GCN × DT: ปั่นจักรยานฝ่าฝุ่น PM2.5 นี่อันตรายไหม?

ประจวบเหมาะกับที่ประเทศเรากำลังพบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงกว่าทุก ๆ ฤดูหนาวที่ผ่านมา ช่อง GCN ก็ได้ผลิตวิดิโอเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาพอดิบพอดี

ประเด็นหลักของวิดิโอนี้คือ “การปั่นจักรยานนั้นมีประโยชน์ แต่การสูดดมมลภาวะนั้นมีโทษ แล้วการปั่นจักรยานในเมืองที่ต้องฝ่ามลภาวะอย่างเลี่ยงไม่ได้นั้น ประโยชน์ยังมากกว่าโทษอยู่หรือไม่”

ไซม่อน ริชาร์ดสัน พิธีกรในครั้งนี้ จึงไปหาคำตอบจากอาจารย์สองท่าน คือ ดร. เอนดา เฮยส์ อาจารย์ด้านคุณภาพอากาศและการจัดการคาร์บอน จากมหาวิทยาลัยบริสตอล และ ดร. ออดรีย์ ดี นาเซล อาจารย์จากสำนักนโยบายสิ่งแวดล้อม อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน

ข้อมูลแน่นทีเดียวครับ ลองไปดูกันเลย
วิธีเปิดซับไทเทิลคือ คลิกที่รูปเกียร์ทางด้านขวาล่าง เลือก Subtitles/CC > Thai

ประเด็นที่น่าสนใจในคลิปนี้ที่อยากเน้นเป็นการส่วนตัว มีสามประการ

  1. ในภาวะปรกติ ประโยชน์จากการปั่นจักรยานมีมากกว่าโทษจากมลภาวะ หักลบกันแล้วก็ควรปั่นอยู่ดี ข้อนี้ในวิดิโอมีพูดหลายครั้ง แต่อยากเน้นอีกที
  2. แต่ในภาวะไม่ปรกติ คือฝุ่นละอองหนาแน่น โทษจากฝุ่นเริ่มมากจนจะหักล้างประโยชน์จากการออกกำลังกาย ในสถานการณ์เช่นนี้ควรอยู่ในอาคารและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกลางแจ้ง ในนาทีที่ 10:02 ของวิดิโอ ดร.ออดรีย์กล่าวว่า หากปั่นจักรยานในที่ที่มลภาวะหนาแน่นอย่างเดลีหรือปักกิ่ง ปั่นได้ 1–1.5 ชม. โทษก็เริ่มไม่คุ้มประโยชน์เสียแล้ว หากไปดู Air Quality Index (AQI) ของสองเมืองนี้ ก็จะพบว่าอยู่ประมาณ 150–200 เกือบตลอด ซึ่งก็จะประมาณเดียวกับเมืองไทยช่วงที่ฝุ่นเข้าหนัก ๆ อย่างกรุงเทพฯเมื่อ 2–3 สัปดาห์ก่อน หรือเชียงใหม่ ณ ปัจจุบัน
  3. การเลือกใช้ขนส่งสาธารณะก็ดี การเดินหรือการปั่นจักรยานก็ดี การเดินทางแบบใดก็ตามที่ทำให้เราไม่ต้องสตาร์ทรถยนต์ส่วนตัวนั้นมีส่วนช่วยลดมลภาวะได้อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากกราฟของคุณ โจ วู้ด ในนาทีที่ 13:32 ซึ่งผมได้นำมาแสดงซ้ำอีกครั้งด้านล่างนี้
ที่มา: https://twitter.com/jwoLondon/status/1023924382907940864

กราฟนี้แสดงถึงปริมาณออกไซด์ของไนโตรเจน จากจุดวัดมลภาวะจุดหนึ่งกลางกรุงลอนดอน ในทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่ปี 2013–2018 โดยแกน Y เป็นปริมาณ NOx และแกน X คือเวลาของวัน ตั้งแต่เที่ยงคืน-เที่ยงคืนของอีกวัน

  • เส้นสีเทาบาง ๆ จำนวนมาก คือเส้นแสดงปริมาณ NOx ของแต่ละวันอาทิตย์ตลอด 5 ปีเศษ
  • เส้นสีเทาหนาที่มีเส้นเดียว แสดงถึงค่าเฉลี่ยของทุกเส้นรวมกัน
  • และเส้นสีแดงที่มี 6 เส้น แสดงถึงวันที่ปิดถนนเพื่อจัดงาน RideLondon-Surrey Classics จะเห็นว่าหกโมงเช้า-หกโมงเย็นที่ไม่มีรถยนต์วิ่งนั้น ปริมาณมลภาวะแทบจะแตะแกน X แล้วจึงพุ่งสูงขึ้นเมื่ออนุญาตให้รถยนต์กลับมาวิ่งได้ตามปรกติ

น่าทึ่งนะครับ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *