Independent Fabrication XS ที่สุดของจักรยานสั่งตัด

ทุกครั้งที่มีคนถาม DT ว่าจักรยานปั่นไม่สบายเลย ต้องทำยังไงดี เปลี่ยนอุปกรณ์จะช่วยได้ไหม? ทุกครั้งเราจะแนะนำให้คนนั้นไปทำ “ฟิตติ้ง” จักรยาน การฟิตติ้งก็คือการปรับระยะต่างๆ ของรถให้เข้ากับสรีระ ความต้องการ และจุดประสงค์การปั่นของคนปั่นให้ได้พอเหมาะพอดีที่สุด ผลที่ได้คือความสบายในการปั่น ความมั่นใจ และอาการบาดเจ็บต่างๆ ที่จะหายไป

ถ้าจะให้เทียบราคาค่าฟิตติ้งที่เริ่มไม่กี่พันบาทแล้ว เราถือว่ามันคือการลงทุนที่คุ้มที่สุด

แต่จักรยานก็เหมือนเสื้อผ้า ก่อนคุณจะซื้อคุณต้องรู้ว่าจะซื้อไซส์อะไรถึงจะปั่นได้พอดี แต่ละแบรนด์ก็มีไซส์จักรยานต่างกันไปอีกมากบ้างน้อยบ้าง เพราะทุกกบริษัทมีปรัชญาเรื่องขนาดและมิติรถต่างกัน จึงไม่แปลกที่จะเห็นหลายคนต้องบ่นอุบว่าซื้อจักรยาน “ผิดไซส์” ทางออกคือขายทิ้ง หรือไม่ก็ทนปั่นในจักรยานที่ไซส์ไม่ค่อยจะพอดีกับตัวเอง ทั้งจักรยานและเสื้อผ้าที่มีให้เลือกเป็นไซส์ “สต๊อก” หรือไซส์ที่กำหนดมาก่อนจากโรงงานนั้น จุดมุ่งหมายคือทำให้คน “ฟิต” รถได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลายๆ แบรนด์เลือกที่จะลดต้นทุน ลดจำนวนไซส์ที่มีให้เลือกลง เหลือแค่ไม่กี่ไซส์ เช่น XS, S, M, L, XL (ไซส์น้อยลงก็ไม่ต้องทำโมลด์ต้นแบบเยอะ ลดต้นทุนได้มหาศาล) แต่แบรนด์ที่ใส่ใจลูกค้าก็จะมีไซส์ให้เลือกมากกว่านั้นหลายเท่า เช่นอาจจะมีรุ่นสำหรับคนตัวสูงเป็นพิเศษในไซส์เดียวกันเป็นต้น

 

I. ใครคือ Independent Fabrication?

อินดิเพนเดนท์ ฟาบริเคชัน หรือเรียกกันสั้นๆ ในวงการว่า “Indy Fab” (อินดี้แฟ้บ) หรือ IF คือผู้ผลิตเฟรมจักรยานคัสตอมเมดจากสหรัฐอเมริกา

IF ไม่ใช่แบรนด์เก่าแก่ แต่ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ช่วงปี 1980s เป็นเวลาที่ตลาดเสือภูเขารุ่งเรืองถึงขีดสุดในอเมริกา จนช่างจักรยานคนนึงเปิดบริษัททำจักรยานแฮนด์เมดในนามว่า Fat City Cycles เปิดตัวได้ไม่นาน จักรยาน Fat City Cycles ก็เป็นที่นิยม ประสบความสำเร็จจนเป็นรถที่หลายๆ คนอยากจะมีเก็บไว้ ทว่ามันเป็นความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายก็ต้องปิดตัวและโดน Serotta ซื้อกิจการไปจนบริษัทต้องย้ายตาม Serotta ไปรัฐนิวยอร์ค

แต่พนักงาน Fat City Cycles จำนวนหนึ่งไม่ยอมที่จะจากบ้านเกิด เพราะพวกเขาทำงานอยู่บอสตันมา 14 ปีเต็ม ทั้ง 14 คนเลยรวมตัวกันก่อตั้งบริษัทจักรยานใหม่ในปี 1995 และตั้งชื่อว่า Independent Fabrication — คำว่า Independent ตรงนี้มีความหมายตาม เพราะว่าทุกคนที่ร่วมก่อตั้งเป็นหุ้นส่วนบริษัท และแบ่งสัดส่วนกำไรเท่าๆ กัน โดยมีปณิธานเป็นจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่าง Fat City Cycles ที่ถูกรวบกิจการ และทำสิ่งที่พวกเขาอยากทำโดยอิสระไม่ต้องเกรงใจนายทุน

สิ่งที่เขาอยากทำ — ก็คือการผลิตจักรยานคัสตอมเมดที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทุกชิ้นส่วนต้องทำในสหรัฐอเมริกา ในปี 2011 IF ย้ายที่ตั้งไปรัฐนิวแฮมป์เชียร์ แต่ยังคงยึดมั่นในหลักการ “ผลิตทุกอย่างด้วยตัวเอง”

ด้วยความที่ไม่ได้หวังขายจักรยานสำหรับตลาดแมส IF ผลิตจักรยานที่น่าทึ่งขึ้นมาหลายคัน ไม่ว่าจะเป็นจักรยาน BMX ฟูลคาร์บอน หรือจักรยานลู่สเตนเลส ไปจนถึงจักรยานที่เป็นตัวชูโรงของบริษัท: เสือหมอบคาร์บอน-ไทเทเนียม หรือ Indipendent Fabrication XS ที่ DT ได้มาลอง

เมื่อเป็นจักรยานสั่งตัดได้ตามใจลูกค้า เป็นงานแฮนด์เมดและใช้วัสดุจากในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดก็การันตีได้ว่าราคาไม่ถูกแน่นอน ซึ่ง IF ก็รู้ว่าจักรยานของเขาไม่ใช่จักรยานสำหรับทุกคน

ตรงข้ามกับจักรยานคาร์บอนในตลาดที่เปลี่ยนรุ่นทุกสองปีตามวิถีการแข่งขันของนักปั่นอาชีพ จักรยาน IF ดูจะเป็น “การลงทุน” หรือ “งานศิลป์” เสียมากกว่า และคุณมั่นใจได้ว่าราคามันจะไม่ตกเหมือนยี่ห้ออื่นๆ  (DT เชื่อว่าน้อยคนที่คิดสั่ง IF แล้วมีแผนขายต่อทีหลัง)

แล้วราคามหาโหดมันมาจากไหน? สำหรับนักปั่นที่ไม่ได้สนใจซีนจักรยานสั่งตัดสไตล์ บูทีคเฟรมบิลด์เดอร์ ที่กระจายตัวกันอยู่ในอเมริกา คงมีไม่กี่คนที่เคยผ่านตาผลงานของ IF แต่ถ้าถามคนในวงการด้วยกันแล้ว ชื่อเสียงของบริษัทนี้ถือได้ว่าเป็นเจ้าพ่อวงการ custom made bicycle ครับ จักรยานของ IF ชนะการประกวดงาน North American Handmade Bicycle และรางวัลจากสื่อจักรยานหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น Bicycling Magazine และ Ride Cycling Australia

เจ้าจักรยานที่ห้อยอยู่นี้คือ Independent Fabrication แบรนด์คัสตอมจากอเมริกาที่ออกแบบคอลเลคชันจักรยานถนนพิเศษให้ Rapha

Independent Fabrication XS

จักรยานของ IF ที่สปอนเซอร์ส่งมาให้เราชำแหละสเป็ค ทำจากคาร์บอน-ไทเทเนียม

ว่ากันตามตรง แนวคิดจักรยานท่อคาร์บอน ที่เชื่อมลักไทเทเนียมไม่ใช่ไอเดียใหม่ ในปี 1992 Specialized ผลิตเฟรมเสือภูเขา Ultimate ที่ทำจากวัสดุเดียวกัน ท่อคาร์บอน และลักไทเทเนียม นอกจากจะสวยงาม และเบาหวิวแล้ว ราคามันสูงเกินคนทั่วไปจะจับได้ Specialized ผลิตแค่ 1500 คันแล้วก็ต้องหยุดการผลิตไป

เหตุผลที่แบรนด์บูทีคชอบใช้ไทเทียมและคาร์บอนก็เพราะว่าวัสดุทั้งสองประเภทมีคาแรคเตอร์ที่ดีที่สุดสำหรับการปั่น คาร์บอนน้ำหนักเบาและตอบสนองการออกแรงได้ดี ในขณะที่ไทเทเนียมให้ความแข็งแรงและดูดซับแรงกระเทือน ที่สำคัญคือ ช่างจักรยานสามารถเลือกรายละเอียดวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นขนาดท่อ เกรดคาร์บอนและไทเทเนียมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้โดยตรง ซึ่งเป็นอะไรที่จักรยานคาร์บอนโมโนค๊อกที่นิยมในตลาดตอนนี้ทำไม่ได้

สิบปีให้หลัง Merlin เริ่มหยิบคอนเซปต์เดิมมาใช้ จนกลายเป็นไฮไลท์การผลิตเฟรมของแบรนด์บูทีค custom made ทั้ง Seven Cycles, FireFly, และ IF เริ่มผลิตจักรยานคาร์บอน-ไทเทเนียมอย่างจริงจัง และนั่นก็คือที่มาของ Independent Fabrication XS

Indy Fab XS3

ท่อคาร์บอนทั้งหมดของ XS ผลิตโดย Reynolds Composite ไม่ทำสี เป็นลายคาร์บอนดิบ แต่เคลือบเคลียร์โค้ท (ที่เนี้ยบมาก) ส่วนลักไทเทเนียมที่ใช้เชื่อมท่อนั่ง ท่อนอน และท่อคอก็พิเศษไม่แพ้กัน ลักสีขาวไข่มุกแต่ละชิ้นใช้เลเซอร์ตัดเป็นรูปทรงมงกุฏคล้ายโลโก้ของบริษัท ลักเชื่อมติดกับท่อคาร์บอนเนียนสนิทไร้รอยต่อ แต่ถ้าอยากสั่งทำสีพิเศษก็ได้เช่นกัน (เล่นเอา DT ไม่กล้าถามราคาเลยทีเดียว)

ที่เด็ดที่สุดคงเป็นงานเชื่อม จะเชื่อมไทเทเนียมให้เนี้ยบเรียบประสานได้สนิทแบบนี้ดูก็รู้ทันทีว่าถ้าไม่ใช่ช่างที่มีประสบการณ์กับงาน Ti หลายปี ทำไม่ได้แน่นอน IF เชื่อมรอยต่อแบบ Single pass ก้มดูใกล้ๆ ที่ท่อคอและกระโหลกแทบจะหารอยเชื่อมไม่เจอ ดูจะเป็นงานศิลป์มากกว่าเป็นจักรยาน ไม่แปลกใจเมื่อเทียบกับค่าตัวสุดโหดของมัน

Enve Classic 25 Rim

The Spec

IF XS คันนี้เป็นจักรยานทดลองและตัวโชว์ของ Spaceframe ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย IF ในไทย แน่นอนว่าสเป็คก็ต้องมาเต็มครับ เฟรมตัวนี้วางจำหน่ายมาหลายปีแล้ว สเป็คเลยอาจจะดูไม่ล่าสุดเท่าไร แต่ก็ยังถือว่าเป็นที่สุดของอุปกรณ์อยู่ ชุดขับ Campagnolo Record 11 Ti, ล้อ Enve 1.45 ซึ่งมากับดุม White Industry (!) แฮนด์ สเต็ม และหลักอานเป็นของ Enve เช่นกัน ตบท้ายด้วยเบาะ Fizik Aliante

ตัวเฟรมเป็นคอลเลคชันพิเศษที่ IF ผลิตให้บริษัท Rapha (เลยเป็นที่มาของโลโก้ Rapha ตรงท่อนั่งและท่อคอ)

น้ำหนักทั้งคันออกมาที่ 6.5 กิโลกรัม (ท่อนอนยาว 53cm) ไม่เบาโหวง แต่ก็ไม่แย่เมื่อเทียบกับเฟรมฟูลคาร์บอนตัวท๊อปของเจ้าอื่นๆ

เฟรมหนัก 1,248 กรัม ตะเกียบหนัก 302 กรัม

จะสั่งตัดจักรยานหนึ่งคันต้องทำยังไง?

ถ้าสังเกตแบบฟอร์มข้างบนนี้ดีๆ จะเห็นว่ามันเกี่ยวกับคาแรคเตอร์จักรยานครับ ฟอร์มนี้ใช้ทำอะไร? เราเกริ่นว่า IF คือจักรยานสั่งตัดแต่คำว่าสั่งตัดในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่อง geometry มุมองศารถและไซส์อย่างเดียว แต่ละเอียดไปถึงขั้นที่ว่าต้องระบุว่าอยากได้รถที่มีคาแรคเตอร์ประมาณไหนและใช้งานยังไง

Screen Shot 2558-01-30 at 5.08.51 PM

กระบวนการสั่งคร่าวๆ ประมาณนี้ครับ

  1. อันดับแรกไปคุยกับตัวแทน IF ที่ร้าน Spaceframe จากนั้นทีมงานจะคุยกับเราก่อนว่าต้องการรถแบบไหน ควบคู่กับการกรอกรายละเอียดในฟอร์มของ IF (เหมือนมาสมัครงานเลยเนอะ ^^”)
  2. ในแบบฟอร์มเขาจะถามประสบการณ์การปั่นจักรยาน และ “เป้าหมายในการปั่นจักรยานคันนี้” ตามด้วย “สไตล์ที่ชอบ เช่นแข่งถนน แข่งไครทีเรียม แข่งสนาม UCI, ไตรกีฬา หรือขี่เล่น แล้วชอบขึ้นเขาแบบไหน ชอบยืนปั่นหรือเปล่า หรือชอบปั่นแช่  ชอบรถสติฟหรือรถนิ่มๆ ชอบเข้าโค้งแบบฟรีขาหรือย่ำบันได? ปกติปั่นนานแค่ไหน ชอบยกล้อหรือเปล่า!? ตบท้ายด้วยการเรตสเกลฟีลลิ่งการปั่นสามด้าน…
  3. จากนั้นก็เลือกสเป็ค จะสั่งเป็นเฟรมเซ็ต หรือเป็นคอมพลีทไบค์ก็ได้ มีสีสต็อกให้เลือก แต่ถ้าอยากได้สีพิเศษก็สั่งได้เช่นกัน
  4. ข้อมูลทั้งหมดนี้ตัวแทนจะส่งไปให้ Indy Fab แล้วทางบิลด์เดอร์จะพิจารณาควบคู่กับสรีระของลูกค้า
  5. เมื่อ IF จัดการสรุปแบบและ geometry เรียบร้อยแล้วก็จะส่งข้อมูลกลับมาให้ลูกค้าคอนเฟิร์ม
  6. ถ้าลูกค้าโอเคก็จ่ายมัดจำ 50% เป็นอันเสร็จพิธี
  7. จักรยาน IF ทุกรุ่นใช้เวลาผลิตไม่เกิน 8 สัปดาห์​ ประกันคุณภาพงานผลิตตลอดชีวิต

 

Gallery

สรุป

ด้วยราคาและกระบวนการการสั่งตัดท่ีต้องรอหลายสัปดาห์ IF ไม่ใช่จักรยานสำหรับทุกคนแน่นอน และอาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานทุกอย่าง แต่สิ่งที่ได้กลับมา คงไม่ใช่แค่จักรยานหนึ่งคัน แต่เป็นงานฝีมือที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้ รายละเอียดแต่ละจุดเห็นได้ชัดว่าช่างใส่ใจและภูมิใจกับผลงานของเขา เมื่อรวมกับคาแรคเตอร์รถที่เราเลือกได้เองแล้วก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และไม่ได้มีให้เห็นมากนักในประเทศไทย

ดูในภาพรวมผู้ผลิตจักรยานแล้วก็น่าประหลาดใจเหมือนกัน เพราะแต่ก่อนเป็นแบรนด์อิตาเลียนที่เน้นทำจักรยานสไตล์ Passion เน้นความสวยงามคู่ไปกับประสิทธิภาพ แต่ช่างทำเฟรมยุโรปก็ล้มหายตายจากไปจนเกือบหมด เหลือแค่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่เน้นไปจับตลาดแมสแทน กลายเป็นว่าจักรยานบูทีคกลับไปเติบโตที่อเมริกาและได้รับความนิยมเป็นพิเศษ จนมีเฟรมบิลด์เดอร์หน้าใหม่เติบโตและประสบความสำเร็จ เช่น Parlee, Argonaut, Firefly, Seven, Serotta และ

ถามว่ามันต่างกับเฟรมคาร์บอนตัวท๊อปในตลาดยังไง? DT ว่ามันต่างกันตั้งแต่ตอนคิดจะซื้อครับ อย่างที่กล่าว เฟรมสั่งตัดไม่ใช่สำหรับทุกคน แบรนด์ใหญ่เน้นปริมาณการขายและผลกำไร จึงเป็นหน้าที่ของเขาที่จะวิจัย ผลิตจักรยานใหม่ออกมาเรื่อยๆ ทำให้ดีกว่าเดิม เน้นการโฆษณา โปรโมทหลายช่องทาง และทำไลน์สินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดให้กว้างที่สุด

แต่สำหรับเฟรมบิลด์เดอร์บูทีคอย่าง IF กับขั้นตอนสั่งทำที่ยาวนานและต้องไปพูดคุยก่อนจะซื้อนั้น เราต้องเป็นคนเข้าไปหาแบรนด์ มากกว่าแบรนด์ออกมาหาเรา ซึ่งสุดท้ายคุณจะได้จักรยานที่ถูกใจมั้ยก็เป็นกระบวนการที่คุณต้องหาคำตอบเองครับ

Enve Classic 25 Rim
Reynolds carbon tubing
ลักไทเทเนียมฉลุด้วยเลเซอร์ รัดหลักอานพะมงกุฏ IF

Headset จาก Chris Ling สังเกตรอยเชื่อม เนียนทีเดียว

XS คันนี้เป็นคอเลคชันพิเศษที่ทำร่วมกับ Rapha (ไม่ใช่จักรยานยี่ห้อ Rapha อย่างที่หลายคนเข้าใจนะ!) Headbadge ที่เห็นทำจากเงินสเตอร์ลิงแท้

White Industry Hub
กระโหลก traditional แต่สามารถเลือกเป็น oversized BB ได้ถ้าต้องการ / BB, Chainstay, dropout ทำด้วยไทเทเนียมทั้งหมด
ซีทสเตย์ทรง Wishbone ดูเป็นดีไซน์ที่เก่าย้อนยุคสมัยจักรยานท่อโคลัมบัสเป็นที่นิยม ซีทเสตย์ของ IF XS มีทรงโค้งมนเล็กน้อย การเดินสายเบรคค่อนข้างชิดตัวเฟรมทีเดียว
Independent Fabrication XS

ราคาเฟรมเซ็ต: 230,000 บาท
ราคาคอมพลีทไบค์ (คันนี้): 4xx,xxx บาท
ตัวแทนจำหน่าย: The Spaceframe Co., Ltd.

www.thespaceframe.com
www.facebook.com/Thespaceframe.th
https://www.facebook.com/independentfabrication.th
www.ifbikes.com/

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *