‘Neo-Vintage’ เมื่อเสือหมอบสองยุคมาบรรจบ

ขณะที่เทคโนโลยีในวงการเสือหมอบก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทั้งเฟรมคาร์บอน กรุ๊ปเซ็ท 11 สปีด หรือ ไฟฟ้า ล้อคาร์บอน อุปกรณ์ต่างๆที่เน้นความเบา ในขณะเดียวกันยังมีคนที่หลงใหลในรถวินเทจ เฟรมเหล็ก กรุ๊ปสับถัง ที่คงความเก่าไว้ให้ตรงยุคกับเฟรมที่เกิดมาในยุคนั้น แต่จะเป็นอย่างไรถ้าทั้งสองแบบมารวมอยู่ในคันเดียวกัน

 

“NEO-VINTAGE” มันคืออะไร?

หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำนี้ หลายท่านอาจไม่เคยได้ยินว่าคืออะไร ในต่างประเทศ neo-vintage หรือบางที่เรียก new classic เริ่มกลายเป็นเทรนด์การทำรถเสือหมอบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากทางฝั่งยุโรป ในเอเซียที่ทำเยอะก็เป็นที่ญี่ปุ่น ซึ่งการทำรถประเภทนี้นิยมการเอารถเฟรมเหล็กยุคเก่า จะสับถัง หรือ มือตบก็ตาม มายัดใส่อุปกรณ์ของเสือหมอบรุ่นใหม่ทั้งคัน คงเหลือไว้แค่เฟรมกับตะเกียบ หรือ เฟรมเปล่าที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ความเก่าเอาไว้แต่ได้ความสะดวกและประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีกว่า

อย่างที่เราทราบกันว่าวัสดุที่เอามาทำเฟรมแต่ละประเภทย่อมมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไปทั้ง เหล็ก อลูมิเนียม คาร์บอนไฟเบอร์ หรือ แม้แต่ไทเทเนียม แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังหลงไหลในการใช้รถโครโมลี ที่ให้เรื่องความนุ่มนวลในการขี่ มีอายุยืนยาว ถ้ารักษากันดีๆ อยู่ได้หลายสิบปีโดยยังคงสภาพไม่มีเสื่อมสลาย ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงทำให้เรายังเห็นรถเหล็กที่ยังคงอยู่ในสังคมการปั่น แต่อะไหล่นั่นเองที่เป็นปัญหา ไม่ใช่แค่เฟรม ไม่ว่าจะกรุ๊ปเซ็ท หรือชุดล้อ ชุดดุม ด้วยตามอายุขัย และเลิกผลิตทำให้อะไหล่เริ่มหายากมากขึ้น บางบริษัทเลิกผลิต หรือแม้แต่ปิดตัวไปเลยก็มี จึงเกิดการรวมเอาอะไหล่สำหรับรถรุ่นใหม่ มาเอาใส่เฟรมเก่า

Rear Dropout Spacing ที่เป็นปัญหาสำหรับรถเก่ามากๆที่จะใส่ล้อและชุดเกียร์รุ่นใหม่
Rear Dropout Spacing ที่เป็นปัญหาสำหรับรถเก่ามากๆที่จะใส่ล้อและชุดเกียร์รุ่นใหม่

แต่ ! มันไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะเฟรมยุคเก่าที่มีพร้อมกับชุดเกียร์ 6-7 สปีด หางหลังแคบ 124 126mm ซึ่งความกว้างหางหลัง ไม่เท่ากับของรุ่นใหม่ นั่นจึงทำให้เกิดการดัดแปลง แต่ก็ไม่เกินกำลังมนุษย์อย่างเราๆ จะดีหน่อย ถ้าเฟรมเป็นยุคหลังๆที่เป็นหางหลัง 130mm แล้วจะทำได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องถ่างหางหลังออก ซึ่งปัจจุบันก็มีค่ายเฟรมหลายๆยี่ห้อยังคงทำรถเหล็กขายที่พร้อมสำหรับการประกบกรุ๊ปเซทรุ่นใหม่ๆเลย อย่าง De Rosa, Tommasini, Cinelli, Condor และอีกหลายๆบริษัทก็ยังทำออกมา ด้วยเพราะเฟรมเหล็กเองในปัจจุบัน

ตัวท่อเองก็ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำหนักก็ยังไม่ได้มากอย่างที่หลายๆคนยังคงเข้าใจกัน ท่อเหล็กรุ่นใหม่ๆ ให้การตอบสนองในการควบคุม หรือ ความรู้สึกในการขับขี่ ที่ไม่ได้ด้อยกว่าเฟรมชนิดอื่นๆ นั่นจึงยังเป็นเสน่ห์ที่ยังทำให้หลายคนหลงใหล และยังยินดีจะใช้รถเหล็กแล้วทำใหม่ เพราะเป็นความรู้สึกที่เฟรมชนิดอื่นยังให้ความรู้สึกแบบนั้นไม่ได้

 

เฟรมเหล็กในยุคคาร์บอนเนี่ยนะ!?

แล้วเฟรมเหล็กปัจจุบัน มันมีกี่เกรด ถึงบอกว่าปัจจุบันนี้เฟรมเหล็กก็ไม่ได้ด้อยกว่าวัสดุอื่น ถ้าจะอ้างอิงตามแหล่งผู้ผลิตอย่าง Columbus หรือ Reynolds ต่างมีท่อเหล็ก (steel tubes) เป็นสินค้าสำคัญอยู่ยี่ห้อละหลายรุ่น (ไม่นับรวม Stainless Steel) ซึ่งแตกต่างกันไปตามวัสดุที่นำมาผสมเป็นท่อในรุ่นต่างๆ เหมือนกับท่อคาร์บอนที่มีหลายแบบ

ผลคือให้คุณลักษณะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละเกรด แต่ก็ยังคงความเป็น steel อยู่และไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่เพียงด้วยท่อโครโมลี่อย่างเดียวเท่านั้น (ยกเว้น Tange จากญี่ปุ่นที่ยังคงเน้นทำท่อจากโครโมลีอยู่) รวมไปถึงการรีดท่อในแบบต่างๆ และด้วยส่วนผสมต่างๆออกไปตามแต่ละเกรด นั่นจึงทำให้รถเหล็กในปัจจุบันมีน้ำหนักเบาลงมาก ไม่แพ้วัสดุตัวอื่นๆ อย่างจักรยานค่าย Cherubim จากญี่ปุ่นมีเฟรมรุ่น Uli ที่ทำจาก Cr-Mo หนักเพียง 1.3 กิโลกรัมเท่านั้น (ไม่รวมตะเกียบคาร์บอน)

 

ข้อดี / ข้อเสีย?

แต่ยังไงแล้วทุกวัสดุย่อมมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป สำหรับเฟรมเหล็กเองก็เช่นกัน หลักๆก็จะคล้ายๆกันแม้ว่าจะคนละเกรด อาจจะให้ผลที่แตกต่างกันบ้างตามลักษณะของท่อที่นำมาใช้ ซึ่งข้อดีบางข้อ ก็ให้ผลเสียในขณะเดียวกัน

ข้อดีที่เห็นได้คือ ซึมซับแรงกระแทกได้ดี ให้ตัวได้เยอะกว่าวัสดุอื่นๆ, หากเกิดอุบัติเหตุ เฟรมสามารถซ่อมแซมได้ง่าย, ทนต่อความเครียดของแรงกระทำได้มากกว่า
ข้อเสียคือ สามารถเป็นสนิมได้ และ เมื่อให้ตัวได้มากกว่า ย่อมสูญเสีย stiffness ของเฟรมไปบางส่วน

แต่เรื่อง stiffness สามารถปรับเปลี่ยนได้ ด้วยลักษณะของท่อที่ใช้ รูปแบบท่อ ความหนาของท่อ ซึ่งโดยมาก ท่อที่เกรดดีมากๆก็จะมีราคาสูงตามไป และยิ่งทำให้การเชื่อม การตัดท่อ การทำงานขึ้นรูปเฟรมก็ยิ่งยากตามไป เราจึงเห็นเฟรมเหล็กบางรุ่นขายกันอยู่ที่ราคาระดับเดียวกับเฟรมคาร์บอนในท้องตลาด เพราะเราก็ต้องยอมรับว่างานเชื่อมเฟรมเหล็กเป็นงานเชิงประดิษฐ์ประดอย (craftmanship) อย่างแท้จริง

Tommasini Tecno Frameset ของใหม่ที่พร้อมประกบกรุ๊ปเซ็ทยุคใหม่ แถมสั่งตัดไซส์ได้อีกด้วย
Tommasini Tecno Frameset ของใหม่ที่พร้อมประกบกรุ๊ปเซ็ทยุคใหม่ แถมสั่งตัดไซส์ได้อีกด้วย

แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีอีกหลายๆคนก้าวออกจากเฟรมเหล็กมาใหม่ขึ้นอีกนิดหน่อยเข้าสู่ยุคที่เฟรมอลูฯเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการแข่งขัน early 2000’s หรือ ปีลึก ที่หลายๆคนชอบเรียกชื่อจักรยานในยุคนี้ หลายๆคนยังใช้เฟรมอลูฯยุคแรกๆมาประกบกับกรุ๊ปเซ็ทรุ่นใหม่ด้วยความที่ง่ายกว่า เพราะเฟรมเองก็รองรับแต่แรกอยู่แล้ว และคุณภาพของเฟรมไม่ได้ด้อยไปกว่าเฟรมยุคใหม่แต่อย่างใด เมื่อรวมเข้ากับอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ บางครั้งการหาเฟรมแข่งอลูฯรุ่นเก่ายังให้คุณภาพการขับขี่ดีกว่าเฟรมยุคใหม่

ซึ่งครั้งนี้ DT เองก็ได้เก็บความเห็นจากบุคคลต่างๆที่ใช้รถอย่างข้างต้น ว่าเค้าเหล่านี้มีความคิดเห็นอย่างไร

Cannondale CAAD7 Team Saeco + Campagnolo Record
Cannondale CAAD7 Team Saeco + Campagnolo Record ของคุณเพชร

คุณเพชร – ผู้บริหารออนเซ็น

“ในความเห็นส่วนตัวคือ ความละเอียดของงานสี งานเชื่อม ส่วนเรื่องวัสดุที่ไม่ล้ำสมัยนั้น สามารถ compensate ด้วยการ เลือกอุปกรณ์ที่เหลือให้เหมาะสมได้ เช่นอลูฯโดยธรรมชาติมันจะกระด้าง ก็หาล้อหรือยางที่ซับแรงได้ดี เติมลมอ่อนหน่อย ride quality ก็ดีไม่แพ้วัสดุใหม่ๆอย่างคาร์บอน ส่วนชิ้นส่วนส่วนรุ่นใหม่ๆ ก็มีข้อดีเรื่องอะไหล่ หาง่าย เทียบเคียงกับอะไหล่ยุคเดียวกันได้ เพราะเราใช้รถทุกวัน เกิดอะไหล่หายากจะพาลเสียอารมณ์เพราะไม่ได้ขี่”

Bianchi EV4 + Campagnolo Record ของคุณเนม
Bianchi EV4 + Campagnolo Record ของคุณเนม

 

คุณเนม – สถาปนิก

“ตอบในเชิงคนใช้รถเก่า ประกบอะไหล่ใหม่ เพราะมันไม่โหลและมันมีตำนานในตัวมันเอง ตัวเฟรมคุณภาพการผลิตดีกว่าสมัยนี้มากทั้งงานสีและงานเชื่อม และฟีลลิ่งการขี่ที่หาไม่ได้จากรถปัจจุบัน อีกทั้งความจุกจิกยังน้อยกว่า อย่างเช่นกระโหลก ทำไมเฟรมสมัยนี้ถึงวุ่นวายนัก? พอทุกอย่างมันน้อยชิ้นและเรียบง่าย เก่าแต่ไม่วุ่นวาย พอเราอยู่บนอานก็คือต้องปั่นยังไงให้เร็ว มันทำให้ผมมีสมาธิกับการปั่นดีนะ”

Dodici ของคุณวิ ร้านเวลาเย็น
Dodici ของคุณวิ ร้านเวลาเย็น

 

คุณวิ – Velayenn Bike Shop

“Neo-vintage ในแง่คนซ่อมจักรยานผมชอบครับเพราะอะไหล่ใหม่ปัญหาน้อยใช้งานได้ดี อะไหล่มือสองมักมีปัญหาจุกจิกไม่จบ ใช้เวลานานกว่าจะหาของได้ยิ่งถ้าเล่นตรงรุ่นกันทั้งกรุ๊ป ส่วนการใช้งานแทบไม่ต่างกัน มันก็ใช้ปั่นเหมือนกันนั่นแล ส่วนเฟรมเหล็กมันทนทานคลาสสิค เก็บไว้ยิ่งมีคุณค่า เปลี่ยนเฉพาะอะไหล่ก็ใช้ไปได้ 20-30 ปีสบายๆ”

รถ Track อย่าง Bianchi Pista ที่ถูกนำมาทำเป็น Neo-Vintage

รถ Track อย่าง Bianchi Pista ที่ถูกนำมาทำเป็น Neo-Vintage

สุดท้ายการจะใช้หรือจะแต่งจักรยานในรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอุปกรณ์ ความชอบ รสนิยมส่วนบุคคลเป็นที่ตั้ง ถึงแม้ว่าหลายๆคนที่ใช้เฟรมวินเทจจะชอบกรุ๊ปที่ตรงปีกับเฟรม แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ชอบเฟรมวินเทจเฉกเช่นเดียวกัน ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในผู้ชอบเสนห์ของเฟรมเหล็ก แต่ก็ยังชอบความทันสมัยของส่วนประกอบอื่น เทคโนโลยีที่ใหม่กว่า การตกแต่งอาจเพียงแตกต่างกันเรื่องของอุปกรณ์ แต่สุดท้ายก็ยังคงไว้ซึ่งความเก๋าของเฟรม ที่พาเราไปตามสองเท้าต้องการในโลกจักรยานยุคใหม่ได้ไม่ต่างกัน

Image credits: sheldonbrown.com, forallmyfriends.com, tommasini.it, bikewar.com

By ศิลวัต ช่างเรียน

ก๊อง - ดีไซเนอร์ ผู้สนใจจักรยาน,การทำอาหารและเชื่อว่างานเขียนจะเพิ่มความสนใจในมุมอื่นของวงการจักรยานให้คนอ่านได้

6 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *