GCN x DT: 10 วิธีทนทรมานอย่างโปร

“มันไม่เกี่ยวว่าคุณจะแข็งแรงแค่ไหน ถ้าอยากแกร่งคุณต้องทนความเจ็บปวดให้ได้มากกว่าเดิมทุกครั้ง”​ – เกร็ก เลอมองด์ อดีตแชมป์ Tour de France

ความทรมานเป็นเสมือนเพื่อนของนักปั่น ยิ่งเราอยากเก่ง เราต้องทนความทรมานให้ได้มากขึ้นทุกครั้ง หลักการการพัฒนาร่างกายของนักปั่นนั้นไม่ต่างจากกีฬาอื่นๆ ครับ เราออกแรงจนกล้ามเนื้อบาดเจ็บ พอเราพักจนหายเมื่อยล้า ร่างกายก็จะฟื้นฟูจนกล้ามเนื้อและระบบต่างๆ ที่ใช้ในการปั่นแข็งแรงกว่าเดิม ทำให้เพดานการปั่น ความเร็ว ความอึดเราสูงขึ้น พูดง่ายๆ ทุกครั้งที่เราอยากแกร่งขึ้น อยากเร็วขึ้น เราก็ต้องทนความเจ็บปวดให้มากขึ้นด้วย

หลายคนทนทรมานได้มากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะรีดความสามารถตัวเองออกมาได้หมดจดในการซ้อมแต่ละครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ วันนี้มาดู 10 เทคนิคจากช่อง GCN ที่จะช่วยให้คุณทนเจ็บได้มากกว่าเดิมในการซ้อมครั้งต่อไป

 

1. มีสติกับจักรยานที่อยู่ข้างหน้าคุณ

campbell flakemore calvin watson tour down under

เวลาที่เราปั่นกลุ่มด้วยความเร็วสูงเชื่อว่าหลายครั้งเราคงคิดถอดใจ ไล่ตามคันข้างหน้าไม่ไหว การเพ่งไปที่ล้อ หรือนักปั่นคนข้างหน้าเป็นวิธีง่ายๆ ที่ใช้คุมจิตใจเราไม่ให้ฝ่อยอมแพ้ไปก่อน ดูล้อหลังรถคันข้างหน้า ตามให้ได้ พยายามตามให้ได้ อย่าให้หลุด! ถึงมันจะเหนื่อยมากก็ตาม เพราะถ้าหลุดเมื่อไร เราก็ต้องลงไปปั่นคนเดียว ซึ่งบางทีอาจจะทำให้ท้อกว่าเดิม แล้วไม่สามารถทำความเร็วหรือความหนักหน่วงได้เหมือนที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก

ระวัง: ถึงคุณจะเพ่งล้อหน้าก็ไม่ควรมองข้ามจักรยานคันข้างๆ หรือสิ่งอื่นๆ รอบตัว มือใหม่หลายคนสนใจแต่ล้อคันข้างหน้า เพราะกลัวจะหลุดกลุ่ม จนไม่ได้ระวังเรื่องความปลอดภัย ต้องหมั่นดูเส้นทางด้วยว่ากลุ่มชะลอหรือเปล่า มีรถสวน รถแซงหรือเปล่า ก้มมองแต่ล้อจะพาเราล้อมเกี่ยวคนอื่นบาดเจ็บหนักครับ เป็นปัญหาที่เจอบ่อยไม่น้อยเลย

 

2. คิดถึงเรื่องอื่น

ตรงข้ามกับวิธีแรก ที่อาจจะไม่ชอบการ “เพ่ง” กับความทรมาน ก็ให้ลองสนใจเรื่องอื่นๆ รอบตัว มันอาจจะเป็นวิวทิวทัศน์สวยๆ หรือจักรยานสวยๆ ของเพื่อนคันข้างๆ นึกถึงอาหารอร่อยๆ ที่รออยู่หลังการซ้อมปั่น หรือจะเป็นอากาศดีๆ บนยอดเขาที่ปลายทาง บางคนอาจจะนับรอบขาไปพลางก็ได้ อะไรที่ช่วยให้เราเลิกสนใจความทรมานและความหนักหน่วงในการซ้อมได้ ก็สามารถหยิบมาใช้ได้หมดครับ

 

3. คิดบวก

Contador Froome 2

ว่ากันว่าในการปั่นจักรยาน สิ่งที่จำกัดขีดความสามารถเรานั้น 90% ไม่ใช่ศักยภาพร่างกาย แต่เป็นจิตใจที่อาจจะยังไม่แกร่งพอ ทุกๆ เรื่องในชีวิตนั้นมองได้หลายด้าน แม้แต่ความทรมานในการฝึกซ้อมก็เช่นกัน นักปั่นอาชีพที่ต้องซ้อมหนักแทบทุกวันนั้น เลือกที่จะมองความทรมานในด้านบวก เช่นแทนที่จะคิดว่าปวดขาจัง ปั่นเร็วขนาดนี้ตะคริวจะมาอยู่แล้ว คุณอาจจะมองว่าเราปั่นได้ไกลกว่าเดิม เร็วกกว่าเดิม “เฮ้ยเราปั่นที่ความเร็วที่ไม่เคยขี่ได้มาก่อนเลยนะ” หรือว่า “อีกนิดเดียวทริปนี้ก็จะครบ 150, 180, 200 กิโลเมตรแล้ว!” “คนข้างหลังตามเราไม่ทันแล้ว!” มุมมองเชิงบวกช่วยให้เราอึดกว่าเดิมครับ

 

4. คิดเป็นภาพ

เทคนิคนี้เรียกว่า “Visualisation” เป็นการให้กำลังใจตัวเองอย่างง่ายๆ เช่นระหว่างซ้อมหนัก หรือปั่นกลุ่มเร็วๆ เราอาจจะนึกถึงภาพว่ากำลังอยู่ระหว่างการแข่งขัน ต้องรีดความสามารถออกมาให้หมด หรือนึกถึงความสำเร็จในอนาคต เช่นถ้าซ้อมได้ถึงอย่างวันนี้ เราจะปั่นได้ครบระยะทางแน่ๆ มันอาจจะเป็นระยะทางไกลที่คุณไม่เคยปั่นมาก่อน หรือเป็นการไต่เขาที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ การจินตนาการล่วงหน้าถึงความสำเร็จจะช่วยให้เราซ้อมได้ “ถึง” กว่าเดิม

 

5. เลิกสนใจตัวเลข

Screen Shot 2558-02-13 at 3.32.14 PM

หลายคนเพ่งอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์จักรยาน ไม่ว่าจะเป็นค่าความเร็วเฉลี่ย ค่าหัวใจ รอบขา หรือพาวเวอร์ก็ดี แน่นอนว่าบางคนอาจจะรู้สึกดีเมื่อได้เห็นตัวเลขตามเป้าหมาย เช่นค่าวัตต์สูงขึ้น ความเร็วเฉลี่ยดีขึ้น แต่เวลาที่เราต้องซ้อมหนัก หรือแข่งหนักๆ บางครั้งตัวเลขบนหน้าจอจะทำให้เราใจฝ่อได้ง่ายครับ วัตต์อาจจะขึ้นไม่เท่าที่ซ้อม หัวใจอาจจะเต้นเร็วเกินโซนปกติไปมาก แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อเราต้องเค้นความสามารถตัวเอง เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักแข่งอาชีพถึงเลือกปิดข้อมูลเกือบทั้งหมดเวลาแข่ง เพื่อที่จะได้สนใจเกมการแข่งขันเต็มที่ 100% ไม่ใช่แค่ตัวเลขบนหน้าจอ​ ถ้าเห็นตัวเลขแล้วรู้สึกแย่ ก็ปิดมันซะหรือเก็บคอมพ์เข้ากระเป๋าหลังไว้ แล้วพยายามซ้อมหรือจับความรู้สึกจากร่างกายของตัวเองจริงๆ อาจจะทำให้เราทนซ้อมได้หนักขึ้นก็ได้

แน่นอนว่าตัวเลขข้อมูลต่างๆ มีประโยชน์ครับ แค่เราต้องรู้ว่าเวลาไหนควรใช้ เวลาไหนที่จะเป็นผลเสียกับการซ้อม / แข่งก็ต้องรู้เช่นกัน

 

6. วางแผนความทรมาน

jj lactic (1 of 1)

การวางแผนโปรแกรมการฝึกซ้อมล่วงหน้าจะช่วยลดความกลัวที่จะเหนื่อยและทรมานได้ครับ ยกตัวอย่าง แผนการซ้อมที่ดีจะมีทั้งวันที่ซ้อมหนักและเบา เราอาจจะวางแผนซ้อมหนัก วันเว้นวัน เช่นวันจันทร์ซ้อมอินเทอร์วัล วันอังคารลดความหนักหน่วงลงมาเป็นการหัดควงขาแทนเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น แล้วมาซ้อม Time Trial ต่อวันพุธ วันพฤหัสก็ลดความหนักลงอีกเหมือนวันอังคาร เสาร์ อาทิตย์อาจจะไปปั่นกับเพื่อน ปล่อยอิสระเต็มที่…

การวางตารางล่วงหน้าแบบนี้เราเห็นภาพรวมในการฝึกซ้อม รู้ว่าวันไหนต้องปั่นหนัก วันไหนต้องพัก ซึ่งต่างกับมือใหม่หลายๆ คนที่จะซ้อมหนักทุกวันอย่างเดียว จนบาดเจ็บและท้อ บางคนก็เลิกไปเลย แผนที่ดีช่วยให้เราพัฒนาได้เร็วขึ้นและซ้อมได้หนักขึ้นด้วย

 

7. เปลี่ยนแนวคิด

การออกปั่นแต่ละครั้งมีหลายปัจจัยที่จะทำให้เราท้อเลิกซ้อมง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ฝนตกหนัก อากาศร้อนเกิน ลมแรงเกิน ยางรั่ว หมาไล่พาลเอาอารมณ์ไม่ดี คนที่จะแกร่งได้ต้องพยายามลบข้ออ้างในใจที่จะทำให้เราท้อหยุดซ้อมครับ พยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เช่นถ้าเจอลมต้านแรงจนเหนื่อยกรอบไปหมด ก็คิดเสียว่าเวลาไปแข่งมันต้องมีคนที่ซ้อมหนักกว่าเราแน่ๆ ต้องเจอลมแบบนี้ และมันต้องกัดฟันปั่นต่อจนจบ

ถ้าเราทำอย่างเขาไม่ได้ เราจะชนะได้ยังไง? อากาศร้อนเกิน? เราควบคุมพระอาทิตย์ไม่ได้ เวลาแข่ง ถ้ามันร้อนยังไงก็ต้องทนร้อนจนกว่าจะแข่งเสร็จ แพ้คนอื่นเมื่อเราได้พยายามเต็มที่แล้วยังดีกว่าแพ้ใจตัวเองที่ยังไม่ได้พยายามเลย

 

8. หัดปั่นกับคนที่แข็งแรงกว่า

Screen Shot 2558-02-13 at 3.49.20 PM

การซ้อมปั่นคนเดียว มีข้อเสียตรงที่ว่าบางครั้งเราไม่สามารถปั่นได้หนักหรือเร็วเกินขีดความสามารถที่ร่างกายและใจเราคิด เหมือนกับเรามีกรอบกำแพงอยู่แล้วว่า จุดนี้คือเหนื่อยที่สุดแล้วนะ หนักกว่านี้ไม่ไหวแน่ๆ… ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจจะทนได้มากกว่านั้นก็ได้

การได้ไปซ้อมกับคนอื่นที่แข็งแรงกว่าช่วยให้เราข้ามกำแพงที่เราตั้งขึ้นมาเองได้ง่ายและพัฒนาได้ไวกว่าเดิมครับ เพราะเราจะได้รีดความสามารถถึงจุดที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำได้เอง แถมอาจจะได้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ติดตัวกลับมาด้วย

 

9. คนอื่นก็เหนื่อยเหมือนกัน

Vuelta Stage 15 (5 of 5)

ในการปั่นกับคู่แข่งที่ความสามารถไม่หลุดกันมาก ถ้าเราปั่นจนเหนื่อยเต็มที่แล้ว คนอื่นก็น่าจะเหนื่อยไม่แพ้กัน มองหันกลับไปดูว่าเขาไหวหรือเปล่า หลายคนสร้างแรงฮึดจากตรงนี้เพราะคิดว่าเราแข็งแรงกว่า อึดกว่า ไปได้กว่าคนที่อยู่ข้างๆ แน่นอน ยิ่งเวลาที่เหนื่อยมากๆ การเห็นคนอื่นที่เหนื่อยกว่าเรากลับช่วยสร้างความมั่นใจให้รู้ว่าตัวเองก็แข็งแรงไม่แพ้ใคร

 

10. พัก

ไม่ใช่ทุกวันที่เราจะออกซ้อมหนักได้ ร่างกายจะแข็งแรงขึ้นก็ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างถูกต้องและเต็มที่ ทานอาหารที่ดี นอนพักให้เพียงพอ หมั่นสังเกตร่างกายว่าเราฟิตพร้อมจะซ้อมต่อได้หรือยัง ถ้าเจ็บป่วย ไม่สบายก็ไม่ควรฝืน แน่นอนว่าการพักนั้นไม่ใช่การอู้ครับ เลยเน้นย้ำว่าต้องหมั่นสังเกตร่างกายตัวเอง วันไหนป่วยจริง วันไหนป่วยการเมือง ต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็คงไม่พัฒนาครับ

* * *

Published
Categorized as LEARN Tagged

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *