GCN: ศาสตร์และศิลป์ของการแข่ง Team Time Trial

[dropcap letter=”ว่”]ากันว่าการแข่งขันจักรยานประเภท Team Time Trial (TTT) เป็นการแข่งที่โหดหิน ทรมานที่สุด นอกจากนักแข่งจะต้องมีความพร้อมเพรียงสามัคคี เข้าใจถึงจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละคนแล้วยังต้องต่อสู้กับเวลา ต้องปั่นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะสเตจ TTT ในแกรนด์ทัวร์ที่เอซของทีมต้องพยายามเซฟเวลาทุกวินาที ไม่ให้คู่แข่งทีมอื่นได้เปรียบ

Giro d’Italia ปีนี้เปิดการแข่งขันด้วย TTT ทีมผู้ชนะเป็น Orica-GreenEdge ที่ปั่นกันเร็วกว่า 54 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในระยะทาง 17.6 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน ทีมตัวเต็งเบอร์หนึ่งอย่าง Sky หลุดโผตกไปอยู่อันดับ 9 ริชีย์ พอร์ทต้องเสียเวลาให้อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ จาก Tinkoff-Saxo ร่วม 20 วินาที ไม่ใช่ผลงานที่ทีม Sky พอใจเท่าไร แต่ทีมเตรียมต้องเตรียมตัวยังไงก่อนจะลงแข่งจับเวลาแบบทีม? ช่อง GCN เขาไปสัมภาษณ์ Robby Ketchel นักวิเคราะห์ข้อมูลจาก Sky ถึงศาตร์และศิลป์ของการปั่น TTT มาฝากกัน

GCN: นักปั่นต้องออกแรงกันขนาดไหนในการแข่ง TTT?

Sky: ลองเปรียบเทียบอย่างงี้ครับ ถ้าคุณปั่นในกลุ่มเบรคอเวย์ คุณอาจจะปั่นที่ความหนักประมาณ Tempo (ประมาณโซน 3–4) มันไม่ได้เหนื่อยมากเพราะคุณแบ่งงานกับเพื่อนกลุ่มหนีด้วยกัน เวียนกันลาก เวียนกันบังลม เป้าหมายของเบรคอเวย์อาจจะไม่ใช่การหนีแบบสุดชีวิตเพื่อหวังชนะสเตจ บางคนอาจมีเป้าหมายแค่ออกมารอเอซของทีม บางคนขึ้นมาประกบดักทางคู่แข่งที่หนีมาก่อน บางคนในกลุ่มก็ตั้งใจทำให้กลุ่มถูกจับ

แต่เป้าหมายของ Team Time Trial ไม่เหมือนกัน ใน TTT ทีมมีเป้าหมายเดียวที่ต้องทำงานร่วมกันคือปั่นให้ได้เร็วที่สุดในระยะทางที่กำหนด ยิ่งถ้าคุณมีตัวเต็ง GC อย่างที่เรามีริชีย์ พอร์ท ทุกคนต้องปั่นที่ความเร็วสูงสุดที่จะทำได้เวลาที่ขึ้นมาลาก เวลาออกจากแถวหน้าเพื่อเปลี่ยนคิวให้คนที่สองขึ้นมานำ คุณก็ต้องเร่งตามกลับเข้ากลุ่ม ซึ่งจะเหมือนการสปรินต์เล็กๆ เรียกได้ว่าอัดหนักหน้าแถวแล้วยังต้องมาเร่งที่ความเร็วอย่างน้อย 50–60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บางครั้งต้องปรับความเร็ว ปรับระยะที่เพื่อนร่วมทีมเราทำพลาดด้วย คุณเองก็จะพลาดไม่ได้สักจังหวะเดียวเพราะทีมหวังพึ่งคุณอยู่ มันเลยเป็นงานที่ยากมากที่จะทำได้สมบูรณ์แบบครับ

TTT WC 2014 (6 of 18)

GCN: Power Profile ใน TTT เป็นยังไง?

SKY: มันจะไม่เหมือนในการปั่น TT บุคคลที่คุณปั่นแช่โซน 4 ถึง 5 กราฟพาวเวอร์หรือหัวใจก็แทบจะออกมาเป็นเส้นตรงนิ่งๆ แต่ใน TTT คุณต้องทั้งแช่ความเร็วที่หน้าแถว และเร่งที่ท้ายแถว พอกลับเข้ามาอยู่ในแถวคุณก็ต้องพยายามพักให้หายเหนื่อยเพื่อที่จะได้มีแรงลากต่อ ค่าพาวเวอร์ที่ใช้จะไม่นิ่งครับ เป้าหมายของเราคือพยายามพากลุ่มไปให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความเร็วกลุ่มควรจะนิ่งแต่ความเร็วเดี่ยวก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างที่บอก

GCN: แล้วนักปั่นในทีมใช้พลังกันกี่วัตต์ (คร่าวๆ)

SKY: มันขึ้นอยู่กับสองปัจจัยครับ คือ 1. น้ำหนักตัว 2. ท่าปั่นและความแอโร่ คนที่ตัวใหญ่ น้ำหนักเยอะย่อมมีค่าวัตต์สูงกว่า ในทีมเรา คนที่เป็นหัวลากออกแรงตั้งแต่ 350–600 วัตต์ จังหวะที่ผละออกแล้วไล่กลับเข้ามาต่อแถวข้างหลังก็เหมือนการสปรินต์ดีๆ นี่เอง ใช้พลัง 500–600 วัตต์ และพออยู่ในแถว มีคนบังลมให้ก็แน่นอนว่าใช้แรงน้อยลง วัตต์จะตกไปอยู่ราวๆ 200–250 ครับ

GCN: แล้วคุณเลือกนักปั่นยังไงเพื่อให้ได้ทีม TTT ที่สมบูรณ์แบบ?

SKY: ขึ้นอยู่กับว่าคุณส่งใครมาลงแข่งบ้าง อย่างในแกรนด์ทัวร์ เราพยายามเอานักปั่นที่จะช่วยให้เอซชนะการแข่งขันได้มาลง เพราะงั้นก็จะมีลูกผสมระหว่างนักไต่เขาและคนที่ปั่นทางราบได้ดี แน่นอนส่วนผสมนี้มีข้อด้อย เพราะไม่ใช่ชุดทีมที่จะปั่น TTT ได้ดีที่สุด

สำหรับทีม TTT ที่สมบูรณ์แบบคุณควรมีผู้เชี่ยวชาญ Time Trial และสปรินเตอร์ผสมกัน ประเภทแรก นักปั่น TT เราต้องการเพราะเขาจะช่วยทำความเร็วให้ทีมได้นานและต่อเนื่อง อย่างแบรดลีย์ วิกกินส์ที่ปั่นคนเดียวแช่ความเร็ว 55kph ได้เป็นชั่วโมง แต่ขณะเดียวกันคุณก็ต้องการคนที่เร่งกระชากได้ดีด้วย เหตุผลก็คือ เวลาที่ถึงคิวนักปั่น TT ต้องลาก ความเร็วกลุ่มมันจะสูงขึ้นมาก ซึ่งคนที่อยู่ด้านหลังอาจจะเริ่มตามไม่ทัน เลยต้องให้สปรินเตอร์คอยต่อคิวนักปั่น TT ไว้เพื่อใช้ปิดระยะห่าง ช่วยให้กลุ่มไม่แตก และความเร็วไม่ตก

GCN :แล้วนักปั่นเขาเห็นด้วยกับวิธีการเรียงลำดับคิวของคุณหรือเปล่า ?

SKY: ไม่เสมอไป แต่เรามีข้อมูลการปั่นของทุกคนมากพอที่จะใช้เป็นหลักฐานช่วยประกอบตัดสินใจว่าจะว่างตำแหน่งนักปั่นแบบไหนถึงจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งเมื่อเราอธิบายถึงเหตุผล ทุกคนก็พร้อมจะลองตามเราครับ

สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเข้าใจว่าการแข่ง TTT เป็นการเสียสละเพื่อทีม บางครั้งคุณอาจจะต้องเหนื่อยกว่าคนอื่น แต่ถ้ามันจะทำให้ทีมทำเวลาได้ดีกว่าคู่แข่งคุณก็ต้องยอมรับให้ได้

GCN: มันคือศาสตร์หรือศิลป์?

SKY: ทั้งสองอย่าง เราอาจจะมีข้อมูลเยอะ แต่ถ้าเราไม่ฟังคำแนะนำของนักปั่นก็ยากที่จะทำเวลาได้ดี ข้อมูลบางอย่างก็แปลงออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ครับ

***

Published
Categorized as LEARN

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *