วิธีเอาจักรยานขึ้นเครื่องบิน – ตอนที่ 2: เอากระเป๋าใส่เครื่องบิน

เมื่อเห็นเพื่อน ๆ แพ็คจักรยานขึ้นเครื่องบินไปปั่นที่นั่นที่นี่กัน อยากจะไปบ้าง แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากแน่ ๆ เลย วันนี้ DT มาแนะนำวิธีพาเอาจักรยานคู่ใจไปเที่ยวต่างที่ต่างถิ่นครับ ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิดแน่นอน

บทความนี้แบ่งเป็นสองตอน โดยตอนแรกจะแนะนำวิธีเอาจักรยานใส่กระเป๋า จากนั้นตอนสองจะแนะนำวิธีเอากระเป๋าใส่เครื่องบินครับ


หลังจากที่เราได้แนะนำวิธีการเลือกกระเป๋าเดินทางสำหรับจักรยานกันไปแล้วในตอนที่ 1 วันนี้เราจะมาต่อกันในตอนที่ 2 นั่นก็คือเอาจักรยานที่อยู่ในกระเป๋าแล้วไปที่เคาน์เตอร์เช็คอินของสนามบินครับ

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ควรเช็คให้แน่ใจว่า

  1. อุปกรณ์ทุกอย่างแน่นหนาดี ไม่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ ชิ้นใดที่สามารถกระดอนไปมาอย่างอิสระอยู่ในกระเป๋า มิเช่นนั้นมันจะขูดเฟรมเป็นรอย หรือหล่นกระแทกให้เฟรมแตกได้
  2. ได้ปล่อยลมยางออกแล้ว ถ้าเป็นยางงัดจะปล่อยหมดเลยก็ได้ แต่ถ้าใช้ยางทิวป์เลสอาจเหลือค้างไว้นิด ๆ เพราะเดี๋ยวถึงที่หมายจะขึ้นยางลำบาก อันที่จริงตามหลักฟิสิกส์แล้ว ณ ความสูงที่เครื่องบินพาณิชย์บิน แรงดันลมในยางจะสูงขึ้นประมาณ 15 PSI เท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน การไปเถียงกับเจ้าหน้าที่สนามบินก็ไม่ได้อะไร ดังนั้นจึงควรทำให้ถูกกฎระเบียบจะดีกว่า
  3. ได้ถอดบันไดออกจากจานหน้า และแกนปลดออกจากล้อ เพราะมันแทงทะลุผ้าไนลอนหรือลังกระดาษได้ง่าย เดี๋ยวกระเป๋าเสียหาย

ในบทความนี้จะพูดถึงการบินในประเทศ และการบินต่างประเทศไปเอเชียตะวันออกไกลและยุโรปเท่านั้น ตามประสบการณ์ของผู้เขียน ส่วนอเมริกาและออสเตรเลียจะขอไม่กล่าวถึงนะครับ ไม่เคยไป (ฮา)

เมื่อแน่ใจว่าจักรยานและกระเป๋าจักรยานของเราอยู่ในสภาพพร้อมบินแล้ว เราจะมาทำความเข้าใจกับนโยบายของสายการบินในการรับกระเป๋าจักรยานกัน ดังนี้

  1. สัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่องทั่วไป คือขนาดกว้าง x ยาว x สูงประมาณกระเป๋าเดินทางปรกติ และมักจำกัดน้ำหนักไม่เกิน 23 กก. (Economy) หรือ 32 กก. (Business)
  2. เสือหมอบ + กระเป๋าจักรยาน + หมวก + รองเท้า มักมีน้ำหนักอยู่แถว ๆ 20 กก. จึงไม่ค่อยมีปัญหา overweight baggage (น้ำหนักเกิน) แต่ทุกใบจะต้องเป็น oversized baggage (ขนาดเกิน) แน่นอน
  3. ดังนั้น สายการบินต่าง ๆ จะมีนโยบายได้ 2 แบบ คือ “นับจักรยานเป็นสัมภาระพิเศษ” หรือ “อนุโลมให้นับเป็นส่วนหนึ่งของโควต้าสัมภาระปรกติ โดยงดเว้นค่า oversized” ก็ได้

    3.1 สำหรับการ “นับจักรยานเป็นสัมภาระพิเศษ” ก็จะมีวิธีคิดค่าขนย้ายแยกออกไปอีก 2 แบบ คือคิดเงินหรือไม่คิด สำหรับสายการบินที่ไม่คิด ณ ปัจจุบัน (26 เม.ย. 2561) คือ Thai Lion Air และ Bangkok Airways คือแถมให้นอกเหนือโควต้าสัมภาระปรกติไปเลย 1 คัน แต่ถ้าเป็นสายการบินโลว์คอสต์ ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ จะคิดทุกราย เช่น Nok Air คิดคงที่ที่ 500 บาท/ใบ ตราบใดที่น้ำหนักไม่เกิน 30 กก. ส่วน AirAsia ต้องเลือกน้ำหนักว่าจะเอากี่กก. และขึ้นกับว่าบินในประเทศหรือต่างประเทศอีกที นอกจากนี้ สายการบินในยุโรปเกือบทั้งหมดก็ใช้นโยบายนี้ และคิดค่าบริการขนย้ายเพิ่มเติมแล้วแต่สายการบิน (ดูตารางด้านล่างประกอบ)

    3.2 สำหรับการ “อนุโลมให้นับเป็นส่วนหนึ่งของโควต้าสัมภาระปรกติ โดยงดเว้นค่า oversized” ก็ได้แก่การบินไทยและไทยสมายล์ สายการบินเอเชียตะวันออกไกลทั้งหลาย และสายการบินตะวันออกกลางที่ต่อเครื่องไปยังยุโรปส่วนใหญ่ครับ ยกตัวอย่างเช่น ตั๋ว Economy ของ EVA Air ไปลงไทเป ให้โควต้าน้ำหนักสัมภาระไม่เกิน 30 กก. ถึงแม้กระเป๋าจักรยานจะขนาดเกิน แต่เขาก็นับรวมอยู่ในโควต้าด้วย จึงสามารถเอากระเป๋าเดินทางปรกติ 1 ใบและกระเป๋าจักรยาน 1 ใบไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ oversized baggage เพิ่ม (ตราบใดที่น้ำหนักสองใบรวมกันไม่เกิน 30 กก.) เป็นต้น

    สายการบินในเอเชียและยุโรปนิยมไม่จำกัดจำนวนกระเป๋า (เรียกว่า “weight concept” คือจำกัดแต่น้ำหนัก) เพราะงั้นถึงจะซื้อตั๋วชั้นประหยัด เราก็เอาจักรยานไปด้วยได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม การบินไทยก็อยู่ในหมวดนี้

    แต่ก็มีบางสายการบินในเอเชียและยุโรปที่จำกัดจำนวนกระเป๋าด้วย (เรียกว่า “piece concept” คือจำกัดทั้งจำนวนและน้ำหนัก ถึงจะชื่อ piece ก็เถอะ) เช่น Asiana Airlines ของเกาหลี และ British Airways ของสหราชอาณาจักร เป็นต้น ที่ตั๋ว Economy ให้โควต้าสัมภาระ 1 ใบ ไม่เกิน 23 กก. ในกรณีนี้ ถึงไม่ต้องจ่ายค่า oversized baggage ก็คงต้องจ่ายค่า excess baggage อยู่ดี เพราะน่าจะต้องเอากระเป๋าเสื้อผ้าปรกติไปด้วย แต่ถ้าบิน Business ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เพราะมีโควต้าให้ 2 ใบ (อันนี้จะแตกต่างกับสายการบินในข้อ 3.1 ที่นับจักรยานเป็นสัมภาระพิเศษ กรณีนั้นถึงบิน Business ก็ยังต้องจ่ายเพิ่ม)

ต่อจากนี้เป็นตารางสรุปนโยบายการขนจักรยานของสายการบินบางส่วนในเส้นทางในประเทศ ตะวันออกไกล และยุโรปครับ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย. 2561)


นับเป็นสัมภาระปรกติหรือไม่ ค่าขนส่ง (ต่อหนึ่งเที่ยว) โควต้า หมายเหตุ อ่านเพิ่มเติม



ภูมิภาค

Bangkok Airways ไม่ ฟรี 15 กก. – ไม่เกิน 15 ใบ/ไฟลท์ – แจ้งล่วงหน้าภายใน 24 ชม. ล้ิงก์
Thai Lion Air ไม่ ฟรี 15 กก. ลิ้งก์
Thai AirAsia ไม่ ขึ้นกับนน., เวลาที่จอง, ปลายทาง แล้วแต่จอง ลิ้งก์
Nok Air ไม่ 500 บาท 30 กก. ลิ้งก์
Thai Smile นับ นน.รวมไม่เกิน 20 กก. (Smile), 30 กก. (Smile Plus) – ไม่เกิน 8 ใบ/ไฟลท์ – แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชม. ลิ้งก์
Thai Airways นับ นน.รวมไม่เกิน 30 กก. (Economy และ Premium Economy) ลิ้งก์



เอเชียตะวันออกไกล

ANA นับ กระเป๋า 2 ใบ ใบละไม่เกิน 23 กก. (Economy และ Premium Economy) ลิ้งก์
EVA Air นับ นน.รวมไม่เกิน 30 กก. (Economy), 35 กก. (Premium Economy) แจ้งล่วงหน้า ลิ้งก์
Cathay Pacific นับ กระเป๋าไม่เกิน 2 ใบ นน.รวมไม่เกิน 30 กก. (Economy), 35 กก. (Premium Economy) แจ้งล่วงหน้าภายใน 72 ชม. ลิ้งก์
Asiana นับ (100 ดอลลาร์สำหรับซื้อกระเป๋าเพิ่ม 1 ใบ) กระเป๋า 1 ใบไม่เกิน 23 กก. (Economy)



ยุโรปและตะวันออกกลาง

Emirates นับ นน.รวมไม่เกิน 20 กก. (Economy Special), 30 กก. (Economy Saver และ Economy Flex) แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชม. ลิ้งก์
Etihad นับ นน.รวมไม่เกิน 30 กก. (Economy ), 35 กก. (Economy Flex) ลิ้งก์
Qatar นับ นน.รวมไม่เกิน 30 กก. (Economy ) ลิ้งก์
Gulf Air นับ นน.รวมไม่เกิน 30 กก. (Economy ) ลิ้งก์
British Airways นับ (60 ปอนด์สำหรับซื้อกระเป๋าเพิ่ม 1 ใบ) กระเป๋า 1 ใบไม่เกิน 23 กก. (Economy) ลิ้งก์
Lufthansa ไม่ 250 ยูโร 32 กก. จองล่วงหน้า ลิ้งก์
KLM ไม่ 100 ดอลาร์ 23 กก. จองล่วงหน้า ลิ้งก์
Air France ไม่ 100 ยูโร 23 กก. จองล่วงหน้า ลิ้งก์
Finnair ไม่ 75 ยูโร 23 กก จองล่วงหน้า ลิ้งก์

*หมายเหตุ (สำคัญมาก สำคัญกว่าตารางข้างบนอีก)

  1. ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ใช้นโยบาย “piece concept” ทั้งหมด นั่นหมายความว่านั่ง EVA Air ที่ไปลงไต้หวัน กับที่ต่อเครื่องไปสหรัฐ คิดโควต้าสัมภาระไม่เหมือนกันนะครับ กรณีแรกใช้ weight concept กรณีหลังใช้ piece concept ต้องศึกษาให้ดี ๆ ในตารางด้านบนเป็นนโยบายสำหรับเส้นทางบิน นอกอเมริกา เท่านั้น
  2. จะเห็นได้ว่าถ้าไปยุโรปพร้อมจักรยาน เลือกใช้บริการการบินไทยหรือสายการบินตะวันออกกลางจะไม่ต้องเสียค่าขนส่งจักรยานเพิ่มเมื่อเทียบกับสายการบินยุโรป แต่สองเจ้านี้มักไม่ค่อยมีไฟลท์ไปเมืองเล็ก
  3. เนื่องจากทริปจักรยานมักมีเอกลักษณ์ร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือมักจะไปที่ไกล ๆ และไม่ใช่ในเขตเมืองใหญ่แบบทริปท่องเที่ยวทั่วไป หากต้องบินไปลงสนามบินเล็ก เช่น กรุงเทพฯ-ลำปาง (Bangkok Airways PG203) หรือต้องต่อเครื่องระยะสั้น ๆ อีกทีเพื่อไปเมืองเล็ก เช่น กรุงเทพฯ-อัมสเตอดัม-ลีดส์ พวกเส้นทางย่อย คนบินน้อยอย่างขาอัมสเตอดัม-ลีดส์ (KLM KL1551) สายการบินเขามักจะใช้เครื่องบินใบพัด เช่น Bombadier, Embraer, ATR กัน เครื่องเล็กเหล่านี้ไม่สามารถรับกระเป๋า oversized ได้เลยแม้แต่ใบเดียว ถึงเราจะทำตามกฎเรื่องจำนวนและน้ำหนัก จักรยานก็อาจไม่ได้ไปต่อถ้าเจอเครื่องใบพัด จึงต้องตรวจสอบให้ดีก่อนบินเสมอ วิธีตรวจสอบง่าย ๆ ก็คือเอารหัสไฟลท์บิน เช่น PG203 พิมพ์ลงไปใน Google เลย แล้วเข้าไปดูในเว็บ FlightAware หรือ FlightRadar24 ก็ได้ จะมีประเภทเครื่องบินบอกอยู่ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ Boeing หรือ Airbus ให้สงสัยไว้ก่อน
  4. ถ้าไปกันเป็นหมู่คณะ เช่นยกก๊วนไปปั่นภูเก็ตกัน 16 คน ควรปรึกษาสายการบินล่วงหน้าเสมอ ถึงแม้เวลาบินคนเดียวจะไม่ต้องบอกก่อนก็ตาม เพราะเครื่องบินแต่ละเครื่องรับกระเป๋า oversized ได้จำกัด ถ้าเกินโควต้า จักรยานบางคันอาจต้องตามมากับไฟลท์หลัง
  5. หากสายการบินที่ท่านใช้บริการไม่อยู่ในตารางข้างต้น วิธีหาข้อมูลเรื่องนี้คือให้เข้าไปที่เว็บของสายการบิน จากนั้นให้ไปที่ [Information] หรือ [Prepare] —> [Baggages] —> [Special Baggage] หรือ [Baggage Requiring Special Handling] หรือ [Sports Equipment/Musical Instruments] —> [Bicycle]

เมื่อทราบนโยบายและข้อจำกัดแล้ว ก็สามารถเดินทางกับจักรยานได้อย่างสบายใจ โดยนำกระเป๋าไปที่เคาน์เตอร์เช็คอินตามปรกติ หลังจากติด tag แล้ว เจ้าหน้าที่จะให้เรานำกระเป๋าไปส่งที่ช่อง oversized baggage ถ้าสุวรรณภูมิก็จะอยู่ลึกเข้าไปทางบันไดเลื่อนขึ้นชั้นตรวจเอกซ์เรย์สัมภาระครับ เมื่อถึงปลายทางแล้วก็ให้รอรับกระเป๋าจักรยานที่ช่อง oversized baggage เช่นกัน

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott