รีวิวประสบการณ์ทำฟิตติ้งจักรยานไตรกีฬาตั้งแต่ต้นจนจบ

Photo: Terdpong Wirunkan

ห้าปีที่แล้ว ผมกลับมาขี่จักรยานเสือภูเขาอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้ปั่นเลยกว่า 10 ปี ตอนเดินเข้าไปในร้านจักรยาน คุยกับคนขายอยู่พักหนึ่งว่าอยากได้รุ่นนี้ พี่เค้าก็มองๆ ดูความสูงผม แล้วก็บอกว่า

“น้องต้องขี่ไซส์นี้นะ น้องตัวใหญ่ตอนนี้มีเฟรมที่ใช้กับล้อ 19 นิ้วแล้ว พี่แนะนำคันนี้ น้องขี่ได้แน่นอน”

วันนั้นที่ผมไม่เคยรู้เรื่องไซส์จักรยานอะไร ก็ซื้อมาขี่ด้วยความเชื่อใจคนขาย พอขี่ไปได้สักพักก็เกิดคำถามขึ้นมากมายกับตัวเอง เพราะเริ่มเกิดอาการเมื่อยหล้าจนถึงบาดเจ็บในบางจุด ยิ่งช่วงหลังเริ่มหันมาใช้บันไดคลีตด้วย อาการต่างๆ ก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ เพราะเมื่อระยะบางอย่างไม่เหมาะสมกับสรีระของเรา ยิ่งยึดรองเท้าให้ติดกับบันได ก็ยิ่งทำให้บาดเจ็บมากขึ้นไปอีก

ด้วยความเจ็บตัวทำให้ผมได้เริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการปรับระยะท่านั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยาวของสเต็ม หรือความสูงของหลักอาน ลองปรับผิดๆ ถูกๆ อยู่หลายครั้ง บางทีก็สามารถแก้อาการบาดเจ็บได้ แต่หลายครั้งก็กลับทำเจ็บมากขึ้นหรือเจ็บในจุดอื่นเพิ่มขึ้นครับ

สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ จักรยานเป็นอุปกรณ์ที่อาศัยการทำงานของร่างกายที่สัมพันธ์กันในหลายๆ ส่วน แน่นอนว่าการเปลี่ยนระยะบางอย่าง ย่อมส่งผลต่อร่างกายในหลายๆ ส่วนไปพร้อมๆ กัน

 

1. ไบค์ฟิตเตอร์ทำหน้าที่อะไร?

คำถามคือเราจะปรับระยะต่างๆ อย่างไรให้ลดอาการบาดเจ็บต่างๆ แล้วไม่กระทบในส่วนอื่นๆ? หรือดีที่สุดเลยคือปรับยังไงให้ปั่นแบบไม่บาดเจ็บและยังเรียกประสิทธิภาพได้สูงสุดด้วย?

ที่นี้จะแก้ไขอย่างไรคือประเด็นสำคัญครับ เพราะคนที่จะบอกได้ว่าควรปรับตั้งระยะต่างๆ ในจักรยานอย่างไร จำเป็นต้องเข้าใจเรื่อง สัดส่วนของจักรยาน (geometry), สรีระของมนุษย์ (physiology) รวมไปถึงการทำงานของกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กัน

แล้วยังต้องประเมินได้ด้วยว่าร่างกายเรามีอะไรที่ผิดปกติไหม เช่น ความยาวของขาที่ไม่เท่ากัน เป็นต้น สุดท้ายตกตะกอนออกมาเป็นความรู้ที่สามารถปรับตั้งและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับจักรยานและผู้ปั่นครับ เราเรียกผู้รู้เหล่านี้ว่า ไบค์ฟิตเตอร์ (bike fitter) ครับ

ที่นี้ต้องขอย้อนกลับไปเล่าเรื่องต่อครับ เพราะหลังจากที่ปรับระยะต่างๆ ในเสือภูเขา และได้เรียนรู้ในเรื่องระยะต่างๆ ที่ควรจะเป็นแล้ว แล้วอยากได้จักรยานเสือหมอบมาเพิ่ม ผมเลยลองหาความรู้เพิ่มอีก เพราะไม่อยากซื้อจักรยานผิดไซส์ให้ช้ำใจช้ำกายอีกรอบ!

ผมลองวัดความยาวขาด้านใน (inseam) เพื่อนำไปเลือกหาไซด์โดยคร่าวๆ และดูเรื่องความยาวท่อนอน (reach) ด้วย ว่าจะเอื้อมเกินไปไหม เลยทำให้ได้เสือหมอบมาปั่นที่ตรงไซส์ครับ

แต่ถึงจะไซส์ถูก ก็ยังไม่ได้จักรยานที่พอดีครับ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะรายเอียดยิ่งเยอะกว่าเสือภูเขา ไม่ว่าจะเป็นความกว้างของแฮนด์ อีกทั้งยังรูปทรงของแฮนด์ที่แตกต่างกัน ไหนจะระยะ reach อีก ทำไปทำมาก็ประกอบออกมาโดยคิดว่ามันต้องปั่นได้แหละ

สุดท้ายก็เกิดอาจารย์บาดเจ็บเข้าจนได้ เลยหนีไม่พ้นที่จะต้องหาไบค์ฟิตเตอร์ ที่จะช่วยแก้ไขให้ครับ ตอนนั้นมันคือช่วงเวลานานกว่าสองปีที่ผมได้ลองปรับระยะต่างๆ แบบ ผิดๆ ถูกๆ รวมถึงต้องทนกับอาการบาดเจ็บต่างๆ ที่แก้ไขแล้วบางทีหาย บางทีเป็นหนักขึ้นอีก เป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากจะนำเสนอเรื่องไบค์ฟิตติ้ง (bike fitting) ในวันนี้ครับ เพราะผมเองก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับพี่ๆ น้องๆ นักปั่นด้วยกัน

มาถึงวันนี้ผมได้หันมาเล่นไตรกีฬาและก็ให้ความสำคัญกับการฟิตติ้งรถไตรด้วย จึงอยากจะมาสรุปเป็นหัวข้อต่างๆ ให้ได้อ่านกันครับ ว่าก่อน ระหว่างและหลังทำการฟิตติ้งรถไตรนั้นเป็นอย่างไรรวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านของผมเกี่ยวกับไบค์ฟิตติ้งมาด้วยครับ

 

2. เราควรได้อะไรจากการไปทำฟิตติ้ง?

ก่อนจะเอารถไตรไปทำฟิตติ้ง ผมรู้แค่ว่ามันใช้คนละหลักกับจักรยานประเภทอื่น เป้าหมายแรกของการไปทำฟิตติ้งคือต้องได้ท่านั่งที่ประสิทธิภาพดี ลู่ลม กดบันไดได้เต็มที่เป็นเวลานาน โดยที่ไม่เมื่อยล้าหรือบาดเจ็บกล้ามเนื้อ และต้องเหมาะกับการเล่นไตรกีฬาด้วย

เช่น หลังว่ายน้ำควรมีตำแหน่งการวางแขนที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายท่อนบนได้พัก และหลังจากปั่นเสร็จลงมาวิ่ง ก็ควรวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีผลกระทบจากการปั่นมาก่อนหน้านั้นครับ

 

3. หัวใจของการทำฟิตติ้งจักรยานไตรกีฬาคืออะไร?

ในไตรกีฬา การปั่นจักรยานจะอยู่ระหว่างการว่ายน้ำและวิ่ง เพราะงั้นหัวใจของการฟิตติ้งรถไตรก็คือ การทำให้ ให้ร่างกายช่วงบน ไม่ว่าจะหัวไหล่ แขนและข้อมือได้อยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลายหลังจากว่ายน้ำแล้วออกจากทรานซิชั่นแรก (Transition 1; T1)

เช่น การวางแขนที่กางออกให้พอดีกับหัวไหล่ การจับปลายแอโร่บาร์แล้วปรับตั้งให้ข้อมืออยู่แบบธรรมชาติ ไม่ต้องบิดข้อมือเยอะเกินไปเป็นต้น

ทีนี้หลังจากปั่นเสร็จต้องลงมาวิ่งต่อ ระยะและตำแหน่งต่างๆ ที่อยู่บนจักรยานก็ไม่ควรที่จะกระทบต่อการวิ่งด้วยครับ เช่น ปรับตั้งระยะหลักอานให้มาทางด้านหน้ารวมถึงเทคนิคในการปรับระยะคลีตให้ช่วยเซฟกล้ามเนื้อที่จะต้องใช้งานในการวิ่ง สรุปได้ว่าทำให้ผ่อนคลายจากการว่าย ปั่นอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ลดหรือกระทบต่อการวิ่งนั่นเอง

 

4. จำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำฟิตติ้ง?

ช่างจ้ำ – อานุศานติ์ เผ่าจินดาจากร้าน Jumm Bike Studio ที่ผมมาทำฟิตติ้งอธิบายว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำไบค์ฟิตติ้งจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม:

กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เริ่มมีอาการบาดเจ็บจากการปั่นมาก่อน เลยต้องมาปรับฟิตติ้งให้ไม่เจ็บ

กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่พอเข้าใจเกี่ยวกับการฟิตติ้งแล้ว พอประกอบจักรยานคันใหม่หรือมีการปรับเปลี่ยนอะไหล่ที่กระทบกับองศาของตัวรถเยอะๆ ก็จะนำเข้ามาฟิตติ้ง

เช่นนั้นแล้วความมุ่งหวังของฟิตเตอร์จริงๆ แล้วคืออยากให้คนปั่นจักรยานมีความสุข ปั่นแล้วไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมา รวมถึงทำให้การปั่นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้การฟิตติ้งตอบโจทย์คนทั้งสองกลุ่ม

ส่วนตัวแล้ว ผมว่าเราควรทำฟิตติ้งครับ ผมเองมีประสบการณ์ลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง บาดเจ็บก็หลายหน ทำให้ไม่อยากกลับไปอยู่ในสภาวะแบบนั้นแล้ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งหมด ก็สามารถทำได้โดยการไปทำฟิตติ้ง

ทุกวันนี้พอเวลาผ่านไปซัก 6–7 เดือนก็มักจะถามตัวเองอยู่เสมอว่าควรจะต้องไปฟิตติ้งใหม่รึเปล่า เพราะร่างกายเราเปลี่ยนไป บางครั้งมีแนวโน้มที่แข็งแรงขึ้น บางครั้งมีร่างกายที่แย่ลง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็มีผลกระทบต่อการปั่นทั้งสิ้น สุดท้ายถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คงไม่ต่างจากการที่เราไปตรวจร่างกายประจำปีครับ บางทีไม่ได้ป่วยอะไรเลย แต่เราก็พยายามที่จะติดตาม (monitor) ร่างกายเรา เพราะบางอย่าง เช่น ไตเริ่มมีค่า BUN (ค่าบ่งบอกไตวาย) ที่เกิน มันก็ไม่ได้สะท้อนออกมาให้เห็น รู้อีกทีคือต้องกินยารักษากันแล้ว มันก็ไม่คุ้มที่จะต้องรอให้ถึงจุดที่ร่างกายส่งคำเตือนถึงตัวเรา เพราะถึงตอนนั้นก็อาจจะเจ็บจนรักษายากแล้ว

 

5. อาการบาดเจ็บไหนของนักไตรที่เจอบ่อยที่สุด?

ช่างจ้ำบอกว่า เนื่องจากการปั่นรถไตร จะต้องอยู่ในท่าที่ลู่ลม ก้มตัววางแขนบนแอโร่บาร์ จะเห็นว่าต้องแหงนหน้าขึ้นในองศาที่ค่อนข้างมากครับ ซึ่งก็เป็นจุดที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหลังช่วงบน

อีกจุดหนึ่งที่มักพบคือบริเวณหัวเข่า จังหวะที่ต้องยกขาขึ้นสูงสุด ประกอบกับท่าปั่นที่ต้องก้มตัวลงมามาก หากตั้งระยะความสูงและระยะหน้าหลังของเบาะไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บตรงจุดนี้ได้

 

6. ทำยังไงถึงจะให้การฟิตติ้งของเราคุ้มค่าที่สุด

ถ้าเราอยากซื้อรถไตรคันใหม่ แนะนำว่าควรทำการหาไซส์ที่เหมาะสมก่อนครับ (bike sizing) ในร้านฟิตติ้งหลายๆ ร้านเดี๋ยวนี้จะมีเครื่องหาไซส์จักรยาน โดยเราต้องขึ้นไปวัดตัวบนเครื่องนี้ ทางร้านก็จะช่วยหาขนาดของรถที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสรีระของเราให้ได้

ถ้าคิดความคุ้มค่าแล้ว การยอมจ่ายค่าบริการหาไซส์เพื่อให้ได้รถที่ถูกไซส์ทีเดียวเลย ย่อมคุ้มและสะดวกกว่าซื้อรถผิดไซส์แล้วต้องเอาไปเปลี่ยนหรือขายต่อ แล้วถึงจะได้ซื้อคันใหม่ที่ถูกไซส์กลับมาครับ

หลังจากที่ได้เฟรมมาประกอบแล้วค่อยมาทำการฟิตติ้งอีกทีเพื่อให้ได้ระยะที่ดีที่สุด ทั้งนี้ผู้ปั่นเองก็ควรที่จะลองเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสิ่งที่เหมาะสมกับร่างกายเราด้วย ที่พูดอย่างนั้นเพราะบางทีนักปั่นเองอยากได้ท่าที่ลู่ลมที่สุด อยากไปให้เร็วที่สุด แต่ในความเป็นจริงก็ต้องประเมินร่างกายด้วย เพราะบางครั้งท่าต่างๆ เหล่านั้น อาจส่งผลเสียให้เกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงตามมาครับ

สำหรับใครที่มีรถปั่นอยู่แล้ว แต่มีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น ก็ควรเก็บข้อมูลเบื้องต้นมาบอกกับทางฟิตเตอร์ด้วยครับ เช่น พอปั่นไปนานๆ แล้วเกิดอาการชาทางฝั่งนิ้วก้อยของเท้าด้านขวา เป็นต้น ซึ่งถ้าผู้ปั่นเองสามารถเจาะจงและบอกอาการบาดเจ็บเหล่านั้นได้ครบถ้วนก็จะช่วยให้ ฟิตเตอร์สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ง่ายขึ้นด้วย

 

7. ฟิตเตอร์มีหลายสำนัก แต่ละคนมีหลักการฟิตต่างกัน แล้วเราจะเลือกยังไง?

ฟิตเตอร์ที่ดีควรจะมีความเข้าใจในเรื่องจักรยานและสรีระพร้อมทั้งการทำงานของร่างกาย เนื่องจากการปั่นจักรยานเป็นการทำงานร่วมกันของตัวรถจักรยานและร่างกายของเรา บางอย่างควรปรับแก้ที่ตัวรถและบางอย่างก็ควรปรับแก้ที่ตัวผู้ปั่น เพื่อให้ทั้งสองส่วนลงตัวเข้ากันมากที่สุด

อีกอย่างที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมด้วยก็คือประสบการณ์ของฟิตเตอร์ ยิ่งชั่วโมงการทำงานสูงย่อมเจอปัญหา เจอเคสมาเยอะและแก้ไขได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว

มากไปกว่านั้น ถ้าเป็นฟิตเตอร์ที่ปั่นด้วย จะยิ่งทำให้เข้าถึงและเข้าใจตัวผู้ปั่นได้ดียิ่งขึ้น (ในที่นี้หมายถึงฟิตเตอร์เองก็มีประสบการณ์ปั่นรถไตรมาก่อนนั่นเองครับ) ทั้งนี้อาจจะลองหาข้อมูลเสริมจากประสบการณ์ของนักปั่นท่านอื่นๆ ที่เคยฟิตติ้งในแต่ละฟิตเตอร์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการตัดสินใจครับ

 

8. ขั้นตอนการทำฟิตติ้งเป็นยังไง?

การทำฟิตติ้งแบ่งง่ายๆ ได้สองรูปแบบ

  1. การฟิตติ้งแบบ static (บางที่อาจใช้คำว่า basic fitting)
  2. ฟิตติ้งแบบ dynamic (หรือบางทีใช้คำว่า advance fitting)

ฟิตติ้งที่ผมทำประกอบบทความรอบนี้เป็นแบบ Static ลองมาดูขั้นตอนคร่าวๆ กัน

เข้าไปถึงร้านก็ใช่ว่าจะขึ้นจักรยานเลยนะครับ ช่างจ้ำเริ่มสอนจากสิ่งที่เราไม่เคยให้ความสำคัญมาก่อนเลย นั่นก็คือการใส่รองเท้าที่ถูกต้องครับ ใครจะไปคิดละครับ ปั่นมา 5 ปี ใส่ผิดมาตลอด!

การใส่ที่ถูกต้องก็คือ เมื่อใส่เท้าเข้าไปแล้วควรเคาะแล้วทิ้งน้ำหนักไปที่ส้นเท้า เพื่อให้เท้าอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการใช้รองเท้าครับ จากนั้นค่อยเริ่มล็อคจากด้านบนให้แน่น ตามด้วยการล็อคหน้าเท้าแบบพอดีๆ ไม่ต้องแน่นเกินไป เพราะแค่ประคองตัวเท้าพอ

การใส่รองเท้าให้พอดีเริ่มจากทิ้งน้ำหนักลงไปที่ส้นเท้า

จากนั้นช่างก็ให้เราลองขึ้นปั่นบนรถเพื่อสังเกตมุมองศาต่างๆ อย่างคร่าวๆ ก่อน เสร็จแล้วก็ลงจากรถเพื่อเริ่มทำการฟิตติ้งครับ

ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการปรับระยะรถ สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือการปรับตั้งตำแหน่งคลีต ฟิตเตอร์อธิบายไปพร้อมๆ กับการสอนให้ดูแนวกระดูกทั้งสองฝั่งของโคนนิ้วโป้งและนิ้วก้อย เพื่อที่จะวางตำแหน่งแนวคลีตให้ตรงกับแกนบันได เพื่อการส่งถ่ายกำลังได้ดีที่สุด ในขั้นตอนนี้จะทำการวัดขนาดของเท้าเราด้วย ทั้งความกว้างและความยาวเท้า เพื่อที่จะตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ารองเท้ากับแผ่นรองเท้า (insole) ที่ใช้อยู่ มีขนาดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเท้าเราจริงๆ หรือเปล่า

ช่างจ้ำวัดแนวกระดูก วัดขนาดเท้า และอธิบายจุดที่ควรติดตั้งคลีตเพื่อให้ส่งแรงได้ดีที่สุด

หลังจากที่อธิบายให้เราเห็นภาพและเข้าใจเกี่ยวกับเท้าแล้ว ฟิตเตอร์ก็ทำการประเมินร่างกายของเราต่อครับ โดยให้ลองยกและงอส่วนต่างๆ พร้อมกับการวัดสัดส่วนของร่างกายเพื่อที่จะดูเรื่องสรีระทั้งหมด เช่น มีความผิดปกติตรงจุดไหนหรือเปล่า แขนขาสั้นยาวเท่ากันหรือไม่ อีกทั้งยังประเมินความแข็งแรงและความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของเราด้วย

ก่อนจะฟิตติ้ง ฟิตเตอร์ควรรู้สภาพร่างกายของผู้ปั่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น และอุบัติเหตุที่เคยเจอ ที่อาจจะมีผลต่อการออกแรงปั่น
การปั่นจักรยานถึงเราจะใช้ขาออกแรงเป็นหลัก แต่มันเป็นกีฬาที่ต้องการความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งหมด
เช่นนั้นแล้วการเช็ค range of movement ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะได้รู้ว่าคนปั่นจะนั่งในท่าไหนที่ไม่ทำให้บาดเจ็บได้ง่ายๆ

บางจุดที่กล้ามเนื้อหรือเอ็นตึงเกินไป ฟิตเตอร์ก็จะแนะนำท่ายืดเหยียดให้เรานำไปบริหารให้ร่างกายยืดหยุ่นมากขึ้น

ต่อด้วยการวัดความสูงและระยะต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความยาวช่วงขาด้านใน (inseam) หรือช่วงแขน รวมถึงความกว้างของหัวไหล่ เพราะจะได้นำค่าต่างๆ นี้ไปปรับระยะกับตัวรถ

เสร็จแล้วช่างก็ให้ลองขึ้นปั่นอยู่ประมาณ 10–15 นาทีครับ (เพื่อวอร์มร่างกายและให้กล้ามเนื้อใช้งานอยู่ในสภาวะที่ปั่นจริง) แล้วจึงเริ่มทำการวัดระยะองศาต่างๆ เช่น องศาของการงอเข่าสูงสุด (knee angle), องศาของสะโพกกับขา (hip angle) เป็นต้น เพื่อที่จะดูว่าอยู่ในช่วงที่เหมาะสมหรือเปล่า

ระหว่างนี้ ฟิตเตอร์ก็จะสังเกตลำตัวช่วงบนไปพร้อมๆ กันว่าหัวไหล่มีการงองตัวเกินไปไหม จากระยะที่วางแขนที่กว้างหรือแคบ (pad width) รวมไปถึงระยะของแอโร่บาร์และรูปแบบการงอของข้อมือเพื่อจับปลายแอโร่บาร์ด้วย

ถ้าค่าทุกอย่างยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ฟิตเตอร์เองก็จะทำการปรับระยะต่างๆ ใหม่ แล้วให้เราลองขึ้นปั่นอีกครั้ง ทำแบบนี้ซ้ำไปมาจนกว่าทุกอย่างจะลงตัวครับ (ขั้นตอนนี้จะกินเวลามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละเคสด้วยครับ)

ในขั้นตอนการปรับนี้เอง ฟิตเตอร์ก็จะถามความรู้สึกของเราด้วย ว่าปรับแบบนี้แล้วสบายขึ้นไหม ยิ่งเราจับความรู้สึกได้ดีมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ปรับเข้าสู่ค่าที่ดียิ่งขึ้นได้เท่านั้น เพราะบางครั้งค่าทุกอย่างออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่อาจจะไม่สบายตัว เราก็บอกฟิตเตอร์ให้ช่วยปรับระยะให้เหมาะขึ้นได้ (ทั้งนี้ ฟิตเตอร์เองก็จะช่วยดูไม่ให้เกินความเหมาะสมไปพร้อมกันด้วยครับ)

สุดท้าย ฟิตเตอร์ก็จะสรุปให้เราฟัง ว่าวันนี้ปรับอะไรตรงไหนไปบ้าง และเน้นย้ำเรื่องกล้ามเนื้อด้วยว่ามีปัญหาตรงไหน ต้องยืดเหยียดแบบไหนเพื่อที่จะใช้ให้ร่างกายสามารถปั่นจักรยานได้มีประสิทธภาพมากที่สุด พร้อมบอกจุดที่เราควรสังเกตหลังจากทำฟิตติ้งไปแล้ว นั่นก็เพราะการทำฟิตติ้งที่ดีไม่ควรจบในครั้งเดียว ร้านฟิตติ้งส่วนใหญ่มักให้ลูกค้ากลับมาทำ follow up หรือตรวจเช็คว่าที่ปรับไปนั้นโอเคแล้วหรือยัง ถ้ายังฟิตเตอร์ก็จะแก้ให้อีกรอบ

 

9. หลังฟิตติ้งแล้วปั่นเป็นยังไง?

พอฟิตเสร็จแล้ว ผมก็ได้ลองไปปั่นทดสอบหลายๆ ครั้ง ที่ระยะต่างๆ กัน เพื่อที่จะได้เก็บความรู้สึกและประเมินอาการต่างๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

อย่างที่อธิบายไปเบื้องต้นบางครั้งอาการบาดเจ็บต่างๆ อาจจะยังไม่ปรากฎให้เห็นในการปั่นกับช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งๆ ที่ค่าองศาทุกอย่างถูกต้องอยู่แล้วครับ

หลังจากปั่น สิ่งที่รู้สึกได้อย่างชัดเจนมาก คือเรื่องของความสบายช่วงลำตัวช่วงบน เนื่องจากมีการปรับระยะความกว้างที่วางแขนบนแฮนด์ได้เหมาะสมกับท่าปั่นเรามากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสบายมากขึ้นในส่วนของแขนท่อนล่างกับข้อมือ จากการปรับระยะและองศาของปลายแอโร่บาร์

ในส่วนลำตัวช่วงล่าง ช่างปรับระยะเบาะให้สูงและเยื้องมาด้านหน้ามากขึ้น การปรับจุดนี้ช่วยหลายอย่างครับ  หลัก ๆคือช่วยให้ใช้งานชุดกล้ามเนื้อหน้าขาได้เต็มที่ ทำให้รู้สึกว่าออกแรงกดบันไดส่งพลังได้มากยิ่งขึ้นรวมถึงยังเบาแรงในการควงขาอีกด้วย

ทั้งนี้ก็ยังพบว่ามีอาการบาดเจ็บอยู่จุดหนึ่งคือบริเวณใต้ฝ่าเท้า เพราะมีการปรับตั้งคลีตเลื่อนถอยหลังลงมา (เป็นอีกวิธีที่ทำให้ช่วยเซฟกล้ามเนื้อชุดที่ต้องใช้งานในการวิ่งต่อครับ แต่ทั้งนี้ไม่แนะนำหากพื้นรองเท้าแข็งไม่พอ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บแบบที่เกิดขึ้นกับผมได้)

เบื้องต้นจึงได้ทำการแก้ไขเลื่อนครีตกลับขึ้นมาในตำแหน่งที่ใกล้กับแนวแกนกระดูกมากขึ้น ซึ่งก็สามารถแก้ไขอาการบาดเจ็บตรงนี้ไปได้ สรุปโดยรวมคือทำให้มีความสบายมากยิ่งขึ้นในการปั่นครับ เห็นได้ชัดจากอาการเมื่อยหล้ากล้ามเนื้อที่ลดลงในระยะการปั่นและการใช้แรง (วัตต์) ที่เท่าๆ กันครับ

 

10. คุ้มไหมกับการไปทำฟิตติ้ง?

ต้องบอกว่าคุ้มมากครับ อันที่จริงผมเองคิดว่าระยะและองศาต่างๆ ที่ใช้งานอยู่ตอนแรกก็โอเคแล้ว ไม่มีอาการบาดเจ็บตรงจุดไหนให้เห็น แต่พอได้ไปทำฟิตติ้งกลับพบว่ายังสามารถปรับระยะต่างๆ ให้มีความสบายมากยิ่งขึ้นในการปั่น แล้วยังมีเทคนิคบางอย่างเพิ่มเติมมา ที่จะช่วยให้นอกจากผ่อนคลายกล้ามเนื้อช่วงบนจากการว่ายน้ำแล้ว ยังช่วยให้เซฟกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องใช้งานต่อในการวิ่งด้วยครับ

สุดท้ายเลยพอเราปั่นแล้วสบายมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เรามีความสุขมากขึ้นในการซ้อมและการแข่งขันด้วยครับ

* * *

All photo by: Terdpong Wirunkan

Note 1: ขอบคุณช่างจ้ำ ร้าน Jumm Bike Studio ที่ให้ความรู้มากเป็นพิเศษและกินเวลาฟิตติ้งนานกว่าปกติครับ (เพราะนักเขียนมัวแต่ขอความรู้ ^^”)

Note 2:พสต์นี้ไม่ใช่งานสปอนเซอร์ ทีมงาน DT จ่ายค่าบริการฟิตติ้งเหมือนลูกค้าร้าน Jumm Bike คนอื่นๆ ตามปกติ  

ร้าน Jumm Bike Studio อยู่ในซอยรามคำแหง 24 แยก 32 อยู่ข้างๆ มหาวิทยาลัย ABAC รามคำแหง ติดต่อ 087-813-7117

By ทศธรรม ตรรกวาทการ

นิสิตปริญญาเอก ผู้คลั่งไคล้ในศาสตร์และวิศวกรรมด้านจักรยาน ว่างจากแลปเมื่อไหร่ ก็ว่าย ปั่น วิ่ง ชื่นชอบที่เห็นคนไทยผลิตนวัตกรรมไปแข่งกับต่างชาติ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *