อีกหนึ่งคำแนะนำดีๆ จากช่อง GCN วันนี้เป็นเรื่องการปั่นสู้กับลมตีข้างครับ น่าจะมีประโยชน์สำหรับมือใหม่ มาดูกันว่าต้องรับมือยังไงบ้าง
ลมข้าง (Crosswind) คืออะไร?
ในการแข่งขันจักรยาน ตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อนักปั่นมากที่สุดก็คือกระแสและทิศทางลมนั่นเองครับ ทิศทางลมจะเป็นตัวกำหนดเทคนิคและกลยุทธ์ในการแข่งที่สำคัญ ปกติแล้วเราจะคุ้นชินกับลมต้านที่เข้ามาปะทะด้านหน้าจังๆ ที่ทำให้เราต้องเหนื่อยออกแรงมากกว่าเดิมเพื่อที่จะรักษาความเร็วไว้ หรือลมส่งที่เข้ามาทางด้านหลังช่วยให้เราปั่นได้สบายๆ เหมือนเรือสำเภาติดใบเรือ
แต่ยังมีกระแสลมอีกหนึ่งรูปแบบที่เราต้องเผชิญนั่นก็คือลมขวางหรือที่เรียกว่า “Crosswind” นั่นเองครับ ลมขวางก็คือลมที่เข้ามาทางด้านข้าง อาจจะมาแบบเยื้องหน้าหรือเยื้องหลังก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะเข้ามาทิศทางไหนลมขวางก็ทำให้เราเหนื่อยอยู่ดี
ลมต้านที่มาตรงๆ นั้นเราแค่ออกแรงสวนลม แต่พอเจอลมขวางแล้ว นอกจากจะต้องออกแรงต้านลม เรายังต้องออกแรงบังคบรให้วิ่งไปข้างหน้าได้ตรงๆ อีกด้วยเพราะลมขวางจะคอยพัดเราให้เป๋ออกข้างได้ง่ายโดยเฉพาะในเวลาที่กระแสลมแรง เหมือนกับเราต้องออกแรงมากขึ้นเกือบสองเท่าในการคงความเร็วและทิศทางของรถเมื่อเทียบกับเวลาเจอลมต้านอย่างเดียวครับ คนที่ใช้ล้อขอบสูงยิ่งจะเหนื่อยกว่าล้อขอบต่ำเพราะความสูงของล้อ โดยเฉพาะล้อหน้าจะเป็นเหมือนใบเรือที่คอยดักลม
วิธีแก้
1. ปรับท่านั่ง
ที่ความเร็วมากกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แรงต้านลมจะเริ่มมีผลต่อความเร็วและแรงที่เราใช้ปั่นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเจอลมขวาง วิธีที่ช่วยเราประหยัดแรงในการปั่นทวนกระแสลมและบังคับรถให้ไปได้ตรงๆ ที่ดีที่สุดก็คือการปรับท่านั่งให้ลู่ลมมากขึ้นครับ อาจจะจับดรอป หรือถ้าไม่อยากก้มเกินไปก็พับแขนลงเล็กน้อยให้ศอกตั้งฉากกับพื้นมือจับอยู่ที่ฮู้ด ก้มหัวลงเล็กน้อย คล้ายๆ กับท่าปั่น TT เพื่อลดอิทธิพลของกระแสลมให้ได้มากที่สุด
2. ความสูงขอบล้อก็สำคัญ
ในการแข่งสนามคลาสสิคอย่าง Tour of Flanders และ Paris-Roubaix เราจะสังเกตเห็นว่าโปรไม่นิยมใช้ล้อขอบสูงมากๆ เกิน 50 มิลลิเมตรครับ นักปั่นที่ตัวเล็ก น้ำหนักน้อยก็จะนิยมใช้ล้อขอบต่ำกว่านั้นอีก เหตุผลคืออย่างที่บอกไปข้างต้น คนที่น้ำหนักน้อยแต่ใช้ล้อขอบสูงก็จะโดนลมพัดปลิวได้ง่ายๆ เพราะไม่มีน้ำหนักตัวมาช่วยกดต้านแรงปะทะลมที่เข้าชนกับขอบล้อ ในขณะที่คนตัวใหญ่ น้ำหนักเยอะหน่อยก็อาจจะพอใช้ขอบสูงได้เพราะมีน้ำหนักตัวช่วยรั้งไม่ให้รถเซไปมาง่ายๆ
เทคโนโลยีล้อขอบอ้วน (wide rim – u shaped) สมัยนี้ในล้ออย่างพวก Zipp Firecrest, Hed, Easton, และ Reynold ที่กำลังเป็นที่นิยมก็ดูจะช่วยลดแรงปะทะลมข้างได้ดีกว่าล้อทรงตัว V แต่ถึงกระนั้นถ้ารู้ว่าวันไหนจะเจอลมข้างแรงๆ ใช้ล้อขอบต่ำก็น่าจะปลอดภัยกว่า อย่าลืมว่าเวลาเจอลมข้างความอันตรายมันจะมากกว่าลมสวน เพราะว่าคุณอาจจะโดนพัดออกจากเลนของตัวเองไปชนรถที่สวนมาข้างๆ ได้ง่ายๆ ครับ เลือกอุปกรณ์ให้เหมาะกับงานจะดีกว่า
3. จัดขบวนใหม่
เทคนิคนี้ใช้กันเป็นเรื่องปกติในการแข่งขัน ถ้าเราปั่นเป็นกลุ่มเวลาเจอลมข้าง การปั่นต่อแถวตอนเรียงเดี่ยวเป็นขบวนให้คนหน้าบังลมจะไม่ช่วยอะไรมากเพราะกระแสลมที่เข้ามาอยู่ด้านข้างของเราเป็นหลัก เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมโปรถึงต้องออกแปรขบวนเป็นแถวหน้ากระด้านซ้อนคันกันครับ รูปขบวนแบบนี้เราเรียกว่า เอเชลอน (echelon) ถ้าลมมาจากทางซ้ายเยื้องหน้า คนหน้าสุดก็จะอยู่ทางด้านซ้ายสุด คนที่สองก็จะขี่ซ้อนคันแต่เยื้องระยะลงมาทางด้านหลังเล็กน้อย แล้วก็เรียงต่อๆ กันไปแบบนี้ ดูภาพข้างล่างน่าจะเข้าใจง่ายขึ้น

การเรียงแถวแบบ echelon จะช่วยประหยัดแรงในการปั่นได้ดีที่สุด ลองสังเกตนกที่บินอยู่ เวลามันบิ่นเป็นกลุ่มเราจะเห็นว่ามันจัดขบวนบินเป็นเหมือนลูกศรครับ เพราะวิธีนี้จะช่วยประหยัดแรงได้เยอะที่สุดในขณะที่คงความเร็วในการบินได้สูงที่สุด
ทว่าตำแหน่งที่แย่ที่สุดในรูปขบวน echelon ก็คือคนที่อยู่ท้ายสุดนั่นเอง เราอาจจะคิดว่าอยู่หลังสุดนั้นเหนื่อยน้อยเพราะมีคนบังลมให้เป็นแถว แต่จริงๆ แล้วตรงกันข้าม คนที่อยู่ท้ายสุดของขบวนต้องออกแรงสู้ลมมากที่สุด ฝรั่งเรียกว่า “Riding in the gutter” และมีสิทธิหลุดกลุ่มได้ง่ายมาก เพราะฉะนั้นแล้วควรทยอยผลัดเวียนกันขึ้นบังลมจะดีกว่า
Mark Cavendish เคยบอกว่าในสเตจ 13 Tour de France ปีก่อนตอนที่เขาพยายามจะไล่ขึ้นไปเกาะกลุ่มหน้าท่ามกลางกระแสลมข้าง เขาต้องออกแรงสปรินต์มากที่สุดในชีวิตที่เคยสปรินต์มา เยอะยิ่งกว่าตอนสปรินต์หน้าเส้นเสียอีก การออกแรงสู้ลมขวางนั้นต้องใช้พลังเยอะกว่าเจอลมสวนตรงๆ ค่อนข้างเยอะ เป็นเหตุผลว่าทำไมนักปั่นจึงแตกเป็นหลายขบวนระหว่างที่เจอลมขวางปะทะครับ
อย่างไรก็ดีถ้าคุณต้องปั่นในถนนเมืองไทยร่วมกับรถคันอื่นๆ พยายามปั่นแบบแถวตอนเรียงเดี่ยวจะดีกว่าครับเพราะถนนบ้านเราแคบและการกินเลนรถใหญ่เป็นเรื่องอันตราย และไม่ควรทำ เอาเทคนิคแบบนี้ไว้ใช้เวลาปั่นในถนนปิดหรือถนนที่ไม่มีรถพลุกพล่านจะดีกว่า เทคนิคแบบนี้เรียนรู้ไว้ไม่เสียหาย แต่ใช้จริงก็ต้องระวังครับ

ขอบคุณครับ
เยี่ยม ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับผม
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
-ขอบคุณครับ