริ่มออกปั่นเบาๆ จากการบดขึ้นเนินไป 200 วัตต์นิ่งๆ อืม มันเป็นรถที่นุ่มนวลดีจริงๆ ความรู้สึกมีหน่วงๆ แต่ไม่ใช่การย้วย เป็นคาแรคเตอร์การถ่ายแรงของเฟรมมากกว่า ถ้าไล่รอบหาจังหวะได้ถูกก็ตอบสนองแรงได้ดี มันซับแรงสะเทือนได้ดีจนคิดว่านี่ปั่นเฟรมสไตล์เอนดูรานซ์อยู่ เรียกได้ว่าไม่มีอาการกระเทือนให้เมื่อยเลยแม้แต่นิดเดียว ถึงทางที่เราปั่นเป็นถนนหมู่บ้านมีหลุ่มบ่อเต็มไปหมด ขี่ได้ทั้งวันสบายๆ ไม่ใช่เพราะลมยางอ่อนด้วย เพราะก็เติมมา 110psi
จังหวะลงเขาเป็นยังไง?
รูทนี้ทางลงเยอะครับ สั้นๆ เลย handling ดีมากถึงดีที่สุด นิ่มๆ แน่นๆ รถซับแรงกระเทือนดีมากอยู่แล้ว กับ headtube สุดสติฟ ทำให้ steering คม แต่หน้าไม่ไวเกินไป บวกกับช่วงหลังนิ่มๆ และ geometry ที่ไม่ซิ่งมาก ทำให้การเกาะถนนมั่นคงและนุ่มนวล ลงไวๆ ได้มั่นใจสมราคา
สิ่งที่ต่างกับหมอบที่มัน aggressive มากๆ อย่าง Canyon Aeroad ของผมอย่างเห็นได้ชัดคือ ความรู้สึกของความเร็ว (Sense of speed) ที่หายไปหมดเลย ปกติทางลงเขาแบบนี้ Canyon Aeroad จะให้ความรู้สึกที่เร็วและสยิวๆ หน่อยถ้าไม่ชินกับฟีลลิ่งแบบนี้ แต่ Colnago นี่นิ่งและนิ่มเหมือนสั่งโค้งให้เชื่องโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร อาจจะไม่เร้าใจ แต่วางใจได้แน่นอน
แล้วการระเบิดพลังสปรินต์หละ?
ปั่นไปสักพักเจอทางลงเขาแบบไม่ชันมาก ดิ่งกันลงมาความเร็ว 40 นิดๆ แล้วต่อขึ้นเนินสั้นๆ ประมาณ 6% เลยลองจัดเต็มยืนโยกหวดไป 400 วัตต์ เค้นกระโหลกมัน….อื้ม แรงส่งมาได้เรื่อยๆ แต่ยังไม่จู๊ดจ๊าดเหมือนหมอบแข่งสไตล์วัยรุ่น หมอบอเมริกัน หมอบสายไต่เขาตัวแรง
เจอทางราบลองยกสปรินต์เบาๆ ก็ทำได้ดี แต่คงไม่ใช่จุดเด่นเท่าไร กดแล้วมันยังไม่พุ่งเต็มที่เหมือนเฟรม monocoque หลายๆ คันที่เคยลอง ส่วนความไหลยังสู้หมอบแอโรไม่ได้ ทั้ง geometry และดีไซน์ตัวท่อต่างๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่สติฟ ไม่สู้เท้า แค่คาแรคเตอร์รถมันตอบสนองแรงไม่ทันท่วงทีทันใจ ออกจะไปคล้ายๆ Sarto Dinamica ที่เคยรีวิวไปเมื่อตอนต้นปีครับ
สรุป
สรุปแล้ว C60 คงเปรียบได้กับหนุ่มใหญ่ที่ผ่านโลกมาเยอะ สุขุมนุ่มลึกมีชั้นเชิงและมีระดับ เขี้ยวเล็บอาจจะหายไปบ้าง่ใช่เพราะแก่ แต่เพราะไม่จำเป็นต้องโชว์เหมือนวัยรุ่นวัยคะนองที่เอะอะก็ยกทับยกทับ
เอาล่ะ เดี๋ยวภาษาจะลิเกเกินไป เอาสั้นๆ ครับ C60 เป็นเฟรมนิ่มมาก องศาขี่สบายๆ ปั่นได้ทั้งวันไม่มีเมื่อย อาจจะไม่พุ่งสะใจสายบู๊สายกระชากเท่าไรเพราะตีนต้นกดไม่มา แต่ตีนปลายหายห่วง เฟรม handling มั่นคง นิ่มๆ หนึบๆ สไตล์รถอิตาเลียนและเป็นจุดเด่นที่สุดของเฟรมตัวนี้ที่ทำให้ทางลงยากๆ กลายเป็นเรื่องง่ายได้สบายๆ เฟรมลวดลายคลาสสิค และมีสี/ลายให้เลือกเยอะมาก
ถามว่าถ้าเลือกได้ผมจะจัดมั้ย? คงไม่ เพราะยังชอบรถนิสัยวัยรุ่นอยู่ ชอบ handling คมๆ ไหลๆ พุ่งๆ ที่ให้ฟีลความเร็วมากกว่า C60 แต่ถ้าใครชอบขี่ยาวๆ สบาย ยกหนีเพื่อนสนุกๆ และเป็นจุดเด่นในกลุ่ม Colango C60 ยังคงตอบโจทย์ครับ ขี่ดีนะแต่มีสไตล์ของมัน (ถ้าคุณสู้ราคาไหว) ครับ
ps. ต้องขออภัยที่รูปน้อย มัวแต่ถ่ายรายการและกลัวฝนตกเลยไม่ได้ถ่ายเจาะส่วนต่างๆ มาสักเท่าไรคัรบ ไว้มีโอกาสจะมาอัปเดตรูปเพิ่ม
รีวิวต่างประเทศ: Bikeradar, Road.cc, Bicycling, Cyclingtips, Cyclist, Velonews
* * *