รีวิว: ประแจพกพา Fix It Sticks

เมื่อสัก 5 ปีก่อน ผมเห็นโปรเจ็คหนึ่งใน Kickstarter ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ มันคือประแจพกพาที่หน้าตาเหมือนดินสอ 2 แท่ง ที่เวลาจะใช้ให้ประกบกันเป็นรูปตัว T และไม่ใช่ทรงมีดพับเหมือนที่เราคุ้นเคยกัน อย่างไรก็ดี ในตอนนั้นผมลังเลมากที่จะแบ็คโปรเจ็คนี้ เนื่องจากราคารวมค่าส่งแล้ว รู้สึกว่าแพงมากสำหรับแท่งโลหะสองแท่ง (ประมาณหนึ่งพันบาทพอดี)

ต้องบอกว่าตอนนั้นผมยังไร้เดียงสานัก

จากนั้นอีก 2–3 ปี ผมเริ่มเห็นคุณค่าของเครื่องมือคุณภาพดี ๆ หลังจากได้กัดฟันซื้อชุดประแจหกเหลี่ยมของ Eight Tools ซึ่งผลิตในญี่ปุ่นมาทดลองใช้ เป็นเซ็ตประแจหกเหลี่ยมที่แพงมากแต่ก็คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ เพราะมันแข็งแรง ทนทาน ไม่ขึ้นสนิม ทำตกพื้นกี่ทีก็ไม่บิ่น ฟิตกับหัวน็อตพอดีเป๊ะ ไม่เคยทำเกลียวหวาน (เว้นแต่ผมจะบิดมันแรงเกินเสียเอง) และดูทรงแล้วคงอยู่ด้วยกันไปอีกนับสิบ ๆ ปี

ผมเป็นคนชอบแกะ ซ่อม รื้อ ประกอบจักรยานด้วยตัวเอง อะไรที่พอทำเองได้ก็จะทำเองทั้งหมด ก่อนหน้านี้ประแจราคาถูกทำน็อตผม “หัวเสีย” ไปหลายตัว เสียเวลาเสียอารมณ์ต้องมาหาน็อตเปลี่ยน น็อตของอุปกรณ์จักรยานบางตัวก็เฉพาะเจาะจงเหลือเกิน หาไม่ได้ง่าย ๆ ตามร้านเครื่องมือช่างหรือโฮมโปรอีก ปวดหัวกันไปยาว ๆ

กลับมาที่โปรเจ็ค Kickstarter อีกครั้ง เวลาผ่านไปและมันได้กลายเป็นสินค้าที่พร้อมจำหน่ายจริงเรียบร้อย (และแน่นอนว่าราคาแพงขึ้นกว่าตอนยังเป็น crowdfunding project อีก พับผ่าสิ) ทัศนะของผมต่อเครื่องมือที่ออกแบบมาดี ๆ ที่มีราคาเริ่มเปลี่ยนไป กอปรกับความรำคาญที่ผมมีต่อชุดเครื่องมือพกพาทรงมีดพับมีมากขึ้นเรื่อย ๆ (ขนาดเทอะทะ เข้าที่แคบอย่างน็อตยึดอานไม่ค่อยได้ ความยวบยาบพับไปพับมาของมันเวลาใช้ มีหัวประแจเบอร์ที่เราไม่ได้ใช้เยอะเกิน หนักเปล่า ฯลฯ) ก็ทำให้ผมกลับมาพิจารณาสินค้าตัวนี้อีกที

Fix It Sticks รุ่น Roadie Set A ซึ่งประกอบด้วยประแจหกเหลี่ยมขนาด 3, 4, 5 มม. และไขควงหัวบวก#2 พร้อมกับตัวตัดโซ่ซึ่งใช้ก้าน Fix It Sticks มาประยุกต์เป็นด้ามจับ

มันมีชื่อว่า Fix It Sticks (ฟิกซิตสติกส์) ซึ่งถูกออกแบบโดยคุณไบรอัน เดวิส ซึ่งเป็นนักแข่ง cat 3 ในสหรัฐ จากความคิดว่าเครื่องมือทรงมีดพับนั้นหนัก เทอะทะ และระยะคานดีดคานงัดสั้นเกินสำหรับการใช้งานบางกรณี

รุ่นต้นฉบับตั้งแต่สมัย Kickstarter นั้นมีสีส้ม หัวไขควงถูกยึดถาวรมาจากโรงงาน ต้องเลือกตั้งแต่กดซื้อว่า 4 หัวนั้นเราอยากได้อะไรบ้าง แน่นอนว่า 4 หัวนั้นไม่ครอบคลุมน็อตทุกตัวบนจักรยานแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน น็อตบางตัว เช่น high/low limit screw ของสับจานและตีนผี ก็เป็นน็อตที่เราไม่ควรจะต้องมาปรับตั้งอยู่ข้างถนนเหมือนกัน ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดีว่า ในจักรยานของเรานั้น น็อตตัวใดมีโอกาสจะถูกไขระหว่างออกไปปั่น เช่น น็อตยึดฝาปิดสเต็ม (มักเป็นหกเหลี่ยม 4 มม.) น็อตยึดชิฟเตอร์เข้ากับแฮนด์ (หกเหลี่ยม 5 มม.) ซึ่งอาจจะหลวมมาก่อนแล้วรูดลงได้เวลากระแทกหลุมถนน เป็นต้น

สเน่ห์ของมันคือเป็นอุปกรณ์ที่มินิมอลมาก แต่ก็ใช้งานได้ดีเกินตัวไปไกลเช่นกัน ด้วยน้ำหนักที่เบากว่ายางในเส้นเดียว คือคู่ละแค่ 55 กรัม เมื่อมันประกอบกันเป็นตัว T แล้ว หางตัว T ก้านประแจยาวพอจะไขน็อตยึดขากระติกได้โดยไม่ติดขากระติก หรือยื่นเข้าที่ลึกอย่างน็อตยึดชิฟเตอร์ได้ ในขณะเดียวกัน หัวตัว T ทั้งสองด้านก็ไม่เทอะทะ สามารถไขน็อตยึดอานได้สบาย ๆ ทั้งสามกรณีนี้เป็นสิ่งที่เครื่องมือทรงมีดพับค่อนข้างมีปัญหา ด้วยบอดี้ขนาดใหญ่ของมันทำให้เรามักหมุนได้แค่ประมาณ 60–90 องศา ก่อนจะต้องถอนประแจออกจากหัวน็อตเพื่อจัดองศาใหม่ (หรือบางทีก็เข้าไม่ได้ตั้งแต่แรกเลย แย่กว่าอีก) ในขณะที่ Fix It Sticks หมุนได้รวดเดียว 180–360 องศา สะดวกกว่ากันมาก แถมยังขจัดปัญหาที่ด้ามประแจพับไปพับมาได้เบ็ดเสร็จอีกด้วย

ที่แคบมาก ๆ อย่างน็อตใต้อานก็สามารถขันได้ รวมถึงน็อตยึดขากระติกซึ่งเป็นภาพปกของบทความนี้ด้วย

สำหรับคนที่เลือกไม่ถูกว่าหัวประแจ 4 หัวนั้นจะเป็นอะไรบ้าง ในภายหลังทาง Fix It Sticks ก็ได้ออกเครื่องมือรุ่นเปลี่ยนหัวได้ออกมา ด้ามสีเทา โดยใช้แม่เหล็กที่อยู่ภายในด้ามช่วยยึดหัวประแจให้ติดอยู่กับบอดี้ของมัน หัวประแจที่มีให้ 8 ตัว น่าจะครอบคลุมน็อตแทบทุกตัวบนจักรยานทุกคัน คือ หัวหกเหลี่ยมขนาด 2/2.5/3/4/5/6 มม. + Torx T25 + ไขควงหัวบวก#2 ข้อดีคือความอเนกประสงค์แน่นอนล่ะ ส่วนข้อเสียก็คือพวกหัวประแจมันชิ้นเล็ก บางทีพกออกไปปั่นแล้วอาจทำหลุดมือหล่นเข้าพงหญ้าก็ได้ (ฮา) และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนิดหน่อย

และรุ่นล่าสุดที่เพิ่งออกก็คือรุ่นผสม ส้ม+เทา ก้านหนึ่งหัวยึดถาวร เป็นหัวหกเหลี่ยมขนาด 4 มม. และ 5 มม.ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้บ่อยที่สุด อีกก้านหนึ่งเป็นแบบเปลี่ยนหัวได้ ก็เป็นการพบกันครึ่งทางที่เข้าท่าดีครับ ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกได้ตามใจชอบ

เปรียบเทียบความถนัดในการจับถือ และความได้เปรียบเชิงกลของ Fix It Sticks กับเครื่องมือพกพาแบบมีดพก Fix It Sticks ชนะทั้งน้ำหนัก ความสะดวก และความได้เปรียบเชิงกล และที่สำคัญคือตัดโซ่ได้จริง

นอกจากเป็นประแจได้ 4 รูปแบบแล้ว เมื่อปลายปีที่แล้ว Fix It Sticks ยังออกอุปกรณ์เสริมเป็นตัวตัดโซ่มาอีกด้วย โดยต้องใช้ร่วมกับก้าน Fix It Sticks ดั้งเดิม ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าโซ่ขาดระหว่างปั่นนั้นถึงเกิดไม่บ่อยแต่ก็เกิด จากการพาเพื่อน ๆ ไปทริปปั่นที่มิยากิมา 2 ครั้ง ได้เห็นโซ่ขาดไป 3 เส้นแล้ว! ครั้งแรก ยังไม่มี Fix It Sticks ไปด้วย พบว่าตัวตัดโซ่ที่มากับเครื่องมือพกพาทรงมีดพับนั้น ระยะคานดีดคานงัดมันสั้นมาก ออกแรงตัดโซ่ไม่ขาดจริง ๆ (ให้ลองกันหลายคนด้วย ไม่ใช่แค่แรงมือผมคนเดียว) สุดท้ายก็ต้องเดินไปร้านอาหารแถวนั้นเพื่อขอยืมคีมปากจิ้งจกมาเพื่อเพิ่มระยะคานดีดคานงัด ในขณะที่ตัวตัดโซ่ของ Fix It Sticks นั้นมีความได้เปรียบเชิงกลดีกว่ากันมาก ลองตัดโซ่แล้วตัดได้เหมือนตัวตัดโซ่เวอร์ชั่นเต็มรูปแบบในกล่องเครื่องมือ ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมครับ ประทับใจจริง

นอกจากอุปกรณ์เสริมอย่างตัวตัดโซ่แล้ว ทางผู้ผลิตก็ค่อย ๆ เพิ่มอุปกรณ์เสริมมาเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบันมีไม้งัดยางกับประแจ 15 มม. สำหรับไขบันไดด้วย ก็ช่างคิดดี

ปัจจุบัน Fix It Sticks และตัวตัดโซ่ของมันเป็นเครื่องมือที่ผมพกติดตัวทุกครั้งที่ออกไปปั่น โดยใส่ไว้ถาวรในกระเป๋าสตางค์สำหรับปั่น ด้วยน้ำหนักเพียง 55+51 กรัม ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เอาไปครับ เสียดายอย่างเดียวคือใช้ไปนาน ๆ แล้วสนิมเริ่มเกาะเป็นจุด ๆ ที่หัวประแจ (ส่วนที่เคลือบโครเมียม) แต่ก็ยังดีที่เป็นแค่ปัญหาเรื่องรูปลักษณ์ล่ะครับ

หากผู้อ่านท่านใดอ่านรีวิวนี้แล้วสนใจ เท่าที่ทราบไม่มีตัวแทนจำหน่ายในไทย แต่สามารถสั่งได้จากเว็บของผู้ผลิตโดยตรง ที่ https://store.fixitsticks.com/ มีค่าส่งมาไทย 15 ดอลลาร์สหรัฐ (~500 บาท) แต่พิเศษยิ่งกว่าสำหรับผู้อ่าน DT คือผมอีเมลไปขอคูปองส่วนลดมาจาก Fix It Sticks เพื่อช่วยแบ่งเบาค่าส่ง ให้ใช้โค้ด “tiger” (ไม่มีเครื่องหมายอัญประกาศ) เพื่อรับส่วนลด 10% โดยคูปองนี้จะได้ใช้งานได้ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. – 3 พ.ย. 2018 นี้ครับ (ผมไม่ได้ค่าคอมมิชชั่นอะไรครับ ขอมาให้คนอ่านโดยเฉพาะเลย)

สรุป
เครื่องมือที่คิดและออกแบบมาดีย่อมมีราคา Fix It Sticks ก็เช่นกัน เทียบกับเครื่องมือทรงมีดพับแล้วเบากว่า พกง่ายกว่า เข้าที่แคบกับที่ลึกได้ดีกว่า มีความได้เปรียบเชิงกลดีกว่า แถมยังสามารถซื้ออุปกรณ์เสริมมาแปลงเป็นอุปกรณ์อื่นได้อีกหลากหลาย

Fix It Sticks จะถูกส่งมาพร้อมกระเป๋าของมันเองโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้มันกระแทกกันเคร้ง ๆ เวลาอยู่ในกระเป๋าหลังเสื้อหรือกระเป๋าใต้หลักอาน เนี้ยบ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott