48 ปีของการเป็นผู้สร้าง

ชิ้นส่วนจักรยานหลายๆ อย่างที่เราเห็นวางจำหน่ายทั่วไปนั้นบางทีอาจจะมีเรื่องราวมากมายซ่อนไว้ แต่เราไม่เคยรู้เลยก็เป็นได้ครับ

FSA และ Vision ก็เป็นหนึ่งในนั้น เชื่อว่าแทบทุกคนคงรู้จักแบรนด์ FSA และ Vision อยู่แล้ว เพราะเป็นแบรนด์ที่คุณเห็นได้ทั่วไปในจักรยานเสือหมอบ ส่วนมากมักจะเป็นคอแฮนด์ ขาจาน และแฮนด์ดรอปที่ติดรถมา ไปจนถึงอะไหล่รุ่นท็อปน้ำหนักเบาอย่างซีรีย์ FSA K-Force Light ที่เป็นตัวเลือกของแต่งสำหรับจักรยานไฮเอนด์

น้อยคนจะรู้ว่า FSA เป็นบริษัทที่อยู่มานานเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว ถึงจะมีวางจำหน่ายทั่วไปจนดูเป็นแบรนด์ธรรมดาๆ ไม่ได้หรูหราบูทีคเหมือนทางฝั่งคอมโพเนนท์จากเยอรมัน แต่เขาก็เป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีพื้นเพมาจากการเป็นผู้ผลิตปืนไรเฟิลล่าสัตว์ในไถจง ก่อนที่จักรยาน Giant จะถือกำเนิดเสียอีก

วันนี้ Ducking Tiger พาทุกคนไปรู้จักความเรียบง่ายที่ไม่ธรรมดาของ FSA / Vision อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่แห่งวงการจักรยานครับ

บทความนี้เป็นโฆษณาจาก LA Bicycle, ผู้นำเข้าชิ้นส่วนจักรยาน FSA / Vision 

ก่อนจะมาเป็น FSA / Vision

ความชำนาญในการผลิตชิ้นส่วนเล็กๆ ของ FSA / Vision นั้นไม่ได้เริ่มจากการผลิตชิ้นส่วนจักรยานตั้งแต่แรกเริ่ม ย้อนกลับไปราว 60 ปีก่อนบริษัทนี้เป็นผู้ผลิตปืนไรเฟิลล่าสัตว์ ดั๊กลาส เชียง บอสใหญ่แห่ง FSA กล่าวว่า:

“พ่อของผมเป็นคนทำปืนไรเฟิลล่าสัตว์มาก่อนนะ เราเป็นบริษัทและโรงงานขนาดเล็กมากครับ ตั้งอยู่ในไถจง มีพนักงานช่วยพ่อแค่ห้าคนเอง เรามีเครื่องมือและเครื่องจักรนิดๆ หน่อยๆ แต่ทำได้ไม่นานนักเราก็จำเป็นต้องเปลี่ยนธุรกิจจากปัญหากฎหมายการผลิตอาวุธ”​

“พ่อหันมาทำชุดถ้วยคอและกะโหลกจักรยานตั้งแต่ปี 1970 นั่นคือสองปีก่อนที่ Giant จะเริ่มกิจการ ต้องบอกว่าสมัยนั้นธุรกิจจักรยานในไต้หวันมันไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือเป็นอันดับหนึ่งของโลกเหมือนในสมัยนี้ พ่อผมเขาแค่คิดว่าธุรกิจจักรยานน่าจะไปได้ดีก็เลยเริ่มทำ นอกจากปืนและอะไหล่จักรยานแล้ว พ่อผมยังเคยขายเครื่องมือเครื่องจักรอุตสาหกรรมด้วย”​

“พอ Giant เริ่มกิจการแล้วเราก็โตขึ้นตามธุรกิจของเขาด้วย เพราะเขาสั่งชิ้นส่วนจักรยานจากเรามากขึ้น จนถึงปี 1974 ที่เราหันมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานเต็มตัว”

จากโรงงานห้องแถวสู่ผู้ผลิตระดับโลก

Full Speed Ahead

หลังจากทำงานลักษณะ OEM ผลิตชิ้นส่วนให้แบรนด์จักรยานรายอื่นๆ มาได้พักหนึ่ง กับมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นหัวแถวของวงการ ดั๊กลาสคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เขาควรจะทำแบรนด์ของตัวเอง และมองเห็นช่องว่างในตลาดที่คู่แข่งอย่าง Campagnolo และ Shimano ยังไม่สามารถเติมเต็มได้ นั่นคือสินค้าจำพวกแฮนด์ สเต็ม หลักอาน ชุดจาน และบางส่วนของกรุ๊ปเซ็ต ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าเซ็ตกับชุดขับเคลื่อนจากสองค่ายใหญ่

Full Speed Ahead (FSA) จึงได้ก่อเกิดขึ้นในปี 1993 เป้าหมายก็คือการเป็นผู้นำตลาดชิ้นส่วนจักรยานคุณภาพสูงและน้ำหนักเบา ซึ่งก็สำเร็จด้วยดีเมื่อบริษัทเติบโตจนมีโรงงานของตัวเอง 5 โรงงานกระจายทั่วเอเชีย พร้อมศูนย์วิจัย พัฒนา และออกแบบสินค้าในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และไต้หวัน รวมถึงกลายเป็นผู้สนับสนุนทีมจักรยานอาชีพชื่อดังจำนวนมาก อาทิเช่น EF Education First-Drapac, LottoNL-Jumbo, และในอดีต เช่น Quickstep Floors, Vacansoleil, Lampre-Merida ไม่มีปีไหนที่สินค้าของ FSA จะไม่ได้อยู่ในสนามแข่งอย่าง Tour de France และ Paris-Roubaix

ต้นกำเนิด Vision

Mad Scientist

เมื่อความท้าทายแรกในการเป็นแบรนด์คอมโพเนนท์ระดับโลกสำเร็จแล้ว FSA ยังคงมองหาช่องทางเติบโตต่อไป บางครั้งมันอาจจะเป็นการพัฒนาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเอง แต่อีกหลายๆ ครั้งอาจจะหมายถึงการหาพาร์ทเนอร์ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยเหลือ ปี 2003 FSA ตัดสินใจซื้อกิจการ Vision Tech USA

ถ้าชื่อนี้คุ้นๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะ Vision Tech ก็คือ Vision แบรนด์ล้อจักรยานและชิ้นส่วนอย่างไตรบาร์กับชุดจานแอโรไดนามิกนั่นเองครับ Vision Tech ก่อตั้งในปี 2003 โดยปีเตอร์ ไฟรแมน นักไตรที่คลั่งไคล้ในอุปกรณ์แอโรไดนามิก และเป็นคนแรกที่ออกแบบไตรบาร์แบบ integrated ด้วย ด้วยภาพลักษณ์แบบ mad scientist กับการตลาดที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ Vision ติดตลาดนักไตรในยุคนั้นอย่างรวดเร็ว

แต่ก็ใช่ทุกความฝันที่จะถูกเติมเต็ม เมื่อครอบครัวไม่เห็นด้วยกับกิจการของเขาทำให้ปีเตอร์ต้องยอมขายบริษัท และ FSA ก็เป็นคนที่ซื้อแบรนด์ Vision ไปในที่สุด พร้อมเทคโนโลยีและสัญญาที่จะสืบต่อวิสัยทัศน์ของปีเตอร์

ถ้า FSA มุ่งทำชิ้นส่วนจักรยานที่น้ำหนักเบาที่สุด Vision ก็ยืนอยู่ในขั้วตรงข้าม คือการสร้างโปรดักต์ที่แอโรไดนามิกที่สุดและคุณภาพดีตามมาตรฐานการผลิตของ FSA ที่ผลิตสินค้าให้แบรนด์ชั้นนำอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุดแอโรบาร์ให้ Pinarello, เบรคซ่อนหลังตะเกียบให้ BMC, ชิ้นส่วนจักรยานหลายๆ จุดให้ Giant และ Merida

ผลิตที่ไหน ไม่สำคัญเท่าใครผลิต

QUALITY CONTROL

ในอุตสาหกรรมจักรยาน มีไม่กี่แบรนด์ที่พูดได้เต็มปากว่าผลิตสินค้าด้วยโรงงานของตัวเอง และควบคุมการผลิตด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ยิ่งในยุคสมัยนี้ที่ใครๆ ก็สามารถมีแบรนด์จักรยานได้ด้วยตัวเอง ด้วยที่มีโรงงานในเอเชียพร้อมรับจ้างผลิตให้ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด คำถามที่นักปั่นผู้เลือกจับจ่ายสินค้าควรตระหนักคือ ใครเป็นคนผลิตสินค้าเหล่านี้ที่แท้จริง และเชื่อมั่นในคุณภาพได้ขนาดไหน? เจ้าของแบรนด์เข้าถึงแหล่งผลิตจริงๆ เลยหรือเปล่า? หรือแค่สั่งสินค้ามาตีแบรนด์ผ่านนายหน้า?

มาร์ค แวนเดอร์โมเลน ผู้อำนวยการด้านผลิตภัณฑ์ FSA กล่าวว่า

“สินค้าจาก FSA และ Vision ผลิตในโรงงานของเราเองทั้งหมด และผ่านกระบวนการเช็คคุณภาพที่เข้มงวด เราพยายามตั้งมาตรฐานไว้ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ สินค้าจาก FSA ต้องเชื่อถือได้และต้องมีคนรับผิดชอบในทุกขั้นตอนครับ ตั้งแต่วัตถุดิบอย่างแผ่นชีทคาร์บอนไฟเบอร์ไปจนถึงสินค้าที่สำเร็จแล้วอย่างสเต็มแต่ละตัว ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นเราจะรู้ว่ามันพลาดตั้งแต่ขั้นตอนไหน”

“ในชิ้นส่วนที่ซับซ้อนและต้องรับแรงมากอย่างชุดจาน (crankset) เราจะตรวจละเอียดเป็นพิเศษ ชุดจานทุกชิ้นของ FSA และ Vision ต้องผ่านเครื่อง X-Ray อย่างในขาจานคาร์บอนของเราเป็นแบบ hollow design นั่นคือในขาจานจะเป็นห้องโล่งสองห้อง (เพื่อลดน้ำหนักและทำให้โครงสร้างแข็งแรง) ซึ่งเราต้องการันตีว่าทั้งสองห้องมีขนาดเท่ากันและความหนาเท่ากันระดับมิลลิเมตร”

“ในทุกๆ ชิ้นส่วนที่เราผลิต เราจะสุ่มเช็คคุณภาพ 5 ชิ้นต่อล็อต ถ้าผิดพลาดแม้แต่ชิ้นเดียวเราจะโละทิ้งผลิตใหม่ทั้งล็อต ถ้าสินค้าไม่ผ่าน QC เราก็ย้อนกลับไปขั้นตอนก่อนหน้าเพื่อดูว่ามีอะไรผิดพลาดในขั้นตอนผลิตไหน และโดยใคร บางทีมันอาจจะเป็นการวางเรียงคาร์บอนที่ผิดพลาด หรือเรื่องจุกจิกที่เกิดขึ้นได้ในสายการผลิตครับ โดยรวมแล้วอัตราความผิดพลาดของเราไม่ถึง 1%”

เล็กไปใหญ่

และความลับของอุตสาหกรรมจักรยานไต้หวัน

ถึงจะเติบโตมาหลังแบรนด์ชิ้นส่วนจักรยานเก่าแก่จากอิตาลีอย่าง 3T และ Cinelli แต่อายุก็ไม่ได้เป็นตัวแปรที่บ่งบอกถึงความสำเร็จ จากข้อมูลของ The Economist กว่า 60% ของจักรยานที่ผลิตในโลกแต่ละปีมาจากจีนและไต้หวัน

อะไรทำให้ไต้หวันกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตจักรยาน? หลายคนอาจจะหลงใหลกับ “ความเป็นยุโรป” ของแบรนด์จักรยานจำนวนมาก แต่ความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือไต้หวันและจีนคือผู้ถือครองเทคโนโลยีจักรยานที่ดีที่สุดในตอนนี้ ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตและคุณภาพสินค้า จนแบรนด์ยุโรปเหล่านี้ก็ต้องหันมาพึ่งความเชี่ยวชาญของชาวเอเชียในที่สุด สินค้าจาก 3T เกือบทั้งหมดออกมาจากโรงานในเอเชีย ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอาย ถ้ามันจะทำให้ได้สินค้าที่คุณภาพดีกว่าและประหยัดต้นทุนได้มากกว่า

รัฐบาลไต้หวันตระหนักถึงจุดแข็งของอุตสาหกรรมการผลิตจักรยานในประเทศตัวเอง และเริ่มลงทุนช่วยเหลือโรงงานผู้ผลิตต่างๆ ด้วยวิธีการมากมาย ไม่ว่าจะช่วยอุ้มภาษี ช่วยลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อธุรกิจการผลิต และสร้างเครือข่ายธุรกิจในอุตสาหกรรมจักรยานให้เหนียวแน่น ถึงเราจะจะเห็นหลายๆ แบรนด์จากไต้หวันอย่าง Giant, Merida, และ FSA เป็นคู่แข่งกัน แต่ในเชิงธุรกิจแล้วเขาก็ช่วยเหลือกันมาตลอด เมื่อรายหนึ่งผลิตไม่ทัน สายการผลิตเต็ม ก็ช่วยโยนออเดอร์ให้อีกรายช่วยปิดงาน

ถึง FSA จะไม่สามารถเปิดเผยส่วนแบ่งตลาดได้ แต่ดั๊กลาสยืนยันว่า FSA และ Vision เป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานที่ใหญ่ที่สุดของโลก กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ไม่ง่าย เขาเล่าว่า

“สมัยที่ผมเป็นนักเรียนอนุบาล ผมก็ต้องเริ่มช่วยงานพ่อในโรงงานแล้ว ทุกวันหลังเลิกเรียนและทุกปิดเทอมฤดูร้อนผมต้องทำงานตลอด ผมไม่เคยมีวันหยุดเลย ทำให้ตอนนนี้ผมชอบการทำงาน ผมจะเครียดถ้าผมหยุดพัก เพราะชีวิตผมไม่เคยมีความทรงจำของการหยุดไปเที่ยวหรือพักผ่อน สิ่งเหล่านี้มันไม่มีความหมายสำหรับผม”​

พ่อของดั๊กลาสเสียชีวิตในปี 1996 ส่วนเขากลายเป็น CEO ของบริษัทตั้งแต่ปี 1990

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ FSA และ Vision ครับ ถึงจะเป็นแบรนด์คอมโพเนนท์และล้อที่เราเห็นทั่วไปในตลาด แต่ในความแมสของแบรนด์ก็ยังซ่อนไว้ด้วยความเรียบง่ายและคุณภาพกับราคาที่เป็นมิตรกับทุกคน ถึงจะไม่ดูบูทีคหรูหราแต่ก็ไว้ใจได้ในคุณภาพและชื่อเสียง

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *